ประวัติตำบลนาเกลือ

ชุมชนบ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

บ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขต ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ราวสมัยอยุธยาตอนต้น วิถีชีวิตชาวบ้านสาขลา เป็นชุมชนชาวประมง อาชีพส่วนใหญ่ทำการประมงและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ฯลฯ สิ่งที่น่าสนใจของหมู่บ้านสาขลา คือ ความแตกต่างระหว่างชุมชนเมือง และวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้านแบบชนบทดั้งเดิม อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านฝั่งตะวันตกของจังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่จรดชายทะเลตอนบนของอำเภอพระสมุทรเจดีย์มีอาณาเขตไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชน ส่วน ใหญ่ทำสวนผลไม้ เช่น ฝรั่ง พุทรา แต่เดิมทำสวนมะพร้าวและทำน้ำตาลมะพร้าว ต่อมาระยะหลังเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง สวนมะพร้าวก็เริ่มหายไป ด้วยมลพิษจากโรงงานเหล่านั้นส่วนตอนใต้ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ติดกับชายทะเล ประชาชนบริเวณนั้นมีอาชีพการจับสัตว์น้ำ, ทำประมงชายฝั่ง, ทำนาเกลือ, เลี้ยงกุ้ง ปลา และปูทะเล

อำเภอพระสมุทรเจดีย์มีสถานที่สำคัญคือ พระสมุทรเจดีย์ อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ “พระสมุทรเจดีย์” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “พระเจดีย์กลางน้ำ” เพราะเดิมตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำ ปัจจุบันตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2369 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมาเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุก ๆ ปี จะมีงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ เป็นงานฉลอง 9 วัน 9 คืน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

ลักษณะทางกายภาพและสภาพแวดล้อม

ชุมชนบ้านสาขลา ตั้งอยู่ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้กรุงเทพมหานครลงมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของจังหวัดติดชายทะเลซึ่งเป็นแนวชายยฝั่งอ่าวไทยตอนในทั้งหมด บ้านสาขลา อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของ ตัวจังหวัด เรียกว่า ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

สภาพโดยทั่วไปของชุมชนบ้านสาขลาเป็นป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ของป่าเขตร้อน มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุม มีความชื้นสูง มีปริมาณน้ำฝนมาก กลุ่มของสังคมพืชที่เกิดอยู่บริเวณป่าชายเลนจะเป็นสังคมพืชที่เกิดอยู่บริเวณปากแม่น้ำบนดินเลน หรือเลนปนทราย ที่มีน้ำท่วมถึงอยู่เสมอ ลักษณะ โดยทั่วไปของป่าชายเลนจะเป็นแนวทอดยาวขนานไปตามชายฝั่งทะเล และตามแนวคลอง ระยะหลังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปบ้าง เพราะบางบริเวณถูกแบ่งไปเป็นนากุ้ง

พันธุ์ไม้โดยทั่วไปที่ขึ้นอยู่มีไม้แสมขาว ขึ้นสลับกับแสมดำ ไม้โกงกาง ไม้ลำพูและจาก ถัดเข้าไปจะเป็นบริเวณที่มีน้ำทะเลท่วมถึงบ้างเป็นครั้งคราวจะพบต้นโพทะเล เหงือกปลาหมอ ปรงไข่

สัตว์ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ได้แก่ ปูแสม ปูก้ามดาบ ปลาตีน ตะกวด ปูทะเล นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น กุ้ง หอยชนิดต่างๆ และปลากระบอก นกที่พบบ่อยในบริเวณนี้ได้แก่ นกดุเหง่า นกกระจ้อยป่าโกงกาง นกเอี้ยงหงอน ฯลฯ นกที่ใช้บริเวณป่าชายเลนเป็นแหล่งวางไข่ ได้แก่ นกยางเขียว กา นกแขวก

นอกจากนี้ยังมีนกอพยพที่หลบลมหนาวมาพักพิง และเป็นแหล่งหากินอีกมากมาย จนทำให้บ้านสาขลา เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับนักดูนกทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, พ.ศ. 2540 )

ความเป็นมาของชุมชน

บ้านสาขลา สันนิษฐานว่าเป็นหมู่บ้านใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ด้วยที่บริเวณวัดสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีพระปรางค์องค์หนึ่งบริเวณหน้าวัด เข้าใจกันว่าสร้างในสมัยอยุธยา รูปทรงเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่ง สร้างลักษณะเดียวกันกับพระปรางค์วัดพระราม หรือพระปรางค์วัดมหาธาตุกรุงศรีอยุธยา เป็นพระปรางค์ที่ยอดเอนจากจุดตั้งฉากไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 15 องศา ชาวบ้านเล่าว่าพระปรางค์องค์นี้เอียงตั้งแต่เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ด้วยช่างสมัยนั้นเกรงว่าพื้นดินด้านชายคลองจะอ่อนกว่าด้านใน จึง เสริมฐาน รากแข็งแรงกว่า เหตุนี้ด้านที่ฐานราก พระปรางค์วัดสาขลา น้อยกว่าจึงทรุดเอียงลง แต่ก็ไม่ล้มเสียหาย

ในสมัยขุนหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ) ได้เคยเสด็จประพาสปากน้ำท่าจีน สมุทรสาคร โดยผ่านคลองโคกขาม ย่านนี้ไม่ห่างจากหย่อมย่านบ้านนาเกลือ คืออยู่ระดับพื้นที่ใกล้เคียงกัน

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ชื่อบ้านสาขลาสืบเนื่องมาแต่สงครามเก้าทัพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสู้รบกับพม่าในสมัยนั้น บรรดาชายฉกรรจ์ ต้องถูกระดมกวาดต้อนไปประจำกองทัพ เหลือแต่สตรีและเด็ก คนชรา บ้านสาขลาตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ใครมีทรัพย์สินเงินทองก็ฝังดินไว้ ชาวบ้านสาขลา ต้องต่อ สู้ กับ หน่วยกวาดล้างของพม่า เพราะบ้านสาขลาเป็นเสมือนทางเสือผ่านที่ต้องพลอยแหลกลาญไปด้วย เนื่องจากสมัยนั้นบ้านสาขลาอุดมไปด้วยข้าวปลา นาเกลือ นับว่าเป็นแหล่งเสบียงสำคัญของกองทัพ

ด้วยมูลเหตุแห่งสงครามไทยกับพม่านี้เอง บ้านสาขลาจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าหมู่บ้านสาวกล้า เนื่องมาจากพม่ายกทัพผ่านมากวาดต้อนผู้คนและเสบียงอาหาร ทำลายทรัพย์สิน ทำลายหมู่บ้าน ผู้หญิงและคนชราเข้าต่อสู้ด้วยกลยุทธ์จนได้ชัยชนะที่บริเวณคลองชัย จึงมีชื่อเรียกว่าคลองชัย ติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาราว พ.ศ.2482-2484 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขุดคลองสรรพสามิต เชื่อมโยงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน คลองสรรพสามิตเป็นคลองที่ขุดขึ้นโดยกรมสรรพสามิต ในสมัยรัฐบาลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า ไปทางทิศตะวันตก ผ่านตำบลนาเกลือ

ตัดผ่านคลองขุนวรพินิจ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ผ่านคลองพิทยาลงกรณ์ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ออกสู่แม่น้ำท่าจีน ทำให้สภาพพื้นที่บ้านสาขลาเปลี่ยนไป โดยมีคลองตัดพื้นที่ออกจากกัน ชุมชนที่เป็นชุมชนใหญ่ถูกแบ่งออกไป การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมจึงเปลี่ยนไปด้วย ในปัจจุบันได้มีการตัดถนนจากถนนสุขสวัสดิ์เข้าไปถึงชุมชนบ้านสาขลา วิถีการดำเนินชีวิตยิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น มีแนวโน้มว่าการเดินทางโดยเรือที่ใช้กันมายาวนานนั้นจะเปลี่ยนเป็นรถยนตร์เหมือนๆกับสังคมเมืองทั่วไป

(ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, พ.ศ.2540)


วิถีชีวิตในชุมชน

สภาพพื้นที่หมู่บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าชายเลน มีความแปลกกว่าที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด เพราะสาขลาเป็นบ้านสามน้ำ สามป่า สามนาและสามหอย โดยมีความหมายมาจากทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของบ้านสาขลา ดังนี้

สามน้ำ คือมีทั้ง น้ำจืด ด้านติดต่อกับธนบุรีและเขตอื่น ซึ่งแต่เดิมนำน้ำจืดมาทำนาข้าวและทำสวนส้ม เลี้ยงปลาสลิดก็ยังได้ น้ำกร่อย พื้นที่ซึ่งสามารถนำน้ำจากบริเวณใกล้ปากอ่าว โดยคลองต่างๆ ที่อยู่ใต้คลองบางปลากดลงไป จากส่วนติดต่อระหว่างบางขุนเทียนจนถึงสมุทรสาคร น้ำเค็ม คือส่วนที่ติดกับทะเล

สามป่า คือป่าแสม ป่าจาก ป่าโกงกาง และยังมีป่าอีกส่วนหนึ่งซึ่งแต่เดิมเป็นเส้นทางการเดินทางจากบ้านสาขลาออกมาด้านคลองบางปลากด เป็นป่าที่มีสัตว์ป่า เช่น เก้ง สมัน เนื้อ เสือ ส่วนในน้ำมีจระเข้น้ำจืด

สามนา คือ นาข้าว หมายถึงพื้นที่ด้านติดต่อน้ำจืด สามารถทำนาข้าวได้ นากุ้งและปลา ด้วยสภาพที่มีน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม จึงทำนากุ้งและนาปลาได้ ในยุคก่อนๆ เลี้ยงปลาสลิดด้วย นาเกลือ ด้านชายฝั่งทะเลสามารถดำเนินอาชีพทำนาเกลือได้ดี ทรัพยากรพร้อมมากทั้งที่ดิน น้ำทะเล ลม และแสงแดด

สามหอย ได้แก่ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรมและหอยกระพง (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ, พ.ศ.2540)

การทำนาเกลือเป็นอาชีพหลักของชาวสาขลามาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ทำเฉพาะในฤดูแล้งกับฤดูหนาวประมาณ 6 เดือน พอถึงฤดูฝนก็ต้องเลิกทำเพราะฝนตกมากทำนาเกลือไม่ได้ผล ชาวนาเกลือก็จะเปลี่ยนอาชีพไปทำการประมง เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทำให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ และเกลือในท้องที่ก็ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น เพราะต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นอ้างว่าเกลือของเรามีความเค็มน้อย เป็นเกลือที่มีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ราคาเกลือตกต่ำแพ้ที่อื่น ซึ่งชาวสาขลาส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนอาชีพใหม่ หันมาทำนากุ้งนาปูกันมากขึ้น

นาเกลือจึงเปลี่ยนสภาพเป็นวังกุ้งเสียเป็นส่วนมาก เพราะพื้นที่ทำนาเกลือกักขังน้ำไม่ให้รั่วไหลอยู่แล้ว การทำวังกุ้งต้องขังน้ำในนาให้อยู่ และทำประตูน้ำสำหรับระบายน้ำเข้า-ออก เพื่อไขน้ำทะเลเข้าในนา

การเลี้ยงหอยแครงในนากุ้งก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ชาวสาขลาเริ่มทำกันในระยะหลังๆ ด้วยปรากฎว่าการเลี้ยงกุ้งเริ่มมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย

การเลี้ยงหอยแครงในนากุ้ง เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน การอยู่โดยไม่ทำลายกัน เจริญเติบโตอยู่ด้วยกัน โดยปกติหอยชนิดต่างๆ จะเก็บกินขี้ปลาอยู่แล้ว ส่วนการกินโคลนของหอบแครงนั้นเป็นการกินแพลงตอนและเศษอาหารจากสัตว์อื่นๆ นับเป็นยุทธศาสตร์การคิดที่ชาญฉลาดของชาวบ้าน

อาชีพใหม่ของชาวสาขลาอาชีพหนึ่งคือการเลี้ยงหอยนางลม กระทำกันชายฝั่งทะเล และบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึง โดยใช้อิฐบล็อกและหินให้หอยมาเกาะตามธรรมชาติ เมื่อหอยโตพอประมาณก็จะแกะขาย หนึ่งกระป๋องนมตราหมีราคาประมาณ 200 บาท

ส่วนอาชีพการประมง ชาวสาขลาส่วนใหญ่ทำการประมง พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ การประมงทะเล ได้แก่การทำโป๊ะน้ำลึก โป๊ะน้ำตื้นและเครื่องมือชายฝั่ง เช่น จำพวกเบ็ดราว ลอบทะเลและอื่นๆ ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือการประมงในฝั่ง ได้แก่การจับปลาตามลำคลองโดยใช้เครื่องมือ เช่น แห ลอบ เฝือก สวิงและอื่นๆ

ชนชาติ

บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ มีหมู่บ้านจำนวน 8 หมู่บ้าน 2,020 ครัวเรือน จำนวนประชากร 9,974 คน (กุมภาพันธ์, .2543)

ประชากรส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นภายในชุมชนบ้านสาขลาจึงไม่มีศาสนสถานของศาสนาอื่นๆ ตั้งอยู่เลย

ด้านการศึกษาของประชากร ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ทั้งนี้เนื่องจากบ้านสาขลามีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร โดยสามารถเดินทางไปเช้ากลับเย็นได้เพราะการคมนาคมสะดวกขึ้น

ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรม

ชุมชนบ้านสาขลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณป่าชายเลน มีลำคลองเล็กๆ มากมายเชื่อมโยงติดต่อระหว่างคลองสรรพสามิตกับทะเลอ่าวไทย บ้านเรือนสร้างอยู่ริมคลองต่างๆ เหล่านี้ บ้านแต่ละหลังมีลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งพอสรุปได้จากสภาพทั่วไป อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 5 รูปแบบ คือ

เรือนพักอาศัย ประมาณ 300 หลังคาเรือน

เรือนพักอาศัยต่อเติมเป็นร้านค้า 10 หลัง

เรือนร้านค้า 35 ร้าน

อาคารทางด้านศาสนา 1 แห่ง

อาคารใช้ประโยชน์เฉพาะทาง 1 แห่ง


ลักษณะของเรือนพักอาศัย

เรือนพักอาศัย หากแบ่งตามรูปแบบของรูปทรงหลังคาได้ 3 รูปแบบ คือ รูปจั่วทรงไทย ทรงปั้นหยาและจั่วแบบรูปทรงสมัยใหม่ ซึ่งมีความลาดชันน้อยกว่าจั่วทรงไทย

มีทั้งที่ปลูกสร้างแบบรูปทรงสมัยใหม่และเรือนไทย ที่เป็นเรือนไทยจะเป็นรูปแบบดั้งเดิม มีรูปแบบเรือนไทยภาคกลางทั่วไป ยกใต้ถุนสูง เดินรอดได้ ต่อมามีการทรุดตัวของแผ่นดินและการทับถมของตะกอนจากน้ำท่วม ทำให้ใต้ถุนต่ำลง ส่วนอาคารรูปแบบสมัยใหม่มักสร้างขึ้นใหม่ หลายอาคารเป็นแบบผสมกัน ซึ่งมักเป็นการต่อเติมจากเรือนเดิม ลักษณะรูปแบบของเรือนจั่วแฝด พบได้ทั่วไป

เนื่องจากเป็นเรือนที่ไม่มีแบบแผนตายตัว เจ้าของบ้านปลูกโดยการประยุกต์ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ส่วนมากเป็นแบบสองชั้น มีหลังคาจั่วที่มีความลาดชันน้อย วัสดุที่ใช้ทั้งหมดเป็นวัสดุในเชิงอุตสาหกรรม แต่ยังใช้เสาไม้หรือพื้นไม้ ฝาผนังนิยมตีไม้ซ้อนเกล็ดตามนอน ชั้นล่างอาจเป็นฝาไม้เช่นเดียวกับชั้นบนหรือก่ออิฐฉาบปูน หน้าต่างเป็นหน้าต่างสำเร็จรูป

เรือนพักอาศัยเป็นเรือนที่สร้างขึ้นเพื่อสนองประโยชน์ในการอยู่อาศัยเท่านั้น เรือนประเภทนี้อาจจำแนกย่อยออกไปได้อีก 3 ลักษณะตามรูปแบบของอาคารเท่าที่ปรากฎ คือ

เรือนไทย

เรือนสมัยใหม่

เรือนไทยต่อเติม

เรือนพักอาศัยต่อเติมเป็นร้านค้า

ใช้พื้นที่บางส่วนของเรือน เช่น ระเบียง หรือต่อหลังคาด้านใดด้านหนึ่งของเรือนที่หันออกทางด้านถนน โดยวางสินค้าเพื่อจำหน่ายหรือเปิดเป็นร้านขายอาหาร

เรือนร้านค้า

เรือนร้านค้ามี 2 รูปทรง คือ แบบที่นิยมปลูกเป็นแบบชั้นเดียว หันหลังเรือนสู่คลอง หน้าร้านมีถนนทางเดินแล่นกลาง ร้านค้าปลูกอยู่ระหว่างสองฝั่งของถนน ปิดประตูร้านด้วยบานเฟี้ยมไม้ตลอดแนว

เรือนประเภทนี้จะอยู่กลางชุมชน ใกล้วัด เป็นตลาด ส่วนเรือนที่ตั้งอยู่ล้อมรอบหรือกระจายไกลออกไปจะเป็นเรือนพักอาศัยเป็นส่วนมาก

ส่วนหน้าเป็นที่ค้าขาย ส่วนหลังเป็นพักอาศัย และบางร้านเปิดเป็นร้านค้าอย่างเดียว เจ้าของไปพักที่อื่น ส่วนอีกรูปทรงหนึ่งเป็นเรือนแบบสมัยใหม่ ซึ่งสร้างร้านค้าโดยตรง กว้างใหญ่ มั่นคง ใช้เป็นอยู่อาศัยด้วย

อาคารใช้ประโยชน์เฉพาะทาง

อาคารที่เป็นอาคารนอกเหนือจากอาคารต่างดังได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอาคารในลักษณะอื่นที่ปลูกสร้างอยู่ในชุมชน มีลักษณะที่ใช้ประโยชน์เฉพาะทาง แตกต่างออกไปอีกลักษณะหนึ่ง ได้แก่ อาคารโรงภาพยนตร์ ซึ่งน่าสนใจในการศึกษา และน่าแปลกใจที่ชุมชนซึ่งไม่ห่างไกลจากชุมชนเมืองมากนักจะมีโรงภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อหลายปีก่อน ก่อนที่จะมีถนนการเดินทางโดยเรือก็นับว่ายังไม่สะดวกพอที่ผู้คนจะออกไปหาความบันเทิงได้การที่มีผู้สร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น คนหันไปให้ความนิยมโทรทัศน์และเทปบันทึกภาพ ซึ่งให้ความสะดวกมากกว่า โรงภาพยนตร์จึงเลิกลาไปและถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม

อาคารโรงภาพยนตร์ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่ยังมีสภาพให้เห็น เป็นโรงภาพยนตร์ที่จัดฉายภาพยนตร์ เป็นอาคารโล่ง เดิมมีเก้าอี้นั่ง มีชั้นลอยซึ่งเป็นชั้นสองแบบโรงภาพยนตร์ทั่วไป

เรือนพักอาศัย

เรือนพักอาศัยที่ได้ทำการศึกษาได้แก่เรือนของนางมัลลิกา เอียกพงษ์ มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่าเกิดมาก็เห็นเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นเรือนที่รับมรดกตกทอดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เรือนหลังนี้เป็นเรือนกลุ่ม ยกพื้นสูง เรือนประธานวางเรือนตามแนวแกนทิศตะวันออกและตะวันตก หน้าเรือนหันหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดขึ้นด้านนี้ ตัวเรือนเป็นไม้ถาวร ฝาเรือนเป็นไม้แผ่น หลังคามุงกระเบื้อง

ตัวเรือนยกใต้ถุนสูง มีระดับเรือนต่างกัน 3 ระดับ

ระดับนอน/ ระดับระเบียงและครัว / ระดับทางเดินและระเบียง

ครัวอยู่ข้างเรือนประธาน และยังมีครัวอีกครัวหนึ่ง อันเป็นลักษณะของการแยกครอบครัว เมื่อลูกๆ เติบโตออกเรือนแยกออกมา หลังคาเดิมมุงด้วยจาก ต่อมาเป็นสังกะสีและปรับปรุงเป็นกระเบื้องในที่สุด ภายในตกแต่งด้วยลวดลายฉลุเหนือประตูและใต้ขื่อ ทำให้มีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมมากขึ้น ชานแล่นส่วนกลางของตัวเรือน ทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอยร่วมกันระหว่างเรือนแต่ละหลัง

เรือนพักอาศัยต่อเติมเป็นร้านค้า

เรือนพักอาศัยบางเรือนต่อเติมเป็นร้านค้า โดยใช้พื้นที่บางส่วนของตัวเรือนที่มีอยู่แล้วต่อเติมกั้นผนังต่อชายคาออกเป็นเพิง เพื่อค้าขาย เช่นร้านขายของชำ ร้านขายอาหาร ลักษณะของรูปแบบอาคารประเภทนี้ส่วนมากเป็นเรือนไทย มีพื้นที่ใช้สอยแยกส่วนกันระหว่างที่อยู่อาศัยกับส่วนที่เป็นร้านค้า

เรือนร้านค้า

เดิมใช้วัสดุก่อสร้างแบบพื้นถิ่น วางรูปตัวอาคารไปตามความยาวของลำคลอง โดยปรับสภาพรูปทรงของอาคารให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม หันหน้าอาคารสู่ถนนทางเดินเท้าและหันหลังสู่คลอง ตัวเรือนเป็นเรือนชั้นเดียว ประตูเป็นบานเฟี้ยม เดิมเป็นแผ่นๆ ภายหลังเป็นบานติดต่อกันด้วยบานพับ ส่วนหน้าเป็นบริเวณของการวางสินค้า ส่วนหลังเป็นที่พัก

ศาลาท่าน้ำ

ลักษณะของศาลาหรือศาลาท่าน้ำ มีประโยชน์ใช้สอยในการหยุดพักและเป็นทางขึ้นลงเรือ ทั้งยังเป็นท่าเรือโดยสาร มีการจัดพื้นศาลาเป็นสองฝั่ง ยกพื้นเป็นระดับเดียวกัน มีช่องทางเดินแล่นกลาง หลังคาเป็นจั่ว มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แกะสลักลายไทยงดงาม

บทวิเคราะห์

คุณค่าของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่ต่อเนื่องกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและขนบประเพณีของแต่ละท้องถิ่น การศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจึงนำไปสู่การรู้ซึ้งในคุณค่านั้น การศึกษาค้นคว้าทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง ที่สนองตอบความต้องการทางกายภาพที่มีความจำเป็นและความต้องการขั้นพื้นฐานของการดำรงชีพ ความชาญฉลาดในการแก้ปัญหาทางเทคนิควิธีการก่อสร้าง ตลอดจนการคิดประดิษฐ์วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังต้องค้นลึกลงไปถึงความหมายที่เป็นเนื้อหาสาระทางสังคมที่แฝงเร้นอยู่กับรูปทรงและการแบ่งพื้นที่ภายในตัวเรือนอีกด้วย เพราะเรือนพื้นถิ่นจะสะท้อนให้เห็นถึงเนื้อหาของวัฒนธรรมในแต่ละสังคม อันรวมถึงพฤติกรรม คติความเชื่อและพิธีกรรมยังผลให้เกิด โลกทัศน์จากแหล่งความรู้ ของท้องถิ่นที่คนยุค ปัจจุบันไม่ความละเลยและมองข้าม

เรือนพื้นถิ่นชุมชนบ้านสาขลา มีปัญหาคล้ายกัน มุ่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม คือสภาพการทรุดตัวของแผ่นดิน แต่เดิมนิยมสร้างเป็นเรือนไทย ใต้ถุนสูง เมื่อเวลาผ่านไปทำให้ใต้ถุนเรือนต่ำลงเพราะการทรุดตัวของแผ่นดินและการทับถมของดินตะกอนอันเกิดจากน้ำท่วม ประกอบกับเป็นพื้นที่ชายทะเล จึงมี น้ำขึ้น น้ำลงอยู่ทุกวัน

เมื่อสภาพแวดล้อมไม่อำนวยจึงมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย บ้างรื้อของเก่าทิ้งหรือขายไป ปลูกสร้างเป็นแบบสากลนิยมขึ้นใหม่ ใช้วัสดุก่อสร้างชนิดใหม่

บางเรือนก็ต่อเติมเป็นร้านค้าเพื่อความอยู่รอดตามความผันแปรของสภาพเศรษฐกิจ บ้างเป็นลูกหลานรับมรดกมา แต่ตนเองไม่ได้อยู่อาศัยและเห็นคุณค่าของเรือนโบราณก็ช่วยกันซ่อมแซมรักษาให้คงอยู่ บ้างก็ดัดแปลงให้เหมาะกับอาชีพของตน และก็มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ทนแรงรบเร้าต่อความอยากได้เรือนงามๆ แบบตะวันตก ก็รื้อขายแยกย้ายออกจากที่เดิม ปรับเปลี่ยนเป็นเรือนหลังใหม่ ใช้วัสดุอุตสาหกรรมแทนวัสดุพื้นถิ่น

นับว่ายังมีอาคารบ้านเรือนบางส่วนที่แสดงให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ชาวบ้าน ตามวิถีชีวิตของคนชนบทชายทะเล และความเป็นอยู่ของคน ความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีประจำถิ่น ตามสภาพดินฟ้าอากาศ แสดงให้เห็นการแก้ปัญหาและความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจ

บางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกกลืนด้วยระบบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ และการพัฒนาประเทศที่เปล่าประโยชน์

การเปลี่ยนแปลงทางด้านรูปแบบ

อาคารส่วนมากเดิมหลังคามุงจาก เมื่อเวลาเปลี่ยนไปมีวัสดุที่คงทนมากกว่าและไม่ต้องเปลี่ยนหลังคาบ่อยๆ เพราะจากเก่า วัสดุนั้นคือสังกะสีและและกระเบื้อง อาคารรูปทรงเดิมจึงมีหลังคาเป็นกระเบื้องเป็นส่วนมาก

บ้านในชุมชนบ้านสาขลาพอจะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัย ที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จากบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามธรรมชาติ มาเป็นบ้านที่ซับซ้อนตามการดำเนินชีวิตอย่างตะวันตกที่เรียกว่า “สากล”

การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมจากแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบสมัยใหม่ แบบสากลนิยม คือเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ ตกแต่งทาสีฉูดฉาด ตามรูปแบบใหม่ของพื้นถิ่นนี้ เป็นการสะท้อนให้ทราบถึงฐานะความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน ทำให้เห็นสภาพของสังคมชัดเจนยิ่งขึ้น

รูปแบบของอาคารรูปทรงสมัยใหม่นี้ถือเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งของวิถีทางวัฒนธรรม การมีระเบียบวิธีการก่อสร้างคล้ายกัน เป็นลักษณะเฉพาะของพื้นถิ่น บ่งบอกลักษณะรวมทางสังคม เพราะได้ประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน เช่น ปัญหาของชุมชนนี้ก็คือปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น

กาลเวลาค่อยๆ ผ่านไป การครองชีพของผู้คนในชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง คนเก่าๆ ล้มหายตายจากไป บ้างเห็นคุณค่าเรือนโบราณก็ช่วยกันซ่อมแซมให้คงอยู่รูปเดิม บ้างก็ดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับอาชีพที่ตนทำอยู่ บ้างทนแรงรบเร้าต่อความอยากได้เรือนงามๆ แบบสมัยใหม่ไม่ได้ก็รื้อขายแยกย้ายออกไปจากที่เดิม ส่วนนี้ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังถูกกลืนด้วยระบบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีประจำถิ่น สภาพความเป็นพื้นถิ่นของชุมชนหายไป แล้วจะหาอะไรมาบ่งชี้ว่า ชุมชนย่านนี้เก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา!

ความนิยมชมชอบและหลงใหลในวัฒนธรรมของชาติอื่นมากเกินไป โดยมิได้ดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพสังคมดั้งเดิมเสียก่อน เป็นการทำลายวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรมไทย

แต่ดั้งเดิมนิยมสร้างบ้านพักอาศัยแบบไทยๆ มีลักษณะสวยงาม มีความเป็นพื้นถิ่น รูปแบบของบ้านมีความเหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ วัสดุก่อสร้างและขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแท้จริง

เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกแพร่กระจายมากขึ้น จึงหันมาปลูกสร้างบ้านแบบตะวันตกกันทั่วไป บ้านแบบไทยเดิมถูกรื้อไปบ้าง ขายไปบ้าง

ปัจจุบันบ้านหลายบ้านในชุมชนจึงติดเครื่องปรับอากาศ ทั้งๆ ที่เป็นชุมชนบ้านชายทะเลมีลมพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินทองไปโดยไม่จำเป็น

การรักษาเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมไทยเกี่ยวกับบ้านพักอาศัยควรที่จะกระทำในแนวประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องกระทำตามแบบดั้งเดิมไปเสียทุกอย่าง เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างหรือการใช้สอย แตกต่างไปจากอดีต

สภาพทั่วไป

ที่ตั้ง / อาณาจักร

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลแหลมฟ้าผ่าและตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์

จังหวัดสมุทรปรากา

ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานครที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล

นาเกลือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัด

สมุทรปราการ

เนื้อที่

ตำบลนาเกลือมีพื้นที่ 32.96 ตารางกิโลเมตร

ภูมิประเทศ

องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ สภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม น้ำทะเลท่วมถึง ราษฎรส่วนใหญ่อาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมคลอง และการสัญจรไป - มา ส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำโดยมีเส้นทางหลักคือคลองสรรพสามิต ปัจจุบัน มีถนนสุขสวัสดิ์ - นาเกลือเป็นถนนสายหลัก

งานประจำปี

1. งานทำบุญองค์หลวงพ่อโต ตรงกับวันที่ 6 มกราคมของทุกปี ในงานจะมีการถวายภัตตาหารเพลแก่ภิกษุ-สามเณรหมดวัด แจกทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนเรียนดีแต่ยากจน

2. งานสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการแห่ขบวนสงกรานต์ไปรอบหมู่บ้านเสร็จแล้วมีการละเล่นพื่นบ้านของคนพื้นที่ โดยจัดให้มีการแข่งขันเป็นหมู่คณะ เช่น การแข่งมัดปูทะเล ปิดตาตีหม้อ แข่งกินหอยแครง ชักเย่อ เป็นต้น ช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น.จะมีการสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน

3. เทศน์มหาชาติ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ในช่วงเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรพระภิกษุ-สามเณรเสร็จแล้วจะมีการร่ายพระคาถา 1000 ในช่วงบ่ายมีการเทศน์มหาชาติใน พระเวศน์สันดรชาดก(ทรงเครื่อง)และในเวลาประมาณ 19.00น.จะมีการเวียนทักษิณารอบพระอุโบสถ พระวิหาร รับพรจากภิกษุสงฆ์เป็นอันจบพิธี

4. งานก่อพระเจดีย์ทราย ตรงกับวัน แรม 1 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ในงานการห่มผ้าอนุสรณ์สถานพระปรางค์เอียงการประกวดก่อพระเจดีย์ทราย 4 ประเภท 1. ประเภทสวยงาม 2. ประเภทความคิด 3. ประเภทเงินมาก 4. ประเภทกองใหญ่ พร้อมมหรสพสมโพช ชมฟรีตลอดงาน

5. งานแห่หลวงพ่อโต ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในงานวันแรกจะมีการตักบาตรเทโวพระภิกษุ-สามเณร 2 รอบโดยรอบแรกจะเป็น ข้าวสารอาหารแห้ง รอบ 2 ข้าวสวย อาหารคาว-หวาน ช่วงสายจะแห่หลวงพ่อโตทางบก จากวัดสาขลาไปถึงวัดพระสมุทรเจดีย์แล้วจึงกลับมาที่วัดสาขลา ในวันที่ 2 แรม 2 ค่ำ จะมีการแห่องค์หลวงพ่อโตไปทางน้ำ จากวัดสาขลาไปถึงท่าเรือตลาดปากน้ำแล้วจึงแห่กลับมาถึงวัดสาขลา ช่วงบ่ายจะมีการแข่งขันเรือประเภทต่างๆดังนี้

5.1 ประเภทความเร็ว

5.2 ประเภทสวยงาม

5.3 ประเภทความคิดสร้างสรรค์

5.4 ประเภทตลกขบขัน นอกจากนี้ทุกวันตามเทศกาลสำคัญทางศาสนาจะมีการเวียนทักษิณารอบพระอุโบสถ

ประชากร

มีทั้งชาวไทย ชาวจีน ตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม ประมาณ 4,651 หลังคาเรือน หลังคาชนกัน จนมีคำกล่าวว่า ดินแดนที่ไก่บินไม่ตก จำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,946 คน

สภาพทางเศรษฐกิจ

อาชีพ ประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ มีอาชีพรับจ้าง รับราชการ ทำงานบริษัทเอกชน และประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก

สภาพทางสังคม

สถาบันการศึกษา

- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง

1. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านสาขลา

2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคลองทะเล

- โรงเรียนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกลือ 4 แห่ง

1. โรงเรียนชุมชนวัดสาขลา

2. โรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย

3. โรงเรียนวัดศรีคงคาราม

4. โรงเรียนสาขลาสุทธีราอุปถัมภ์

- กศน.ตำบลนาเกลือ

สถาบันและองค์กรทางศาสนา

- วัด 3 แห่ง

1. วัดสาขลา

2. วัดภาวนาราม

3. วัดศรีคงคาราม

สาธารณสุข

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาเกลือ

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพคลองทะเล

- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านขุนสมุทรไทย

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

- สถานีตำรวจ 1 แห่ง

- สมาชิก อพปร. 12 คน

- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1 แห่ง

- เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 7 คน

- รถดับเพลิง จำนวน 2 คัน

การคมนาคม

- ทางบก มีถนนสายหลัก คือ ถนนสุขสวัสดิ์ – นาเกลือ

- ทางน้ำ ตามคลองสรรพสามิตและคลองสายต่าง ๆ

การโทรคมนาคม

- สถานีโทรคมนาคมอื่น ๆ 3 แห่ง (เสียงตามสายของ อบต.) การไฟฟ้า ไฟฟ้าเข้าถึงทุกครัวเรือน

กลุ่มอาชีพ

1. กลุ่มแม่บ้านเกษตรนาเกลือพัฒนา

2. กลุ่มอาชีพสตรีบ้านสาขลา

3. กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านนาเกลือ

ผู้นำชุมชน (ตามการแต่งตั้ง)

หมูที่ 1 ขุนสมุทรไทย นายอาคม แตงอุไร ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 2 บ้านคลองนาเกลือ นายอภิศักดิ์ บุญแช่ม ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 3 บ้านสาขลา นางภิรมย์ อ่วมสอาด ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 4 บ้านสาขลา นายวิรุต เฉื่อยฉ่ำ ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 5 บ้านสาขลา นายชัยวัฒน์ อ่วมสอาด กำนัน

หมู่ที่ 6 บ้านคลองทะเล นางสุนีย์ คงวารี ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 7 บ้านสาขลา นายสุนัย อ่วมสอาด ผู้ใหญ่บ้าน

หมู่ที่ 8 บ้านคลองกระออม นายเกริกศักดิ์ กรรสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน