มุทิตาจิต

พระไพศาล วิสาโล

มุทิตาจิตแด่อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง

อาจารย์ผ่องเป็นศิลปินชั้นครูคนแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักมักคุ้น แถมคุ้นเคยตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอายุแค่ ๒๐ ต้น ๆ เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย อันที่จริงแวดวงที่ข้าพเจ้าทำงานหรือเกี่ยวข้องด้วยในตอนนั้นห่างไกลจากวงการศิลปะมาก เนื่องจากตอนนั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาหลายปี และภายหลังมาทำงานช่วยเหลือเด็กขาดอาหารในชนบท แต่บังเอิญข้าพเจ้ามีเพื่อนหลายคนอยู่ในกลุ่มพุทธไทยปริทัศน์ เช่น วีระ สมบูรณ์ สง่า ลือชาพัฒนพร และนาคร อริยะวิชา

พุทธไทยปริทัศน์เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมหลากหลายเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย มุ่งเป็นสื่อกลางให้คนหนุ่มสาวเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนาและความเป็นไทย นอกจากจัดสัมมนาและการอภิปรายแล้ว ยังจัดทัศนศึกษาพาคนไปเยือนเมืองเก่า เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และอยุธยา เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้เองเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้รู้จักอาจารย์ผ่อง ซึ่งตอนนั้นยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีความเชี่ยวชาญจัดเจนด้านศิลปะไทย เป็นที่เคารพนับถือของเพื่อน ๆ ข้าพเจ้าในกลุ่มนี้ จึงได้รับเชิญให้มาร่วมและช่วยงานของพุทธไทยปริทัศน์อยู่เนือง ๆ

แม้เป็นอาจารย์และอาวุโสกว่าพวกเรามาก แถมมีความรู้ลึกซึ้ง แต่อาจารย์ผ่องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนกับพวกเรามาก ทั้ง ๆ ที่บางคนยังเป็นนักศึกษาอยู่ ในขณะที่ศิลปินรุ่นน้องและศิษย์บางคนของอาจารย์คุยโวโอ้อวดในความเก่งกล้าของตน แต่อาจารย์ผ่องกลับเก็บงำความสามารถของตนไว้อย่างนิ่งสงบ ต่อเมื่อมีผู้ไต่ถาม ท่านจึงบอกเล่าอย่างเรียบ ๆ

ในยุคนั้นศิลปินไม่จำต้องไส้แห้งแล้ว เนื่องจากผู้คนเริ่มเห็นค่าของงานศิลปะ มีการซื้อและสะสมงานเขียนของศิลปินทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่กันมากขึ้น ดังนั้นหากใครมีความสามารถ เงินทองและชื่อเสียงก็หลั่งไหลมาได้ไม่ยาก แต่อาจารย์ผ่องไม่คิดที่จะเอาดีเอาเด่นทางนี้ ท่านยังเชื่อมั่นในอุดมคติของช่างโบราณ (ดังท่านมักเรียกตัวเองว่าเป็น “ช่าง” มากกว่า “ศิลปิน”) จึงไม่คิดแสวงหาความร่ำรวย พอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย เพื่ออุทิศตนให้แก่งานศิลปะ(หรือ “งานช่าง”)

ก่อนหรือหลังจากข้าพเจ้าบวชไม่นาน ได้ทราบว่าอาจารย์ผ่องลาออกจากราชการ ละทิ้งกรุงเทพ ฯ และความเป็นอาจารย์ ไปใช้ชีวิตที่ขอนแก่น หันไปศึกษาศิลปะท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านอย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน ภายหลังก็วางมือจากงานพัฒนา มาทำการเกษตร จากผู้อำนวยการองค์กรมาเป็นเกษตรกร

ช่วงที่อยู่ขอนแก่น อาจารย์ได้มาเยือนวัดป่าสุคะโตที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่เป็นครั้งคราว จำได้ว่าก่อนสงกรานต์ ปี ๒๕๒๗ อาจารย์ได้นำพระพุทธรูปสีขาวพระพักตร์งามมาถวายให้วัด ประทับเด่นเป็นประธานในศาลาอยู่ร่วมยี่สิบปี ก่อนจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่กว่ามาเป็นประธานแทน บางคราวข้าพเจ้าก็ไปพบอาจารย์ที่ขอนแก่น ส่วนใหญ่ในงานสัมมนา ซึ่งก็มักมีสุนทรี ภรรยาของอาจารย์อยู่ด้วย

อาจารย์ผ่องเป็นผู้มีทักษะและความลุ่มลึกในทางศิลปะ ข้าพเจ้าจึงดีใจที่ในเวลาต่อมาอาจารย์ได้มาสอนคนรุ่นใหม่ที่สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ที่มากไปกว่าการใช้ชีวิตไปตามกระแสสังคม ที่นี่อาจารย์ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการนำศิลปะมาเป็นสื่อเพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์และเพิ่มพูนความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ นี้เป็นมิติอันทรงคุณค่าของศิลปะที่ขาดหายไปในการเรียนการสอนทุกระดับการศึกษาของไทย อีกทั้งเป็นมิติที่ถูกละเลยไปในมโนสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่

ข้าพเจ้าโชคดีที่เคยเป็นศิษย์ด้านศิลปะของอาจารย์ผ่องอยู่บ้างในช่วงสั้น ๆ แต่ความที่ไม่มีหัวและวิริยะในด้านนี้ จึงต้องเลิกราวางมือไปในที่สุด จะเรียกว่าเอาดีทางนี้ไม่ได้ ก็เห็นจะได้ แต่ก็ยังมีความสุขและอยากได้ยินเสียงเนิบ ๆ ของอาจารย์เล่าเรื่องศิลปะเหมือนเมื่อครั้งที่อาตมาเพิ่งจบใหม่ ๆ เชื่อว่านักศึกษาและหนุ่มสาวของอาศรมศิลป์ทุกวันนี้คงมีความรู้สึกอย่างเดียวกับข้าพเจ้า

อาจารย์ผ่องวันนี้ แม้จะมีกำลังวังชาลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับอาจารย์ผ่องที่ข้าพเจ้าแรกรู้จักเมื่อเกือบ ๔๐ ปีทีแล้ว แต่แรงบันดาลใจในทางศิลปะของท่านไม่ได้น้อยลงเลย แถมมีความลุ่มลึกกว่าเดิม ในโอกาสที่อาจารย์ผ่องมีอายุครบ ๖ รอบ ขอแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์ และขออวยพรให้อาจารย์มีพลานามัย ไร้อุปัทวภัย มีสุขแห่งสุนทรียารมณ์และความซาบซึ้งในธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้

อาจารย์ ชิน ประสงค์

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

สุพจน์ คุณานุคุณ (สิตฐ์)

งานสร้างแรงบันดาลใจ

2539 ภาพชีวิตในเรือหมายเลข 7 เข้ามามีบทบาทในชีวิตการเรียนรู้ของผมโดย”บังเอิญ” จากหนังสือศิลปกรรมแห่งชาติ ผมเปิดดูผลงานของศิลปินหลายๆท่าน แต่ภาพนี้ผมต้องย้อนกลับมาดูอีกครั้ง สายตาที่เลื่อนตามลงมาคือ ใต้ภาพเขียน ชื่อ ผ่อง เซ่งกิ่ง เป็นผลงานที่ได้เหรียญเงินศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อปี 2520 ผมใช้สายตาและควารู้ที่มีไม่มากนัก นั่งวิเคราะห์ว่าทำไมถึงชอบภาพนี้ คำตอบในใจคือความเรียบง่ายของเส้น สี น้ำหนักและเรื่องราวที่สื่อสารออกมา ไม่ได้ซับซ้อน แต่ลึกซึ้ง นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรู้จักเพียงฝ่ายเดียว

วันเวลาผ่านไปหลายปี ณ เวลานั้นผมได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมศิลปะ ร.ร.รุ่งอรุณ จากการประชุมกันว่าศิลปินที่เราจะเชิญมาแสดงงานดลใจคือ อาจารย์ผ่อง ผมกับคิดว่า”บังเอิญจังเลย”ที่ได้พบศิลปินผู้สร้างงานที่เราชื่นชอบ และอีกไม่นานเราก็ได้เชิญอาจารย์มาเป็นผู้นำจิตวิญญาณในทีมศิลปะ นั้นคือจุดเดินทางของผมสู่เส้นทางพื้นดินสอพองเม็ดมะขาม

กว่าจะมาถึงวันนี้

ช่วงเวลาที่ผมได้อยู่ ในอาชีพครูศิลปะรร.รุ่งอรุณนั้น เป็นการเรียนรู้และใกล้ชิดกับอาจารย์ จะทำการงานใดก็จะมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา ได้เรียนรู้วิธีคิดในมุมมองศิลปะ และเริ่มต้นเรียนรู้การทำพื้นดินสอพองเม็ดมะขาม แต่กระนั้นผมก็ยังมีเทคนิคแบบอื่นในการสร้างงานที่ติดมาจากการเรียนในรั้วมหาลัย เช่นการปูด้วยกระดาษสา(ผิวก็เรียบเนียนไม่ต่างกัน)และสีอคริลิค ทำให้ผมยังไม่เข้าใจหัวใจของการทำงานเทคนิคที่อาจารย์ผ่องได้ถ่ายทอดเท่าที่ควร “จึงได้แค่รู้ แต่ไม่เข้าถึง”

2555 เดินทางโบยบินนอกรั้วรุ่งอรุณ เพื่อเรียนต่อป.โทและรับงานด้วยตนเอง แต่สิ่งที่ผมยังได้รับและไม่เปลี่ยนแปลงจากอาจารย์นั้นคือ เป็นผู้ชี้แนะ เมื่อเกิดติดขัดสงสัย อาจารย์จะเป็นผู้ไขปัญหานั้นให้เกิดความกระจ่างแก่ผมเสมอมา แม้แต่การทำหนังสือและมีโครงการใดๆก็ตาม เช่นการทำหนังสือร่วมกับคุณสง่า ลือชาพัฒนพร ก็จะต้องมีอาจารย์ผ่องเป็นที่ปรึกษาและยิ่งดีเลิศไปกว่านั้น ได้ลงพื้นที่จริงร่วมกันเช่น น่าน อินเดีย(อชันตา ออรอร่า)เป็นต้น เรียกว่าต้องใช้ชีวิตในการเดินทางด้วยกัน ยิ่งทำให้ผมเห็นถึงคลังความรู้ พลังความสามารถในงานศิลปะที่ลึกซึ้งและที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ “ความเป็นครู”

จุดเปลี่ยนหนึ่ง พบทางที่ชอบและมีความสุข มันก็เป็นเรื่องแปลก เวลาที่อยู่ใกล้เรากับไม่ค่อยเห็น แต่พอเราออกห่าง สิ่งนั้นกลับมาเป็นเรื่องราวให้นึกถึง ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานต่างประเทศ13เดือน การอยู่ร่วมกันของคนย่อมสร้าง ความวุ่นวาย ความไม่เคยชิน ความไม่พอใจและความเหงาที่เข้ามากระทบ การวาดภาพจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งของผมที่จะขีดเขียนแต้มสีให้เป็นเครื่องอยู่ เรียนรู้ฝึกการอยู่กับปัจจุบัน พื้นดินสอพองเม็ดมะขามจึงน่าจะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เราได้อยู่กับปัจุบันอย่างมีสมาธิ โดยมีอาจารย์ผ่องเป็นผู้สอนเทคนิคใหม่ คือการสร้างพื้นแบบภาพพระบฎ และเฟรมเล็กๆที่เตรียมพร้อมเวลาเหงาก่อนการเดินทาง เราได้มีเวลานิ่งๆที่ค่อยๆเรียนรู้การวาดบนพื้นดินสอพองเม็ดมะขามอย่างจริงจัง (อย่างจริงจัง)โดยใช้กาแฟเป็นตัวสร้างให้เกิดภาพ ใจผมที่นิ่งพื้นผิวภาพเนียน ขีดเขียนแบบค่อยเป็นค่อยไป มนตร์เสน่ห์ของผิว สร้างพลังให้ผู้ชายคนนี้หลงชอบและมีความสุข จากชิ้นนั้นเป็นชิ้นแรกที่เข้าใจความพิเศษของเทคนิคที่อ.ผ่อง บอกเราเสมอมา จนมาวันนี้ ผมได้เดินตามรอยอาจารย์ เขียนอีกหลายชิ้นงาน( เริ่มเข้าใจว่าทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ)และบอกกับตนเองว่าผมจะเลือกแล้วในเส้นทางนี้ การลงมือทำนั้น ยิ่งทำ ยิ่งได้ (ได้เรียนรู้ความพอดีและความละเอียดอ่อนของกระบวนการ)ยิ่งทำ ยิ่งเข้าใจ(เข้าใจและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาของครูช่าง)ยิ่งทำ ยิ่งก่อเกิดความสุข (สุขที่ได้ทำในทุกขั้นตอนด้วยตนเองและใจที่เปิดรับอย่างไม่มีข้อแม้) ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น ผมบอกกับตนเองเสมอว่า หลงรักในเทคนิคครูและจะทำเทคนิคพื้นดินสอพองตลอดไป สุดท้ายผมเชื่อว่า จากวันแรกที่รู้จักอาจารย์ผ่องจากภาพวาด จนถึงวันนี้ ผมได้มาเดินตามรอยครูที่ชื่อ" อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง" นั้นเป็นพรที่ยิ่งใหญ่ ขอบพระคุณอาจารย์ที่ป็นผู้ให้กับผมเสมอมา ผมนั้นจะเป็นคนหนึ่งที่จะสืบสาน สืบทอดมรดกนี้ต่อไป

สุพจน์ คุณานุคุณ (สิตฐ์)

รศ.ประภาภัทร นิยม

อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์

ข้อความแสดงมุทิตาจิตต่อ อาจารย์ผ่องเซ่งกิ่ง เนื่องในโอกาสอายุครบ ๖ รอบ (๗๒ ปี) กรกฎาคม ๒๕๖๒

เรื่องที่พาให้ข้าพเจ้าได้มารู้จักกับอาจารย์ผ่อง ใน 20 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องพุทธศิลป์ เนื่องด้วยโรงเรียนรุ่งอรุณปรารถนาจะเห็นเด็กยุคปัจจุบันได้รู้จักคุณค่าและสุนทรียภาพอันประณีตงดงามแห่งพุทธศิลป์ เพื่อเป็นเครื่องน้อมนำจิตใจให้อ่อนโยนและสามารถเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตตนเองได้ เป็นความโชคดีและเป็นบุญของพวกเราชาวรุ่งอรุณ(และอาศรมศิลป์ในเวลาต่อมา) ที่ได้พบครูอาจารย์ ผู้ซึ่งไม่เพียงมีความสามารถในการสาธยายความเป็นมา ที่ลึกซึ้งของ ศิลปินผู้รังสรรค์พุทธศิลป์ ตลอดจนวิเคราะห์ แจกแจงถึงความหมายและเนื้อในของชิ้นงานหนึ่งๆ ที่ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมอันเป็นรากฐาน ความเชื่อของชุมชนไทยในบริบทต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสังคมนั้นๆ ให้เกิดความกลมเกลียว สมัครสมานเป็นเครือญาติ และการดูแลซึ่งกัสนและกันมาช้านาน เท่านั้น หากแต่ท่านยังเป็นปราชญ์ผู้มีความรู้ลึกซึ้งละเอียดอ่อนในการสร้างงานศิลปไทย และสามารถสืบทอดเทคนิคการสร้างชิ้นงานศิลปะอันประณีตบรรจงได้อย่างโดดเด่น เช่นการเตรียมผืนผ้าใบ ด้วยเทคนิควิธีรองพื้นด้วยเม็ดมะขามดินสอพอง ซึ่งให้พื้นผิวที่เนียนและเก็บเส้นสีจากพู่กันได้ละเอียดคมชัดที่สุด

จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านได้รับการมอบหมายให้เป็นศิลปินซ่อมงานกิจกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามดำริของพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารรี อันเป็นเกียรติยศ แก่ท่านอย่างยิ่ง

อีกทั้งกิจวัตร และวิถีชีวิตที่ท่านดำเนินและปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ เริ่มตั้งแต่เป็นผู้อยู่อย่างพอเพียง พอใจและเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆรอบตัว เห็นคุณค่าของผู้อื่น จึงเป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ศิษย์ทั้งหลาย และอีกนานัปการ ดังเช่น ท่านมีความเมตตาต่อทุกคนอย่างเสมอหน้ากันไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดสอนวิชาต่างๆอย่างหมดจดถึงที่สุดเสมอ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ท่านเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา น้อมใจปฏิบัติและเรียนรู้เพื่ออยู่เย็นเป็นสุขไม่เพียงเฉพาะตนเองแต่กับคนรอบข้างก็พลอยเป็นสุขไปด้วย แม้เมื่อระลึกถึงท่านในขณะที่เขียนนี้ ก็ยังรู้สึกสุขได้ อาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นคนธรรมดา ที่น่านับถือเป็นปูชนียบุคคล คือบุคคลอันควรบูชาอย่างยิ่ง

ดังนั้นในโอกาสแห่งมงคลวาร ครบรอบอายุ ๗๒ ปีของท่านในปีนี้ข้าพเจ้าจึงขอน้อมนำคุณพระศรีรัตนไตร จงโปรดดลบันดาลปกป้องคุ้มครองให้อาจารย์ผ่องปลอดภัยจากโรคาพญาธิต่างๆ มีชีวิตอันเป็นสุขสวัสดิ์พิพัทธมงคล เป็นมิ่งขวัญแก่ศิษยานุศิษย์ และเป็นครูผู้มีคุณเอนกอนันต์แก่แผ่นดินไทยสืบไปชั่วกาลนาน

ธีรพล นิยม

รองอธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์

สุจินดา ขจรรุ่งศิลป์

รองอธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์

อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง อาจารย์ผู้ชำนาญการทางจริยศิลป์ ผู้เป็นอาจารย์อาวุโส ของสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นเวลาแปดปีที่ได้เป็นผู้ร่วมงานของท่านอาจารย์ สัมผัสได้ว่าอาจารย์เป็นครูแท้ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ถ่ายทอดงานจริยศิลป์ให้กับทุกคน ตั้งแต่ผู้ปกครอง คณาจารย์ นักศึกษา นักเรียน กลุ่มบุคคลต่างๆที่เข้ารับการอบรมจากท่านอาจารย์ อาจารย์ไม่เคยแสดงความเหนื่อยอ่อนในการสอน การถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการเล่ากระบวนการเตรียมและพาทำ ภูมิปัญญาไทยโดยเฉพาะเทคนิคในเรื่องการเตรียมเม็ดมะขาม ผู้ฟังจะสัมผัสได้ถึงความรู้ ความชำนาญ และความซาบซึ้งของท่านที่มีต่อศิลปกรรมไทยนั้นอยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ใน DNA ตัวสำคัญที่เป็นองค์ประกอบในเซลร่างกาย รางวัลและเกียรติประวัติที่ท่านได้รับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคือ

ระหว่าง ปี2518 – 2519

รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง ครั้งที่ 2 ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี โดยมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ

รางวัลที่ 2 เหรียญเงินศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม

รางวัลที่ 2 เหรียญเงินศิลปะร่วมสมัย ของธนาคารศรีนคร

รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง ครั้งที่ 3 ประเภทจิตรกรรมแบบประเพณี โดยมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ

รางวัลที่ 2 เหรียญเงินการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่24

และรางวัล "ต้นธารศิลป์" ประจำปี 2559 จากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 จัดโดย

ประจักษ์ได้ว่าอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง เป็นครูแท้ทางจริยศิลป์

รศ. รอ.ชูวิทย์ สุจฉายา ร.น.

รองอธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์

อาจารย์ผ่องที่พวกเราสามารถสัมผัสได้

“ผ่อง เซ่งกิ่ง” ชื่อที่จำได้ง่ายอีกทั้งพบเห็นก็อาจรู้สึกถึงความเป็นคนเรียบง่าย แต่ทว่าหากเราได้สัมผัส ได้รู้จักเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็จะประจักษ์ว่า บุคคลผู้นี้มิใช่ธรรมดา ในส่วนของความเป็นศิลปินท่านก็มีชนิดที่ว่า มีเฉกเช่นที่ศิลปินเขาพึงมี แต่ในอีกส่วนหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นศิลปินอย่าง ผ่อง เซ่งกิ่ง นั้น เป็นสิ่งที่พานพบได้ไม่ง่ายนัก การส่งต่อความรู้ไปสู่ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ทำด้วยความอ่อนน้อมเมตตา โดยท่านอาจารย์มิได้ต้องลดหย่อนความมีตัวตนและเชื่อมั่นในตนเองลงไปแต่อย่างใด สิ่งที่พวกเราเห็นเป็นจุดเด่นและน่าประทับใจยิ่งในการทำงานร่วมกันก็คือ ความรู้ซึ้งถึงท้องถิ่นอย่างรอบด้าน สถานการณ์การเสพย์ศิลปะของผู้คน ความแยบยลชักนำให้ผู้ร่วมงานได้ซึมซับจนสามารถนำศิลปะท้องถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ออกมาประยุกต์ใช้ได้ สิ่งที่สัมผัสได้จากบุคคลผู้นี้จึงมิได้รู้สึกจำกัดอยู่เพียงความเชี่ยวชาญชำนาญงานศิลป์เท่านั้น แต่การนำพาผู้คนรุ่นต่อไปให้เข้าอกเข้าใจจนสามารถดึงเอาลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นออกมาใช้งานได้อย่างเป็นจริงเป็นจังนั้น เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้อย่างมากๆ จากอาจารย์ท่านนี้

สุนิสา ชื่นเจริญสุข

ผู้อำนวยการ โรงเรียนรุ่งอรุณ

ผู้นำจิตวิญญาณครูช่าง

อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ผู้เป็นผู้นำชุมชนบ้านช่าง ของโรงเรียนรุ่งอรุณ ท่านเป็นผู้มีพลังด้านในซึ่งมหัศจรรย์มหาศาล ประสานกับพลังด้านนอกซึ่งประณีตลุ่มลึก ส่งผลให้งานจิตรกรรมไทย โดยเฉพาะแนวพุทธศิลป์อันเป็นชีวิตจิตใจของท่าน เมื่อท่านได้นำคุณค่าของจิตรกรรมมาผสานกับรสพระธรรมที่ท่านได้มีศรัทธาเจริญสติอยู่เนืองนิจ จึงเป็นสื่อที่ทรงพลังนำพาให้ศิษย์ของท่านรุ่นต่อรุ่น ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงวัย ครูอาจารย์ ตลอดจนพระสงฆ์องค์เจ้านับไม่ถ้วนได้เข้าถึงคุณค่าของจริยศิลป์ที่ไม่เป็นเพียงการมีทักษะหรือการเสพงานศิลปะ แต่เป็นคุณค่าแห่งการพัฒนาชีวิตจิตใจของผู้เรียน

ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ คนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเรียนรู้จิตใจและเข้าใจธรรมชาติของตนเอง ผ่านเคล็ดวิชาจริยศิลป์ ของท่านบางครั้งท่านใช้คำว่า “จริยศิลป์/ศิลปะสัญจร” ซึ่งเน้นไปในด้านการคัดลอกลวดลายครูจากจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์และศาลา หรือ“ศิลปะสาธารณะกุศล” ซึ่งเน้นทางด้านงานศิลปะพื้นบ้านซึ่งทำให้เกิดพลังสามัคคีและพลังศรัทธาซึ่งเป็นการทำแบบ “ลงแขก” ในการทำงานศิลปะเพื่อชุมชนและวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาการทำกิจกรรมจิรยศิลป์นั้น เป็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการทุกองคาพยพของชีวิตหรือที่การศึกษาแบบองค์รวมจะเรียกว่า Head Hand Heart ข้าพเจ้าและคณะนักศึกษาสถาบันอาศรมศิลป์ได้ไปออกภาคสนามกิจกรรมจริยศิลป์ที่วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ท่านได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเกร็ดที่อาจจะไม่มีใครรู้หรือพูดถึงมากนักในด้านความสำคัญและคุณค่าก่อนให้พวกเราลงมือทำงาน “ลอกลายครู” ข้าพเจ้าเลือกลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบเรียบง่ายบนบานหน้าต่าง ข้าพเจ้าเห็นปั๊บก็ตัดสินปุ๊บว่า “ง่ายๆ จดจ่อในการทำงาน ทั้งลบและเขียนใหม่หลายครั้งหลายคราก็ไม่สามารถสร้างสมดุลให้กับลายอย่างที่ตนคิดนึกและพอใจ ลวดลายง่ายๆ นั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ท้อและพยายามต่อไป พลันความเข้าใจบังเกิดขึ้นว่า ไม่มีใครที่จะลอกเลียนฝีมือกันได้ ชิ้นงานที่ปรากฏล้วนเป็นชีวิตจิตใจของบุคคลที่สั่งสมมาเท่าชีวิต ทักษะฝีมือ ภูมิธรรมและภูมิปัญญา อันลึกซึ้งสั่งสมเป็นรากฐานของงานที่ปรากฏ ที่คนรุ่นหลังอย่างเราไม่ควรจะมองเรื่องนี้อย่างฉาบฉวย เปรียบดั่ง “ทัพพีไม่รู้รสแกง” เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมคณะที่ไปได้ทำการสะท้อนการเรียนรู้ ซึ่งหลายคนได้สะท้อนถึงการเรียนรู้ด้านในอย่างลึกซึ้ง ทั้งมีความคล้ายคลึงกับข้าพเจ้าหรือแตกต่างกันไปก็มี จากนั้นมา ข้าพเจ้ามีสำนึกและสายตาในภูมิปัญญาแตกต่างไปจากที่เคย และได้คำว่า “อย่าด่วนตัดสินใคร หรือการกระทำใดๆ อย่างรวดเร็ว” เป็นอนุสติเตือนใจอยู่เสมอ

ในโอกาสที่ท่านเจริญอายุวัฒนมงคล ๖ รอบ ครบ ๗๒ ปี ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวาอารักษ์อันเป็นที่เคารพของท่านได้โปรดอภิบาล ดลบันดาลให้ท่าน เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย สมบูรณ์พูนผล ทุกประการ เป็นผู้นำจิตวิญญาณและเป็นขวัญกำลังใจแก่ศิษย์ตราบเท่านานเทอญ

นางสุนิสา ชื่นเจริญสุข

๑ กรกฏาคม ๒๕๖๒

สุวรรณา ชีวพฤกษ์

ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนรุ่งอรุณ

อาจารย์ผ่องผู้มีสายตาแห่งภูมิรมณีย์

ขอกราบนอบน้อมแด่คุณพระศรีรัตนตรัย ขอกราบนอบน้อมแด่อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง เนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตวันครบรอบอายุ ๗๒ ปี ในกาลนี้ศิษย์ขอกล่าวถึงการได้ระลึกถึงคุณงามความดีจากการเรียนรู้ที่ได้รับจากครูผู้นำเส้นทางให้ศิษย์ผู้นี้ได้พัฒนาสายตาตนเองต่อการมองสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างประณีต ละเอียดลออ มีความรู้-ความเข้าใจ ถึงความเป็นไทในวัฒนธรรมไทย ความหมายทางกายภาพของภูมิสถานที่ส่งผลถึงจิตใจ แสดงถึงความเป็นผู้อยู่อย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อยู่อย่างนอบน้อมเพราะธรรมชาติคือบ้านหลังใหญ่ อยู่อย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม สัมพันธ์กัน ทั้งที่เห็นเป็นสิ่งก่อสร้าง วิถีวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาไทที่ปรากฏ

อาจารย์ผ่องเป็นผู้ให้สายตาในการมองและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่แทรกซึมอยู่ในสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ต่างๆ รอบตัวเรา ที่อาจเปลี่ยนวิธีคิดและจิตใจของผู้อยู่อาศัยได้ถ้าเราไม่เท่าทันและปล่อยให้สิ่งเหล่านี้รุกรานเข้ามา ความเอาใจใส่และมองอย่างรู้ทันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ศิษย์ผู้นี้ได้รับและน้อมเข้ามาในใจตนเองเพื่อการดำรงอยู่ในสติสัมปชัญญะทุกขณะต่อการคิดเรื่องการพัฒนาสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้เป็น “ภูมิรมณีย์” ต่อชุมชนแห่งนี้ ตามรอยปณิธานของผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมต่อการอยู่อย่างนอบน้อมต่อธรรมชาติ ภูมิปัญญาของการเปิดพื้นที่ของตัวอาคารเชื่อมสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอก ขยายพื้นที่การเรียนรู้ทั้งในและนอกอาคาร สถานที่ เปิดสายตา เปิดใจ ผู้เรียนและผู้อยู่อาศัยให้กว้างใหญ่ ไม่คับแคบ อยู่ในที่เฉพาะตน

จริยศิลป์ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ท่านได้นำให้เกิดขึ้นในชุมชนแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ ด้วยการพาทำงานศิลปไทยที่เข้าถึงการเรียนรู้จักใจ การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ การได้มีประสบการณ์กับการทำงานของ ตา-ใจ-มือ ที่สัมพันธ์กัน ใจที่มั่นคง สงบอย่างตั้งมั่น นิ่งอย่างตื่นรู้ ทั้งงานตอกตุง ลอกลาย-ระบายสี ลงบนผืนผ้าที่ฉาบด้วยพื้นสีแป้งดินสอพองและเม็ดมะขาม ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เป็นความรู้ที่เผยแพร่สู่กลุ่มต่างๆ พัฒนาชีวิตภายในของผู้เข้าอบรม และได้นำไปใช้ต่อ ได้แก่ กลุ่มโครงการวัดบันดาลใจ กลุ่มโครงการพัฒนาพระสอนศีลธรรมด้วยกระบวนการของการเรียนรู้แบบใฝ่รู้ (Value-Based Active Learning) หลักสูตรครู ป. บัณฑิต คณะครูและนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ

ในวาระอันเป็นมงคลนี้ ศิษย์ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำได้เป็นพลวัตรปัจจัยให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง สุขภาพใจเบิกบาน เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศิษย์รุ่งอรุณตราบเท่านาน

สุวรรณา ชีวพฤกษ์

ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนรุ่งอรุณ

สกุณี บุญญะบัญชา

รองผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ และที่ปรึกษาระดับประถม

ขอกราบคารวะแด่ท่านอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ผู้เป็นครูของครู และผู้มีคุณูปการต่อสมาชิกชุมชนรุ่งอรุณตลอดมา

สิ่งที่อยู่ในความทรงจำตลอดเวลาไม่เคยเปลี่ยน นับแต่ได้รู้จักอาจารย์มาเกือบ ๒๐ ปี คือความเป็นครูเพื่อศิษย์ของท่านอาจารย์ พวกเราได้เรียน และได้เห็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหา ที่เป็นทั้งครู ผู้ปกครอง และนักเรียนรุ่งอรุณ ด้วยความ ตั้งใจ มุ่งมั่น สม่ำเสมอ ที่จะถ่ายทอดจิตวิญญาณและความงดงามของงานศิลปกรรมไทยตลอดมา จิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อศิษย์ของท่านอาจารย์นี้ไม่เคยเปลี่ยน หรือลดทอนไป ตั้งแต่เริ่มรู้จักอาจารย์ผ่องมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ความเจ็บไข้จะมาเยือนอาจารย์ในบางครั้ง แต่ความมุ่งมั่นต่อการถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามนี้ของอาจารย์ไม่เคยจางหาย

อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์ได้แสดงให้เราทุกคนเห็นตลอดมาคือ ความเป็นผู้ที่เข้าใจ และอ่านโลกได้แยบยล อ่านสถานการณ์ต่างๆ วิเคราะห์ข่าว การบ้านการเมืองให้พวกเราได้รับฟัง และมีหูตากว้างไกลอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ การที่เราได้สัมผัสถึงหัวใจ ของคนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดิน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครใครของอาจารย์

ขอนอบน้อมกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงแด่ท่านอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ปรมาจารย์ครูผู้มีหัวใจเพื่อศิษย์ทุกคน

ครูจิ๋วค่ะ

เปรมปรีติ หาญทนงค์ (ครูปุ๊)

ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม โรงเรียนรุ่งอรุณ

ขอกราบแสดงมุทิตาจิต แด่ ครู "ผ่อง เซ่งกิ่ง" ครูผู้สอนศิษย์ทั้งหลายให้ล่วงรู้ตนเองผ่านลายไทย

เปรมปรีติ หาญทนงค์

โกเมน อ้อชัยภูมิ (ครูเต้ย)

ครูใหญ่ฝ่ายประถม โรงเรียนรุ่งอรุณ

กราบมุทิตาจิต จากศิษย์ครู

ขอเชิดชู เกียรติที่สร้าง งานที่สาน

หนึ่งงานศิลป์ ทุ่มเททำ เป็นต้นธาร

ชูตระการ ศิลป์ไทยให้เด่นงาม

งานสร้างคน ผ่านเส้นสาย ลวดลายศิลป์

ให้ถวิลรู้ รสธรรม ตามคำสอน

รู้ประณีต รู้มานะ รู้ใจคลอน

รู้ถอดถอน รู้อธรรม ที่กำใจ

คารวะ หัวใจครู ผู้รู้โลก

แม้ทุกข์โศก ครูยังยิ้ม เยาะเย้ยหยัน

ศิษย์ได้รู้ หนึ่งจิตกล้า ไม่ประหวั่น

คือจิตมั่น จิตรู้ตัว รู้ชั่วดี

ในวาระ มุทิตา แด่ครูผ่อง

เหล่าศิษย์ผอง ขอพรชัย ดลรักษา

เป็นครูธรรม ครูศิลป์ เพื่อนำพา

อยู่เมตตา เป็นกัลยาณมิตร ศิษย์สืบไป

เรวดี ดุงศรีแก้ว (ครูแอร์)

ครูใหญ่ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

ฉันเป็นคนนึงที่ชอบเรื่องงานศิลปะ แต่ไม่กล้าทำไม่กล้าสร้างงานศิลปะด้วยตนเอง เพราะฉันไม่เคยเข้าใจจริงๆสักครั้งว่าความงามของงานศิลปะอยู่ที่ไหน..... อะไรคือความงามของงานศิลปะ ฉันมิอาจรู้และเข้าใจได้เลยจนกระทั่ง วันหนึ่งฉันได้มีโอกาสไปเรียนวิชาจริยศิลป์ ที่สถาบันอาศรมศิลป์กับอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ที่วัดเทพธิดาราม ซึ่งในวันนั้นเป็นวันที่ฉันได้พบคำตอบที่เปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องงานศิลปะจากเดิม และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของผู้สร้างงานศิลปะคือ การสร้างสรรค์ที่งดงามของงานศิลปะอยู่ที่หัวใจและความสบายใจ ความพอใจ ของผู้ทำต่างหาก ไม่ได้อยู่ที่ความชอบหรือไม่ชอบของผู้ที่ดูงานศิลปะว่าเค้าจะชอบงานของเราหรือไม่ และที่สำคัญอาจารย์ผ่อง ทำให้ฉันรู้ว่าทุกอย่างในชีวิตก็คืองานศิลปะเช่นกัน หลังจากนั้น ฉันก็สอนเด็กๆเสมอว่ารู้สึกอย่างไรตอนสร้างสรรค์งาน และให้เด็กทำด้วยความสบายใจ แล้วงานจะออกมากเป็นในแบบที่สมควรเป็นที่สุด เพียงคำสอนที่อาจารย์ได้บอกให้ฉันเข้าใจความหมายกับสิ่งที่ทำในวันนั้น อาจารย์ได้เข้าไปอยู่ในใจของศิษย์คนนี้และนำคำที่อาจารย์สอนมาใช้ในวิถีชีวิต หรือหากมีช่วงที่หลงลืม อาจารย์ก็ยังคงแนะนำเหมือนเราเป็นลูกหลานเสมอมา จากวันนั้นจนถึงวันนี้คำสอนของอาจารย์ยังคงก้องอยู่ในใจเสมอมาและตลอดไป

ในวาระที่อาจารย์ ผ่อง มีอายุครบ ๗๒ ปี หนูขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยดลบันดาลให้อาจารย์ (คุณตาผ่อง ของเพลงเพลง) มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร เป็นที่พึ่งและเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของหนูและครอบครัวตลอดไป

น้อมกราบอาจารย์ด้วยหัวใจ

เรวดี ดุงศรีแก้ว แอร์

เอกภพ ศรีรักษา (ครูเอก)

ครูดนตรีไทย โรงเรียนรุ่งอรุณ

สมจิตต์ สุวรรณวงศ์

สถาบันอาศรมศิลป์

ณิชานันท์ ชูวิทย์ (แพรว)

ศิษย์เก่า โรงเรียนรุ่งอรุณ

หนูรู้สึกสนุกในการเรียนรู้เทคนิคกาวเม็ดมะขามดินสอพอง เพราะขณะเรียนอาจารย์ก็มีเรื่องต่างๆเล่าให้ฟังเป็นความรู้เพลิดเพลินไปด้วย หนูรู้สึกว่าขั้นตอนการทำงานด้วยเทคนิคนี้น่าสนใจมาก

เพราะเป็นเทคนิคจากธรรมชาติ ได้เห็นขั้นตอนการทำพื้น และที่มาของสีที่ใช้ ทำให้หนูซึ่งปกติแล้วก็ใช้สีอครีลิคเปิดแล้วป้ายเฟรม ได้เห็นที่มาและกระบวนการแบบของไทย อย่างขั้นตอนทำกาวเม็ดมะขามทาผ้าทำพื้น ไปจนถึงการหาสีและบดสี การได้เห็นและลงมือทำในกระบวนการนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของหนูที่เป็นคนใช้วัสดุ และต่องาน หนูได้เข้าใจถึงคุณสมบัติของพื้นผิวและสีชัดเจนขึ้น เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยในการทำงานศิลปะ และได้เรียนลายครู โดยที่อาจารย์ก็ให้อิสระหนูในการให้สีแบบของหนูเอง

การเรียนกับอาจารย์ทำให้หนูรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการทำงานและความรู้ที่อาจารย์เล่าให้ฟังหลากหลายเรื่อง ที่สำคัญคือหนูมีแรงบันดาลใจที่ได้จากการเรียนกับอาจารย์ เป็นแรงบันดาลใจที่ไม่ว่าหนูจะอยู่ที่ไหนมันก็ติดตัวไปกับหนูด้วยเสมอ หนูอยากจะกลับมาเรียนกับอาจารย์อีก หนูขอบคุณอาจารย์ที่เมื่อมีโอกาสไปบรรยายที่ต่างๆอาจารย์ก็ให้โอกาสหนูได้ฟังด้วย ขอบคุณอาจารย์ที่เมตตา สละเวลา และให้อุปกรณ์ในการเรียนรู้กับหนู ทั้งพาให้หนูได้เห็น เล่าให้หนูฟัง และให้หนูเรียนรู้จากการลงมือทำ หนูรู้สึกว่าหนูโชคดีมากๆที่มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ค่ะ

เนื่องในโอกาศครบรอบ72ปี นี้ หนูขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง สดชื่น ขึ้นทุกๆวันนะคะ