ความเชื่อ :
เทพีแห่งสายน้ำ



ว่ากันว่า ไนล์ เป็นเทพธิดาผู้คอยคุ้มครองดินแดนแห่งแม่น้ำร้อยสายนี้มาแต่โบราณ นางประทานความอุดมสมบูรณ์แก่ดินแดนแห่งนี้ มักปรากฏในรูปลักษณ์หญิงสาวผู้งดงามที่ปรากฏกายพร้อมบาสเตียผู้รับใช้ในรูปลักษณ์ของแมวดำ ชนเผ่าโบราณที่เป็นบรรพบุรุษของชาวไนล์ในปัจจุบันต่างให้ความเคารพบูชานางเป็นอย่างมาก




เทพีไนล์นั้นเป็นอริกับไซบีเรีย เทพเจ้าแห่งฤดูหนาว ตำนานของชนเผ่าเล่าว่าไซบีเรียนั้นเป็นเทพเจ้าชั่วร้ายที่มีใจรักต่อเทพีแห่งสายน้ำ ทว่าพระนางกลับไร้เยื่อใย เทพเจ้าแห่งฤดูหนาวจึงบันดาลโทสะ ไซบีเรียบัญชาให้ชนเผ่าเร่ร่อนบนหลังม้าซึ่งบูชาพระองค์เข้าจู่โจมชาวชนเผ่าลุ่มแม่น้ำร้อยสายอย่างโหดร้าย ก่อนจะหลอกล่อไนล์ออกมาจากที่อยู่ของนาง ทำให้แม่น้ำแข็งตัวจนไนล์ไม่อาจหลบหนีได้ และลักพานางไปอยู่ที่ปราสาทของตนในฤดูเหมันต์


ด้วยเหตุนี้ชนเผ่าต่างๆในดินแดนแม่น้ำร้อยสายสมัยโบราณโบราณจึงช่วยกันลงมหามนตราไว้ที่ต้นน้ำเพื่อป้องกันการแข็งตัวของแม่น้ำสายต่างๆในดินแดน มหามนตรานี้เป็นมนตราที่ทำให้บริเวณจุดหนึ่งของลำน้ำมีความร้อนอยู่เสมอ เมื่อน้ำไหลผ่านก็ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจนไม่อาจจับตัวเป็นน้ำแข็งได้ ซึ่งมนตรานี้ยังคงมีผลตกค้างมาจนถึงยุคปัจจุบัน นั่นเป็นเหตุผลให้แม่น้ำทั้งหลายในไนล์ไม่กลายเป็นธารน้ำแข็งในหน้าหนาว และยังคอยหล่อเลี้ยงชุมชนริมแม่น้ำสืบไป







วิหารเทพีแห่งสายน้ำและนักบวชแห่งไนล์


แม้ไนล์จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดจากความสามารถในการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิตต่อปี แต่กระนั้นประมาณน้ำในช่วงน้ำหลากจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี บางปีอาจมีน้ำมากจนกลายเป็นอุทกภัยใหญ่ในเขตที่ราบลุ่ม สร้างความเสียหายแก่ยุ้งฉาง พื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย บางปีอาจมีน้ำน้อย ไม่สูงพอจะหลากท่วมผ่านพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

กระนั้นทั้งหมดนี้ชาวไนล์เชื่อว่า นี่คือบททดสอบของเทพีไนล์ที่มอบให้แก่ลูกหลานของชนเผ่าแม่น้ำร้อยสายไม่ให้ประมาทต่อการใช้ชีวิตในดินแดนที่มีความเป็นไปได้นับล้านแห่งนี้


ความเคารพในตัวเทพีแห่งสายน้ำทำให้มีการสร้าง ‘วิหารเทพีแห่งสายน้ำ’ และจัดตั้งตำแหน่ง ‘นักบวชแห่งไนล์’ ขึ้น



ทว่าถึงจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า นักบวช แต่หน้าที่แท้จริงของพวกเขาคือการอุทิศตนเพื่อคอยดูแลสายน้ำซึ่งเปรียบเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวไนล์ รวมถึงดูแลรักษามหามนตราที่ถูกตราไว้ในแหล่งน้ำของไนล์ พวกเขาจะคอยสอดส่องไม่ให้มีการทำลาย หรือทิ้งสิ่งของลงในแหล่งน้ำ ในปัจจุบันพวกเขายังมีหน้าที่คอยดูแลระบบชลประทานทั้งหมดของไนล์อีกด้วย

ตัววิหารเทพีแห่งน้ำเองถึงจะได้ชื่อว่ามหาวิหารก็จริง แต่ในปัจจุบันสถานที่นี้เป็นสถานที่ราชการ เป็นสถานที่ทำงานของคณะนักบวชแห่งไนล์ในแต่ละหัวเมืองและภูมิภาคต่างๆ มีหน้าที่ในการควบคุมบริหารการดูแลจัดการแหล่งน้ำและชลประทานในไนล์


จะเรียกว่าเป็น 'สำนักการชลประทานแห่งไนล์' ก็ไม่ผิด




ตำแหน่งนักบวชแห่งไนล์นี้มีการคัดเลือกคนจากการสอบความรู้เกี่ยวกับระบบน้ำ การชลประทาน สภาพภูมิศาสตร์ในท้องถิ่น และการทดสอบเวทมนตร์ นักแห่งไนล์ที่มีผลงานในระดับสูงจะถูกคัดเลือกจากความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบน้ำของไนล์ และประสบการณ์ในฐานะนักบวชในท้องถิ่นให้เข้าไปประจำอยู่ในมหาวิหารเทพีแห่งสายน้ำในพระราชวังไนล์ มีหน้าที่คล้ายคณะกรรมาธิการในการจัดการน้ำระดับชาติ

ผลงานของคณะนักบวชแห่งไนล์ที่สำคัญและเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ ‘ไนโลมิเตอร์’ เป็นสิ่งประดิษฐ์เอกที่สามารถช่วยให้เหล่านักบวชพยากรณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้าในแต่ละฤดูกาลได้


ไนโลมิเตอร์นั้นคือมาตรวัดระดับน้ำ มีหลายรูปแบบได้แก่

  1. เสาหินที่แกะสลักขีดวัดระดับน้ำ

  2. บ่อน้ำที่มีบันไดทางลง มีทางน้ำเชื่อมกับแม่น้ำ ใช้บันไดแต่ละขั้นเป็นตัววัดระดับน้ำ

  3. คล้ายกับรูปแบบก่อนหน้า แต่เป็นบ่อน้ำที่ขุดลึกลงไปถึงระดับน้ำใต้ดิน ใช้การวัดระดับน้ำใต้ดินแทนระดับน้ำจากแม่น้ำ


นักบวชแห่งไนล์จะทำการจดบันทึกระดับน้ำในทุกๆวัน เพื่อประเมินแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ข้อมูลในการประเมินระดับน้ำยังถูกส่งไปยังหน่วยงานจัดเก็บภาษี โดยในปีที่มีการประเมินว่าทรัพยากรน้ำจะมีความเหมาะสม การเพาะปลูกจะมีความอุดมสมบูรณ์ ก็จะมีการเก็บภาษีมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนในปีที่มีแนวโน้มจะแห้งแล้งหรือมีอุทกภัย ก็จะมีการจัดเก็บภาษีลดลงตามส่วน

เราสามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นนักบวชแห่งไนล์ในขณะที่พวกเขาเดินตามท้องถนนโดยไม่ได้อยู่ในเครื่องแบบ จากลูกปัดไม้แกะสลักสีฟ้าที่ร้อยอยู่กับเส้นผมปอยหนึ่งของพวกเขา เป็นลูกปัดที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษที่จะส่งเสียงเบาๆออกมาก่อนที่ฝนจะตก