กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หมายถึง การกระทำต่างๆ เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจที่จะอ่าน เห็นความสำคัญของการอ่าน เกิดความเพลิดเพลินที่จะอ่าน เกิดความมุ่งมั่นที่จะอ่าน และอ่านจนเป็นนิสัย ทั้งนี้ การอ่านหนังสือเป็นทักษะสำคัญทักษะหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพราะการอ่านหนังสือจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเราได้เป็นอย่างดียิ่ง เมื่อคนเราอ่านหนังสือจะเกิดความสามารถสร้างความรู้ อารมณ์ จินตนาการ และ ความเพลิดเพลิน การที่เด็กจะเกิดทักษะการอ่านหนังสือได้นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่าย ทั้งครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก

กิจกรรมส่งเสริมการอ่านคือ การกระตุ้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านสนใจการอ่านจนกระทั่งมีนิสัยรักการอ่าน และได้พัฒนาการอ่านจนกระทั่งมีความสามารถในการอ่าน นำประโยชน์จาการอ่านไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอ่านทุกประเภท (ฉวีวรรณ คูหาภินันทน์, 2542 : 93)

กรมวิชาการ (อ้างถึงใน ฉวีวรรณ คูหาภินันทน์, 2542 : 93) ให้ความหมายว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่านคือ การกระทำเพื่อ

1. เร้าใจบุคคลหรือบุคคลที่เป็นเป้าหมายให้เกิดความอยากรู้ อยากอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่มีคุณภาพ

2. เพื่อแนะนำชักชวนให้เกิดความพยายามที่จะอ่านให้แตกฉาน สามารถนำความรู้จากหนังสือไปใช้ประโยชน์ เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆ

3. เพื่อกระตุ้น แนะนำให้อยากรู้ อยากอ่านหนังสือหลายอย่าง เปิดความคิดให้กว้าง ให้มีการอ่านต่อเนื่องจนเป็นนิสัย พัฒนาการอ่านจนถึงขั้นที่สามารถวิเคราะห์เรื่องที่อ่านได้

4. เพื่อสร้างบรรยากาศที่จูงใจให้อ่าน

ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หมายถึงกิจกรรมต่างๆที่ห้องสมุดจัด ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอ่านอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นนิสัยรักการอ่าน เช่น การเล่านิทาน การเชิดหุ่น การแสดงละคร การแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ เป็นต้น

ลักษณะของกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ดี

1. เร้าความสนใจ เช่น การจัดนิทรรศการที่ดึงดูความสนใจ การตอบปัญหา มีรางวัลต่างๆ การใช้สื่อเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วย

2. จูงใจให้อยากอ่านและกระตุ้นให้อยากอ่าน เช่น ข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือหัวข้อเรื่องที่เป็นที่สนใจ เช่น การวิจัย การเตรียมตัวสอบ การสมัครงาน เป็นต้น

3. ไม่ใช้เวลานาน ความยากง่ายของกิจกรรมเหมาะสมกับเพศ ระดับอายุ การศึกษา

4.เป็นกิจกรรมที่มุ่งไปสู่หนังสือ วัสดุการอ่าน โดยการนำหนังสือหรือวัสดุการอ่านมาแสดงทุกครั้ง

5.ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน แฝงการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจากการร่วมกิจกรรมด้วย

ที่มา "กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน." (2551).[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.edba.in.th/EDBA_Library/Sara-06.php สืบค้น 30 กันยายน 2557.