การทำบายศรีสู่ขวัญ  จากใบตอง

          บายศรีภาคเหนือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ และแม่เจ้าทิพเกสร เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงอนุรักษ์งานบายศรีไว้ตามแบบแผนดั้งเดิม และทรงนำความรู้ที่ได้พบเห็นจากราชสำนักภาคกลาง ตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จลงมาถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเวลาหลายปี มาจัดรูปแบบใหม่ ทรงรวบรวมผู้มีฝีมือในการประดิษฐ์ ตัดเย็บใบตองและทำบายศรีจากที่ต่างๆ ในนครเชียงใหม่มาเป็นครูฝึกสอนคนของพระองค์และผู้ที่สนใจทั่วไป ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยทรงสอนแบบอย่างไว้ให้แก่เจ้าอุ่นเรือน ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นโอรส ของเจ้าแก้วปราบเมือง ณ เชียงใหม่ พระเชษฐาต่างมารดา พระราชชายา เจ้าดารารัศมี 

      กศน.ตำบลเหมืองง่า เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของภาคเหนือ จึงประสานความร่วมมือและประชุมร่วมกันได้จัดกิจกรรมการทำบายศรีสู่ขวัญจากใบตองขึ้น ซึ่งเริ่มต้นจากการทำขันผูกมือหรือขันมัดมือ 

วัสดุ อุปกรณ์

             1. ขัน

             2. พาน

3. ใบตอง

4. เข็มหมุด

               5. ดอกรัก

6. ดอกพุด

7. ดอกไม้ประดับ

8. ที่เย็บกระดาษ

9. ลวด

       ประเพณีบายศรีสู่ข้าวเอาขวัญ หรือการฮ้องขวัญของภาคเหนือเป็นประเพณีมงคลที่ต้องการให้ผู้ได้รับการทำบายศรีมีความสุขสวัสดี  เพราะขวัญได้รับการผูกไว้ไม่ให้หนีไปไหน คนที่มีขวัญอยู่กับตัวย่อมเป็นคนมีกำลังใจดี มีสภาพจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง ในสมัยโบราณ จึงให้ทำการสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญ พิธีกรรมในการสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญนั้น ปู่อาจารย์จะเป็นเจ้าพิธีหรือผู้ทำพิธี โดยนำบายศรีมาวางตรงหน้าผู้รับการเรียกขวัญ เพื่อปัดเคราะห์ไล่เสนียดจัญไร แล้วกล่าวประวัติผู้ได้รับการทำบายศรีเรียกขวัญ ๓๒ ขวัญ มัดมือให้โอวาทแก่ผู้รับบายศรี แล้วอวยพร จากนั้นผู้รับบายศรีมอบของแก่ปู่อาจารย์ 

ความสำคัญของบายศรีขันผูกมือ หรือขันมัดมือ

๑. พิธีเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยือน ผู้จะเดินทางไกล ผู้เดินทางมาถึง

๒. งานวันเกิด

๓. งานวันปีใหม่

๔. งานขึ้นบ้านใหม่

๕. พิธีบวชนาค

๖. พิธีแต่งงาน

๗. การรับขวัญผู้เจ็บป่วย รับขวัญผู้หายจากการเจ็บป่วย  

๘. การรับขวัญ ผู้ได้เลื่อนยศตำแหน่ง หรือผู้ที่ย้ายมารับตำแหน่งใหม่ หรือผู้ที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งที่อื่น 


ข้อมูลเนื้อหา :   นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

ภาพถ่าย : นางสาวธวัลพร ศรีมันตะ ครู กศน.ตำบลเหมืองง่า

แหล่งข้อมูล :    มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. (ม.ป.ป.). บายศรีภาคเหนือ. ค้นจาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=38&chap=2&page=t38-2-infodetail05.html