อาชีพท้องถิ่น

(การปลูกผักปลอดสารพิษ)

กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์ (ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษของเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์) นำโดย นายนิคม ชูเมือง ประธานกลุ่มฯ ได้รับการเสนอ และส่งเสริมการปลูกผัก จากเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท สำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยา เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2546 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20 ราย ปี 2555 ทางกลุ่มได้ทำการปลูกผักกางมุ้ง จากการสนับสนุนของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (ระบบโรงเรือนปิด) ในปี พ.ศ.2555 เทศบาลตำบลผู้พิทักษ์ ได้รับมุ้งมาจำนวน 21 หลัง โดยแจกจ่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 14 ราย และปี พ.ศ.2556 ได้รับมุ้งมาเพิ่มอีก 18 หลัง มีเกษตรกรเข้าร่วมอีก 14 ราย รวมทั้งหมด 39 หลัง พร้อมทั้งเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้ ตลอดเวลาทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท และสำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยา ได้ร่วมหารือกับกลุ่ม เพื่อวางแผนการผลิต และการจัดหาตลาดอย่างครบวงจร โดยเชื่อมโยงระบบตลาดกับบริษัทยิ่งเจริญ product ในการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 4,000-5000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงกับผู้ปลูกโดยตรงกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักหลากหลาย โดยหาแหล่งจำหน่ายในพื้นที่เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลโพนางดำตก โรงพยาบาลสรรพยา หน่วยงานราชการต่างๆ ของอำเภอสรรพยา

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้มีหน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานมากมาย และทางกลุ่มฯ ได้เปิดศูนย์เรียนรู้การผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์และตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ณ บ้านเลขที่ 349 หมู่ 2 ตำบลโพนางดำตก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และกศน.อำเภอสรรพยา ได้เปิดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หลักสูตรการปลูกผักปลอดสารพิษ ในอนาคตสำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยา จะเปิดโรงเรียนผัก ให้กับเกษตรกรทั่วไปได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว ณ ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษของเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์

การจัดสัดส่วนในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษของเทศบาลตำบลโพธิ์พิทักษ์ ดังนี้

1. ศูนย์เรียนรู้ และ ฝึกอบรม

2. โรงคัดผัก

3. แปลงสาธิตการปลูกผักสลัดแบบยกแคร่ และแปลงบนดิน

4. แปลงสาธิตการปลูกเมล่อน

5. พื้นที่การผลิตน้ำหมัก พ.ด.2 น้ำหมักสมุนไพร ปุ๋ยหมัก(พัฒนาที่ดิน)

6. แหล่งเรียนรู้ของ กอ.รมน. และ กศน.อำเภอสรรพยา

7. แปลงสาธิตการปลูกผักในมุ้ง/นอกมุ้ง

8. พื้นที่การเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนเรื่องไฟฟ้า

9. แปลงสาธิตการปลูกส้มโอแบบผสมผสานในแปลง

10. พื้นที่การเรียนรู้เติมน้ำในบ่อพักด้วยชุดพลังงานแสงอาทิตย์ และการเลี้ยงปลา

11. พื้นที่การเรียนรู้การผลิตสารชีวภาพ เช่น ไตรโคเดอร์ม่า บิวเวอร์เรีย เพื่อใช้ในแปลงปลูกผัก