แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านน้ำหรา

นายยงยุทธ อินนุ่ม ประธานศูนย์การเรียนรู้บ้านน้ำหรา

-แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านน้ำหรา

"ศูนย์เรียนรู้บ้านน้ำหรา" ต.ทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล หนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ตัวอย่างที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูลได้เข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งภาคการเกษตรและการทำประมง

ยงยุทธ อินนุ่ม ประธานศูนย์การเรียนรู้บ้านน้ำหรา ย้อนอดีตให้ฟังว่าแต่เดิมเกษตรกรในหมู่บ้านจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำสวนยางพารา หรือปลูกไม้ผลชนิดเดียว แต่หลังจากได้รับการส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล และกรมการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้เกษตรกรในหมู่บ้านหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน จัดสรรที่ดินเพื่อการปลูกพืชเสริมเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

“ผมได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.จังหวัดสตูล 2 แปลง รวม 12 ไร่ และเงินกู้ยืมเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสวนและซื้อพันธุ์ไม้ โดยได้แบ่งแปลงเป็นพื้นที่ทำสวนยาง ปลูกไม้ผล เช่น ลองกอง มังคุด จำปาดะ ปลูกผักสวนครัวและผักพื้นบ้าน ช่วยทำให้มีรายได้จากการทำเกษตรไม่น้อยกว่าปีละ 40,000-50,000 บาท”

ยงยุทธ ระบุอีกว่า ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้มีแปลงสาธิตเพื่อให้นักเรียน และเยาวชน รวมถึงเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้การประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกพืชปลอดสารพิษ และการปลูกผักกางมุ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการไปศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วได้นำมาทดลองดำเนินการที่ศูนย์ จัดทำเป็นแปลงสาธิตจนประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากเกษตรกรในหมู่บ้านและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงนักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก หลายคนได้นำความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักกางมุ้งไปดำเนินการในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ มีผู้มาซื้อผักถึงหมู่บ้าน จนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

จากความสำเร็จดังกล่าว อรณัชชา สุวรรณชัย ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล ยอมรับว่าเป็นผลมาจากนโยบายของ ส.ป.ก.ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดสตูล เล็งเห็นความสำคัญได้เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (จีเอพี) โดยร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการส่งเสริมการปลูกไม้ผล พร้อมกับการร่วมกลุ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม 6 ครัวเรือน ภาพรวมในหมู่บ้านนี้ถือเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติของชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว