พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ


ในปี 2561 วัดไผ่รอบมีอายุครบศตวรรษจากหลักฐานเสนาสนะที่มีจารึกไว้ “22 มิถุนายน 2461” นับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชุมชนคนไทยเชื้อสายไทดำหรือลาวโซ่ง อพยพมาจากเพชรบุรีและราชบุรีบางส่วน มาตั้งรกรากในจังหวัดพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้างและอำเภอวชิรบารมีคือ อำเภอ 2 แห่งที่มีชาวไทยเชื้อสายไทดำมากที่สุด

สมทบ สอนราช หรือ “หมอสมทบ” เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพไผ่รอบเหนือและรองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลไผ่รอบกล่าวถึงชื่อเรียกของไทดำ นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาเดิมนั้นเรียกว่า ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ แต่สำหรับของกลุ่มนั้นจะเรียกกันว่า ไทดำ เพื่อระบุว่าเป็นชนชาติที่สืบเชื้อสายมากเดียนเบียนฟูในเวียดนาม

ความคิดเริ่มแรก ไม่อยากให้คนรุ่นหลังลืมวัฒนธรรมของตนเอง อยากสืบทอดสิ่งที่จะเลือนหายไปให้คงไว้ ทุกวันนี้ โรงเรียนไม่เอามาก เอาแค่ภาษากับการแต่งกาย วันศุกร์ ใส่ชุดไทดำ

ย้อนไปเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านี้ กำนันสมชายเอ่ยขึ้นเพื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่ชุมชนไทดำในตำบลไผ่รอบเริ่มตัวกันเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีของไทดำ ทั้งภาษาไทดำและเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ได้รับการขับเน้นเป็นลำดับแรก ๆ ในกระบวนการฟื้นฟู ปัจจัยอีกประการหนึ่ง งานสืบสานวัฒนธรรมไทดำในภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์ พิษณุโลก รวมไปถึงจังหวัดเลย เป็นเงื่อนไขที่ส่งเสริมให้คณะทำงานดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากการจัดงาน คณะทำงานเริ่มขยายสู่การรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นที่ที่เป็นมรดกตกทอดในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องสีข้าวด้วยมือ และเครื่องจักสานต่าง ๆ เท่าที่พอจะหาได้ในชุมชน

พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ

จากนั้น พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น จากการบริจาคทรัพย์สินหรือข้าวของที่เห็นว่าเป็นตัวแทนของการบอกเล่าอัตลักษณ์ไทดำ และการบริจาคเงินอีกจำนวนหนึ่งจากสมาชิกภายในชุมชน หมอสมทบให้ข้อมูลเพิ่มเติม

สักปี 51 52 ผมทำงานวิจัยเกี่ยวกับไทดำ เรื่องประวัติ การดูแลสุขภาพ เรารวบรวมได้ว่า ในไผ่รอบ กลุ่มผู้สูงอายุยังอยู่ ผู้สูงอายุสืบทอดระหว่างศตวรรษ คนไผ่รอบตายปี ๆ หนึ่งสามสิบ เป็นอายุเกิน 80 สัก 20 คน เลยมองว่า ใบไม้กำลังร่วง ทำอย่างไรให้เกิดการสือต่อ และรุ่นเล็ก ๆ ได้มีความรู้ เลยเป็นที่มาว่า ให้เอาคนเฒ่าคนแก่รื้อฟื้นคืนกลับมา โดยเอากลุ่มคนมาเรียนต่อ ในเรื่องเสื้อผ้า ทรงผมแต่ละวัน มีการบอกเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องใช้ ศิลปวัฒนธรรม

ในกระบวนการทำงานของสภาวัฒนธรรม จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่จะกระชับความสัมพันธ์ของคนระหว่างวัยและความรู้ของคนต่างรุ่น กลุ่มแม่บ้านในช่วงสี่สิบห้าสิบปี จะมีโอกาสมาทำงานเย็บปักถักร้อยที่เกิดจากการเรียนรู้เทคนิคจากคนรุ่นอาวุโส รวมทั้งการใช้เวลาในช่วงเย็นเรียนรำไทดำ นับเป็นการออกกำลังกายร่วมกัน

พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบในวัดไผ่รอบในปัจจุบัน จึงเป็นมากกว่าสถานที่ของการจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจากครัวเรือน แต่ทำหน้าที่เสมือนคลังสิ่งของกับเรื่องเล่าและพื้นที่กลางของการใช้เวลาร่วมกันของสมาชิกในชุมชน พิพิธภัณฑ์อาศัยการปรับพื้นที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญที่มีการแบ่งพื้นที่หนึ่งในสี่ กันไว้เป็นห้องกระจกและจัดเก็บข้าวของ เครื่องแต่งกาย พื้นที่อีกหนึ่งส่วนเป็นบริเวณหน้าห้องกระจก สำหรับให้กลุ่มแม่บ้านมาทอผ้าและตัดเย็บผลิตภัณฑ์จากผ้าร่วมกัน ส่วนที่เหลือเป็นโถงสำหรับการจัดประชุมตามวาระต่าง ๆ ที่จัดขึ้นโดยวัดหรือชมรม/กลุ่มทางการ/กลุ่มไม่เป็นทางการ และยังเป็นสถานที่ต้อนรับคณะมาศึกษาดูงานอีกด้วย


ที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์ไทดำไผ่รอบ วัดไผ่รอบ หมู่ 8 ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

โทรศัพท์ : 086 - 4413738


ผู้ให้ข้อมูล กำนันสมชาย กิตติญาณ

ผู้เรียบเรียง นางสาวศิรินันท์ ยอดนุ่ม

กศน.ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร

โทร : 096-9067483

Email : sirinandp@gmail.com