ฟ้อนเจิง

จากศาสตร์การต่อสู่ สู่การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ

ฟ้อนเจิง เป็นการร่ายรำด้วยเชิงดาบและมือเปล่า ซึ่งมักจะแสดงออกในลีลาของนักรบ ซึ่งผู้ฟ้อนจะต้องมีความสามารถเป็นพิเศษ และก่อนที่จะมีการฟ้อนเจิง ก็ต้องมีการฟ้อนตบมะผาบเสียก่อน การฟ้อนตบมะผาบ เป็นการฟ้อนด้วยมือเปล่าที่ใช้ลีลาท่าทางยั่วเย้าให้คู่ปรปักษ์บันดาลโทสะ ในสมัยก่อนการรบกันใช้อาวุธสั้น เช่น ดาบ หอก แหลน เข้าโหมรันกัน โดยเหล่าทหารหาญจะรำดาบเข้าประชันกันเป็นคู่ๆ หรือเป็นพวกๆ ใครมีชั้นเชิงดีก็ชนะ ด้วยการรำตบมะผาบในท่าทางต่างๆ โดยถือหลักว่าคนที่มีโทสะจะขาดความยั้งคิด และเมื่อนั้นย่อมจะเสียเปรียบคนที่ใจเย็นกว่า เมื่อมีการรำตบมะผาบแล้ว ก็จะมีการฟ้อนเจิงประกอบอีกด้วย เมื่อเห็นว่ามีความกล้าหาญพอแล้วก็เข้าปะทะกันได้ และการฟ้อนเจิงนั้น อาจจะใช้มือเปล่าได้ในท่าทางต่างๆ ที่ต้องใช้ความรวดเร็วว่องไว การเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนเป็นการปลุกตัวเองไปก่อนที่จะเริ่มต่อสู้จริงๆ (หอสมุดแห่งชาติ, 2532)

สำหรับการเรียนฟ้อนเจิงนั้น ผู้เรียนต้องหามื้อจั๋นวันดี เป็นวันอุดมฤกษ์ ไปขอเรียนกับครูที่มีความสามารถ โดยต้องมีการขึ้นขันหรือ การจัดเครื่องคารวะ คือกรวยดอกไม้ธูปเทียน พลู หมาก ข้าวเปลือก ข้าวสาร สุรา ผ้าขาว ผ้าแดง กล้วย อ้อย มะพร้าว และค่าครูตามกำหนด ครูบางท่านอาจเสี่ยงทายโดยให้ผู้จะสมัครเป็นศิษย์นำไก่ไปคนละตัว ครูเจิงคือผู้สอนฟ้อนเจิงจะขีดวงกลมที่ลานบ้านแล้วเชือดคอไก่ และโยนลงในวงนั้น หากไก่ของผู้ใดดิ้นออกไปตายนอกเขตวงกลม ก็คือว่าผีครูไม่อนุญาตให้เรียน และหากเรียนจนสำเร็จแล้ว ครูเจิง อนุญาตให้นำวิชาไปใช้ได้เรียกว่าปลดขันตั้ง โดยทำพิธียกขันตั้งคือพานเครื่องสักการะจากหิ้งผีครู แจกธูปเทียนดอกไม้จากในพานให้แก่ศิษย์ เป็นเสร็จพิธี (สนั่น ธรรมธิ, 2550)

ความเป็นมาของการฟ้อนเจิง

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของการฟ้อนเจิงไว้ใน เว็บไซต์ The Cloud ว่าในอดีตสถานการณ์บ้านเมืองมีการรบบ่อยครั้ง และผู้คนอยู่กับความเสี่ยงภัย เวลาเดินทางไปมาค้าขายต่างพื้นที่ต้องข้ามพรมแดนมักเกิดอันตราย นอกจากนี้การต่อสู้ด้วยอาวุธมีคม ปืน ผาหน้าไม้ ยังมีไม่มาก แพงและหายาก วิชาเจิงจึงเป็นที่นิยม เจิงเป็นศาสตร์วิชาที่ผู้ชายล้านนาทุกคนต้องเรียน ต่อมา คนนิยมเจิงลดลง เพราะค่าความนิยมของคนเปลี่ยนไป บ้านเมืองดีขึ้น กฎหมายมีความเข้มงวดขึ้น ชุมโจรมีน้อยลง ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินก็มีมากขึ้น เจิงก็หมดวิถีการใช้งาน กลายเป็นของล้าหลัง ไม่ศิวิไลซ์ ไม่สมัยใหม่ คนที่มีวิชาก็หวงแหน ไม่อยากถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ (ปภาวิน พุทธวรรณะ, 2564)

การสืบสานและอนุรักษ์ศิลปะการฟ้อนเจิง

การสืบสานและอนุรักษ์วิธีการหนึ่ง คือ การส่งต่อศิลปะนั้นไปยังกลุ่มคนที่สนใจ หรือส่งต่อไปยังกลุ่มคนที่เห็นประโยชน์ของศิลปะนั้น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองลำพูน โดย กศน.ตำบลในเมือง ได้ร่วมส่งเสริมการสร้างสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยการนำฟ้อนเจิงมาใช้เป็นท่ากายบริหารประกอบเพลงสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมหาวัน ฟ้อนเจิงเป็นการแสดงลีลาท่ารำการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เมื่อถูกนำมาประยุกต์ เป็นท่วงท่าการออกกำลังกายจึงเป็นการบริหารร่างกายได้ครบทุกสัดส่วน ทำให้ร่างกายที่ถูกบริหารตามแบบฉบับการฟ้อนเจิง มีความแข็งแรง ทั้งยังเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เผาผลาญพลังงานแบบคาร์ดิโออีกด้วย

ภาพการแสดงฟ้อนเจิงโดยชมรมฟ้อนเชิงผูสูงอายุวัดมหาวัน

ภาพโดย นางสาวชนัตถธร สาธรรม

ข้อมูลเนื้อหา :

นางอรพรรณ สิทธิใหญ่ ครู กศน.ตำบลในเมือง

สนั่น ธรรมธิ. นาฏดุริยการล้านนา. เชียงใหม่ : สุเทพการพิมพ์, 2550 .

หอสมุดแห่งชาติ. (2532). ระบำ รำฟ้อน. ค้นจาก https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/7209-ระบำ-รำ-ฟ้อน, ๒๕๖๐

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางอรพรรณ สิทธิใหญ่ ครู กศน.ตำบล/ นางสาวชนัตถธร สาธรรม บรรณารักษ์ปฏิบัติการ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นางสาวชนัตถธร สาธรรม