แกงแค

ประโยชน์ที่ได้จากเมนู แกงแคไก่


ได้สูตรการทำเมนู แกงแคไก่ กันไปแล้วก็มาดูกันว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากเมนูนี้กันบ้างค่ะแกงแค เป็นอาหารพื้นบ้านของภาคเหนือ บางคนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้าง แกงแค เป็นอาหารที่ชาวล้านนาสืบทอดกันมาช้านาน ผักที่ใช้มักเป็นผักพื้นบ้าน เราจะพบเห็นกันตามฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งส่วนประกอบของ แกงแค ในแต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกันสิ่งที่เหมือนกันคือใบชะพลูที่มีตลอดทั้งปี และชาวเหนือจะเรียกใบชะพลูว่า ผักแค รวมถึงมีผักเผ็ดหรือผักคราด ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากนี้ใบพริก พริกสด เป็นส่วนประกอบที่หาได้ง่ายตลอดทั้งปี ส่วนผักอื่นๆแล้วแต่หาได้ค่ะ

ชุดผักแคจะมีผัก 12 ชนิด คือ มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักขี้หูด ผักคราด ใบชะพลู ผักหอมแย่ (คล้ายผักชีแต่กลิ่นฉุนกว่า) ใบพริก เห็ดลม ถั่วฝักยาว ถั่วแปบ ชะอม และพริกขี้หนูสด บ้างพื้นที่ก็จะมีชุดแกงแค อีกแบบ อาจจะมีผัก 7 ชนิด คือ ผักคาด ใบชะพลู ใบพริก ชะอม มะเขือพวง พริกสด นอกจากนี้น้ำพริกที่ใช้เป็นเครื่องปรุงรสยังประกอบด้วย เครื่องเทศ สมุนไรอีกหลายชนิดด้วยกัน มีมะแหลบ มะแขว่น (เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ชาวภาคเหนือนิยมใส่ในอาหารพื้นเมืองเกือบทุกประเภท) เม็ดผักชี หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า พริกแห้ง กะปิ และปลาร้า

โดยปกติแกงแค นิยมแกงใส่เนื้อสัตว์จำพวก เนื้อไก่ หมู กบ เขียด หรือเนื้อวัวย่าง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สร้างความสมดุลของสารอาหารเนื่องจาก ใบชะพลู ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแกงแค มีสารออกซาเลตค่อนข้างสูง คือใบชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 691 มิลลิกรัม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ซึ่งให้โปรตีนอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นอาจจะเกิดเป็นนิ่วในกระเพราะปัสสาวะได้คุณค่าทางโภชนาการในผักแต่ละชนิดในแกงแค พบว่ามีสารอาหารอยู่อย่างมากมาย ผักพื้นบ้านบางชนิดแม้ยังไม่ได้วิเคราะห์ออกมาอย่างชัดเจนแต่ในอดีต คนสมัยก่อนก็ได้ใช้ผักหลากหลายชนิดซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาด้วย เช่น ใบชะพลู ช่วยบำรุงธาตุ คุมเสมหะให้ปกติ แก้จุดเสียด / ใบตำลึง ช่วยดับพิษร้อน / ข่า ช่วยขับลม / ชะอม ช่วยในการแก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้อาการปวดเสียดในท้องได้ดี / ผักเผ็ดหรือผักคราด มีรสเฝื่อนเล็กน้อยมีสรรพคุณแก้ริดสีดวงทวาร ช่วยเจริญอาหาร ขับลม และช่วยย่อยอาหาร / มะเขือ ช่วยในการลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ดี