ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
งานงิ้วประจำปี ตลาดโพนางดำ
ชุมชนบ้านโพนางดำเสน่ห์สองวัฒนธรรมและวิถีชุมชนไทย-จีน
ชุมชนบ้านโพนางดำเป็นชุมชนที่มีความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมจีน คือ ระหว่างคนไทยที่ตั้งถิ่นอยู่แต่เดิมกับคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพเดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตลาดโพนางดำมากว่า 100 ปี จนกลายเป็นชุมชนเก่าแก่อีกทั้งได้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนโพนางดำ ความว่า
ชุมชนบ้านโพนางดำเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่อดีตโดยมีหลักฐานปรากฏในนิราศนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งเสด็จทางชลมารคในปี พ.ศ.2201 จากกรุงศรีอยุธยามายังเมืองนครสวรรค์ซึ่งในช่วงหนึ่งได้ปรากฏชื่อของชุมชนโพแม่นางดำในนิราศดังกล่าว เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จมาถึงเมืองอินทร์บุรีขบวนเรือเสด็จได้มาถึงวัดทะยาน ได้หยุดพักเพื่อสักการะพระพุทธรูปที่อุโบสถในช่วงเวลาเย็นใกล้ค่ำ และได้เดินทางออกจากวัดทะยานในช่วงเวลาค่ำที่พระจันทร์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าแล้ว ในช่วงนี้เองที่นิราศได้ระบุถึงชุมชนบ้านโพแม่นางดำ
แสงแขไขแข่งขึ้น เวหา
จรจากทะยานไคลคลา แล่นล้ำ
โดยเสด็จท้องมรรคา ลุล่ง แดนนา
โพแม่นางดำน้ำ คล่าวคล้ายคลองสินธุ์ฯ
ยามสูรอรุโณทแผ้ว แสงฉาย
ยอดยุคุนธรพลาย แพร่งไซร้
ถึงสรรพยาหลาย พรรณสิ่ง ยานา
ยาจงมายาให้ ส่างเศร้าเสวยรมย์ฯ
ปัจจุบัน “วัดทะยาน” ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อปรากฏอยู่ในนิราศนครสวรรค์ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกขานเป็น “วัดไทร” อยู่ในเขตติดต่อระหว่างอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กับจังหวัดชัยนาท ซึ่งใกล้กับชุมชนโพ แม่นางดำ
ต่อมาในสมัยที่มีคนจีนอพยพเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมามีคนจีนโพ้นทะเลจำนวนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่ชุมชนบ้านโพนางดำและได้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างคน 2 เชื้อชาติ ดังจะเห็นได้จากการสร้างบ้านเรือนของชุมชนที่ตลาดโพนางดำมีลักษณะเป็นห้องแถว 2 ชั้น ประเพณีก็มีทั้งประเพณีจีนและประเพณีไทย ทั้งนี้ประเพณีไทยได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา เช่น งานแห่เทียนพรรษา งานทำบุญหลวงปู่หิน และตักบาตรข้าวสาร ส่วนประเพณีจีนได้แก่ งานงิ้วไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ (ปุงเถ่ากงม่า) ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี และประเพณีแห่มังกร โดยหลวงปู่หินซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านชุมชนโพนางดำ และศาลปุงเถ่ากงม่า ถูกสร้างอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันเพื่อให้ทั้งคนไทยพุทธและ คนไทยเชื้อสายจีนได้สักการบูชาตามความเชื่อของตนเอง โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเกี่ยวกับหลวงปู่หิน และปุงเถ่ากงม่า ความว่า
หลวงปู่หินศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคาพบูชาของชาวบ้านในชุมชนบ้านโพนางดำและชาวบ้าน บางตาฉ่ำ เป็นก้อนหินคล้ายศิลาแลงแต่เดิมเป็นก้อนหินอยู่บริเวณชายตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนกระทั่งมีชาวประมงหาปลาพบก้อนหินนี้แล้วจึงนำใส่เรือเพื่อไปทุบทำเป็นหินถ่วงอุปกรณ์หาปลาเพราะผิวโดยรอบมีลักษณะคล้ายปะการัง แต่เช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าก้อนหินได้กลับมาอยู่ ณ จุดเดิมจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงความศักดิ์สิทธิ์ ต่อมามีชาวบ้านคนหนึ่งได้เล่าว่าหลวงปู่หินได้เข้าฝันมาบอกว่าร้อนต้องการขึ้นมาอยู่ด้านบนชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงได้ช่วยกันยกหินขึ้นมาไว้ที่ใต้ต้นกอไผ่และเริ่มมีผู้คนมากราบไหว้ด้วยพวงมาลัยเพื่อขอให้ประสบความสำเร็จจากนั้นเมื่อมีผู้มาสักการะอย่างต่อเนื่องเจ้าของโรงสีในตลาดโพนางดำและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างเพิงพักให้หลวงปู่หิน สิ่งของที่ชาวบ้านนำมากราบสักการะหลวงปู่หิน คือ พวงมาลัย ทองคำเปลว และลิเก ชาวบ้านจึงจัดงานประจำปีเพื่อสักการะหลวงปู่หินขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน
ศาลปุงเถ่ากงม่า ได้มีผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของศาลว่าตั้งแต่เกิดมาก็เห็นศาลเจ้าตั้งอยู่แล้วจึงสันนิษฐานได้ว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยไม่สามารถระบุปีที่สร้างได้แต่เมื่อนับอายุของศาลเจ้าคาดว่ามีอายุกว่า 100 ปี แต่เดิมศาลเจ้าเป็นเรือนไม้ทรงไทยตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ต่อมาจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน โดยด้านหลังอยู่ติดกับโรงสีเก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชน ด้านในศาลเจ้ามีกระถางธูปเป็นเหมือนตัวแทนของเทพเจ้าที่ให้คนในชุมชนทั้งชาวจีนและชาวไทยได้กราบไหว้บูชา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2502 ได้มีการปรับปรุงศาลเจ้าจากเรือนไม้ทรงไทยเป็นแบบปูนดังที่เห็นในปัจจุบัน ในทุกปีมีงานเทศกาลงิ้วเพื่อเป็นการอัญเชิญเทพเจ้ามาสถิต ณ กลางตลาดโพนางดำ มีมหรสพงิ้วเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวตลาดโพนางดำและชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงได้กราบไหว้สักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล และในทุก 12 ปี จะมีการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่โดยมีการจัดงานแห่อัญเชิญปุงเถ่ากงม่าไปรอบชุมชน เพื่อให้ลูกหลานและชาวชุมชนได้ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
ศาลปุงเถ่ากงม่าที่คนในชุมชนโพนางดำและใกล้เคียงทั้งชาวจีนและชาวไทยกราบไหว้บูชา
(ที่มาของภาพ: คณะผู้วิจัย)
ครั้นเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชื่อโพแม่นางดำถูกเรียกเพี้ยนเสียงเป็น “โพนนางดำ” และได้มีการแบ่งเขตการปกครองพื้นที่โดยเอากลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตัวระบุเส้นแบ่งเขตจึงเกิดเป็น 2 ชุมชน คือ “โพนนางดำออก” และ “โพนนางดำตก” ต่อมาได้ถูกเพี้ยนเสียงเป็น “โพนางดำตก” มาจนถึงปัจจุบัน