พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

"วัดห้วยห้าง"


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยห้าง

สถานที่ตั้ง   วัดห้วยห้าง  หมู่ที่  7  ตำบลทุ่งหัวช้าง  อำเภอทุ่งหัวช้าง  จังหวัดลำพูน   51160

กิจกรรมที่ให้บริการ  ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณ

เวลาเปิดให้บริการ  วันจันทร์ - วันอาทิตย์  เวลา 08.00-16.00 น.

ค่าบริการ  เปิดให้บริการฟรี

ผู้ดูแล  ท่านพระครูสิริสุตาภิมณฑ์


      พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยห้าง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน โดยมีพระครูสิริสุตาภิมล เป็นผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันมีค่า เช่น พระพุทธรูป หีบพระธรรม ใบลาน ธรรมมาส และเครื่องมือเครื่องใช้ สำหรับในวิถีชีวิตของชุมชนสมัยโบราณ และยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของเด็ก เยาวชน และประชาชน

ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  วัดห้วยห้าง ประกอบด้วย

สัตตภัณฑ์

    สัตตภัณฑ์  คือเชิงเทียน  ที่ใช้ในการจุดเทียนบูชาพระประธานในวิหารของวัดต่างๆ ในล้านนาไทย  บางแห่งพบว่าลักษณะที่งดงาม วิจิตรบรรจงมากสัตตภัณฑ์นี้เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น  สร้างถวายวัดห้วยห้างในสมัยของท่านครูบาอินทร์หวัน  

รัตนบัลลังก์  หรือ แท่นแก้ว

        คือ พระแท่นที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตั้งแต่ครั้งบำเพ็ญสมณธรรม  ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราต่อมาเมื่อมีการสร้างอุโบสถ  วิหาร หรือเสนาสนะต่างๆ  ที่มีการประดิษฐานพระพุทธรูป  มักจะมีการสร้างพระแท่นที่ประทับด้วยปูนบ้าง  ไม้บ้าง ตามแต่ช่างจะหาได้ในท้องถิ่น เหตุที่การสร้างนั้นมักจะมีการประดับด้วยกระจกสีหรือที่เรียกกันในภาษาช่างว่า “แก้วสี” จึงเรียกพระแท่นนี้ว่า “แท่นแก้ว” 

คัมภีร์ใบลาน  ( ธัมม์เมือง) 

      เป็นพระธัมม์คัมภีร์ใบลาน  ที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา  บันทึกเรื่องราวต่างๆ เช่น พระธรรมเทศนาแบบล้านนา  ประวัติศาสตร์  ตำรายาแผนโบราณ  ประเพณีรีตคลองต่างๆ  ส่วนใหญ่มักจะเป็นธัมม์กัปคือพระธรรมเทศนาที่เป็นเรื่องยาวติดต่อกันหลายผูก  พระครูอุดมธรรมธาดา (ครูบาอินทร์หวัน สุนน۪โท)  และเจ้าอาวาสรูปก่อนสร้างและหามาถวายไว้จากการสำรวจ พบว่าเป็นธัมม์ที่สร้างถวายวัดห้วยห้างก็มี   ยืมมาจากวัดอื่นก็มี  วัดห้วยห้างมีธัมม์ใบลานไม่มากนัก  เท่าที่พบมี 1 หีบ

งาช้าง

      งาช้างไม้  ทำด้วยไม้สัก  กลึงเกลาด้วยอุปกรณ์ของช่างพื้นบ้าน  สร้างถวายเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธปฏิมาประธานในวิหารของวัดห้วยห้าง  ในสมัยของท่านครูบาอินทร์หวัน  เดิมประดิษฐานอยู่บนพระแท่นรัตนบัลลังก์ในวิหาร  โดยตั้งไว้  2 ข้างของพระประธาน  ต่อมาเมื่อรื้อวิหารลงจึงได้ย้ายมาตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  งาช้างนี้เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น

เครื่องปั้นดินเผาโบราณ

        เป็นเครื่องปั้นดินเผาของคนโบราณในท้องถิ่น  ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน  ขุดพบที่วัดร้าง ในเขตตำบลตะเคียนปม  อำเภอทุ่งหัวช้าง  จังหวัดลำพูน  ไม่มีลวดลายและความวิจิตรบรรจงเท่าใดนัก ของที่พบส่วนใหญ่เป็นภาชนะเล็กๆ  พระครูอุดมธรรมธาดา 
(ครูบาอินทร์หวัน)  อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยห้าง  ได้เก็บรักษาไว้ในสมัยที่ท่านดำรงขันธ์อยู่

เสลี่ยงของครูบาเจ้าอภิชัยผ้าขาวปี

         เป็นคานหามที่คณะศรัทธาบ้านห้วยห้าง  มีพระครูอุดมธรรมธาดา ( ครูบาอินทร์หวัน) เป็นประธาน สร้างถวายครูบาเจ้าอภิชัยผ้าขาวปี  เพื่อใช้หามแห่อาราธนาท่าน  เมื่อครั้งที่มานั่งหนักเป็นประธานในการก่อสร้างวัดห้วยห้าง  และทำพิธีปิดทางเพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายและภยันอันตรายต่างๆ ที่ขุนแม่ลี้  เสลี่ยงหลังนี้เป็นหลังเก่า  ทำด้วยไม้สัก  ปรากฏภาพถ่ายของท่านครูบาอภิชัยผ้าขาวปี  เมื่อคราวแห่ท่านในงานปอยหลวงวัดห้วยห้าง

เงินตราของประเทศไทยสมัยต่างๆ

   ประเทศไทยได้ใช้ระบบเงินตรามาเป็นเวลาช้านาน  ปัจจุบันนี้ระบบเงินตราของไทยเราในสมัยนี้มีค่ากำหนดเป็นบาท  สิ่งที่ใช้แทนค่าเงินตรา  มี 2 ชนิดคือเหรียญกษาปณ์  และธนบัตร  

ข้อมูลอ้างอิง :

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2554). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดห้วยห้าง.  [ออนไลน์]. สืบค้นค้น วันที่ 19 พฤษภาคม 2566. จาก http://www.m-culture.in.th/album/142087/

เรื่อง/เนื้อหาโดย  ท่านพระครูสิริสุตาภิมรฑ์  เจ้าอาวาสวัดห้วยห้าง

รวบรวม/เรียบเรียงโดย  นางสาวฐิติมา  พนัสโยธานนท์  บรรณารักษ์

ภาพถ่ายโดย  ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม

ริษัท ครีเอท มายด์ จำกั