6.ภาษากับการประกอบอาชีพ

เรื่องที่ 1 คุณค่าของภาษาไทย

ภาษาไทยเป็นภาษาที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาช้านาน ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ภาษาไทยเป็นภาษาที่สุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน และสิ่งที่สำคัญคือเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน หากมีการพูดภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะแล้ว จะแสดงถึงกิริยามารยาทที่เรียบร้อย นอบน้อมมีสัมมาคารวะ จะทำให้คนอื่นมีความรักใคร่ในตัวเรา

นอกจากนี้ ภาษาไทยยังสามารถนำมาดัดแปลงแต่งเป็นคำกลอน แต่งเป็นเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ทำให้ผู้ฟังหรือใครที่ได้ยินแล้ว เกิดความหลงใหล เพลินเพลินไปกับเสียงเพลงนั้นๆ ได้

ฉะนั้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะอย่างถูกต้องและเหมาะสมในการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักแสวงหาความรู้และประสบการณ์ รักการอ่าน การเขียน การพูด การบันทึกความรู้และข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของภาษา และเห็นคุณค่าของบรรพบุรุษที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ ผู้เรียนควรที่จะรู้ซึ้งถึงคุณค่า ตลอดจนรักษ์และหวงแหนภาษาไทย เพื่อให้คงอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป

เรื่องที่ 2 ภาษาไทยกับช่องทางการประกอบอาชีพ

ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสาร (ผู้พูด ผู้เขียน) กับผู้รับสาร (ผู้ฟัง ดู ผู้อ่าน) ที่มนุษย์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มหัดพูด เพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ พี่น้อง บุคคลใกล้เคียง ต่อมาเมื่ออยู่ในวัยเรียน เริ่มเข้าสู่ระบบโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ผู้เรียนในวัยนี้เริ่มใช้ภาษาที่มีระบบระเบียบ มีหลักเกณฑ์การใช้ภาษาที่สลับซับซ้อน ยากง่ายตามระดับการศึกษา ซึ่งสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาไทยนี้ จะเป็นการปูพื้นฐานความรู้ให้ผู้เรียน มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความซาบซึ้งและมีความคิดสร้างสรรค์ของงานที่เกิดจากการเรียนภาษาไทย เช่น มีผู้เรียนที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่เป็นผู้ใฝ่รู้ รักการอ่าน รักการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ เริ่มจดบันทึกจากสิ่งที่ใกล้ตัว คือ การจดบันทึกกิจวัตรประจำวัน จดบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นในแต่ละวัน เช่น พบเห็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร พบเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเมื่อประสบภัยน้ำท่วม ฯลฯ โดยผู้เรียนคนนี้ปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุกๆ วัน เมื่อผู้เรียนคนนี้เป็นคนที่ชอบเขียน ชอบบันทึกเรื่องราวต่างๆ และแทนที่ผู้เรียนคนนี้จะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ และเก็บไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวเท่านั้น แต่ผู้เรียนคนนี้ จะนำเรื่องราวที่บันทึกไว้เผยแพร่ในเว็บไซต์ เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเห็นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ บังเอิญมีสำนักพิมพ์ที่ได้อ่านผลงานเขียนของผู้เรียนคนนี้ เกิดความพึงพอใจ และขออนุญาตนำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่าย โดยผู้เรียนจะได้รับค่าตอบแทนในการเขียนด้วย

อีกกรณีหนึ่ง ผู้เรียนคนหนึ่งเป็นนักพูด เวลาโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมหรือมีการจัดงานใดๆ ก็ตาม ผู้เรียนคนนี้จะอาสาคอยช่วยเหลือโรงเรียนโดยเป็นผู้ประกาศบ้าง ผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ บ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียนคนนี้ ได้เรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น โดยอาจจะเป็นผู้ทำหน้าที่พิธีกร เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นนักพากย์การ์ตูน ฯลฯ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองได้

ฉะนั้น จากตัวอย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ภาษาไทย ก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างงาน สร้างอาชีพเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวได้ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ในสาระวิชาความรู้อื่นๆ ก่อนที่ผู้เรียน กศน. จะตัดสินใจใช้ความรู้ภาษาไทยไปประกอบอาชีพ ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์ศักยภาพตนเองก่อนว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิชาภาษาไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การพูด การอ่าน การเขียน หลักการใช้ภาษา วรรณคดีและวรรณกรรม ลึกซึ้งถูกต้องหรือยัง หากวิเคราะห์แล้วคิดว่าผู้เรียนยังไม่แม่นยำในเนื้อหาความรู้วิชาภาษาไทยก็จะต้องกลับไปทบทวนให้เข้าใจ จากนั้นจึงวิเคราะห์ตนเองว่ามีใจรักหรือชอบที่จะเป็นนักพูดหรือนักเขียน ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการฟัง การดู การ

อ่าน หลักการใช้ภาษา และวรรณคดีและวรรณกรรมเป็นข้อมูลความรู้ประกอบในการเป็นนักพูดที่ดี หรือนักเขียนที่ดีได้

ต่อไปนี้จะขอนำเสนอข้อมูลและตัวอย่างของการประกอบอาชีพนักพูด และนักเขียนพอสังเขปดังนี้

การประกอบอาชีพนักพูด

ผู้เรียนที่ได้วิเคราะห์ศักยภาพตนเองแล้วว่าเป็นผู้ที่มีความสนใจและรักที่จะเป็นนักพูด จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถหรือคุณสมบัติอย่างไรบ้าง โดยขอนำเสนอข้อมูลพอเป็นสังเขปได้ดังนี้

ก. นักจัดรายการวิทยุ

ผู้เรียนที่สนใจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุ เริ่มแรกผู้เรียนอาจจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับชุมชน เสียงตามสาย ฯลฯ จนผู้เรียนมีทักษะประสบการณ์มากขึ้น จึงจะเป็นนักจัดรายการวิทยุระดับจังหวัด หรือระดับประเทศต่อไป

หน้าที่ของนักจัดรายการวิทยุแบ่งได้ 4 ประการ คือ

1. เพื่อบอกกล่าวเป็นการรายงาน ถ่ายทอดสิ่งที่ได้ประสบ พบเห็นให้ผู้ฟังได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมา

2. เพื่อโน้มน้าวใจเป็นการพยายามที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตาม หรือโต้แย้ง

3. เพื่อให้ความรู้เป็นความพยายามที่จะให้ผู้ฟังเกิดความพึงพอใจ มีความสุขใจ

การประกอบอาชีพนักเขียน

ตัวอย่าง การนำความรู้ภาษาไทยไปประกอบอาชีพนักเขียน

นักข่าว

เป็นการเขียนข่าวที่ใช้กระบวนการทางความคิดของผู้สื่อข่าวที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงานข่าวในขั้นตอนการเขียน บอกเล่าข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการรับใช้ หรือสะท้อนสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากการเขียนของนักเขียนทั่วๆ ไป เพราะการเขียนข่าวของผู้สื่อข่าวมีความสำคัญต่อการแสวงหาความจริง ของสังคม ที่ต้องอาศัยรูปแบบ โครงสร้างของการเขียนข่าวมาช่วยนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ


เรื่องที่ 3 การเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านภาษาไทย เพื่อการประกอบอาชีพ

จากการนำเสนอแนวทางของการนำความรู้ภาษาไทยไปเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพประเภทต่างๆ เช่น การพูด การเป็นพิธีกร ผู้ประกาศ นักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ครูสอนภาษาไทยกับประชาชนอาเซียน การเขียน นักเขียนข่าว เขียนบทละคร เขียนนิทาน เขียนสารคดี แล้วนั้น เป็นเพียงจุดประกายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าการเรียนวิชาภาษาไทยมิใช่เรียนแล้วนำความรู้ไปใช้ในชีวิต ประจำวันเท่านั้น แต่การเรียนรู้วิชาภาษาไทยยังสามารถนำความรู้ประสบการณ์ทางด้านภาษาไทยไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองได้ด้วย แต่การที่ผู้เรียนจะเป็นนักเขียนหรือนักพูดที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคม ผู้เรียนจะต้องแสวงหาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์เพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นหลักสูตรเฉพาะเรื่อง หรือหากผู้เรียนต้องการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะมีสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เช่น คณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ ฯลฯ ได้อีกทางเลือกหนึ่ง หรือในขณะที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และต้องการที่จะเรียนรู้วิชาภาษาไทย เพื่อต่อยอดไปสู่ช่องทางการประกอบอาชีพได้จริง ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาเลือกตามหลักสูตรในระดับเดียวกันที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องที่สนใจได้อีกทางเลือกหนึ่งด้วย

นอกจากที่ผู้เรียนจะเลือกวิธีการศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม โดยวิธีศึกษาเป็นหลักสูตรสั้นๆ เฉพาะเรื่อง หรือจะศึกษาต่อเฉพาะสาขาวิชาในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เรียน ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง คือการฝึกฝนทักษะ ประสบการณ์ในการเขียน หรือการพูดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มคนที่มีความสนใจในอาชีพเดียวกันด้วย