ประวัติของชุมชน

ประวัติความเป็นมา

                เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว เจ้าแสนตุ่น ซึ่งเป็นชาวเถิน จ.ลำปาง เป็นหัวหน้าพ่อค้าวัวได้นำลูกน้องเดินทางมาพักแรม  ที่ป่าแห่งหนึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งต้นไม้และสัตว์ป่าต่างๆ เจ้าแสนตุ่นได้เลือกทำเลสำหรับพักผ่อนใต้ต้นไม้ตะเคียนใหญ่ต้นหนึ่งใกล้กับลำห้วยแสล่ง ต้นไม้ตะเคียนต้นนี้มีขนาดใหญ่มากและลำต้นมีปมยื่นออกมาด้วยหลังจากพักผ่อนเต็มที่แล้วได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะตั้งเป็นหมู่บ้านได้ในอนาคตจึงสั่งให้ลูกน้องจัดสร้างบ้านพักขึ้น 1 หลัง ก่อนที่จะเดินทางกลับ อ.เถิน ต่อมาไม่นานได้พาญาติ พี่น้องและพรรคพวกรวม 7 ครอบครัวมาจัดสร้างบ้านบริเวณต้นไม้ตะเคียน และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ไม้ตะเคียนปม” หลังจากนั้นได้มีชาวบ้านเดินทางมาจาก อ.แม่ทา จ.ลำพูน อพยพมาอยู่ด้วยมากขึ้นคนในหมู่บ้านจึงยกให้เจ้าแสนตุ่นเป็นผู้นำหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อ   เจ้าแสนตุ่นได้เสียชีวิต พระยาพรหม ซึ่งเป็นชาวบ้านทา อ.แม่ทา จ.ลำพูนที่อพยพมาอยู่ทีหลังได้เป็นผู้นำหมู่บ้านและทางราชการได้จัดแบ่งเขตการปกครองท้องที่ ออกเป็นตำบลเรียกว่าตำบลตะเคียนปม ในสมัยพระยาพรหมเป็นผู้นำหมู่บ้าน ตรงกับสมัย   เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์   เป็นผู้ครองเมืองลำพูน ได้พาข้าราชบริพาลเดินทางมาคล้องช้างในเขตป่าของตำบลตะเคียนปม เมื่อพบต้นไม้ตะเคียนซึ่งมีปมขนาดใหญ่ยื่นออกมาจึงสั่งให้ข้าราชบริพาลตัดปมของต้นไม้ตะเคียนออกเพื่อนำกลับไปยังเมืองลำพูนซึ่งชาวบ้านต้องยินยอมด้วยความจำใจเมื่อปมของต้นไม้ตะเคียนถูกตัดออกไปแล้วชาวบ้านจึงเรียกชื่อหมู่บ้านของตนเองว่า  “บ้านไม้ตะเคียน”




ที่ตั้ง

     ทิศเหนือ      ติดต่อกับ     บ้านป่าตึงงาม หมู่ที่ 3 ตำบลตะเคียนปม  อำเภอทุ่งหัวช้าง

       ทิศใต้         ติดต่อกับ     บ้านห้วยห้าง หมู่ที่ 7 ตำบลตะเคียนปม  อำเภอทุ่งหัวช้าง

        ทิศตะวันออก ติดต่อกับ     บ้านหนองหลัก   หมู่ที่ 9 ตำบลตะเคียนปม  อำเภอทุ่งหัวช้าง

       ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ     บ้านแม่ป้อก  ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้

ลักษณะภูมิประเทศ

         ลักษณะภูมิประเทศของหมู่บ้านไม้ตะเคียน ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขาสลับล้อมรอบอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนลี้ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง มีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูกประมาณ ๑/๔ ของพื้นที่ทั้งหมด ตลอดสองฝั่งของลำน้ำที่ไหลผ่าน ชุมชนแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่เรียงรายสองฝั่งของลำน้ำ แม่น้ำแม่หาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำในการทำเกษตรของประชาชน

ลักษณะการประกอบอาชีพของชุมชน

     อาชีพของประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตร การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การปลูกมันฝรั่ง ปลูกหอมแดง/กระเทียม การทำสวนลำไย และอุตสาหกรรมครัวเรือน การทอผ้าไหมยกดอก ทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ และรับจ้างทั่วไปแรงงานในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ การอพยพแรงงานบางส่วนจากแรงงานชนบทเข้าสู่เมือง การรับจ้างเป็นรายเดือนกับรายวัน การรับจ้างส่วนใหญ่ทำการเกี่ยวกับการก่อสร้างในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น