การทอผ้าฝ้าย (กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านทุ่งข้าวหาง)

ประวัติบ้านทุ่งข้าวหาง

หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง ก่อตั้งมาประมาณ 300 กว่าปี โดยกลุ่มคนได้อพยพมาจากอำเภอแม่ทาเพื่อกระจายการทำมาหากิน จากหมู่บ้านเล็กๆ เพียงสิบกว่าหลังคาเรือน จนมาถึงปัจจุบัน มีจำนวน 167 ครัวเรือน ที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจาก การที่ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักในหมู่บ้าน มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากลำห้วยแม่หางน้อย ยาวเป็นหาง ตั้งแต่หัวบ้านจนถึงหางบ้าน น้ำมีสีทองไหลอาบลงทุ่งนาของหมู่บ้าน จึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง” หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ระยะทาง 12 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขาสลับล้อมรอบอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนลี้ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง มีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูก ประมาณ 1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ตลอดสองฝั่งของลำน้ำที่ไหลผ่าน ชุมชนแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่เรียงรายสองฝั่งของลำน้ำ เช่น แม่น้ำลี้ แม่น้ำแม่หาง และแม่น้ำสายเล็ก ๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำในการทำ การเกษตร ของประชากร สภาพสังคมโดยรวมของของหมู่บ้านทุ่งข้าวหาง เป็นสังคมเกษตรชนบท ทำอาชีพเกษตรกรรม มีความสงบเรียบร้อย และประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวไทยยอง หรือคนยอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

        นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนที่นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย    ยิ่งโดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมเมืองที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชาวไทยยองบ้านทุ่งข้าวหาง ยังคงอนุรักษ์aรักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านทุ่งข้าวหาง เกิดจากการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่ท้องถื่นที่มีฝีมือและความเชี่ยวชาญในการทอผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูนที่มีความโดดเด่นด้วยเนื้อผ้าแน่น ทอละเอียด มีความมันวาว กลุ่มทอผ้าฝ้ายบ้านทุ่งข้าวหางนำฝ้ายมาทอเป็นผ้าฝ้ายยกดอกที่มีลวดลายทอละเอียดสวยงามเหมือนผ้าไหมยกดอกแต่มีที่ราคาย่อมเยาอีกทั้งดูแลรักษาง่ายกว่าผ้าไหม สามารถนำไปออกแบบตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายเหมาะกับการใช้งานใน     ยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น