ประเพณีสลากย้อมบ้านหลุก

             ประเพณีสลากย้อมบ้านหลุก

           ประเพณีสลากย้อม ตำบลเหมืองง่า จัดที่ วัดบ้านหลุก หมู่ 8 ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

ความเป็นมาของประเพณีสลากย้อม

            การทานสลากย้อม เป็นการทานสลากภัตชนิดหนึ่ง ซึ่งต้นสลากมีขนาดใหญ่กว่าสลากชนิดอื่น ซึ่งจัดกันมาตั้งแต่โบราณกาลของวัดในหมู่บ้านชาวยองแถบตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า ตำบลเหมืองง่า และตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน การทานสลากย้อมมักจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะการทำต้นสลากที่มีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5 – 6 วา และประกอบด้วยเครื่องตกแต่งและเครื่องประดับมากมาย ปัจจุบันถ้าหากจะทำต้นสลากย้อมดังกล่าว คงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ครอบครัวที่จะทานสลากย้อมได้จึงเป็นครอบครัวที่ พอจะมีฐานะและมีลูกสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความพร้อมที่จะแต่งงานมีครอบครัว ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทาน โดยเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อหญิงสาวคนใดมีความสามารถพอที่จะทำงานได้ พ่อแม่ ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อจัดทำต้นสลากย้อม เพราะโบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน ถ้าหญิงใดทานสลากย้อมแล้วถือว่าพร้อมที่จะแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ การทำสลากย้อมจึงเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนต่าง ๆ เช่น การเย็บปักถักร้อย และงานอื่น ๆ ในหน้าที่แม่บ้าน แม่เรือนอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้หญิงชาวยองในชนบทเรียนจบการศึกษาเพียงภาคบังคับ คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่นิยมเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และครอบครัวมีอาชีพหลักในการทำการเกษตร เช่น การทำนา   ทำสวน เป็นต้น สาวชาวยองเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง จึงทำนา  ทำสวน เก็บหอมรอมริบด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นเวลาหลายปี การทานสลากย้อมจึงมิได้มี  ทุกครอบครัว ครอบครัวที่ยังไม่พร้อมก็ถวายทานสลากภัตชนิดก๋วยสลาก หรือสลากโชค  ส่วนหญิงสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็จะทานสลากต้นที่มีขนาดเล็กกว่าสลากย้อม แต่มีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนสลากย้อมต้นใหญ่ทุกประการและ มีชื่อเรียกว่า “สำรับ”

          หากวัดใดจะมีการทานสลากภัตในปีใด ก็จะป่าวประกาศให้ศรัทธาของตนทราบล่วงหน้าเป็นปี เพื่อให้เวลาในการตระเตรียมสำหรับผู้ที่จะทานสลากย้อม เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตระเตรียมข้าวของเป็นเวลานาน การทานสลากจะเริ่มต้นตั่งแต่วันเพ็ญเดือนสิบ (เดือน 12 เหนือขึ้น 15 ค่ำ) ตามธรรมเนียมจะให้วัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด หรือวัดหลวง จัดงานทานสลากภัตก่อน ในจังหวัดลำพูนคือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จากนั้นวัดอื่น ๆ ก็จัดงานทานสลากภัตเรื่อยไป จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือเดือนเกี๋ยงดับ)

           เมื่อทราบว่าทางวัดจะจัดให้มีการทาสลาก หญิงสาวที่มีความพร้อม มีกำลังทรัพย์พอที่จะทานสลากย้อม อาจจะมีเพียง 4-5 ราย หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ ต่างก็จะเริ่มจัดทำและซื้อของตระเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อย เช่น สร้อยคอทองคำ เข็มขัดเงิน และเครื่องเรือนต่าง ๆ ซึ่งถ้าหญิงสาวคนใดมีพี่น้องที่อายุน้อยกว่า 20 ปี จะร่วมทานสลากย้อมกับพี่สาวด้วยก็ได้

ข้อมูลเนื้อหา :   นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

ภาพถ่าย : นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

               จังหวัดลำพูน. (2565). ประเพณีสลากย้อม. ค้นจาก https://www.lamphun.go.th/th/festivals/72/ประเพณีสลากย้อม

แหล่งข้อมูล :    จังหวัดลำพูน. (2565). ประเพณีสลากย้อม. ค้นจาก https://www.lamphun.go.th/th/festivals/72/ประเพณีสลากย้อม