พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริหลัก “บวร” คือ ให้ 3 สถาบันหลักสำคัญของชุมชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชุมชน ทำงานเกื้อกูลสนับสนุนซึ่งกันและกันในลักษณะ 3 ประสาน เพื่อพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2556) ซึ่งชุมชนมหาวัน เป็นชุมชนหนึ่งที่ใช้หลักการดังกล่าว จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

'บวร' ความร่วมมือ 3 ประสาน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“วัดเป็นศูนย์รวมใจ ให้ชุมชนเข้มแข็งมีความสามัคคี พัฒนาสิ่งแวดล้อม การสาธารณูปการโดยใช้ หลักการมีส่วนร่วม ส่งเสริมอาชีพสุจริต คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดี เข้าใจหลักธรรมทางการศึกษาสงเคราะห์ พลังบวรและบูรณาการการทำงานพระพุทธศาสนาและนำไปใช้ได้”

พระปลัดประกอบบุญ สิริญาโณ เจ้าอาวาสวัดมหาวัน

“ยิ่งให้ ยิ่งได้” เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ผุดอยู่ในใจอยู่เสมอ จึงทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกหน่าย แต่มีความสุขทางใจ ที่ได้เห็นรอยยิ้ม ปริ่มไปด้วยความสุขของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน”

ความในใจจาก ดร.ทัศนีย์ บุญมาภิ กรรมการและเลขานุการชุมชนมหาวัน หลังได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกับวัดมหาวัน และ ดร.ทัศนีย์ ยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า วัดมหาวันเป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ดำรงสืบทอด เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และเป็น “เวที” ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมรวมทั้งอาจเป็นแรงผลักดันให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในชุมชนในโอกาสต่อไป และในขณะเดียวกัน เด็ก และเยาวชนที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็จะได้รู้จักรากเหง้า ที่มาของตัวเอง มีความรัก หวงแหน แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น

ดร.ทัศนีย์ บุญมาภิ กรรมการและเลขานุการชุมชนมหาวัน

"ครูทุกคนมีจิตวิญญาณแห่งการให้ ให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ เพื่อหวังให้ศิษย์ของตนเป็นคนดีของสังคม และใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แต่ศิษย์ของครู กศน. คือ คนในชุมชนที่ต้องการเรียนรู้"

นางอรพรรณ สิทธิใหญ่ ครู กศน.ตำบลในเมือง กศน.อำเภอเมืองลำพูน

จากแนวคิดการทำงานของ 3 ประสาน จึงก่อให้เกิดการทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวันได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

ภาพกิจกรรมการเปิดศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน

ภาพโดย บุญสนอง เตชะศรี

ความสัมพันธ์ของชุมชนกับการส่งเสริมความยั่งยืนของแหล่งเรียนรู้

นางชูพร ขันติพงษ์ ประธานชุมชนมหาวัน กล่าวว่า ในบทบาทของประธานชุมชนที่ต้องทำหน้าที่ดูแลคนในชุมชน ข้าพเจ้าได้ชักชวนคนในชุมชนเข้ามาร่วมเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน ได้กระตุ้นให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกและตระหนักที่จะนำความสามารถหรือประสบการณ์ของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจากที่พบเห็น หลังจากได้เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้แล้ว คนในชุมชนได้นำความรู้ และประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติ นำกลับไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชนของตน และบางคนได้นำไปต่อยอดจนชุมชนอื่นเห็น ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ที่ได้รับไปสู่ผู้อื่น และเกิดการบอกต่อ เชิญชวนให้ผู้อื่นได้เห็นถึงประโยชน์ของการเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน

กิจกรรมเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน

โดยการนำของเจ้าอาวาสวัดมหาวันที่ต้องการให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตการเป็นคนดีของชุมชน และสังคมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างเหมาะสม เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบไปจากรุ่นสู่รุ่น และเชื่อมโยงกับเครือข่าย องค์กรต่างๆ ทั้งท้องถิ่น ภาครัฐและภาคเอกชน จึงเกิดการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1.1 ศูนย์การเรียนรู้คนสามวัย วัดมหาวันจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียนโรงเรียนต่างๆนักท่องเที่ยว และผู้สนใจมาศึกษา โดยให้มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้ ฐานการปั้นพระรอด ฐานการทำเครื่องสักการะล้านนา ฐานการทำขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ฐานการทำน้ำสมุนไพร ฐานการฟ้อนเจิง ด้วยมือเปล่า และการฟ้อนเจิงด้วยพลอง

1.2 โรงเรียนผู้สูงอายุวัดมหาวัน เปิดรับสมัครบุคคลตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้เตรียมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ เพื่อรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับวัด และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มูลนิธิวัดมหาวัน มูลนิธิพระประกอบบุญ หน่วยอบรมประจำตำบลเขต1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ศูนย์อบรมพัฒนาจิตประจำจังหวัดลำพูน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองลำพูน กองทุนประกันสุขภาพเทศบาลเมืองลำพูน ศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพชุมชนมหาวัน เภสัชกรร้านขายยา และโรงพยาบาลลำพูน ได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ ส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ เป็นต้น ได้จัดกิจกรรมให้เตรียมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ เช่น เรียนรู้การฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่าและฟ้อนเจิงด้วยไม้พลองเพื่อสุขภาพ เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ 19 เรียนรู้การปักผ้า เรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์ เรียนรู้การปั้นพระรอด เรียนรู้การทำเครื่องสักการะล้านนา เช่น การทำบายศรี การทำชุดบูชาขึ้นท้าวทั้งสี่ และการทำเครื่องสักการะในงานมงคล และงานอวมงคล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมเยียน พร้อมร่วมมอบของ อาหาร ให้แก่ผู้ยากไร้ในผู้ประสบภัยในยุคโควิด-19 ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วย ผู้ประสบภัยต่าง ๆ และผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือในทุกโอกาส

ภาพกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดที่วัดมหาวัน

ภาพโดย อรพรรณ สิทธิใหญ่

นับว่าวัดมหาวันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางธรรม แต่ยังให้ความรู้ทางชีวิต และมุ่งหวังสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้วัดมหาวัน

ตั้งอยู่ที่ วัดมหาวัน เลขที่ 52 ถนนจามเทวี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ลำพูน 51000

โทรศัพท์: 053 535 633

ข้อมูลเนื้อหา :

พระปลัดประกอบบุญ สิริญาโณ

ดร.ทัศนีย์ บุญมาภิ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2556). สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, หน้า 63-64.

ภาพ : บุญสนอง เตชะศรี

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : ดร.ทัศนีย์ บุญมาภิ/ นางอรพรรณ สิทธิใหญ่ ครู กศน.ตำบล/ นางสาวชนัตถธร สาธรรม บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางอรพรรณ สิทธิใหญ่ ครู กศน.ตำบล