แหล่งเรียนรู้ สวนเกษตรธรรมชาติแสงจันทร์ (ไส้เดือนดิน)

ชื่อ - นามสกุล : นางแสงจันทร์ มโนสร้อย (ครูแสงจันทร์)

อาชีพ : ข้าราชการครูเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวน

ระดับการศึกษา : ปริญญาโท

ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 311 บ้านหนองล่อง  หมู่ที่ 1  ตำบลหนองล่อง  อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน 51120

ที่มาและความสำคัญ...

          เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขอความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนในตำบลหนองล่อง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างโครงการสานพลังท้องถิ่น สร้างสุขภาวะตำบลน่าอยู่ ซึ่งพอดีกับทางแหล่งเรียนรู้ชุมชนสวนเกษตรธรรมชาติแสงจันทร์ ได้มีแนวคิดที่จะหาทางในการลดรายจ่ายในเรื่องของการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูล ได้ผลการวิเคราะห์ สังเคราะห์ของชุมชนในระยะเวลา ๓  เดือน ของการเก็บข้อมูล เราได้พบปัญหาภาวะหนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายของประชาชนในตำบลหนองล่อง โดยหนี้สินที่พบมากที่สุดคือ หนี้สินเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ หนี้สินเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวัน จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกว่า ปริมาณในการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน และสารเคมีต่างๆของประชาชนมีมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี จึงเป็นแรงผลักดันให้ แหล่งเรียนรู้ชุมชนสวนเกษตรธรรมชาติแสงจันทร์ ได้ทำตามหลักภูมิปัญญา และหลักความคิดของตนเองให้เกิดผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงหันมาเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างจริงจัง จึงเกิดแหล่งเรียนรู้ชุมชนสวนเกษตรธรรมชาติแสงจันทร์ (ไส้เดือนดิน) เพื่อจุดประสงค์หลักคือ

            1. หันมาใช้หลักธรรมชาติบำบัด

            2. หันมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

            3. ลดรายจ่ายในเรื่องของปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน และสารเคมีต่างๆในการเกษตร

            4. เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับใช้บริโภค

            5. เพื่อปรับสภาพดิน สร้างความร่มรื่น สร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่

            6. เพื่อช่วยส่งเสริมเกี่ยวกับสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน

            7. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้

สายพันธุ์ไส้เดือนดินที่ใช้ในกระบวนการกำจัดขยะอินทรีย์และผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน...

          สายพันธุ์ที่นำมาใช้กำจัดขยะอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นไส้เดือนดินกลุ่มผิวดิน ที่มีลำตัวสีแดงที่อาศัยอยู่ในมูลสัตว์ หรือใต้กองอินทรียวัตถุ ซึ่งจะเป็นไส้เดือนดินที่กินอินทรียวัตถุมากกว่ากินดินและแร่ธาตุ โดยสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก ที่สำคัญคือมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้สูง

วิธีการและขั้นตอนการผลิต...

บ่อเลี้ยงไส้เดือนดิน 

บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน

          ไส้เดือนดิน เป็นสัตว์รักสงบ ชอบอยู่ในธรรมชาติที่มืดและเงียบ ดังนั้นในการเลี้ยงไส้เดือนดินจึงควรสร้างบ่อเลี้ยงไว้สำหรับป้องกันไส้เดือนดินเลื้อยหนี ควรสร้างบ่อเลี้ยงให้กว้าง ถ่ายเทอากาศได้ดี มืดและชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา และลดผลกระทบจากความเสียหายเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรืออาหารที่ใส่ในบ่อเลี้ยงไม่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่กว้างจะทำให้ไส้เดือนดินเคลื่อนย้ายหนีออกได้อย่างปลอดภัย ทำให้ผู้เลี้ยงแก้ไขสถานการณ์ได้ทันก่อนไส้เดือนดินจะตาย

       บ่อเลี้ยงไส้เดือนดินที่จัดสร้างควรมีความกว้าง 1–2 เมตร สูง 80 เซนติเมตร จะเป็นบ่อเลี้ยงที่ปฏิบัติงานได้สะดวกและง่ายต่อการจัดการ พื้นบ่อสร้างให้มีความลาดเอียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ และต่อท่อระบายน้ำหมักออกจากบ่อเลี้ยงในจุดต่ำสุดไปยังบ่อเก็บน้ำหมัก สำหรับเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดินไว้ใช้ 

          โดยทั่วไปขยะอินทรีย์ที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบสูง ดังนั้น ในกระบวนการกำจัดขยะอินทรีย์จะได้น้ำหมักมูลไส้เดือนดินจำนวนมาก จึงต้องสร้างบ่อรวมน้ำหมักจากมูลไส้เดือนดินไว้เพื่อช่วยระบายน้ำหมักที่แช่ขังอยู่ภายในบ่อเลี้ยงลงไปเก็บไว้ในบ่อน้ำหมัก บ่อเก็บน้ำหมักควรสร้างไว้บริเวณด้านข้างหรือด้านหลังบ่อ จะทำให้ท่อระบายน้ำหมักออกจากบ่อเลี้ยงไปยังบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย 

พื้นเลี้ยงไส้เดือนดิน

พื้นเลี้ยงไส้เดือนดิน

          พื้นเลี้ยงนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของไส้เดือนดินแล้วยังเป็นแหล่งอาหารในระยะเริ่มเลี้ยงไส้เดือนดินด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องใส่ใจการเลือกแหล่งดินและมูลวัวที่จะใช้เตรียมพื้นเลี้ยงเป็นพิเศษ โดยเลือกดินร่วนที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และมูลวัวแห้งใหม่ เพราะยังคงมีสารอาหารอยู่มาก เราก็จะได้พื้นเลี้ยงที่เป็นแหล่งอาหารและปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยของไส้เดือนดิน บ่อเลี้ยงขนาด120 x 500 เซนติเมตร จะผสมดินร่วนกับมูลวัวจำนวน 3 : 1 ส่วน พื้นที่เลี้ยงบ่อ 1 ตารางเมตรจะปล่อยไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม หลังจากนั้นนำเศษวัชพืช เศษอาหาร เศษผลไม้ต่างๆให้ทุกๆ 4 วัน 

การใส่ขยะอินทรีย์ให้กับไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง 

          นำขยะอินทรีย์จากแหล่งขยะมาคัดแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย เช่น ถุงพลาสติกต่างๆออก สำหรับเศษผัก ผลไม้ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆที่มีขนาดใหญ่ควรนำมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับเศษอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ด ไส้เดือนดินจะไม่ชอบ ให้นำมากรองน้ำออกแล้วหมักทิ้งไว้ก่อน 1-2 คืน ให้บูดก่อน ส่วนเศษผักที่ใส่ในบ่อเลี้ยงแล้วเกลี่ยให้ทั่วผิวหน้าบ่อเลี้ยงหนา 3 นิ้ว

          เศษอาหารที่นำมาจากแหล่งต่างๆบางครั้งจะมีไข่แมลงวันติดมาด้วย ซึ่งจะฝังตัวในบ่อเลี้ยง  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว การใส่อาหารจึงควรขุดหลุมพื้นเลี้ยง แล้วฝังอาหารให้เป็นจุดๆ แทนการเทกองบนผิว 

ประโยชน์ที่ได้รับจากไส้เดือนดิน...

1. กำจัดขยะอินทรีย์เพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน และน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน

2. ปุ๋ยหมักคุณภาพสูงสามารถขยายเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพได้ ใช้สำหรับฉีดพ่นทางใบ ลดการใช้สารเคมีและฮอร์โมน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมลพิษส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

3. ปุ๋ยหมักคุณภาพสูงสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยในการปรับโครงสร้างของดิน ให้ดินมีคุณภาพดี

4. ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน

5. น้ำหมักที่ได้จากการหมักผลไม้ชนิดต่างๆสามารถนำมาบริโภค ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ มีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง

6. ตัวไส้เดือนเดือนดินสามารถจำหน่ายช่วยสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

          นอกจากนี้ยังพบว่า มูลของไส้เดือนดินมีประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชด้วย และบทบาทใหม่ของไส้เดือนดินในปัจจุบันคือ การเป็นดัชนีวัดทางสิ่งแวดล้อม ในการชี้วัดถึงการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆในดิน เนื่องจากไส้เดือนดินมีไขมันที่สามารถดูดซับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางกลุ่มได้ 

การขยายผล และการเผยแพร่...

มีหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ เช่น

แผนที่การเดินทาง " แหล่งเรียนรู้ สวนเกษตรธรรมชาติแสงจันทร์ (ไส้เดือนดิน) " 

ข้อมูลเนื้อหา โดย : นางแสงจันทร์ มโนสร้อย

เรียบเรียงเนื้อหา โดย : นายวุฒิชัย  ภิมาลย์

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : นางแสงจันทร์ มโนสร้อย