การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้คนสามวัย 

วัดมหาวัน และโรงเรียนผู้สูงอายุ วัดมหาวัน

1. การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้คนสามวัย วัดมหาวัน และโรงเรียนผู้สูงอายุ วัดมหาวัน

เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และคนทั่วไป โดยการนำของเจ้าอาวาสวัดมหาวันที่มีความต้องการให้วัดเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีการพัฒนาร่างกาย จิตใจและพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพในวิถีชีวิตการเป็นคนดีของชุมชน และสังคมท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้อย่างเหมาะสม เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อนุรักษ์ สืบสานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ดำรงสืบไปจากรุ่นสู่รุ่น และเชื่อมโยงกับเครือข่าย องค์กรต่าง ๆ ทั้งท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชน ได้มีการรวมกลุ่มในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1.1   ศูนย์การเรียนรู้คนสามวัย วัดมหาวันจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ นักท่องเที่ยว และผู้สนใจมาศึกษา โดยจัดเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้

1)  ฐานการปั้นพระรอด

2)  ฐานการทำเครื่องสักการะล้านนา

3)  ฐานการทำขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง

4)  ฐานการทำน้ำสมุนไพร

5)  ฐานการฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่า และการฟ้อนเจิงด้วยพลอง

1.2 โรงเรียนผู้สูงอายุ วัดมหาวัน เปิดรับบุคคลตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นผู้เตรียมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับวัด และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเช่น มูลนิธิวัดมหาวัน มูลนิธิพระประกอบบุญ หน่วยอบรมประจำตำบลเขต 1 ตำบลในเมืองจังหวัดลำพูน ศูนย์อบรมพัฒนาจิตประจำจังหวัดลำพูน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน กองทุนประกันสุขภาพเทศบาลเมืองลำพูน ศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพชุมชนมหาวัน เภสัขกรจากร้านขายยา และโรงพยาบาลลำพูนได้ร่วมกันจัดทำกิจกรรม          ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งเสริมเศรษฐกิจ ส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ เป็นต้น ได้จัดกิจกรรมให้เตรียมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุ ดังนี้

       1) เรียนรู้การฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่า และเจิงด้วยไม้พลองเพื่อสุขภาพ

       2) ให้ความรู้เรื่องอยู่อย่างไรให้กาย และใจเป็นสุข

       3) ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างปลอดภัย

 

4) การทำปุ๋ยอินทรีย์ 19 พลัง

5) การปักผ้า

6) การขายสินค้าออนไลน์

7) การปั้นพระรอด

8) การทำขนมพื้นบ้าน และอาหารเพื่อสุขภาพ

9) การทำเครื่องสักการะล้านนา เช่น การทำกรวยดอกไม้ การตัดตุง การจัดทำบายศรี การทำชุดบูชาขึ้นท้าวทั้งสี่ และการทำเครื่องสักการะในงานมงคล และงานอวมงคล เป็นต้น

10) เยี่ยมเยียน พร้อมร่วมมอบของ อาหาร ให้แก่ผู้ยากไร้ในผู้ประสบภัยในยุคโควิด-19 ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วย ผู้ประสบภัยต่าง ๆ และผู้ที่ขอรับการช่วยเหลือในทุกโอกาส