ประวัติความเป็นมาจังหวัดสระบุรี

ประวัติจังหวัดสระบุรี

เมือง “สระบุรี” มีประวัติอันสันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2092 ในรัชสมัยสมเด็จ พระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา สืบเนื่องมาจากยามมีศึกสงครามประชิดติดพระนคร ไม่สามารถเรียกระดมพลรักษาพระนครได้ทัน เพราะหัวเมืองต่างๆ ตามที่มีการแบ่งการปกครองอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามาก จึงต้องตั้งเมืองใหม่ขึ้น เพื่อให้สะดวกรวดเร็วและได้ผลทันต่อเหตุการณ์ยามเกิดศึกสงคราม ส่วนที่ตั้งเมืองสระบุรีคราวแรกไม่มีการกำหนดเขตแดนไว้แน่นอน สันนิษฐานว่า คงจะแบ่งเอาบางส่วนจากทางเมืองลพบุรี แขวงเมืองนครราชสีมา แขวงเมืองนครนายก ตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี ทั้งนี้เพราะเขตที่ตั้งขึ้นเป็นเมืองสระบุรี เป็นเขตที่คลุมบางส่วนของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งสะดวกต่อการเดินทางไปทางภาคตะวันออกตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเคยเป็นเส้นทางที่พวกขอมสมัยโบราณเคยใช้เดินทางในการติดต่อกับราชธานี (นครธม)

สำหรับประวัติความเป็นมาของสระบุรี มีปรากฏในหนังสือ เรื่อง “เที่ยวตามทางรถไฟ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทรงอธิบายแยกเรื่องความเป็นมาของสระบุรี ในแต่ละยุค แต่ละสมัย ดังนี้

สมัยกรุงละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาถึงสมัยอโยธยา

“ท้องที่อันเป็นเขตจังหวัดสระบุรีนี้ แต่โบราณครั้งเมื่อพวกขอมยังเป็นใหญ่ ในประเทศนี้ อยู่ในทางหลวงสายหนึ่ง ซึ่งพวกขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่า นครธม) ยังมีเทวสถาน ซึ่งพวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมือง ปรากฏอยู่เป็นระยะมา คือ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี มีที่อำเภอวัฒนานครแห่งหนึ่ง ที่ดงศรีมหาโพธิ์แห่งหนึ่ง ต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายก มีที่ดงละครแห่งหนึ่ง แล้วมามีที่บางโขมด ทางขึ้นพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง ต่อไปก็ถึงลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลละโว้ ที่พวกขอมมาตั้งปกครอง แต่ที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งจังหวัดสระบุรี หาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้น เมืองสระบุรีเห็นจะเป็นเมืองตั้งขึ้นต่อเมื่อไทยได้ประเทศนี้จากขอมแล้ว ข้อนี้สมด้วยเค้าเงื่อนในพงศาวดาร ด้วยชื่อเมืองสระบุรีปรากฏในเรื่องพงศาวดารเป็นครั้งแรก เมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช…”

สมัยกรุงศรีอยุธยา

“เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพมาล้อมพระนครศรีอยุธยา พระไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ยกกองทัพเมืองเวียงจันท์ลงมาช่วยไทย เดินกองทัพเลียบลำน้ำป่าสักลงมา พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชคุมกองทัพไปซุ่มดักทางอยู่ที่เมืองสระบุรี ตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแตกกลับไป ดังนี้ เป็นอันได้ความว่า เมืองสระบุรีตั้งมาก่อน พ.ศ. 2112 แต่จะตั้งเมื่อใดข้อนี้ได้สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ คือ เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระราชบิดาของสมเด็จพระมหินทราธิราชนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2091 ในสมัยนั้นมีเมืองป้อมปราการเป็นเขื่อนขัณฑ์กันราชธานีอยู่ทั้ง 4 ทิศ คือเมืองสุพรรณบุรีอยู่ทางตะวันตก เมืองลพบุรีอยู่ทางทิศเหนือ เมืองนครนายกอยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองพระประแดงอยู่ทางทิศใต้ กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ข้างทิศตะวันตก กองทัพไทยจึงไปตั้งต่อสู้อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี รับข้าศึกไม่อยู่ต้องถอยเข้ามาเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่น จึงได้ชัยชนะ เป็นเหตุให้ เห็นว่าเป็นเมืองที่ตั้งเป็นเขื่อนขัณฑ์กันพระนครนั้น หาเป็นประโยชน์ดังที่คาดมาแต่ก่อนไม่ ที่สร้างป้อมปราการไว้ ถ้าข้าศึกเอาเป็นที่มั่นสำหรับทำการสงคราม แรมปีตีพระนคร ก็จะกลับเป็นประโยชน์แก่ข้าศึก จึงให้รื้อป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี และเมืองนครนายกเสียทั้ง 3 เมือง คงไว้แต่เมือง พระประแดง ซึ่งรักษาทางปากน้ำ อีกประการหนึ่งเห็นว่า ที่รวบรวมผู้คนในเวลาเกณฑ์ทัพยังมีน้อยแห่งนัก จึงได้ตั้งตัวเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเมือง สำหรับเป็นที่รวบรวมผู้คนเพื่อจะได้เรียกระดมมารักษาพระนครได้ทันท่วงที ในเวลาการสงครามมีมาอีก เมืองที่ตั้งใหม่ครั้งนั้นระบุชื่อไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่ทางทิศใต้กับทางทิศตะวันตก คือ เมืองนนทบุรี 1 เมืองสาครบุรี 1 (สมุทรสาคร) เมือง 1 และเมืองนครไชยศรีเมือง 1 แต่ทางทิศอื่นหาได้กล่าวไม่ เมืองสระบุรี (และเมืองฉะเชิงเทรา) เห็นจะตั้งขึ้นในคราวนี้นั่นเอง คือตั้งเมื่อราว พ.ศ.2092 ก่อนปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเพียง 20 ปี เหล่าเมืองที่ตั้งครั้งนั้นเป็นแต่สำหรับรวบรวมผู้คนดังกล่าวมา จึงกำหนดแต่เขตแดนมิได้สร้างบริเวณเมืองผู้รั้งตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็ชื่อว่าเมืองอยู่ตรงนั้น ไม่เหมือนเมืองที่ตั้งมาแต่ก่อน เช่น เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี เป็นต้น เมืองตั้งสำหรับรวบรวมคนเช่นว่ามานี้ มีอีกหลายเมือง พึ่งมาตั้งบริเวณเมืองประจำที่ ทั่วกันต่อเมื่อรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

นามเจ้าเมืองสระบุรีคนแรก ไม่ปรากฏหลักฐาน คงมีเพียงตำแหน่งบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองสระบุรี ซึ่งปรากฏเด่นชัดในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2125 ทราบแต่ว่ามีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสระบุรี” เท่านั้น โดยสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคนไทยภาคกลาง มีหน้าที่คุมรักษาฉางข้าวไว้ให้กองทัพหลวง ครั้งยกไปตีเขมร ซึ่งคงจะเป็นเพราะให้ชาวเมืองสระบุรีสมัยนั้นทำไร่ทำนาเก็บเกี่ยวไว้สำหรับงานสงคราม

จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าเมืองสระบุรีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุราราชวงศ์” ซึ่งตามพงศาวดาร ว่าเป็นชนเผ่าลาวพุงดำ ซึ่งถูกเกณฑ์อพยพมาแต่ครั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1) พาทัพไปตีนครเวียงจันทร์ (สมัยกรุงธนบุรี) แล้วมาตั้งรกราก ณ แขวงเมืองสระบุรี พ.ศ. 2324

ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทางการมีการแต่งชื่อเจ้าเมืองใหม่ ดังนี้

เมืองพระพุทธบาท (แก้วประศักดิ์เมืองปรันตปะ) เดิมนามว่า ขุนอนันตคีรี ตั้งใหม่เป็น หลวงสัจจภัญฑคิรี ศรีรัตนไพรวัน เจติยาสันคามวาสีนพคูหาพนมโขลน

เมืองสระบุรี เดิมนามว่า ขุนสรบุรีปลัด ตั้งใหม่เป็น พระสยามลาวบดีปลัด ตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2435) มีการจัดรูปการปกครองใหม่เป็นเทศาภิบาล โดยจัดตั้งเป็นมณฑล เทศาภิบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลดหลั่นกันลงไป เมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑล กรุงเก่า มีการส่งข้าราชการมาปกครองแทนการตั้งเจ้าเมือง สำหรับที่ตั้งเมืองสระบุรีครั้งแรกไม่ปรากฏ หลักฐานที่แน่นอน คงทราบแต่เพียงว่าตั้งอยู่ที่หัวจวนบริเวณบึงหนองโง้ง ใกล้วัดจันทบุรี ตำบลศาลารีลาว ปัจจุบันคือ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ มีพระยาสระบุรี (เลี้ยง) เป็นเจ้าเมือง ปี พ.ศ. 2433 พระยาสระบุรี (เลี้ยง) ถึงแก่กรรม จ่าเริงเป็นเจ้าเมืองแทน ได้ย้ายศาลากลางเมืองสระบุรีไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อย อ.เสาไห้ (บ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัยคือ ศาลากลางเมือง) จนถึงสมัยที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามเป็นเจ้าเมืองเห็นว่า ตัวเมืองเดิมที่เสาไห้อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก (รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาถึงเมืองสระบุรี เมื่อ พ.ศ.2439) ประกอบกับภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้น ยากแก่การขยายเมืองในอนาคต จึงได้สร้างศาลาขึ้นใหม่ ณ บริเวณตำบล ปากเพรียว การก่อสร้างเสร็จในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 3 คือ พระยาบุรีสราธิการ (เป้า จารุเสถียร) ในปี พ.ศ. 2509 ก็ได้รื้อและสร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นแทน