2.การพูด

เรื่องที่ 1 มารยาทในการพูด

1. ใช้คำพูดสุภาพเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลให้เกียรติกับผู้ที่เราพูดด้วย รู้จักใช้คำที่แสดงถึงความมีมารยาท เช่น คำขอบคุณ ขอบใจ เมื่อผู้อื่นทำคุณต่อเรา และกล่าวขอโทษขออภัยเสียใจในโอกาสที่กระทำการล่วงเกินผู้อื่น

2. ไม่พูดจาเยาะเย้ย ถากถาง ดูหมิ่นเหยียดหยาม เสียดสีผู้อื่น ไม่พูดจายกตนข่มท่าน พูดชี้จุดบกพร่อง หรือปมด้อยของผู้อื่นให้เกิดความอับอาย

3. ไม่ผูกขาดการพูดและความคิดแต่เพียงผู้เดียว ให้โอกาสผู้อื่นได้พูดบ้างไม่พูดตัดบทในระหว่างผู้อื่นกำลังพูด ควรคอยให้ผู้อื่นพูดจนหมดกระบวนความแล้วจึงพูดต่อ

4. เมื่อจะพูดคัดค้านหรือโต้แย้ง ควรจะเหมาะสมกับโอกาสและมีเหตุผลเพียงพอไม่ใช้อารมณ์ควรใช้คำพูดที่นุ่มนวล ไม่ให้เสียบรรยากาศของการพูดคุยกัน

5. การพูดเพื่อสร้างบรรยากาศ ให้เกิดอารมณ์ขัน ควรจะเป็นเรื่องตลกขบขันที่สุภาพ ไม่หยาบโลนหรือพูดลักษณะสองแง่สองง่าม

6. ไม่พูดติเตียน กล่าวหาหรือนินทาผู้อื่นต่อหน้าชุมชน หรือในขณะที่ผู้ที่เราพูดถึงไม่ได้

อยู่ด้วย

7. ควรพูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลชวนฟัง ไม่ใช้น้ำเสียงห้วนๆ หรือดุดันวางอำนาจเหนือผู้ฟัง รู้จักใช้คำ ค่ะ ครับ นะคะ นะครับ หน่อย เถิด จ๊ะ นะ เสริมการพูดให้สุภาพไพเราะน่าฟัง

เรื่องที่ 2 ลักษณะการพูดที่ดี

การพูดของแต่ละบุคคลในแต่ละครั้งจะดีหรือไม่ดีอย่างไรนั้น เรามีเกณฑ์ที่จะพิจารณาได้ ถ้าเป็นการพูดที่ดีจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ต้องมีเนื้อหาดี เนื้อหาก็จะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เนื้อหาที่ดีต้องตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้พูด ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายการพูดเพื่ออะไร เพื่อความรู้ ความคิด เพื่อความบันเทิง เพื่อจูงใจโน้มน้าวใจ เนื้อหาจะต้องตรงตามเจตนารมณ์ของผู้พูดและเนื้อหานั้นต้องมีความยากง่ายเหมาะกับผู้ฟัง มีการลำดับเหตุการณ์ ความคิดที่ดีมีระเบียบไม่วกวน จึงจะเรียกว่ามีเนื้อหาดี

2. ต้องมีวิธีการถ่ายทอดดี ผู้พูดจะต้องมีวิธีการถ่ายทอดความรู้ความคิดหรือสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายเกิดความเชื่อถือ และประทับใจ ผู้พูดต้องมีศิลปะในการใช้ถ้อยคำภาษาและการใช้น้ำเสียง มีการแสดงกิริยาท่าทางประกอบในการแสดงออกทางสีหน้า แววตาได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม การพูดจึงจะเกิดประสิทธิผล

3. มีบุคลิกภาพดี ผู้พูดจะต้องแสดงออกทางกายและทางใจได้เหมาะสมกับโอกาสของการพูด อันประกอบด้วย รูปร่างหน้าตา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้มากนัก แต่ก็ต้องทำให้ดูดีที่สุด การแต่งกายและกริยาท่าทาง ในส่วนนี้เราสามารถที่จะสร้างภาพให้ดีได้ไม่ยาก จึงเป็นส่วนที่จะช่วยในการสร้างบุคลิกภาพที่ดีได้มาก ส่วนทางจิตใจนั้นเราต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้สูง มีความจริงใจและมีความคิดริเริ่ม ผู้พูดที่มีบุคลิกภาพที่ดี จึงดึงดูดใจให้ผู้ฟังเชื่อมั่น ศรัทธาและประทับใจได้ง่าย การสร้างบุคลิกภาพที่ดีเป็นคุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการพูด

เรื่องที่ 3 การพูดในโอกาสต่างๆ

1.การพูดทักทายปราศรัย ตามปกติคนไทยเราเป็นคนมีน้ำใจชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เสมอ มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักโอภาปราศรัย เมื่อพบใครจะเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อนหรือคนแปลกหน้าก็จะทักทายด้วยการยิ้มหรือใช้อวัจนภาษา คือกิริยาอาการทักทายก่อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่ควรรักษาไว้เพราะเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็นทั้งคนไทยด้วยกันและชาวต่างประเทศ

2.การแนะนำตนเอง

การแนะนำตนเองมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างยิ่งเพราะในแต่ละวันเราจะมีโอกาสพบปะสังสรรค์ ติดต่อประสานงานกับบุคคลอื่นๆ อยู่เสมอ การแนะนำสร้างความรู้จักคุ้นเคยกันจึงต้องเกิดขึ้นเสมอ แต่การแนะนำด้วยการบอกชื่อ สถานภาพอย่างตรงไปตรงมาเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันตก ส่วนคนไทยนิยมใช้การแนะนำด้วยการให้ความช่วยเหลือให้บริการเป็นเบื้องต้น เช่น หยิบของให้รินน้ำ ตักอาหาร เมื่อมีโอกาสอันควรก็จะทักทายปราศรัยและเริ่มการสนทนาในเรื่องที่เห็นว่าจะพูดคุยกันได้ แต่ก็มีบางครั้งบางโอกาสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับรู้แสดงอาการเฉยเมยไม่ตอบสนอง จนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งอึดอัดเก้อเขินหมดความพยายามผลสุดท้ายก็เลิกราไป ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นสภาพการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และคงไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นผู้เรียนจึงต้องเข้าใจและฝึกฝนการแนะนำตนเองเพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

3.การสนทนา

การสนทนา หมายถึง การพูดระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ผลัดกันพูดและผลัดกันฟัง การสนทนามีหลายลักษณะ อาจจะเป็นลักษณะที่ไม่เป็นแบบแผนคุยตามสบายไม่จำกัดเรื่องที่สนทนา เช่น การสนทนาในครอบครัว การสนทนากันในเพื่อนผู้เรียนที่รู้จักสนิทสนมกัน เป็นต้น แต่ในการสนทนาบางครั้งเป็นการสนทนาที่มีแบบแผน ซึ่งต้องมีการตระเตรียมล่วงหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นการสนทนาเชิงวิชาการ แต่ในที่นี้จะพูดถึงการสนทนาที่ไม่เป็นแบบแผน คือการสนทนากับบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย และบุคคลแรกรู้จัก การสื่อสารลักษณะนี้มีความสำคัญและเราได้ใช้เป็นประจำยิ่งในครอบครัวในที่ทำงาน ในสถานศึกษาหรือในกลุ่มของผู้เรียน ถ้ามีการสนทนากันด้วยดี ก็จะนำความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ฉันมิตรมาให้ กระทำสิ่งใดก็ราบรื่น เกิดความสามัคคีและนำความสุขมาให้แต่ในทางตรงข้ามถ้าการสนทนาไม่เป็นไปด้วยดี ก็ย่อมก่อให้เกิดการแตกร้าว ขาดสามัคคี มีแต่ความสับสนวุ่นวาย การสนทนาระหว่างบุคคลที่รู้จักคุ้นเคยมีสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่สนทนาและคุณสมบัติของผู้ร่วมสนทนา

4.การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์มีอยู่หลายลักษณะหลายระดับแต่ในระดับนี้จะขอกล่าวเฉพาะส่วนที่จำเป็น ซึ่งผู้เรียนจะต้องนำไปใช้เท่านั้น

ก. ผู้สัมภาษณ์ ควรมีการเตรียมตัวและปฏิบัติดังนี้

1. ต้องมีการติดต่อประสานงาน นัดหมายกับผู้ให้สัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งกำหนดวัน เวลาที่จะสัมภาษณ์และบอกจุดประสงค์ของการสัมภาษณ์ เพื่อผู้ที่ให้สัมภาษณ์จะได้เตรียมตัวได้ถูกต้อง

2. เมื่อประสานงานแล้ว ผู้สัมภาษณ์ควรเตรียมตัวตั้งแนวคำถามที่จะไปสัมภาษณ์ไว้เป็นประเด็นๆ ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

3. ศึกษาเรื่องที่จะสัมภาษณ์ให้เข้าใจ

4. เมื่อไปพบผู้ให้สัมภาษณ์ต้องตั้งคำถามให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ใช้ภาษาสุภาพ

5. ควรเตรียมการบันทึกภาพ เสียง และข้อความ เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้การบันทึกสมบูรณ์ไม่ผิดพลาด

6. รักษาเวลานัดหมาย เวลาขณะสัมภาษณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดนัดหมายไว้ อย่าได้ถามนอกประเด็นและอย่ายืดเยื้อโดยไม่จำเป็น

ข. ผู้ให้สัมภาษณ์

ผู้ให้สัมภาษณ์มักจะเป็นบุคคลสำคัญ ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ในอาชีพ ผู้มีความรู้ ฯลฯ ส่วนผู้เรียนเองก็มีโอกาสเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ได้เหมือนกัน เช่น เมื่อไปสมัครงาน สมัครเข้าเรียนต่อหรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น วิธีปฏิบัติตน เมื่อเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ควรกระทำดังนี้

1. สร้างบุคลิกภาพให้ดี ด้วยการแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อยประณีต ส่วนต่างๆ ของร่างกายต้องสะอาดเรียบร้อยเหมาะสม

2. รักษาเวลานัดหมาย แม้จะเป็นฝ่ายคอยก็ต้องให้พร้อมตามเวลาที่นัดหมาย

3. สร้างความมั่นใจด้วยการเตรียมให้พร้อมไม่ให้ประหม่า ตื่นเต้น เคอะเขิน ข่มใจไม่ให้กังวลสิ่งใดๆ

4. พูดให้ชัดเจน เสียงหนักเบาและน้ำเสียงให้พอดีเหมาะสม ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาปากหรือคำแสลง ไม่พูดยกตนข่มท่านไม่พูดโอ้อวด

5. ตั้งใจตอบคำถามและตอบให้ตรงประเด็น การขยายความพูดให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ มีปฏิภาณไหวพริบ แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล หากสิ่งใดที่ตอบไม่ได้ก็ให้ออกตัว อย่างนุ่มนวล เช่น บอกว่าไม่ค่อยสันทัด หรือไม่สู้จะมีความรู้ในเรื่องนี้ เป็นต้น

6. ตอบคำถามอย่างสุภาพแสดงไมตรีจิตและความเต็มใจที่จะให้สัมภาษณ์

การพูดต่อชุมชน

1. เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วที่จะเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลต่อสาธารณชนได้อย่างกว้างขวาง ความคิดเห็นนี้อาจเป็นได้ทั้งในทางสนับสนุน และคัดค้าน

2. เป็นวิธีการหนึ่งในการถายทอดวัฒนธรรมการปลูกฝังคุณธรรม การเผยแพร่ ความรู้ และวิทยาการใหม่ๆ สู่ประชาชน เช่น เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน ปาฐกถาธรรม การเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร การอุตสาหกรรม เป็นต้น

3. เป็นวิถีทางที่ทำให้มนุษย์สามารถชี้แนะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

นอกจากการพูดต่อชุมชนโดยการประชุมร่วมกัน หรือการพูดในที่สาธารณะ เช่น การหาเสียง การพูดโฆษณาสินค้าต่างๆ แล้ว ยังมีการพูดอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นการพูดผ่านสื่อมวลชน โดยผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ผู้เรียนเคยเห็นเคยฟังวิธีการพูดเช่นนี้มาบ้างแล้ว อาทิ การพูดสัมภาษณ์ การเป็นพิธีกร การสนทนา การโฆษณา การเล่าเรื่อง เป็นต้น

การพูดแสดงความคิดเห็น

การพูดแสดงความคิดเห็นเป็นลักษณะการพูดที่จะใช้ในการปรึกษาหารือกันในกลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาในการดำเนินชีวิต ปัญหาของชุมชนพื้นฐาน

การแสดงความคิดเห็นเป็นการใช้ทักษะการฟัง การอ่าน การพูดและการคิดให้ สัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะการพูดแสดงความคิดเห็นต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด เหตุผลหรือหลักการ ทฤษฎีต่างๆ หลายอย่างประกอบกัน ความคิด นั้นจะถูกต้องเหมาะสม มีคุณค่าน่าเชื่อถือ การพูดแสดงความคิดเห็นจึงต้องใช้ความรอบคอบให้เหตุผล มีใจเป็นกลาง บริสุทธิ์ใจ ไม่มีอคติ มีการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญรับผิดชอบ ในสิ่งที่พูด นี่เป็นหลักของการพูดแสดงความคิดเห็น

การพูดในที่ประชุม

ผู้เรียนทราบมาแล้วว่าการประชุมมีหลายประเภทหลายลักษณะทั้งการประชุมกลุ่มย่อย การประชุมกลุ่มใหญ่ การประชุมเชิงวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ แต่บุคคลที่มีบทบาทที่จะต้องพูดในที่ประชุมที่สำคัญนั้นมีเพียง 2 ฝ่าย คือ ประธานในที่ประชุมและผู้เข้าร่วมประชุม บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายนี้จะต้องรู้จักหน้าที่และมารยาทของการพูดที่ในประชุม มิฉะนั้นการประชุมก็จะไม่เรียบร้อยและไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์

การพูดรายงาน

การพูดรายงาน หมายถึง การพูดเพื่อนำเสนอเรื่องราว ข้อมูลข้อเท็จจริง ผลการปฏิบัติงาน สถานการณ์ ความก้าวหน้าของการดำเนินงานหรือผลของการศึกษาค้นคว้าต่อกลุ่ม หรือที่ประชุม เช่น การรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการของหน่วยงานหรืองค์กรที่รับผิดชอบ รายงานสถานการณ์และความก้าวหน้าของหน่วยงาน รายงานผลการทดลองหรือศึกษาค้นคว้าของผู้เรียน เป็นต้น การพูดรายงานที่ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน คือการพูดรายงานผลการทดลองและการศึกษาค้นคว้า เพื่อเสนอต่อครูและเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งมักจะเรียกว่าการรายงานหน้าชั้น ดังนั้น ผู้เรียนจะต้องทราบถึงหลักและวิธีการพูดรายงานพร้อมทั้งหมั่นฝึกฝนให้เกิดทักษะ

การเป็นพิธีกร

พิธีกร ในพจนานุกรมบอกความหมายว่า ผู้ดำเนินการในพิธี ผู้ดำเนินรายการ ดังนั้น พิธีกรจึงหมายถึง ผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการของงานที่จัดขึ้นอย่างมีพิธีการ เช่น การประชุม การสัมมนา การอภิปราย การไหว้ครู ฯลฯ พิธีกรจะเป็นผู้ทำหน้าที่บอกกล่าว ให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ทราบถึงขั้นตอนพิธีการว่ามีอะไรบ้าง ใครจะเป็นผู้พูด ใครจะเป็นผู้แสดง ใครจะทำอะไร พิธีกรจะเป็นผู้แจ้งให้ทราบนอกจากนี้พิธีกรจะทำหน้าที่ประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อจะได้ข้อมูลที่แต่ละฝ่ายจะดำเนินการและพิธีกรจะต้องจัดและดำเนินการตามขั้นตอนกำหนดเวลาให้บรรลุ หากพิธีกรทำหน้าที่บกพร่องก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้