วัฒนธรรม ประเพณีอัฏฐมีบูชา วัดใหม่สุคนธาราม

งานวันอัฏฐมีบูชา (การบูชาในดิถีที่ 8) ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน ในวันวิสาขบูชาในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วัดใหม่สุคนธารามตลอดจนประชาชนชาวตำบล วัดละมุดและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันจัดงานเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีวิถีพุทธของคนไทยในชุมชนให้กับประชาชนและส่งต่อถึงลูกหลานให้ละลึกและให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของไทยซึ่งในปัจจุบันจะหาชมได้ยาก ในประเทศไทยจังหวัดที่มีการจัดงานบุญประเพณีอัฏมีบูชาเป็นประจำทุกปีคือ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดอุตรดิตถ์ พุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญ และสืบสานงานประเพณีวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง เพื่อเป็นการรักษาและคงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้อยู่ คู่แผ่นดิน เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 7 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ




วัดใหม่สุคนธารามตลอดจนประชาชนชาวตำบล วัดละมุดและพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันจัดงานเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีวิถีพุทธของคนไทยในชุมชนให้กับประชาชนและส่งต่อถึงลูกหลานให้ละลึกและให้ความสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย ขบวนเหตุการณ์สมมุติ อัญเชิญพระบรมศพจำลอง นำโดยคณะสงฆ์ 199 รูป พร้อมด้วยคณะพราหมณ์ เทวดา นางฟ้า พระสาวกและสาธุชน และการจำลอง เมืองนรก-เมืองสวรรค์ อบายมุก การฟ้อนรำ และมีการล้อเลียนการเมืองและเสียดสีสันคม โดยชาวบ้านได้มีการ นำเรือดำน้ำ จำลองมาร่วมในขบวน ซึ่งภายในยังสามารถเปิดออกมา และมีการนำเรือดำน้ำ ที่บรรจุคนที่สวมหน้ากากผู้นำเหล่าทัพ มานั่งอยู่ภายในเรือ ก่อนจะนำมาปล่อยลงในคลองที่หน้าวัด ซึ่งเป็นการเสียดสีสังคม และเป็นการสร้างสีสันให้กับประชาชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ โดยเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของประชาชนได้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการจำลองในเมืองนรกภูมิ มีการเดินเต้นตามจังหวะสร้างบรรยากาศให้เกิดความคึกคักภายในงานเช่นดังทุกปี ขณะเดียวกันพิธีที่เป็นทางการ ได้มีการจัดให้มีการเวียนทักษิณาวัตรรอบมณฑลพิธีจำลอง จากนั้นได้มีการจัดขบวนการอัญเชิญสังขารขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเข้าข้นประดิษฐานเหนือจิตกาธาน เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ดินไทยตลอดไป

นายธนวิชญ์ คำวรรณ ผู้เขียน



แผนที่