งานอัธยาศัย

‘บ้านหนังสือชุมชน’

หมายถึง บ้านที่เจ้าของบ้านหรือสถานที่ได้อุทิศให้ใช้เป็นห้องสมุดประชาชนของชุมชน ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้า ร้านขายของ บ้านผู้มีจิตอาสา บ้านผู้นำชุมชน สถานประกอบการ ศาลาเอนกประสงค์ โรงพยาบาล มีเจ้าของบ้านเป็น ผู้มีจิตอาสาให้บริการดูแลเอาใจใส่ และเป็นสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีคนในชุมชน มาพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร และเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้โดยจัดตั้งบ้านหนังสือ ชุมชนให้เป็นห้องสมุดประชาชนของชุมชน เป็นธนาคารความรู้ใกล้บ้านและมีข้อมูลข่าวสาร ใกล้ตัวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

‘อาสาสมัครบ้านหนังสือชุมชน’

กลไกขับเคลื่อนที่สำคัญคือเจ้าของบ้านและผู้ที่มีจิตอาสาที่ทำหน้าที่ในการดำเนินงานโครงการบ้านหนังสือชุมชน ในการจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยไม่รับค่าตอบแทน

ห้องสมุดสำหรับ"ชาวตลาด"

โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่สำหรับชาวตลาด ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเน้นหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีเป้าหมายให้ชุมชนชาวตลาด ได้มีหนังสืออ่านเป็นประจำ สร้างวัฒนธรรมการอ่าน และทรงเล็งเห็นช่องทางในการพัฒนาอาชีพสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)จัดหามุมใดมุมหนึ่งในตลาดจัดเป็นห้องสมุดประชาชนสำหรับชาวตลาด

ทั้งนี้ จุดเด่นสำคัญของห้องสมุดสำหรับชาวตลาดก็คือ ในเรื่องของความร่วมมือ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของห้องสมุดประชาชนชาวตลาดก็คือให้เจ้าของตลาด ผู้นำชุมชนหรือ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการในตลาดได้มีส่วนร่วมในการจัดห้องสมุดชาวตลาด โดยช่วยกันจัดสถานที่ จัดหาสื่ออุปกรณ์

นอกจากนี้ ในเรื่องของการส่งเสริมการอ่าน ขณะนี้ กศน.ได้ทำในเชิงรุก เป็นลักษณะของรถเคลื่อนที่ดัดแปลงเป็นห้องสมุดเล็กๆ ขับเคลื่อนไปในชุมชน ซึ่งเราจะพยายามให้เข้าถึงชุมชนและสถานที่ที่สามารถจะให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ใกล้มือและได้อ่านสะดวกซึ่งผมคิดว่าจุดนี้จะทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด พร้อมกันนี้ กศน.ยังได้จัดกิจกรรมรักการอ่านในลักษณะของแหล่งเรียนรู้มีห้องสมุดและมีมุมหนังสือที่จัดไว้ทั่ว ๆ ไป เช่น มุมหนังสือในโรงพยาบาล มุมหนังสือในสถานีรถไฟ และห้องสมุดประชาชนกลางหมู่บ้าน ห้องสมุดจังหวัดเคลื่อนที่ที่ กศน.ร่วมกับจังหวัด เป็นต้น

ห้องสมุดเคลื่อนที่

ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile library) เป็นบริการสารสนเทศเคลื่อนที่ นับเป็นการจัดบริการในเชิงรุก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูล โดยนำทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เกมส์ ของเล่น ฯลฯ ไปยังชุมชนด้วยพาหนะ ประเภทต่างๆ เช่น รถ รถไฟ เรือ ฯลฯ หรือบางแห่งอาจใช้วิธีการเดินทางด้วยเท้าในกรณีที่สามารถเข้าถึงด้วยพาหนะอื่น