แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น

ตลาดโพนางดำ-ตลาด 100 ปี

ตลาดโพนางดำตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านโพนางดำ ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นตลาดของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีบรรพบุรุษเป็นคนจีนโพ้นทะเลเชื้อสายแต้จิ๋วที่อพยพมาจากเมืองซัวเถา ประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ชาวจีนโพ้นทะเลเมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยส่วนหนึ่งเลือกตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่างจังหวัด ตลาดโพนางดำเป็นอีกหนึ่งสถานที่ในการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนอพยพเหล่านั้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากมาและค้าขายอยู่ที่ตลาดโพนางดำมากกว่า 100 ปี มีดังนี้

ชาวจีนโพ้นทะเล คือ ชาวจีนผู้อพยพออกนอกประเทศจีนเพื่อหนีภัยสงครามและความ อดอยาก กระจัดกระจายไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาค ในช่วงปี พ.ศ.2455 หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชวงศ์เป็นระบอบสาธารณรัฐจีน และแผ่นดินจีนก็เข้าสู่ความวุ่นวายและนองเลือดที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นนอกจากความอดอยากแล้วความไม่สงบในประเทศจีนก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการอพยพของ ชาวจีนเข้าสู่ประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะอพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีเมืองซัวเถาเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลจึงมีการตั้งท่าเรือซัวเถาเพื่ออำนวยความสะดวกและขนส่งสินค้า ดังนั้นท่าเรือซัวเถาจึงเป็นสถานที่ในการลงเรือสำเภาของชาวจีนในการเดินทางอพยพไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ชาวจีนนิยมอพยพมาอาศัย และทำการค้าเพราะประเทศจีนและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ในด้านการติดต่อค้าขายกันมาโดยตลอดที่สำคัญประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความสมบูรณ์และเป็นสังคมที่เปิดกว้างไม่มีนโยบายในการกีดกันชาวจีนเหมือนกับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศอื่นๆ รวมถึงความเชื่อและศาสนาที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของชาวจีนในการอพยพมาตั้งหลักปักฐาน เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทยชาวจีนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการค้าขายขณะที่คนไทยนิยมทำงานรับราชการและเป็นเกษตรกรทำให้คนจีนผูกขาดอาชีพค้าขายในยุคนั้นแทบทั้งหมด ชาวจีนที่อพยพเข้ามาได้ผสมกลมกลืนไปกับความเป็นไทยด้วยการแต่งงานกับชาวไทย ทำให้ลูกหลานคนจีนตั้งแต่รุ่นที่ 2-3 เป็นต้นมาสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วและพูดภาษาจีนได้น้อยมากหรือไม่สามารถพูดได้เลย

ตามที่ตลาดโพนางดำ มีที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีประชากรปลูกสร้างบ้านเรือนติดกันค่อนข้างหนาแน่นพอสมควรตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้การคมนาคมสมัยนั้นเป็นการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก การค้าขายจึงเป็นการค้าขายทางน้ำใช้เรือเป็นพาหนะสำคัญในการซื้อขายและขนส่งสินค้า ส่งผลให้ตลาดโพนางดำในอดีตเป็นตลาดการค้าที่เจริญรุ่งเรืองเนื่องจากเป็นเมืองท่าขนาดเล็กในชุมชนชนบท มีคลองและมีท่าเรือสำหรับการขนส่งสินค้าไปขายยังเมืองสรรคบุรี และจากเมืองสรรคบุรีมายังเมืองอินทร์บุรี รูปแบบของตลาดเป็นบ้านเรือนที่ปลูกสร้างเป็นห้องแถวและเปิดเป็นร้านขายสินค้าทั้งด้านซ้ายและด้านขวาที่ทอดยาวไล่เรียงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หัวตลาดซึ่งเป็นด้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำไปยังท้ายตลาด ร้านค้าแต่เดิมเป็นร้านทอง ร้านขายยา ร้านขายขนม ร้ายขายของชำ โรงเลื่อย โรงไม้ โรงหนัง และร้านขายอุปกรณ์ประมง บริเวณตรงกลางเป็นตลาดสดที่ขายของกิน ของใช้ และของประดับตกแต่งบ้าน เป็นต้น บริเวณด้านหน้าตลาดที่ติดกับแม่น้ำจะเป็นแพเติมน้ำมันและเป็นสถานที่ขายสินค้าต่างๆ ส่วนภายในตลาดมีโรงฝิ่น โรงยาสูบ และโรงสีไฟขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงสีข้าวแห่งแรกของชุมชน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าโตมาก็เห็นโรงสีข้าวตั้งอยู่แล้ว

สินค้าที่มีชื่อเสียงและมีการซื้อขายในตลาดโพนางดำมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เช่น ขนมหน้างา กุยหลี ขนมโบราณ 100 ปี ของดีจังหวัดชัยนาท ซึ่งหากผ่านหรือแวะมาจังหวัดชัยนาทต้องไม่พลาดที่จะหาซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเพราะเป็นขนมหนึ่งเดียวของจังหวัดชัยนาทที่มีรสชาติอร่อยและมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร อีกหนึ่งร้านที่มีชื่อเสียงคือ ร้านขายแหนายเฮ้า ที่ชาวประมงทั่วประเทศหาซื้อ เพราะเมื่อใช้แหจากร้านนี้จับปลาแหจะบานกว้างและหุบเร็วจึงทำให้จับปลาได้มากกว่าแหจากที่อื่น

จากความเจริญของตลาดโพนางดำที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2515 เมื่อมีการตัดถนนผ่านบริเวณชุมชนตลาดโพนางดำจึงให้การคมนาคมทางเรือเริ่มซบเซาลงการคมนาคมทางบกเจริญขึ้นประชากรมีความสะดวกในการเดินทาง ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีบ้านเรือนที่เปิดเป็นร้านค้าในตลาดโพนางดำได้ปิดบ้านและร้านค้าเพื่ออพยพโยกย้ายจากชนบทไปอยู่ในเมือง และเจ้าของบ้านไม่ได้มีการขายบ้านให้กับชาวบ้านที่ยังคงอยู่ในตลาดที่ประสงค์จะซื้อเพื่อทำประโยชน์หรือเปิดเป็นร้านค้าต่อจากเจ้าของเดิม ในปัจจุบันจึงมีร้านค้าเหลือเปิดค้าขายประมาณ 20 กว่ารายส่งผลให้ตลาดโพนางดำทรุดโทรมและมีบรรยากาศที่เงียบเหงา