ประวัติความเป็นมา

พระปรางค์เอน วัดสาขลา เดิมเป็นหินอ่อนแกะสลักและต่อมาเอาปูนซีเมนต์ทับตัวป้านหนังสือ “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล เป็นส่วนอดีตกาลสมัยล่วงแล้ว 2427 พรรษา ปัตยุบันกาล มภฏร สังวัจฉระ เฉดถมาศ กาฬปักษ์ จตุตถ ดิถีคุรุวาร ปริเฉทการ กำหนดเป็นวันฤกษ์แรก ลำดับอิติ พระสถูปนี้ กระทำการอยู่ปีหนึ่ง กับห้าเดือนจึงสำเร็จสิ้นปูน 60 เกวียน คิดเป็นเงินทั้งค่าจ้าง และค่าอิฐปูนและใช้ในการทั้งสิ้นนั้น “ แปลออกมาว่า ตั้งแต่แรกก่อสร้างเมื่อ วัน พฤหัสบดี เดือน 7 แรม 4 ค่ำ พุทธศักราช 2427 จนสำเร็จสิ้นปูนก่อสร้าง 60 เกวียน รวมค่าใช้จ่าย เป็นเงินทั้งสิ้น 78,500.-บาท ความสูงของพระปรางเอนสูง 13 วา พระปรางค์สร้างครั้งแรกตรงและลงเสาเข็มนอนทางด้านทิศตะวันออกไว้มากเนื่องจากที่ดินเป็นหลุมเป็นบ่อมากจึงทรุดแต่ปรากฏตรงกันข้ามพระปรางค์ได้ทรงเอียงด้านทิศตะวันตก พระปรางค์ใหญ่นี้สร้างเมื่อภายหลังการสร้างวัด ส่วนกำแพงแก้ว และปรางค์องค์เล็กสี่ทิศสี่มุม สร้างประมาณ พุทธศักราช 2450 ก่อสร้างภายหลังพระปรางค์องค์ใหญ่ สังเกตลวดลายและเนื้อปูนที่ก่อสร้าง จะเห็นได้ว่าคนละสมัย ฝีมือช่างไม่เหมือนกัน อนึ่ง พระปรางค์วัดสาขลา นาเกลือ เป็นอนุสรณ์ แห่งชัยชนะของชาวตำบล (สาขลา สาวกล้า ) นาเกลือ หลังจากรบชนะพม่า เมื่อ พุทธศักราช 2328 เป็นการประกาศให้โลกรู้ ถึงชัยชนะที่กล้าหาญของวีรสตรีแห่งสาวกล้า

พระปรางเอนองค์ดังกล่าวจากที่มีการบันทึกไว้ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ไว้แล้วเมื่อปี 2427 โดยรวมระยะเวลา ณ.ปัจจุบันแล้ว 130 ปีแล้วจากโบราณที่เล่าขานต่อกันมาว่าเป็นพระปรางค์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นความที่ได้รับชัยชนะและความกล้าหาญของราษฎรในหมู่บ้านสาขลา ซึ่งเมื่อก่อนได้เกิดสงครามพม่าเข้าบุกตีกรุงศรีอยุธยาโดยชาวพม่าได้มากวาดต้อนชาวบ้านสาขลาเพื่อนำไปเป็นเชลยศึก โดยพวกผู้ชายได้ออกไปรบกับพม่าทิ้งเพียงผู้หญิง เด็กและคนชรา เฝ้าบ้าน จนกระทั่งพวกพม่าได้ยกกำลังขึ้นมาบริเวรท่าคลองชัยเข้ามาในหมู่บ้าน พวกผู้หญิงและเด็กโตต่างร่วมมือต่อสู้กับข้าศึกเพื่อขับไล่ข้าศึก โดยไม่มีอาวุธที่จะเข้าสู้รบใช้เพียง ไม้ สากตำข้าวเข้าสู้รบจนได้รับชัยชนะจนทัพพม่าถอยล่นไม่เป็นท่าต่อมาภายหลังชาวบ้านสาขลาได้ร่วมมือร่วมแรงก่อสร้างพระปรางค์เพื่อแสดงให้นึกถึงความกล้าหาญและชัยชนะของชาวหมู่บ้านสาขลาโดยเฉพาะสตรีจึงเรียกต่อกันมาในยุคสมัยนั้นคือ อนุสาวรีย์สาวกล้า

พระปรางค์เอียง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ริมคลองสาขลา ถือเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของวัดแห่งนี้ คนเฒ่าคนแก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ในอดีตการทำสิ่งปลูกสร้างจะไม่ใช้วิธีลงเสาเข็มเหมือนปัจจุบัน แต่จะใช้วิธีวางท่อนซุงหรือท่อนไม้ไขว้กันไปมา ตรงบริเวณการสร้างพระปรางค์ก็เช่นกัน แต่บริเวณนั้นอยู่ใกล้กับริมคลอง คนสมัยก่อนจึงได้วางท่อนไม้บริเวณริมคลองไว้มาก เพราะกลัวว่าเวลาผ่านไปอาจจะถูกน้ำกัดเซาะขึ้นมาถึงฐานพระปรางค์ได้ จึงวางท่อนไม้ไว้มากกว่าอีกด้านหนึ่งที่ไม่ติดคลอง แต่เวลาเนิ่นนานทางฝั่งคลองพื้นที่ยังคงเดิม แต่ฝั่งพื้นดินกลับทรุดลง จึงทำให้พระปรางค์เอียงนั่นเอง

ปัจจุบัน พระปรางค์ยังคงอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไปชมหลายๆ คน อาจจะสงสัยว่าทำไมพระปรางค์ถึงไม่สูงนัก นั่นก็เพราะได้มีการถมดินบริเวณฐานพระปรางค์ขึ้นมากว่าเดิมถึง 2 เมตร จึงทำให้รู้สึกว่าพระปรางค์ไม่สูง แต่แท้จริงแล้วใต้ดินลึกลงไปยังคงมีฐานพระปรางค์อยู่นั่นเอง

ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2558 ทางวัดจะประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร เพื่อประดิษฐานประจำทิศทั้ง 4 บนซุ้มพระปรางค์

นับเป็นครั้งแรกที่มีการหล่อพระในวัดสาขลา พร้อมทั้งหล่อรูป “สาวกล้า” เพื่อประดิษฐานบนอนุสาวรีย์ โอกาสนี้ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมงานบุญครั้งนี้ด้วย

สำหรับการห่มผ้าองค์พระปรางค์ได้จัดขึ้น ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เพื่อเชิดชูให้กับสตรีที่เข้าสู้รับกับทัพพม่าในยุคนั้นและก่อนที่จะขึ้นห่มจะมีการแห่รอบหมู่บ้านเพื่อเป็นการให้ประชาชนสักการบูชาและยกย่องในความดีของวีรสตรีวีรชนที่รบชนะข้าศึกได้จนมีหมู่บ้านอยู่คู่ถึงลูกหลานจนปัจจุบันนี้

พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

เป็นอาคารปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ถัดจากเรือนไทย ภายในจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องหาปลา คบเพลิงขวด ตะเกียงแก๊ส อุปการณ์ทำนาเกลือ เช่นลูกระหัดวิดน้ำเข้านาเกลือ เป็นไม้ที่เป็นลูกมีใบพัด ใช้คู่กับกังหันลม มีลูกกลิ้ง ใช้กลิ้งพื้นนาให้พื้นเรียบ ไสแถว (คือกวาดเกลือออก) โอ่งเก่า ครกตำข้าว หินโม่แห้ง เขาและกระดูกสัตว์ พระพุทธรูปเก่า ตะเกียง กระจาด กระด้ง เป็นต้น

ศาลาเรือนไทยสาวกล้า

เป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้กับองค์พระปรางค์ เป็นศาลาเรือนไทยทรงจตุรมุข ด้านหน้ามีสิงห์คู่แบบจีน ชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เชิดชูวีรกรรมในการสู้รบกับพม่า ทั้งยังเป็นที่มาของคำว่า สาขลา ด้านในมีรูปปั้นสาวไทยถือสากตำข้าว

การเดินทาง

ห่างจากป้อมพระจุลจอมเกล้า 13 กิโลเมตร

ห่างจากพระสมุทรเจดีย์ 13 กิโลเมตร

ห่างจากตลาดพระประแดง 23 กิโลเมตร

เส้นทางรถยนต์

เส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ -> เลี้ยวขวาแยกพระสมุทรเจดีย์ (หอนาฬิกา) ไปทางป้อมพระจุล -> เลี้ยวขวาเข้าอบต.แหลมฟ้าผ่า

ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ มุ่งหน้าพระประแดง -> ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ตรงที่มีหอนาฬิกา) ให้ป้ายเลี้ยวขวาไปทางป้อมพระจุลจอมเกล้า

เมื่อเลี้ยวขวาแล้ว ตรงไปอีกราว 2 กิโลเมตร พอข้ามสะพานสูงข้ามคลองสรรพสามิต ลงสะพานปุ๊บเลี้ยวขวาไปทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า (มี 7-11 อยู่ปากซอย) เลี้ยวขวามาแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ (ประมาณ 9 กิโลเมตร) จนสุดทาง จะข้ามสะพานข้ามคลองแล้ววัดจะอยู่ทางซ้ายมือ

* หากใช้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ตามป้ายบอกทางดาวคะนอง พอข้ามสะพานพระราม 9 (สะพานแขวน) แล้วชิดซ้ายเพื่อออกถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 12 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

** หากใช้วงแหวนอุตสาหกรรม สะพานภูมิพล (จากถนนปู่เจ้าสมิงพราย หรือ ถนนพระราม 3) ตามป้ายบอกทางลงถนนสุขสวัสดิ์ (พระประแดง) เมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 11 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

*** หากใช้ถนนวงแหวนรอบนอก กาญจนาภิเษก (จากฝั่งตะวันออก หรือ ฝั่งตะวันตก) ตามป้ายทางออกถนนสุขสวัสดิ์ (พระสมุทรเจดีย์) เมื่อเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์แล้ว ตรงตามเส้นทางไปเรื่อยๆ (อีกประมาณ 7 กิโลเมตร) จนกระทั่งถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ (ที่มีหอนาฬิกา) จึงเลี้ยวขวาตามป้ายป้อมพระจุล จากนั้นไปเลี้ยวขวาอีกทีตรงทางเข้า อบต.แหลมฟ้าผ่า

* ปัจจุบันมีการทำถนนสายใน และสร้างสะพานเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากแขวงท่าข้าม บางขุนเทียน ไปยังสมุทรปราการ ทำให้มีเส้นทางไปยังวัดสาขลาเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องอ้อมไปเข้าทาง อบต.แหลมฟ้าผ่า ถนนสายในนี้เป็นถนนคอนกรีตกว้าง เดินทางสะดวก (ในช่วงน้ำไม่ท่วม) หากไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่แนะนำ เพราะค่อนข้างซับซ้อน (แม้ดูกูเกิ้ลก็อาจพาหลงได้) แต่สำหรับคนพื้นที่ หรือคนที่เคยใช้เส้นทางแถบนี้มาก่อน จะเข้าใจ และสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดได้ดี

ถนนชายทะเลบางขุนเทียน (ซอยเทียนทะเล 25) -> ซอยประชาอุทิศ 90 (บ้านคลองสวน-บ้านล่าง)

* เส้นทางนี้อาจเหมาะสำหรับคนที่อยู่ในย่านพระราม 2 และบางขุนเทียน สำหรับคนต่างถิ่นอาจค่อนข้างสับสน แนะนำให้ใช้เส้นทางอื่น

สำหรับคนที่มาจากบางขุนเทียน, ถนนพระราม 2(แสมดำ), โลตัสพระราม 2, เซ็นทรัลพระราม 2 สามารถเลี้ยวเข้าทาง "ถนนชายทะเลบางขุนเทียน" (ชื่อป้ายบอกทางแยกจากถนนพระราม 2 จะเขียนชื่อถนนตามนี้เลย) จากถนนชายทะเลบางขุนเทียน ตรงไปเรื่อยๆ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยเทียนทะเล 25 ผ่าน ม.พระจอมเกล้าธนบุรี (วิทยาเขตบางขุนเทียน) วัดคลองสวน (สมุทรปราการ) ตรงตามเส้นทางหลักไปเรื่อยๆ เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับซอยประชาอุทิศ 90 จากนั้น จึงเลี้ยวขวาตามป้ายบอกทาง ไปถนนบ้านคลองสวน-บ้านล่าง เมื่อเลี้ยวมาแล้ว ตรงไปเรื่อยๆ (ทางนี้จะไปบรรจบกับถนนเลียบคลองสรรพสามิต) จนกระทั่งถึงสามแยกที่มีสะพานข้ามคลองทางขวามือจึงเลี้ยวขวาข้ามสะพานข้ามคลอง เลี้ยวมาสักระยะ จะเจอสามแยก จึงเลี้ยวขวาเพื่อเข้าบ้านสาขลา และวัดสาขลา

ถนนประชาอุทิศ-วัดคู่สร้าง -> ถนนเลียบคลองสรรพสามิต

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางสายในที่มาจากซอยพุทธบูชา หรือแยกทุ่งครุ (ถนนประชาอุทิศ) เหมาะสำหรับผู้ที่คุ้นเคยเส้นทางถนนประชาอุทิศ​

สำหรับคนที่เข้ามาทางถนนประชาอุทิศ ให้ตรงตามป้ายบอกทางไปครุใน ไปตลอดเส้นทาง จนกระทั่งผ่านวัดคู่สร้างไป จากนั้น ถนนจะไปสุดตรงสามแยกรูปตัวที (T) (ซึ่งเป็นถนนเลียบคลองสรรพสามิต) ตรงแยกนี้เลี้ยวขวา เมื่อเลี้ยวขวาไปแล้ว ตรงไปอีกราว 3 กิโลเมตร ซ้ายมือจะเห็นสะพานข้ามคลอง จึงเลี้ยวซ้ายข้ามคลองไป ข้ามคลองไปสักระยะ จะเจอสามแยก จึงเลี้ยวขวาเพื่อเข้าบ้านสาขลา และวัดสาขลา

รถโดยสารประจำทาง (ดูรายละเอียด รถโดยสารประจำทาง)

รถเมล์ + รถสองแถวใหญ่

- หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.20 (ท่าน้ำดินแดง - พระสมุทรเจดีย์) ลงสุดสายที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (ตรงบริเวณนี้มีสองแถวหลายสาย ดูตามป้ายข้างรถ หรือถามคนขับ)

สาย ปอ. 20 ท่าดินแดง - พระสมุทรเจดีย์ (รถแอร์ ยูโรสีส้ม)

เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำท่าดินแดง - ถนนลาดหญ้า - วงเวียนใหญ่ - ตลาดวงเวียนใหญ่ - แยกตากสิน - แยกมไหศวรรย์ - บิ๊กซีดาวคะนอง - บางปะแก้ว - บิ๊กซีบางปะกอก - โรงพยาบาลบางปะกอก 1 - แยกประชาอุทิศ - ถนนสุขสวัสดิ์ - กม.9(ลงทางด่วน) - แยกวัดสน - แยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - วัดใหญ่ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์(หอนาฬิกา) - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์

** สาย 20 ที่เป็นรถมินิบัส (รถร้อน) จะสุดที่บิ๊กซีพระประแดง ไปไม่ถึงพระสมุทรเจดีย์ หากนั่งสายนี้มา ให้ลงรถที่บิ๊กซี แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์

* หากขึ้นรถเมล์เล็กมินิบัส สาย 20 (ท่าน้ำดินแดง - พระประแดง) มาลงรถที่หน้าบิ๊กซีพระประแดง จากนั้นรอต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ ไปลงสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์ แล้วต่อสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา

** หากขึ้นรถเมล์สาย ปอ.140 (ทางด่วน), ปอ.142 (ทางด่วน) พอลงจากทางด่วนแล้ว ให้ลงรถเมล์ป้ายแรก แล้วต่อรถเมล์สาย ปอ.20 (ให้ขึ้นเฉพาะรถใหญ่ รถมินิบัสจะไปไม่ถึง) ไปสุดสายที่พระสมุทรเจดีย์ จากนั้นต่อสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา

รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1146) พระประแดง - พระสมุทรเจดีย์

เส้นทางเดินรถ ท่าน้ำพระประแดง - ตลาดพระประแดง - วัดกลาง - ถนนนครเขื่อนขันธ์ - สามแยกพระประแดง - บิ๊กซีสุขสวัสดิ์(บิ๊กซีพระประแดง) - วัดครุใน - รพ.บางปะกอก 3 - แยกถนนกาญจนาภิเษก - โรงเรียนราชประชาสมาสัย - แยกพระสมุทรเจดีย์ - ท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์

รถสองแถวใหญ่หกล้อ (1290) พระสมุทรเจดีย์ - สาขลา

(ข้างรถจะเขียนว่า เจดีย์ - อำเภอ - สาขลา)

เส้นทางเดินรถ ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ - สามแยกพระสมุทรเจดีย์ - ถนนสุขสวัสดิ์ - เลี้ยวเข้าถนนสายสุขสวัสดิ์-นาเกลือ - ที่ว่าการอำเภอพระสมุทรเจดีย์ - วัดคลองพระราม - อบต.แหลมฟ้าผ่า - ท่าเรือป้ารี่ - วัดภาวนาราม - วัดสาขลา

* นอกจากรถสองแถวใหญ่แล้ว ปัจจุบันเห็นว่ามีรถตู้ให้บริการจากพระสมุทรเจดีย์ ไปยังบ้านสาขลาอีกด้วย (คิวรถอยู่บริเวณท่าเรือข้ามฟากพระสมุทรเจดีย์ วิ่งมาสุดที่ทางเข้าบ้านสาขลา (เดินต่อไปวัดสาขลาอีกประมาณ 100 เมตร) ข้อดีของรถตู้คือ ได้นั่งรถแอร์ แต่ข้อเสียคือ มีราคาสูงกว่ารถหกล้อใหญ่

รถตู้ + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด รถตู้)

- นั่งรถตู้สาย บางปะแก้ว - พระสมุทรเจดีย์ (คิวรถอยู่แถวตลาดบางปะกอก ช่วงแยกพระราม 2)

- จากนั้นต่อรถสองแถวหกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา ตรงบริเวณท่าเรือพระสมุทรเจดีย์

เรือข้ามฟาก + รถสองแถวใหญ่ (ดูรายละเอียด เรือข้ามฟาก)

ท่าเรือวิบูลย์ศรี (ตลาดปากน้ำ) - ท่าพระสมุทรเจดีย์

- นั่งเรือข้ามฟากจากตัวเมืองปากน้ำ (ท่าเรือวิบูลย์ศรี) ตรงตลาดปากน้ำ มาขึ้นท่าพระสมุทรเจดีย์

- ออกจากท่าเรือแล้ว ต่อรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา (รถจอดแถวบริเวณท่าน้ำ)

ท่าเรือเภตรา (ปู่เจ้าสมิงพราย) - ท่าพระประแดง

- นั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือเภตรา ตรงสุดถนนปู่เจ้าสมิงพราย มาขึ้นฝั่งที่ท่าพระประแดง

- จากนั้นขึ้นรถสองแถวใหญ่หกล้อ สายพระประแดง - พระสมุทรเจดีย์ (ขึ้นแถวท่าน้ำได้) ไปลงสุดสาย แล้วต่อรถสองแถวใหญ่ สายเจดีย์ - อำเภอ - สาขลา


ข้อมูลการติดต่อ

เวลาเปิดให้เข้าชม ทุกวัน เวลา 8.00 - 18.00 น.

ที่อยู่ 19 หมู่ 3 บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

โทร 02 3773135