ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านแม่แรม (ศศช.บ้านแม่แรม)

แนะนำ ศศช.บ้านแม่แรม

เมื่อปี 2523 สำนักงาน กศน.หรือ กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะนั้น ได้จัดตั้ง ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) ขึ้น โดยส่งครูอาสา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ครูดอย ๑-๒ คน เข้าไปฝังตัวพักอยู่กับประชาชน ในชุมชน และมีการสร้างอาคารขนาดเล็ก เรียกว่า อาศรม ด้วยวัสดุท้องถิ่น เพื่อให้บริการการศึกษาและพัฒนาชุมชนแก่ผู้ใหญ่ในเวลากลางคืน และสอนเด็กตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ในตอนกลางวัน โดยมุ่งให้สามารถช่วยเหลือตนเองและเป็นพลเมืองดีของชาติ ซึ่งโครงการ ศศช. นี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี ๒๕๓๗ ในฐานะที่เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เมื่อ พ.ศ. 2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงอ่านหนังสือพิมพ์และทรงพบจดหมายของครูอาสาสมัคร กศน. คนหนึ่ง ที่ ศศช.บ้านใหม้ห้วยหวาย จ.แม่ฮ่องสอน บรรยายความยากลำบากในการเป็นครูดอย ในความช่วยเหลือ จึงมอบหมายให้นายบุญธันว์ มหาวรรณ หัวหน้าคณะทำงานส่วนพระองค์ ไปสำรวจหาข้อมูล เพื่อให้ความช่วยเหลือ จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ๘๐,๐๐๐ บาท ให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ และต่อมาได้พระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับ ศศช.ทุกแห่งไว้ในพระอุปถัมภ์จนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สำนักงาน กศน.ได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นพระราชสมัญญานามของพระองค์ท่าน “แม่ฟ้าหลวง” ชื่อย่อยังคงใช้ติดของเก่าว่า ศศช.เหมือนเดิม

ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา ( ศศช.) บ้านแม่แรม ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่ พ.ศ.2529 โดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแพร่ ต่อมา ปี พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา“แม่ฟ้าหลวง”ซึ่งเป็นชื่อพระราชสมัญญานามของ "แม่ฟ้าหลวง " หรือ "สมเด็จย่า "แต่ชื่อย่อยังใช้ติดของเก่าว่า ศศช. เหมือนเดิม ปัจจุบันมี นางเกตุวรินทร์ บุรี เป็นครูอาสาสมัครฯ ประจำศูนย์การเรียนฯ ซึ่งได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ การจัดการศึกษาสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ,หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเหมาะสม โดยให้ผู้เรียนและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัด

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสอง มี ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” จำนวน 2 แห่ง อยู่ในพื้นที่อำเภอสอง ประกอบด้วย 1.ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านแม่พร้าว

2.ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านแม่แรม

เพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในชุมชน เป็นสถานที่สร้างโอกาสในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนการถ่ายทอดวิทยากร ภูมิปัญญาที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดและปฏิบัติ ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนและเกิดความหวนแหนช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป สอดแทรกความรู้เรื่องคุณธรรม และจริยธรรม โดยบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนรู้ ให้กับผู้เรียน หลักสูตรในชุมชนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเกิดผลประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างสูงสุด

กิจกรรม

การจัดการศึกษาตามแนวคิดศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” นั้นถือว่าคนทั้งชุมชน คือผู้เรียน ชุมชนทั้งชุมชน คือ ห้องเรียน วิถีชีวิตชุมชน หรือทุกสิ่งทุกอย่างในชุมชน คือ หลักสูตรบทบาทหน้าที่ของครูอาสาสมัคร จึงเป็นทั้ง ผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในชุมชน เป็นผู้อำนวยความสะดวก และประสานให้เกิดการเรียนรู้ โดยเป็นผู้ให้การแนะนำ ให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้แก่ บริการที่อ่านหนังสือใน ศศช. ป้ายติดประกาศของข้อมูลข่าวสาร ศศช.

- ให้คำปรึกษาแนะนำ เช่น แนะนำด้านสุขภาพอนามัย แนะนำการจัดทำโครงการของชุมชน เสนอ อบต.

- เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา ได้แก่ แนะแนวการศึกษาต่อ ส่งเสริมด้านทักษะอาชีพ อาชีพเพื่อการมีงานทำ ประสานงานกับการศึกษาในระบบเพื่อให้มีการศึกษาต่อระดับสูงขึ้น ตลอดจนนิเทศติดตามผลการจัดกิจกรรมการศึกษา กศน.ในพื้นที่ตำบลเตาปูน

- บทบาทในฐานะผู้นำในการพัฒนา โดยทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตระหนักในปัญหาของชุมชน จนสามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนได้ เช่น ครูเข้าร่วมการประชุมชาวบ้าน และพัฒนาหมู่บ้านทุกเดือน จัดตกแต่งสภาพแวดล้อมภายใน ภายนอกอาคาร บริเวณศูนย์การเรียนฯ ตลอดจนในชุมชนให้ สะอาด ร่มรื่น มีระเบียบ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้

- บทบาทในฐานะสมาชิกที่ดีของชุมชน คือ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ศึกษา และทำความเข้าใจในวิถีของชุมชน ได้แก่ การร่วมงาน กิจกรรมในชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นในหมู่บ้าน ที่ครูอาสาฯจัดขึ้นไม่จำกัดโอกาส เวลา และสถานที่ ทักษะ ความรู้ต่างๆ ที่คนในชุมชนได้ มุ่งเน้นการนำไปปรับปรุงคุณภาพชีวิต

หลักการทำงาน

หลักการทำงาน ศศช.บ้านแม่แรม ยึดชุมชนเป็นฐานในการทำงานและการเรียนรู้ โดยใช้ต้นทุนของชุมชน เช่น อาคาร สถานที่ แหล่งวิทยาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี มีการประสานเครือข่ายในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการจัดกิจกรรม ของ ศศช. ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา บูรณาการกระบวนการเรียนรู้ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชน มีคณะกรรมการ ศศช. ที่เป็นคนในชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุน ติดตามดูแลและร่วมประเมินผลการดำเนินงานของ ศศช.


ศศช.บ้านแม่แรม จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.) เพื่อ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตาม อัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนบนพื้นที่สูง ได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

2.) เพื่อสร้างและขยายภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชนบนพื้นที่สูง

3.) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่าย

4.) เพื่อประสานและเชื่อมโยงการดำเนินงานจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน

หน้าที่

บริหารจัดการทั่วไป จัดการศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สถานที่ให้บริการ

ศศช.บ้านแม่แรม หมู่ที่ 12 ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่

พื้นที่ให้บริการ

บ้านแม่แรม หมู่ที่ 12 ตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่


ข้อมูลผู้เรียน /นักศึกษาขั้นพื้นฐาน ศศช.บ้านแม่แรม

นักศึกษาขั้นพื้นฐาน กศน.(สายสามัญ) 2/ 2561

          • ระดับประถมศึกษา - คน
          • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 4 คน
          • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5 คน

รวม 9 คน

กิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ

- มีผู้เรียน จำนวน 35 คน (ชาย 10 คน ,หญิง 25 คน)