การเมืองการปกครอง

1) เมืองหลวง - ไนล์


ไนล์แบ่งเขตการปกครองออกเป็นห้าเขต คือ ลักซอร์ กีซา ซัคคารา ฟิเล และคาร์นัค ตัวเมืองหลวง ไนล์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำธีบส์ในเขตลักซอร์ บนที่ราบตอนกลางของประเทศ

แผนที่จากหนังสือ หัวขโมยแห่งบารามอส The Perfect Guidebook, digital edit โดย rparinFYZ

เขตการปกครองของไนล์ และที่ตั้งของเมืองสำคัญต่างๆที่มักอยู่ตามริมลำน้ำ


2) ระบบการปกครอง - สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีกษัตริย์เป็นประมุข


การบริหารราชการแผ่นดินของไนล์ กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดเหนือฝ่ายทหารและพลเรือน ซึ่งจะเป็นการแบ่งหน้าที่แก่เสนาบดีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในการบริหารราชกิจ เสนาบดีฝ่ายซ้ายดูแลด้านการเกษตร ชลประทาน เศรษฐกิจ การสาธารณสุข การพัฒนาฝีมือแรงงาน เสนาบดีฝ่ายขวาดูแลความมั่นคง การทหาร การปกครองเขตต่างๆและการจัดเก็บภาษี มีการคัดเลือกชาวไนล์ที่มีความรู้ หรือจบการศึกษาจากโรงเรียนพระราชาเข้ารับราชการ มีการมอบทุนให้เด็กที่เรียนดีแต่ยากจนเพื่อศึกษาต่อที่โรงเรียนพระราชา


แนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

  • ส่งเสริมให้การค้าและสินค้าต่างๆของไนล์มีชื่อเสียงยิ่งกว่านี้ในเอเดน

  • สนับสนุนการส่งออก โดยการลดภาษีส่งออก

  • สนับสนุนโครงการคนไนล์ใช้ของไนล์ กินของไนล์ เพื่อเพิ่มการบริโภคสินค้าภายในประเทศ

  • จัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสินค้าขึ้นชื่อต่างๆ

  • สร้างโรงเรียนการช่างเพื่อพัฒนาช่างฝีมือ



3) วิธีการคัดเลือกพระราชา - เจ้าชายองค์โตเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์


ในสมัยก่อนไนล์เรียกผู้ปกครองของตนว่า ‘ฟาโรห์’ ไม่ใช่กษัตริย์ เป็นที่มาของชื่อวิชาหน้ากากฟาโรห์ในโรงเรียนเอดินเบิร์ก เมื่อมีการประกาศให้ใช้ภาษากลางจึงเปลี่ยนคำเรียกจาก ‘ฟาโรห์’ มาเป็น ‘กษัตริย์’


มีเรื่องเล่าว่าในยุคสมัยหนึ่งยังมีฟาโรห์องค์หนึ่ง พระองค์เป็นคนเปิดเผยจริงใจดังเช่นชาวไนล์ทั่วไป นั่นทำให้ไม่ว่ามีเหตุอันใดก็แสดงออกทางสีหน้าเสียหมด จึงทำให้เสียผลประโยชน์ทางการเมืองหลายครั้ง ฟาโรห์องค์นั้นจึงสั่งช่างทำหน้ากากสีทองขึ้นมาสวมใส่เวลาออกว่าราชการ และต่อมาหน้ากากนั้นก็ได้ชื่อว่าหน้ากากฟาโรห์

ไม่มีใครทราบว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ แต่หน้ากากนั้นมีจริง และเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์กษัตริย์ สิ่งสืบทอดซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของราชาแห่งไนล์



พิธีขึ้นครองราชย์จัดเป็นพิธีที่ใหญ่ที่สุดของไนล์ โดยรัชทายาทไนล์ต้องสวมหน้ากากฟาโรห์ที่ถูกสืบทอดต่อมาชิ้นนั้นขณะนั่งบนบัลลังก์ และมีนักบวชสูงสุดเป็นผู้ประกอบพิธี โดยมีขุนนางและพระญาติเป็นสักขีพยาน ในกรณีที่รัชทายาทยังไม่พร้อมขึ้นครองราชย์ สามารถมีผู้แทนพระองค์เป็นผู้บริหารงานแทนชั่วคราวได้



ก่อนการเปลี่ยนผ่านรัชกาลของกษัตริย์แต่ละพระองค์ มักจะมีการให้เจ้าชายรัชทายาทเข้ามาร่วมบริหารประเทศในฐานะ ‘ผู้สำเร็จราชการร่วม’ เพื่อเป็นการฝึกฝนและส่งต่อพระราชอำนาจ เป็นวิธีที่จะสามารถธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของราชบัลลังก์และมีความต่อเนื่องในการบริหารปกครอง การเปลี่ยนรัชกาลของกษัตริย์ไนล์นั้นโดยมากจะเกิดขึ้นจากการสละราชบัลลังก์ส่งต่อให้เจ้าชายรัชทายาทมากกว่าที่กษัตริย์จะครองพระราชอำนาจไปจนวันสวรรคต



ปัจจุบันในไนล์มีการเปิดกว้างในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้นจึงมีการหารือหลายครั้งถึงเรื่องการจะเปลี่ยนรูปแบบการสืบทอดตำแหน่งรัชทายาทเป็น ‘เจ้าชาย หรือเจ้าหญิงพระองค์โต เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งรัชทายาท’ แทนที่จะเป็นเจ้าชายเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แนวความคิดนี้เริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะยังมีการหารือการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดปลีดย่อยที่อาจส่งผลประทบกับกฏหมายต่างๆอยู่


4) กองกำลังคุ้มกันประเทศ - กองบินสฟิงซ์


กองกำลังที่แข็งแกร่งของชาวไนล์เป็นมรดกมาจากยุคชนเผ่าแม่น้ำร้อยสาย พวกเขามีกองเรือที่เข้มแข็งและแล่นฝ่าผิวหน้าทะเลสาบที่เป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวได้ พวกเขามีรถศึก เกวียนรบและม้าลากรถ แต่จากสภาพภูมิประเทศทำให้ชาวไนล์เชี่ยวชาญการรบบนพื้นดินด้วยเท้าเปล่ามากกว่าควบขี่พาหนะ อาวุธที่พวกเขาใช้ได้แก่หอก ดาบยาวปลายโค้งคล้ายเคียวที่เรียกว่าเคเพช หรือโคเพช และธนูยาวที่ยิงได้หนักหน่วง เน้นการเคลื่อนพลบุกรวดเร็ว


แต่สิ่งที่ทำให้กองทัพของไนล์เป็นที่กล่าวขวัญไม่ได้มีเพียงความห้าวหาญ แต่ยังมีกำลังรบทางอากาศที่เกรียงไกรไม่น้อยหน้าประเทศอื่น นั่นคือ กองบินสฟิงซ์ อาวุธที่อันตรายที่สุดของชาวไนล์



เหล่าสฟิงซ์ สัตว์วิเศษที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ไวต่อสัมผัสของเวทมนตร์ ทำงานคู่กับทหารในฐานะคู่รบ พวกเขาลาดตระเวบนน่านฟ้าเหนืออาณาจักรไนล์ ป้องกันการบุกรุกของสัตว์อันตราย ปราบปรามผู้ลักลอบซื้อขายของเถื่อนตามชายแดน