แหล่งเรียนรู้ในชุมชน

พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย  บ้านลานแหลม ตำบลวัดละมุด 

       การทำนาถือเป็นอาชีพสำคัญของเกษตรไทยตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนาในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อน อาจารย์เริงชัย แจ่มนิยม จึงตั้งปณิธานที่จะทำ 'พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยบ้านลานแหลม' ให้คนไทยในยุคสมัยนี้ได้มีโอกาสเรียนรู้และเพื่อบรรยากาศที่สมจริง จึงเตรียมการเรื่องสถานที่อีกทั้งสิ่งก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยเริ่มปลูกต้นสะเดาเป็นรั้วล้อมรอบบ้าน รอจนโตเต็มที่ใน พ.ศ. 2541 จึงตัดมาทำเป็นเสาเรือนพิพิธภัณฑ์ ที่ได้วางโครงสร้างให้เป็น 'เรือนไทยเครื่องผูก' และเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา หากเข้าไปในบริเวณพิพิธภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสำนักงาน 'กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านลานแหลม' ใช้เป็นที่บรรยายสรุปประวัติความเป็นมาของบ้านลานแหลม อีกส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทยบ้านลานแหลม และได้จัดวางผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานจากเส้นใยผักตบชวาไว้ด้วย ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างเป็น เรือนไทยเครื่องผูกโบราณ บริเวณใต้ถุนเรือน มีการวางวัตถุสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านประเภทต่าง ๆ ไว้เป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเครื่องมือทำนา กลุ่มใช้สอยในครัวเรือน กลุ่มเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ และเครื่องมือช่างไม้ เป็นต้น ใกล้ ๆ กันทำเป็นพื้นที่สาธิตการสีข้าวเปลือก การฝัด การร่อน การกระทายเมล็ดข้าวที่สีแล้วเพื่อแยกแกลบออกจากข้าวสาร สำหรับชั้นบนยังมีวัตถุสิ่งของไม่มากนัก เท่าที่มีอยู่ได้แก่ อุปกรณ์ครัว และเชี่ยนหมาก เนื่องจากต้องการให้ผู้ที่ขึ้นไปบนเรือน สัมผัสถึงบรรยากาศของบ้านชาวนาไทยในอดีตจริง ๆ จึงได้จัดแสดงเป็นครัวจำลองเอาไว้

       การทำนา เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม สันนิษฐานว่าเริ่มจากการที่มนุษย์รู้จักสังเกตการเจริญเติบโตของข้าวในธรรมชาติ ต่อมาจึงนำเมล็ดข้าวที่ได้มาเพาะปลูกใกล้บริเวณที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยพบการปลูกข้าวด้วยวิธีการปักดำมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และพัฒนาวิธีการปลูกเรื่อยมาตามลำดับ จนปัจจุบันมีวิธีการปลูกข้าวที่หลากหลายแตกต่างกันตามลักษณะภูมิประเทศ

       วิถีการทำนาของคนไทยมีพัฒนาการมาตามลำดับ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฎว่ามีการทำนาหลากหลายวิธี และบางวิธีก็ยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ การทำนาไร่เป็นวิธีการปลูกข้าวแบบดัง้เดิมบนเขา หรือตามป่าดงโดยอาศัยน้ำฝน มีขั้นตอนเหมือนการปลูกข้าวไร่ในปัจจุบัน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ตามที่ลาดเชิงเขา หรือป่าดง ซึ้นพื้นดินมีอินทรียวัตถุที่เกิดจากการทับถมของใบไม้และซากพืช จึงทำหลุมและหยอดเมล็ดข้าวลงในดินก่อนที่ฤดูฝนมาถึง ใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวได้พอดีกับสิ้นฤดู ชาวไร่จะเก็บรักษาข้าวที่ได้ไว้บริโภคในครัวเรือน เมื่อปลูกต่อเนื่องจะทำให้ดินจืดชาวไร่ส่วนมากจึงใช้พื้นที่ปลูกข้าวเพียง 2 3 ปี และหาพื้นที่ปลูกใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการทำไร่เลื่อนลอยในปัจจุบัน

       สนใจเข้าศึกษาเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวนาไทย ติดต่อได้ที่ เลขที่ 9/1 หมู่ 4 บ้านลานแหลม ถนนนครชัยศรี-ดอนตูม กิโลเมตรที่ 14-15 ตำบลวัดละมุด ในบริเวณบ้านของอาจารย์เริงชัยและคุณป้าพยอม เปิดทำการทุกวันเวลา 08.30-17.00 น. อัตราค่าเข้าชม 20 บาท/คน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. +66 3429 6086, +668 1991 6084, +668 5186 4404, +668 7165 1681 (การเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ หากต้องการให้พิพิธภัณฑ์จัดทำอาหารรับรอง สามารถแจ้งล่วงหน้าได้)


แหล่งข้อมูลเนื้อหาโดย อาจารย์เริงชัย แจ่มนิยม 

และนายโนลี คำพึ่งพร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลวัดละมุด)

เรียบเรียงเนื้อหาโดย 

: (นายธนวิชญ์ คำวรรณ ครู กศน.ตำบลวัดละมุด  กศน.อำเภอนครชัยศรี

สำนักงาน กศน.จังหวัดนครปฐม)

ชื่อผู้ถ่ายภาพ/อ้างอิงที่มา  

1.Thailandtourismdirectory

2.นายธนวิชญ์ คำวรรณ 

แผนที่