วันสารทเดือนสิบ

วันสารทเดือนสิบ

ประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ประชาชนในตำบลจองถนน และชาวบ้านในจังหวัดพัทลุง โดยทั่วไปเรียกว่า "วันชิงเปรต หรือ ประเพณีชิงเปรต" แต่ทางภาคกลางเรียกว่า วันสารท หรือ ประเพณี วันสารทไทย เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตชน หรือบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ล่วงลับไปแล้วตามคติความเชื่อชาวบ้านทั่วไป โดยการทำบุญบริจาคทานถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ตาย

ประเพณีนี้น่าจะเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากคติทางศาสนาพราหมณ์ที่เรียกว่า "พิธีศราทธ" หรือ "เปตพลี" จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่ผู้ตาย เป็นพิธีเซ่นให้ เปรตชน ได้กินได้ใช้ คือ นำข้าวปลาอาหารมาเซ่นให้ผู้ตายได้กิน ประเพณีนี้เกิดมาก่อนพุทธกาลครั้นถึงสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าประเพณีดังกล่าวมีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้ จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกาถือปฏิบัติต่อไป กำหนดเวลาทำบุญเดือน 10 ไว้ 2 ครั้งคือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน10 และวันแรม 15 ค่ำ เดือน10 ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าวันแรม 1 ค่ำ เป็นวัน ที่ยมบาลปล่อยให้เปตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลานในเมืองมนุษย์ บุตรหลานจะเป็นผู้ทำบุญเลี้ยงต้อนรับครั้งหนึ่ง เรียกว่า ทำบุญเดือนสิบ แรก เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เป็นวันที่เปตชนจะต้องกลับยมโลก บุตรหลานจะทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับส่งสิ่งของให้นำติดตัวกลับ้านด้วย เช่น ขนมที่เก็บกินได้นาน ๆ หอม กระเทียม เป็นต้น

การเตรียมสิ่งของทำบุญ ก่อนถึงวันทำบุญเดือนสิบ ประมาณ 2-3 วัน ชาวบ้านพัทลุงจะเตรียมทำขนมที่จะนำขนมที่จะนำไปวัดและแจกจ่ายแก่คนเฒ่าคนแก่ ญาติมิตรได้แก่

(1)ขนมลา มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้าที่อุทิศให้เปตชน หรือบางท่านเชื่อว่าเส้นของลาเล็ก ๆ ทำเปรตกินได้ เพราะเชื่อว่าเปรตมีปากเล็กเท่ารูเข็ม ขนมลามี ๒ ชนิด คือ ลาเช็ดกับลาลอยมัน

(2) ขนมพองหรือข้าวพอง มีความหมายใช้แทนเป็นเครื่องประดับมีสีสันสวยงาม

(3) ขนมเปซำ หรือขนมเจาะหู มีความหมายใช้แทนเงินทอง เพราะมีลักษณะกลมเจาะรูตรงลางคล้ายกับเงินสตางค์ที่มีรูตรงกลาง ซึ่งใช้กันในสมัยก่อน

(4) ขนมบ้า มีความหมายใช้แทนเงินเหรียญเพราะมีลักษณะเป็นแผ่นกลมคล้ายเหรียญ

(5) ขนมเทียน มีความหมายใช้แทนหมอน ๒ ชนิด คือ ชนิดไม่สอดไส้และชนิดสอดไส้

นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร กะปิ น้ำตาล พริก กระเทียม ปลาเค็ม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพโดยการจัดขนมและสิ่งของอื่น ๆ ใส่สำรับหรือชาวบ้านเรียกว่า "หม รับ" ขนาดเล็กใหญ่ตามฐานะของผู้ทำบุญ

การทำบุญ เมื่อจัดเตรียมข้าวของเรียบร้อยแล้ว ก็จะพาไปรวมที่วัดจัดอาหารถวายพระสงฆ์ก็จะนำ "หม รับ" มารวมกัน นำสายสิญจน์มาวงรอบสิ่งของต่อไปถึงพระสงฆ์ ในบางแห่งอาจจัดทำขึ้นเป็นร้านเรียกว่า "ร้านเปรต" สร้างให้สูงพอสมควร เพื่อให้ทุกคนได้นำขนมไปวางได้สะดวก นอกจากนี้ผู้มาทำบุญจะนำเอาอัฐิของญาติมารวมเข้ากับพิธี เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปยังเจ้าของอัฐิที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าไม่มีอัฐิก็เขียนชื่อในกระดาษรวมลงไปในการบังสุกุล ชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศไปยังบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสร็จพิธีเก็บสายสิญจน์จากนั้น หนุ่ม สาว เฒ่าแก่ และเด็ก จะเฮโลกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรตเอาไว้เป็นที่สนุกสนานโดยเฉพาะเด็ก ๆ ส่วนคนเฒ่าคนแก่นั้น เชื่อว่าการกินอาหารและขนมที่ใช้ในพิธีบูชาหรือเซ่นไหว้ ปู่ ย่า ตา ยาย เสร็จแล้วนั้นจะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่งตนเองและครอบครัวอย่างยิ่งและยังเชื่อต่อไปอีกว่า หากขนมเหล่านี้โดยเฉพาะขนมเทียนถ้านำไปติดตามต้นไม้ เช่น ต้นมะม่วง ชมพู่ เป็นต้น จะให้ผลดกเพื่อความสนุกสนาน บางแห่งอาจจะตั้งร้านเปรตให้สูง โดยใช้ไม้หลาชะโอน (หลาโอน) หรือไม้หมากทำเป็นเสาเพียงเสาเดียว ขูดผิวจนลื่นทาด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือใส่ภาชนะแขวนไว้ข้างบนให้น้ำมันย้อยลงมา คนที่ปีนหรือปรับขึ้นไปจะแข่งขันกันขึ้นไปแย่งขนม ก็จะทำได้ด้วยความลำบากอาจจะพลัดตกลงมาเป็นที่สนุกสนาน ในการนี้ชาวบ้านที่มีฐานะดีอาจจะให้เป็นทานแก่คนที่ร่วมบุญ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ด้วยการโอยทาน หรือที่เรียกว่า ?หว่าน กัมพฤกษ์? ชาวปักษ์ใต้เรียกว่า "หว่านกำพริก" คือเอาสตางค์หรือเงินเหรียญโยนขึ้นไปในอากาศ แล้วให้คนแย่งชิงกัน นอกจากจะทำพิธีในวัดแล้ว ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า เปรตบางจำพวกมีบาปหนาเข้าวัดไม่ได้ จึงนำขนมและข้าวของอีกส่วนหนึ่ง ไปตั้งเปรตกันนอกวัดอีกครั้งคนเฒ่าคนแก่ก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนเสร็จแล้วจะมีการแย่งชิงขนมกันอีก จึงเรียกประเพณีนี้ว่า "ชิงเปรต"

ประเพณีทำบุญเดือน ๑๐ หรือประเพณีชิงเปรตนี้ ชาวจังหวัดพัทลุงถือปฏิบัติมา แต่โบราณ เป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ยังคงปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ ชาวพัทลุงที่ไปทำงานอยู่ในจังหวัดอื่นเมื่อถึงกำหนดทำบุญเดือน ๑๐ ทุกคนจะกลับมาร่วมทำบุญที่บ้าน เป็นการส่งเสริมความผูกพันระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้อง และยังเป็นการรำลึกถึงบุญคุณของบุพการีแม้จะล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้ยังคงอยู่ในสังคมสืบไป