5.หลักการใช้ภาษา

เรื่องที่ 1 ธรรมชาติของภาษา

ความหมายของภาษา

ภาษา เป็นคำที่เรายืนมาจากภาษา สันสกฤต ถ้าแปลตามความหมายของคำศัพท์ภาษา แปลว่า ถ้อยคำหรือคำพูดที่ใช้พูดจากัน คำว่า ภาษา ตามรากศัพท์เดิมจึงมีความหมายแคบคือหมายถึงคำพูดแต่เพียงอย่างเดียว

ความหมายของภาษาตามความเข้าใจของคนทั่วไป เป็นความหมายที่กว้าง คือภาษา หมายถึง สื่อทุกชนิดที่สามารถทำความเข้าใจกันได้ เช่น ภาษาพูดใช้เสียงเป็นสื่อ ภาษาเขียนใช้ตัวอักษรเป็นสื่อ ภาษาใบ้ใช้กริยาท่าทางเป็นสื่อ ภาษาคนตาบอดใช้อักษรที่เป็นจุดนูนเป็นสื่อ ตลอดทั้ง แสง สี และอาณัติสัญญาณต่างๆ ล้วนเป็นภาษาตามความหมายนี้ทั้งสิ้น

ความหมายของภาษาตามหลักวิชา ภาษา หมายถึง สัญลักษณ์ที่มีระบบระเบียบและมีแบบแผน ทำให้คนเราสื่อความหมายกันได้ ภาษา ตามความหมายนี้จะต้องมี ส่วนประกอบสำคัญคือ จะต้องมี ระบบสัญลักษณ์ + ความหมาย + ระบบการสร้างคำ + ระบบไวยากรณ์ ในภาษาไทยเรามีระบบสัญลักษณ์ ก็คือ สระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ ระบบการสร้างคำ ก็คือ การนำเอาพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์มาประกอบกันเป็นคำ เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ฯลฯ ระบบไวยากรณ์ หรือเราเรียกว่า การสร้างประโยคคือการนำคำต่างๆ มาเรียงกันให้สัมพันธ์กันให้เกิดความหมายต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยใหญ่ขึ้น เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ สัมพันธ์กันแล้วจะทำให้เกิดความหมาย ภาษาต้องมีความหมาย ถ้าหากไม่มีความหมายก็ไม่เรียกว่าเป็นภาษา

ความสำคัญของภาษา

1. ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ที่มนุษย์ใช้สื่อความเข้าใจกัน ถ่ายทอดความรู้ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งกันและกัน

2. ภาษาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ความคิดและความเพลิดเพลิน

3. ภาษาเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพและการปกครอง โดยมีภาษากลางหรือภาษาราชการใช้ในการสื่อสารทำความเข้าใจกันได้ทั้งประเทศ ทั่วทุกภาค

4. ภาษาช่วยบันทึกถ่ายทอดและจรรโลงวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ เราใช้ภาษาบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม ตลอดทั้งความคิด ความเชื่อไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบและสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย

เมื่อทราบว่าภาษามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์และมนุษย์ก็ใช้ภาษาเพื่อการดำเนินชีวิตประจำแต่เราก็มีความรู้เกี่ยวกับภาษากันไม่มากนัก จึงขอกล่าวถึงความรู้เกี่ยวกับภาษาให้ศึกษากันดังนี้

1. ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย ในการใช้เสียงเพื่อสื่อความหมายจะมี 2 ลักษณะ คือ

1.1 เสียงที่สัมพันธ์กับความหมาย หมายความว่าฟังเสียงแล้วเดาความหมายได้เสียงเหล่านี้มักจะเป็นเสียงที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น ครืน เปรี้ยง โครม จักๆ หรือเลียน เสียงสัตว์ร้อง เช่น กา อึ่งอ่าง แพะ เจี๊ยบ ตุ๊กแก

1.2 เสียงที่ไม่สัมพันธ์กับความหมาย ในแต่ล่ะภาษาจะมีมากกว่าเสียงที่สัมพันธ์ กับความหมาย เพราะเสียงต่างๆ จะมีความหมายว่า อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันของคนที่ใช้ภาษานั้นๆ เช่น ในภาษาไทยกำหนดความหมายของเสียง กิน ว่านำของใส่ปากแล้วเคี้ยวกลืนลงคอ ภาษาอังกฤษใช้เสียง eat (อี๊ท) ในความหมายเดียวกันกับเสียงกิน

2. ภาษาจะเกิดจากการรวมกันของหน่วยเล็กๆ จนเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น

หน่วยในภาษา หมายถึง ส่วนประกอบของภาษาจะมีเสียงคำและประโยค ผู้ใช้ภาษาสามารถเพิ่มจำนวนคำ จำนวนประโยคขึ้นได้มากมาย เช่น ในภาษาไทยเรามีเสียงพยัญชนะ 21 เสียง เสียงสระ24 เสียง เสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง ผู้เรียนลองคิดดูว่าเมื่อเรานำเสียงพยัญชนะ เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์มาประกอบกันก็จะได้คำมากมาย นำคำมาเรียงต่อกันก็จะได้วลี และประโยค เราจะสร้างประโยคขึ้นได้มากมาย และหากเรานำประโยคที่สร้างขึ้นมาเรียงต่อกันโดยวิธีมารวมกัน มาซ้อนกันก็จะทำให้ได้ประโยคที่ยาวออกไปเรื่อยๆ

3. ภาษามีการเปลี่ยนแปลง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลง

1. การพูดกันในชีวิตประจำวัน สาเหตุนี้อาจจะทำให้เกิดการกลมกลืนเสียง เช่น เสียงเดิมว่า

อย่างนี้ กลายเป็น อย่างงี้

มะม่วงอกพร่อง กลายเป็น มะม่วงอกร่อง

สามแสน กลายเป็น สามเสน

สู้จนเย็บตา กลายเป็น สู้จนยิบตา

2. อิทธิพลของภาษาอื่น จะเห็นภาษาอังกฤษมีอิทธิพลในภาษาไทยมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ เช่น มาสาย มักจะใช้ว่ามาเลท(late)

คำทักทายว่า สวัสดี จะใช้ ฮัลโล (ทางโทรศัพท์) หรือเป็นอิทธิพลทางด้านสำนวน เช่น สำนวนที่นิยมพูดในปัจจุบัน ดังนี้

“ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น” น่าจะพูดว่า “ได้รับการต้อนรับอย่างดี” “จับไข้” น่าจะพูดว่า “เป็นไข้” นันทิดา แก้วบัวสาย จะมาในเพลง “เธอ” น่าจะพูดว่า นันทิดา แก้วบัวสาย จะมาร้องเพลง “เธอ”

3. ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เมื่อมีความเจริญขึ้น ของเก่าก็เลิกใช้ สิ่งใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เช่น การหุงข้าวสมัยก่อนการดงข้าวแต่ปัจจุบันใช้หม้อหุงข้างไฟฟ้า คำว่า ดงข้าว ก็เลิกใช้ไปหรือบ้านเรือนสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ปูพื้นจะเรียกว่า “ฟาก” ปัจจุบันใช้กระเบื้อง ใช้ปูน ปูแทนคำว่าฟากก็เลิก

ใช้ไปนอกจากนี้ยังมีคำอีกพวกที่เรียกว่า คำแสลง เป็นคำที่มีอายุในการใช้สั้นๆ จะนิยมใช้เฉพาะวัยเฉพาะคนในแต่ละยุคสมัย เมื่อหมดสมัย หมดวัยนั้น คำเหล่านี้ก็เลิกใช้ไป เช่น กิ๊ก จ๊าบ

ตัวอย่างคำแสลง เช่น กระจอก กิ๊กก๊อก เจ๊าะแจ๊ะ ซ่า เว่อ จ๊าบ ฯลฯ

การยืมคำภาษาอื่นมาใช้ในภาษาไทย

ภาษาไทยของเรามีภาษาอื่นเข้ามาปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นธรรมชาติของภาษาที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ความคิดของมนุษย์และภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถหยิบยืมกันได้โดยมีสาเหตุจากอิทธิพลทางภูมิศาสตร์ คือ มีเขตแดนติดต่อกันอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ที่มีการอพยพถิ่นที่อยู่ หรือยู่ในเขตปกครองของประเทศอื่น อิทธิพลทางด้านศาสนาไทยเรามรการนับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และอื่นๆ นอกจากนี้อิทธิพลทางการศึกษา การค้าขาย แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี จึงทำให้เรามีการยืมคำภาษาอื่นมาใช้เป็นจำนวนมาก เช่น

1. ภาษาบาลี สันสกฤต ไทยเรารับพุทธศาสนาลัทธิหายาน ซึ่งใช้ภาษาสันสกฤตเป็นเครื่องมือมาก่อนและต่อมาได้รับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาอีกซึ่งในภาษาบาลีเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ไทยจึงรับภาษาบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก เช่น กติกา กตเวทิตา กตัญญู เขต คณะ จารีต ญัตติ ทุจริต อารมณ์ โอวาท เกษียณ ทรมาน ภิกษุ ศาสดา สงเคราะห์ สัตว์ อุทิศ เป็นต้น

2. ภาษาจีน ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทางด้านเชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่การติดต่อค้าขาย ปัจจุบันมีคนจีนมากมายในประเทศไทยจึงมีการยืมและแลกเปลี่ยนภาษาซึ่งกันและกัน ภาษาจีนที่ไทยยืมมาใช้เป็นภาษาพูดไม่ใช่ภาษาเขียน คำที่เรายืมจากภาษาจีนมีมากมายตัวอย่างเช่น ก๋วยจั๊บ ขิม จับกัง เจ้ง ซวย ซีอิ้ว ตั๋ว ทู ่ชี้ บะหมี่ ห้าง ยี่ห้อ หวย บุ้งกี้ อั้งโล เกาเหลา แฮ่กึ้น เป็นต้น

3. ภาษาอังกฤษ ชาวอังกฤษ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชาวไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการคิดต่อค้าขาย และในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกอำนาจศาลกงสุลให้แก่ไทย และภาษาอังกฤษเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเป็นภาษาสากลที่สามารถใช้สื่อสารกันได้ทั่วโลก ประเทศไทยมีการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมศึกษาจึงทำให้เรายืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ในลักษณะคำทับศัพท์อย่างแพร่หลาย เช่น โฮเตล ลอตเตอรี่ เปอร์เซ็นต์ บ๋อย โน้ต กอล์ฟ ลิฟท์ สวิตช์ เบียร์ ชอล์ก เบรก ก๊อก เกม เช็ค แสตมป์ โบนัส เทคนิค เกรด ฟอร์ม แท็กซี่ โซดา ปั๊ม คอลัมน์ เป็นต้น และปัจจุบันยังมีภาษาอันเกิดจาการใช้คอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง

4. ภาษาเขมร อาจด้วยสาเหตุความเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงและมีการติดต่อกันมาช้านานปะปนอยู่ในภาษาไทยบ้าง โดยเฉพาะราชาศัพท์และในวรรณคดีเช่น บังคัล กรรไตร สงบ เสวย เสด็จ ถนอม เป็นต้น

กิจกรรม

1. ให้ผู้เรียนสังเกตและรวบรวม คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ และเราใช้กันในการพูดคุยและใช้ในการสื่อสารมวลชนแล้วบันทึกไว้ เพื่อนำไปใช้ในการรายงานและการสื่อสารต่อไป

2. แบ่งผู้เรียนเป็น 2-3 กลุ่ม ออกมาแข่งกันเขียนภาษาไทยแท้บนกระดาษกลุ่มละ15-20 คำ พร้อมกับบอกข้อสังเกตว่าเหตุผลใดจึงคิดว่าเป็นคำไทย

เรื่องที่ 2 ถ้อยคำสำนวน สุภาษิต คำพังเพย

1. ถ้อยคำภาษาไทยมีลักษณะพิเศษหลายประการ สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสม ในการสื่อสาร เพื่อความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และตรงเป้าหมาย

2. ถ้อยคำภาษาไทยมีลักษณะเป็นศิลปะที่มีความประณีต สละสลวย ไพเราะ ลึกซึ้ง น่าคิด น่าฟัง รื่นหู จูงใจ และหากนำไปใช้ได้เหมาะกับข้อความเรื่องราวจะเพิ่มคุณค่าให้ข้อความหรือเรื่องราวเหล่านั้น มีน้ำหนักน่าคิด น่าฟัง น่าสนใจ น่าติดตามยิ่งขึ้น

3. ถ้อยคำภาษาไทย ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคลนับว่าเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและของผู้ปฎิบัติ

ถ้อยคำสำนวน

ถ้อยคำสำนวนหมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียง บางทีก็ใช้ว่าสำนวนโวหาร คำพูดของมนุษย์เราแยกออกไปอย่างกว้างๆ เป็น 2 อย่าง อย่างหนึ่งพูดตรงไปตรงมาตามภาษาธรรมดา พอพูดออกมาก็เข้าใจทันที อีกอย่างหนึ่งพูดเป็นเชิงไม่ตรงไปตรงมา แต่ให้มีความหมายในคำพูดนั้นๆ คนฟังเข้าใจความหมายทันที ถ้าคำพูดนั้นใชกันแพร่หลาย เช่นคำว่า “ปากหวาน” “ใจง่าย” แต่ถ้าไม่แพร่หลายคนฟังก็ไม่อาจเข้าใจทันที ต้องคิดจึงจะเข้าใจหรือบางทีคิดแล้วเข้าใจเป็นอย่างอื่นก็ได้หรือไม่เข้าใจเอาเลยก็ได้คำพูดเป็นเชิงนี้ 136 | ห น้า

เราเรียกว่า “สำนวน” การใช้ถ้อยคำที่เป็นสำนวนนั้น ใช้ในการเปรียบเทียบบ้าง เปรียบเปรยบ้าง พูดกระทบบ้าง พูดเล่นสนุกๆ บ้าง พูดเตือนสติให้ได้คิดบ้าง

สำนวนไทย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้ตายตัว เนื่องจากใช้กันมาจนแพร่หลายอยู่ตัวแล้ว จะตัดทอนหรือสลับที่ไม่ได้ เช่น สำนวนว่า “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน”หมายความว่าทำงานชนิดที่ได้เงินเล็กน้อยก็เอา ถ้าเราเปลี่ยนเป็น “เก็บเงินใต้ถุนบ้าน” ซึ่งไม่ใช่สำนวนที่ใช้กัน คนฟังอาจไม่เข้าใจหรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น เช่น เก็บเงินฝังไว้ใต้ถุนบ้าน

ลักษณะชองสำนวนไทย

1. สำนวนไทยมีลักษณะที่มีความหมายโดยนัย โดยปกติความหมายของคำมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1.1 ความหมายโดยอรรถ ได้แก่ ความหมายพื้นฐานของคำนั้นๆ โดยตรงเช่นคำว่า “กิน”ความหมายพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจก็คืออาการที่นำอะไรเข้าปากเคี้ยวแล้วกลืนลงไปในคอ เช่น กินข้าว กินขนม เป็นต้น

1.2 ความหมายโดยนัย ได้แก่ การนำคำมาประกอบกันใช้ในความหมายที่เพิ่มจากพื้นฐานเช่น คำว่า

กินดิบ - ชนะโดยง่ายดาย

กินโต๊ะ - รุมทำร้าย

กินแถว - ถูกลงโทษทุกคนในพวกนั้น

กินปูร้อนท้อง - ทำอาการพิรุธขึ้นเอง

2. สำนวนไทยมีลักษณะมีความหมายเพื่อให้ตีความ มีลักษณะติชมหรือแสดงความเห็นอยู่ในตัว เช่น เกลือเป็นหนอน กินปูนร้อนท้อง ตกบันไดพลอยโจน งมเข็มในมหาสมุทร เป็นต้น

3. สำนวนไทย มีลักษณะเป็นความเปรียบเทียบหรือคำอุปมา เช่น ใจดำเหมือนอีกา เบาเหมือนปุยนุ่น รักเหมือนแก้วตา แข็งเหมือนเพชร เป็นต้น

4. สำนวนไทยมีลักษณะเป็นคำคมหรือคำกล่าว เช่น หน้าชื่นอกตรม หาเช้ากินค่ำ หน้าซื่อใจคด เป็นต้น

5. สำนวนไทย มีลักษณะเป็นโวหารมีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน หรือบางทีก็ย้ำคำ เช่น ช้าวแดงแกงร้อน ขุ่นข้องหมองใจ จับมือถือแขน บนบานศาลกล่าว กินจุบกินจิบ ประจบประแจง ปากเปียกปากแฉะ อิ่มอกอิ่มใจ เป็นต้น

สุภาษิต หมายถึง คำกล่าวดี คำพูดที่ถือเป็นคติ เพื่ออบรมสั่งสอนให้ทำความดีละเว้นความชั่ว สุภาษิต ส่วนใหญ่มักเกิดจากหลักธรรมคำสอน นิทานชาดก เหตุการณ์หรือคำสั่งสอนของบุคคลสำคัญซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เลื่อมใสของประชาชน ตัวอย่าง เช่น

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์

หว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น

ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ฯลฯ

การนำสำนวน คำพังเพย สุภาษิตไปใช้ประกอบการถ่ายทอดความรู้ความคิดอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตนั้น คนไทยเรานิยมนำไปใช้กันมาก ทั้งนี้เพราะสำนวน สุภาษิต คำพังเพย มีคุณค่าและความสำคัญ คือ

1. ใช้เป็นเครื่องมืออบรมสั่งสอน เยาวชนและบุคคลทั่วไปให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในด้านต่างๆ เช่น การพูด การถ่ายทอดวัฒนธรรม การศึกษาเล่าเรียน การคบเพื่อน ความรัก การครองเรือนและการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ

2. ถ้อยคำสำนวน คำพังเพย สุภาษิต สะท้อนให้เห็นสภาพการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ในด้านสังคม การศึกษา การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ นิสัยใจคอและอื่นๆ

3. สะท้อนให้เห็นความเชื่อ ความคิด วิสัยทัศน์ของคนสมัยก่อน

4. การศึกษาสำนวน คำพังเพย สุภาษิต ช่วยให้มีความคิด ความรอบรู้ สามารถใช้ภาษาได้ดีและเหมาะสมกับโอกาส กาลเทศะและบุคคล กอปรทั้งเป็นการช่วยสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

เรื่องที่ 3 การใช้พจนานุกรมและสารานุกรม

ความสำคัญของพจนานุกรม

พจนานุกรมเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญและเป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยในทางราชการและโรงเรียน เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกันไม่ลักลั่นก่อให้เกิดเอกภาพ ทางภาษา อันเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของชาติไทย ตามปกติแล้วเราจะเปิดใช้เมื่อเกิดความสงสัยใคร่รู้ในการ

อ่าน เขียน หรือแปลความหมายของสำนวน หากเปิดใช้บ่อยๆจะเกิดความรู้ความชำนาญ ใช้ได้รวดเร็วและถูกต้อง

ความหมายของพจนานุกรม

คำว่า พจนานุกรม เทียบได้กับคำภาษาอังกฤษคือ Dictionary พจนานุกรม หมายถึง หนังสือรวบรวมถ้อยคำและสำนวนที่ใช้อยู่ในภาษาโดยเรียงลำดับตามอักษรแรกของคำ เริ่มตั้งแต่คำที่ขึ้นท้ายต้นด้วย ก.ไก่ ลำดับไปจนถึง คำที่ขึ้นต้นด้วย ฮ.นกฮูก ซึ่งแต่ละคำพจนานุกรมจะบอกการเขียนสะกดการันต์ บางคำจะบอกเสียงอ่านด้วย หากคำใดที่มีมาจากภาษาต่างประเทศก็จะบอกเทียบไว้ บางคำมีภาพประกอบเพื่อเข้าใจความหมายยิ่งขึ้น และสิ่งที่พจนานุกรมบอกไว้ทุกคำคือ ชนิดของคำตามไวยากรณ์กับความหมายของคำนั้นๆ

พจนานุกรมจึงทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภาษาคอยให้ความรู้เกี่ยวกับการอ่าน การเขียน และบอกความหมายของถ้อยคำสำนวนให้เป็นที่เข้าใจอย่างสั้น ง่าย รวบรัด

หนังสือพจนานุกรมภาษาไทยฉบับที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั่วไปคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2525 และฉบับปรับปรุง ปี 2542

พจนานุกรมจะเรียงคำตามอักษรตัวแรกของคำ

โดยลำดับตั้งแต่ ก.ไก่ ไปจนถึง

ฮ.นกฮูก จงลำดับคำ 5 คำ ต่อไปนี้ตามหลักพจนานุกรม

หมู แมว เป็ด ไก่ นก

(ถ้าเรียงไม่ได้ให้เปิดพจนานุกรมดูหรือถามผู้รู้)

วิธีใช้พจนานุกรม

พจนานุกรมจัดเป็นหนังสือประเภทไขข้อข้องใจทางภาษา ตามปกติแล้วเราจะเปิดใช้เมื่อเกิดความสงสัยใคร่รู้ในการอ่าน เขียน หรือแปลความหมายของถ้อยคำสำนวณ หากเปิดบ่อยๆจะเกิดความคล่องแคล่วรวดเร็วและถูกต้องวิธีใช้สารานุกรม

1. พิจารณาว่าเรื่องที่ต้องการค้นคว้าเป็นความรู้ลักษณะใดเป็นความรู้ทั่วไปหรือเป็นความรู้เฉพาะวิชา

2. เลือกใช้สารานุกรมตามเรื่องที่ตนเองต้องการตัวอย่าง ถ้าต้องการค้นหาความรู้ง่ายๆ พื้นฐานทั่วไปก็ให้ใช้สารานุกรมทั่วไปสำหรับเยาวชน แต่ถ้าต้องการหาความรู้พื้นฐานอย่างละเอียดก็ใช้สารานุกรมทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ หรือถ้าต้องการค้นหาความรู้เฉพาะวิชาก็ให้เลือกใช้สารานุกรมเฉพาะวิชา

3. ดูอักษรนำเล่มหรือคำแนะนำที่สันหนังสือจะรู้ว่าเรื่องนั้นอยู่ในเล่มใด

4. เปิดดูดรรชนีเพื่อดูเรื่องที่ต้องการค้นหาว่าอยู่ในเล่มใด หน้าที่เท่าไหร่ และจะต้องเลือกดูให้ถูกลักษณะของสารานุกรม เช่น เปิดดูดรรชนีท้ายเล่ม แต่สารานุกรมเยาวชนและสารานุกรมบางชุด

ดรรชนีจะอยู่ด้านหน้า ส่วนสารานุกรมสำหรับผู้ใหญ่และสารานุกรมบางชุดให้เปิดดูดรรชนีที่เล่มสุดท้ายของชุด

5. อ่านวิธีใช้สารานุกรมแต่ละชุดก่อนใช้และค้นหาเรื่องที่ต้องการ

เรื่องที่ 4 คำราชาศัพท์

คำราชาศัพท์ คือคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ปัจจุบันคำราชาศัพท์มีความหมายรวมถึง คำสุภาพ ที่สุภาพชนต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมตามฐานะของบุคคลทุกระดับและเหมาะสมกับกาลเทศะด้วย

คำสุภาพ พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้อธิบายไว้ว่าไม่ใช่คำแข็งกระด้างไม่แสดงความเคารพ เช่น โว้ย ว้าย วะ ไม่ใช้คำหยาบ เช่น ให้ใช้อุจจาระแทนขี้ ปัสสาวะแทนเยี่ยว ไม่ใช้คำที่นิยมกับของคำหยาบ เช่น สากกระเบือเปรียบเทียบกับของลับผู้ชายให้ใช้ไม้ตีพริกแทน เป็นต้น ไม่ใช้คำผวน เช่น ตากแดดให้ใช้ใหม่เป็นผึ่งแดด เป็นต้น และไม่พูดเสียงห้วน เช่น ไม่รู้ ไม่เห็น และมีคำว่า ครับ ค่ะ คะ ขา ประกอบคำพูดด้วย

ลักษณะของคำราชาศัพท์

1. คำนามที่นำมาใช้เป็นราชาศัพท์

1.1 คำที่นำมาจากภาษาบาลี สันสกฤต เขมรและคำไทย เมื่อจะใช้เป็นคำราชาศัพท์จะต้องใช้

พระบรมราช พระบรม พระราชและพระนำหน้า คือ

พระบรม พระบรมราช ใช้นำหน้าคำนามที่สมควรยกย่องสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน โดยเฉพาะ เช่น พระบรมอัฐิ พระบรมโอรสาธิราช พระบรมราโชวาท พระบรมราชวินิจฉัย พระบรมราชโองการ พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชูปถัมภ์

พระราช ใช้นำหน้าคำนามที่สำคัญรองลงมา เช่น พระราชสาสน์ พระราชประวัติ พระราชยาน พระราชโทรเลข พระราชวัง พระราชดำรัส พระราชบิดา

พระ ใช้นำหน้าคำนามทั่วไปบางคำเช่น พระกร พระหัตถ์ พระเกศา พระอาจารย์ พระสหาย พระเก้าอี้ พระเขนย พระยี่ภู่ พระศอ พระอุทร บางที่ใช้พระหรือทรง แทรกเข้ากลางเพื่อแต่งเป็นคำนามราชาศัพท์เช่น กระเป๋าทรงถือ เครื่องพระสำอาง

คำศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุสงฆ์

เนื่องจากพระภิกษุ เป็นผู้ทรงศีล และเป็นผู้สืบพระพุทธศาสนา การใช้ถ้อยคำ จึงกำหนดไว้เป็นอีกหนึ่ง เฉพาะองค์สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถือเป็นประมุขแห่งสงฆ์นั้นกำหนดใช้ราชาศัพท์เทียบเท่าพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า แต่ถ้าพระภิกษุนั้นเป็นพระราชวงศ์อยู่แล้วก็คงให้ใช้ราชาศัพท์ตามลำดับชั้นที่เป็นอยู่แล้วนั้น

การใช้ถ้อยคำ สำหรับพระภิกษุโดยทั่วไป มีข้อควรสังเกต พระภิกษุใช้กับพระภิกษุด้วยกันหรือใช้กับคนธรรมดา จะใช้ศัพท์อย่างเดียวกันตลอด ผิดกับราชาศัพท์สำหรับกษัตริย์และพระราชวงศ์คนอื่นที่พูดกับท่านหรือพูดถึงท่านจึงจะใช้ราชาศัพท์ แต่ถ้าพระองค์ท่านพูดกับคนอื่นจะใช้ภาษาสุภาพธรรมดา เช่น

มีผู้พูดถึงพระว่า “พระมหาสุนทรกำลังอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาล”

พระมหาสุนทรพูดถึงตัวท่านเองก็ย่อมกล่าวว่า “อาตมากำลังอาพาธอยู่โรงพยาบาล”

มีผู้พูดถึงพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งว่า “พระองค์เจ้าดิศวรกุมารกำลังประชวร”

พระองค์เจ้าเมื่อกล่าวถึงพระองค์เองย่อมรับสั่งว่า “ฉันกำลังป่วย”

ตัวอย่างคำราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุบางคำ

คำนาม – ภัตตาหาร(อาหาร) ไทยทาน(สิ่งของถวาย) อาสนะ(ที่นั่ง) กุฏิ(ที่พักในวัด) เภสัช(ยารักษา โรค) ธรรมาสน์(ที่แสดงธรรม)

คำสรรพนาม – อาตมา(ภิกษุเรียกตนเองกับผู้อื่น) ผม,กระผม(ภิกษุเรียก ตัวเองใช้กับภิกษุด้วยกัน) มหาบพิตร (ภิกษุเรียกพระมหา กษัตริย์) โยม(ภิกษุเรียกคนธรรมดาที่เป็นผู้ใหญ่กว่า)