วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 307 หมู่ 9 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน มีตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งพระนางจามเทวีผู้ครองนครหริภุญชัย ได้เสด็จทางเรือตามลำน้ำปิง เพื่อมาสำรวจพื้นที่อาณาเขตการปกครอง ครั้นมาถึงบริเวณชุมชนวังสะแกง มีคุ้งน้ำวนขนาดใหญ่ น้ำไหลเชี่ยวแรง เรือโคลงเคลง ทำให้ปาน (ฆ้อง) เชือกขาดตกน้ำบริเวณคุ้งน้ำวนดังกล่าว พระองค์จึงให้ทหารและชาวบ้านที่ดำน้ำเก่งลงไปหา แต่ก็ไม่พบเพราะบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นโขดหิน ลึก พระนางจึงเชื่อในญาณว่า เป็นบริเวณพื้นที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพญานาคดูแล จึงรับสั่งให้มีการสร้างวัดไว้

พระวิหารหลวง

องค์พระประทาน

เมื่อ พ.ศ. 2436 มีการค้นพบวัดแห่งนี้มีการบูรณะและตั้งชื่อวัดว่า “วัดน้อยวังปาน” มีพระจันโต กาวิชโย หรือครูบากาวิชัย มาจำพรรษาและพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ต่อมาครูบาคำมูล วัดต้นผึ้ง ได้ส่งพระประยูรมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้และมีการเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดน้อยวังสะแกง” แต่ด้วยที่ตั้งของวัดอยู่ห่างไกลชุมชน ไม่มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกทำให้ญาติธรรมไม่สะดวกมาทำบุญ เมื่อพระประยูรมรณภาพลง จึงไม่มีพระมาจำพรรษา จนกลายเป็นวัดร้างนับเป็นเวลาได้ 50 กว่าปี

เมื่อ พ.ศ. 2555 คุณพรทิพย์ ณ บางช้าง ภรรยา พลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง ได้มีโอกาสมาที่วัดร้างแห่งนี้ ได้พบกำแพงโบสถ์โบราณเพียงด้านเดียวและเจดีย์เก่าอีกหนึ่งองค์ จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานที่ซากโบสถ์โบราณว่า “ถ้าหากจะมีโอกาสบูรณะวัดแห่งนี้ร่วมกับพลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาต่อไป ขอให้ได้นำพลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง มาที่นี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2554 พลเรือเอกอมรเทพ ณ บางช้าง ได้ปฏิบัติธรรมและเคยมีนิมิตให้สร้างวัดใหม่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมคล้ายกับที่วัดร้างแห่งนี้” จนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 พลเรือเอกอมรเทพ ณ บางช้าง ประธานโครงการบูรณะวัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ ได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดร้างนี้เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน จนเกิดพลังบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะบูรณะวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดใหม่ตามที่ได้เคยนิมิตเห็น จึงได้รวบรวมศรัทธาบุญทำการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ขึ้นใหม่ทั้งหมด จากที่ดินธรณีสงฆ์เดิมของวัดซึ่งเป็นที่รกร้าง 11 ไร่ 2 งาน 07 ตารางวา เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นศูนย์กลางสำคัญของการปฏิบัติธรรมตามพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

ศาลามหาราช

วิหารปฏิบัติธรรม

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 10.39 น. ได้มีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อำเภอจอมทอง จังหวัดเขียงใหม่ ได้เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง และคุณพรทิพย์ ณ บางช้าง ภรรยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 10.09 น. ซึ่งเป็นวันมงคลตามตำรา พระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล) ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การบูรณปฏิสังขรณ์วัดน้อยวังสะแกง

ซุ้มประตูทางเข้า-ออกวัด

พระโพธิสัตว์ ทิพย์อัปสร - พระโพธิสัตว์ อมรอินทร์

ต่อมาได้ดำเนินการขอยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยความเห็นชอบของเถรสมาคม ได้ออกประกาศยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559 มีพระใบฎีกาพิษณุ สุธมฺมธโร เป็นรักษาการเจ้าอาวาส จากนั้นพลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง ได้มีการรวบรวมผู้มีศรัทธาบุญร่วมกันซื้อที่ดินรอบวัดเพื่อถวายวัดจากธนาคารกรุงไทยจำกัด จำนวน 29 ไร่เศษ ทำให้ปัจจุบันวัดมีพื้นที่ทั้งสิ้น 40 ไร่เศษ

ภาพมุมสูง วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์

เนื่องจาก วัดน้อยวังสะแกง มีชื่อคล้ายกับวัดวังสะแกง (ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านวังสะแกง ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน) ที่มีพื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความสับสน จึงดำเนินการขอเปลี่ยนชื่อวัด โดยความเห็นชอบของเถรสมาคม ก็ได้ออกประกาศเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์” เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

ปัจจุบันวัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์มี พระอธิการสิขร จิตฺตสํวโร (เจ้าอาวาสวัดปทุมสราราม) ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษานับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาไหว้พระทำบุญ ปฏิบัติธรรม สักการะรูปเหมือนพระแม่เจ้าจามเทวี และอนุสาวรีย์มหาราชเก้าพระองค์ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนาอีกด้วย

พระแม่เจ้าจามเทวี

ตำหนักพระแม่เจ้าจามเทวี

พระบรมธาตุเจดีย์ศรีจามเทวี

พระบรมราชโองการของพระแม่เจ้าจามเทวี ในการสร้างวัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ตามนิมิตที่เกิดกับพลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง

1. วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่สำคัญของหริภุญชัยและภาคเหนือ เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนและผู้มีจิตศรัทธาทั้งปวง โดยต้องสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างและให้ใช้ปัจจัยจากศรัทธาเท่านั้น

2. หลังจากพิธีสมโภชวัดแล้ว ในเขตพุทธาวาสห้ามมิให้มีการสร้างถาวรวัตถุใด ๆ เพิ่มเติมอีก การทำนุบำรุงอาคารต่าง ๆ มิให้มีการดัดแปลง ต่อเติม หรือการตกแต่งที่ผิดไปจากรูปแบบเดิม รวมถึงมิให้มีการจัดทำค้าวัตถุมงคลภายในวัด

ความสำคัญและความอัศจรรย์ของวัดแห่งนี้

ได้ฟังเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่บ้าน คนเฒ่าคนแก่ และผู้รู้ว่า มีเหตุอัศจรรย์บ่อยครั้ง เช่น ผู้ทรงศีลหรือพระธุดงค์มาปฏิบัติธรรมเป็นประจำในวันพระหรือวับสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงจะมองเห็นดวงไฟสีเขียว สีทอง สุกสว่างบริเวณวัดนี้หลายครั้ง จึงเชื่อกันว่าน่าจะมีพญานาครักษาวัดแห่งนี้ อีกทั้งเมื่อมีชาวบ้านมาหาปลาหรือล่าสัตว์ ก็มักเจองูใหญ่และจับปลาไม่ได้เลย

กุฏิเจ้าอาวาส

หอระฆัง

แผนที่การเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน

" วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ "

ข้อมูลเนื้อหา โดย :

เทศบาลตำบลหนองล่อง. (2560). วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ (วัดน้อยวังสะแกง). สืบค้นจาก

https://www.nonglong.go.th/th/index.php?name=blog&file=readblog&id=24

ปักหมุดเมืองไทย. (2565). วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ (วัดน้อยวังสะแกง). สืบค้นจาก

https://pukmudmuangthai.com/detail/30333?fbclid=IwAR04ipyRd6OnC420c_UPZnnhtYWgHQ1wIYMObCf8i3L1nrTQ2laaouNliRY

โอทอปลำพูน. (2560). วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ (วัดน้อยวังสะแกง). สืบค้นจาก https://www.facebook.com/watch/?v=451857602856839

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา โดย : นายวุฒิชัย ภิมาลย์ ครู กศน.ตำบล / นางสาวเพชรรัตน์ ยอดแก้ว บรรณารักษ์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : ปักหมุดเมืองไทย