ส่งเสริมการอ่าน

การอ่าน คืออะไร ทำไมการอ่านจึงสำคัญ และอะไรจะเป็นสิ่งที่ช่วยปรับปรุง เพิ่มทักษะการอ่าน และสร้างนิสัยรักการอ่านที่ดีให้กับนักเรียนได้ เรามาดูตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจจากประเทศอินเดีย ที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการ Thailand Conference on Reading 2013 วันที่ 21-22 มีนาคม 2556 กันดีกว่าค่ะ ว่ามีสิ่งไหนที่เราสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านของเด็กไทยได้บ้างการอ่านคืออะไร? การอ่านนั้นประกอบด้วยขบวนการสองขั้นตอนที่เกี่ยวพันกัน คือ การจำคำได้และความเข้าใจ การจำคำได้ หมายถึงกระบวนการการรับรู้ว่าภาษาเขียนตรงกับภาษาพูดอย่างไร ส่วนความเข้าใจ คือ กระบวนการที่ทำให้คำ ประโยคและข้อความที่ต่อเนื่องกันนั้นมีความหมายขึ้นมา เป้าหมายเดียวของการอ่านคือ “ความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน” การสอนการอ่านจึงต้องปลูกฝังทักษะในการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ความเข้าใจที่ผิวเผิน หรือเข้าใจตามตัวอักษรทำไมการอ่านจึงสำคัญ? เพราะการอ่านคือทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนจึงจำเป็นต้องอ่านด้วยความเข้าใจเพื่อที่จะเข้าถึงหลักสูตรทั้งหมด การอ่านเป็นเรื่องของความเข้าใจ และความเข้าใจก็เป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ การที่นักเรียนสามารถอ่านได้ดีตั้งแต่แรกๆ เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะได้โอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนระดับประถมศึกษาอะไรคือสิ่งที่ช่วยปรับปรุงทักษะการอ่านและนิสัยรักการอ่าน? ทักษะการอ่านและนิสัยรักการอ่านเสริมซึ่งกันและกัน เด็กที่อ่านได้ดีก็จะอ่านมากขึ้น เด็กที่อ่านมากขึ้นก็จะพัฒนาทักษะการอ่านที่ดีขึ้น การจะปรับปรุงทักษะการอ่านให้ดียิ่งขึ้นไปนั้น ต้องประกอบด้วยการวางแผน และการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้มีส่วนช่วยในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของเด็ก ลองดูแนวทางการพัฒนาทักษะการอ่านที่คุณครูสามารถทำร่วมกับเด็กได้ไม่ยุ่งยาก1. เสริมเวลาการสอนและการอ่าน นักเรียนควรที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางภาษาที่แข็งแกร่งตั้งแต่ระดับประถมต้น และจัดเวลาให้การสอนภาษาอย่างเพียงพอ กล่าวคือให้มีเวลาในชั่วโมงเรียน สำหรับการฝึกอ่านเพื่อพัฒนาการอ่านให้คล่องแคล่ว และการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน 2. ระบบที่มีประสิทธิภาพของการเรียนรู้ภายในชั้นเรียนภาษารากฐานที่จะช่วยเสริมการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในการอ่านของนักเรียนมี 4 ประการดังต่อไปนี้ * เพิ่มเวลาให้นักเรียนในการทำกิจกรรมและเพิ่มโอกาสสำหรับการเรียนในเชิงรุกมากขึ้น * การประเมินทักษะย่อยต่างๆ ด้านภาษาอย่างเหมาะสมเป็นประจำ * กลยุทธ์ที่เอาใจใส่นักเรียนที่ล้าหลังให้มากขึ้น รวมทั้งการสอนที่มีการแยกแยะความสามารถของนักเรียน * ปรับการสอนให้เข้ากับระดับความสามารถในการอ่านของนักเรียน
3. ความเข้าใจของผู้สอนและการใช้กลยุทธ์การอ่านที่มีประสิทธิภาพ ครูผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจถึงแนวคิดกลยุทธ์ในการสอนการอ่าน รวมถึงการพัฒนาภาษาพูด การสอนถอดความอย่างมีระบบ การเน้นความเข้าใจ การอ่านอย่างคล่องแคล่วโดยการฝึกและใช้สื่อที่เหมาะสม อีกทั้งขยายขอบข่ายการเขียน รวมไปถึงการแต่งเรียงความ
4. ความเข้าใจความสำคัญของการอ่าน ระบบการศึกษาควรพัฒนาความเข้าใจแนวคิดเรื่องความสำคัญของการอ่าน และการเรียนรู้ภาษาในระดับประถมต้น และการสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะบรรลุถึงผลลัพธ์ด้านการอ่านพื้นฐาน กิจกรรมที่สำคัญเช่น การสร้างห้องสมุดโรงเรียนและชั้นเรียน การจัดงานการอ่านที่โรงเรียน และการร่วมมือกับผู้ปกครอง เพราะการสนับสนุนจากที่บ้านจะช่วยเสริมทักษะการอ่านและนิสัยรักการอ่าน
5. ห้องสมุดในชั้นเรียนและโรงเรียน และการทุ่มเทเวลาให้กับการอ่าน การเข้าถึงหนังสือนิทานที่อ่านง่ายและน่าสนใจ ครูผู้สอนควรอ่านนิทานในชั้นเรียนพร้อมกับทำกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การพูดคุยเกี่ยวกับนิทาน การเล่าเรื่อง การอ่านให้ครูและนักเรียนคนอื่นๆฟัง ชั้นเรียนควรมีสื่อการอ่านในระดับต่างๆกัน เพราะนักเรียนมีระดับความสามารถที่ต่างกัน ครูผู้สอนต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะได้จัดสื่อเพื่อการฝึกหัดที่ต่างกันไป กำหนดเวลาให้กับการอ่าน เน้นเรื่องการให้นักเรียนอ่านโดยอิสระตามลำพัง หรือเน้นกิจกรรมการอ่านเป็นกลุ่มคือคู่ และควรกำหนดเวลาสำหรับการใช้ห้องสมุดประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าถึงหนังสือที่หลากหลาย และยืมหนังสือกลับบ้านไปอ่าน
6. การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน: วิสัยทัศน์ของโรงเรียน “อ่าน” วิธีการแบบร่วมมือกันทำทั้งโรงเรียน ครูทุกคนควรส่งเสริมการอ่านภายในชั้นเรียน ทำตัวเป็นแบบอย่าง แสดงให้นักเรียนเห็นว่าครูก็อ่านเช่นกัน นอกจากนี้ควรจัดให้มีงานการส่งเสริมการอ่าน เช่นการแข่งขัน ชมรมหนังสือ และการจัดแสดงเพื่อให้ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญของการอ่านและสนับสนุนให้ลูกอ่านเพื่อความเพลิดเพลินที่บ้าน