รางวัลต้นธารศิลป์

เปิดใจอ.ผ่อง เซ่งกิ่ง ศิลปิน'ต้นธารศิลป์'คนใหม่

ศิลปวัฒนธรรมพราะสืบสานและสืบทอดจิตรกรรมไทยโบราณที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และสอนวิชาว่าด้วยการเข้าใจตัวเองผ่านงานศิลปะที่สถาบันอาศรมศิลป์ มีลูกศิษย์ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์ ส่งผลให้ อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง คว้ารางวัล "ต้นธารศิลป์" ผู้สร้างงานศิลปะเชิดชูพระพุทธศาสนาคนล่าสุด

สำหรับงานมอบรางวัล "ต้นธารศิลป์" ประจำปี 2559 ให้แก่ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง จัดขึ้นที่วัดสระเกศฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ในงานรำลึกชาตกาลเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ปีที่ 89 โดย พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า พระพุทธศาสนาคือต้นธารแห่งศิลปะไทย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีมติมอบรางวัลต้นธารศิลป์ให้แก่ศิลปินผู้ทุ่มเทงานเพื่อพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้ศิลปินร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม ในปี 2559 มีมติคัดเลือกศิลปินอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ซึ่งเป็นจิตรกรชั้นครู และเป็นผู้อุทิศชีวิตให้แก่การสอนและอนุรักษ์จิตรกรรมไทยดั้งเดิม"อ.ผ่อง จบสาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร เคยสอนศิลปะไทยประจำคณะจิตรกรรมฯ กว่า 14 ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าชุมชนบ้านช่าง สาขาวิชาศึกษาศาสตร์สถาบันอาศรมศิลป์ มีผลงานสำคัญเป็นผู้ควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปราสาทเทพบิดรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวาระครบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเป็นผู้คิดค้นและถ่ายทอดการรักษาสภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยเทคนิคสีฝุ่นบนพื้นกาวเมล็ดมะขามดินสอพอง เป็นผู้เชี่ยวชาญการลอกลายเส้นตามลายครู รักษาความงามของศิลปะไทย ด้วยหลักการทำงานจริยศิลป์ ศิลปะสร้างคน" พระพรหมสิทธิกล่าวยกย่อง

ด้าน อ.ผ่องเปิดใจหลังรับรางวัลว่า ความตั้งมั่นในศิลปะไทยเกิดจากการบูรณปฏิสังขรณ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปราสาทเทพบิดร วัดพระแก้วได้ค้นพบและเรียนรู้กลวิธีและเทคนิคของครูบาอาจารย์ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า มีการจัดการลายอย่างเป็นระบบ วางตำแหน่งแม่ลาย ตัดเส้นตกแต่งให้สวยงาม ความรู้ตนนำมาถ่ายทอดไม่ให้สูญหายไป สำหรับงานที่กำลังค้นคว้าและฟื้นฟูขณะนี้เป็นการอนุรักษ์จิตรกรรมชั้นครูของหลวงพ่อแก้ว วัดท่าพูด ทำร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ

"หลวงพ่อแก้ว เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ของวัดท่าพูด ไปเรียนกับช่างเพชรบุรี แล้วกลับมาก็วาดภาพบานประตูที่วัดด้วยตนเอง สวยงามมาก และทิ้งมรดกไว้เป็นกระดาษหมุดดำ วาดเส้นขาวบนกระดาษข่อยที่ทาสีดำ บางอันไม่สมบูรณ์ นี่คืองานที่มีคุณค่าของครูบาอาจารย์ ผมไปคัดลอกและเพิ่มเติมให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ผมร่างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสี ทางวัดให้ช่วยทำ เพราะมีแนวคิดจะจัดทำพิพิธภัณฑ์ หมุดดำทั่วไปจารึกด้วยภาษาบาลีหรืออักษรธรรม แต่ที่นี่จารึกเป็นภาพวาด" อ.ผ่องเผยงานอนุรักษ์ล่าสุด

สำหรับหัวใจในการลอกลายครู ศิลปินต้นธารศิลป์คนใหม่บอกว่า ได้วิชาจาก อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ สมัยนั้นเรียกว่างานวิจัยศิลปะไทย เมื่อได้ทำงานนี้สร้างจิตสำนึกย้อนยุคได้กับคนสมัยใหม่ ถ้าเมื่อไหร่เข้าไปคัดลาย เส้นเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในใจ รับรู้ถึงความประณีต ยากเย็น และมุมานะ ชุบชีวิตภาพขึ้นใหม่ สร้างชีวิตคนในยุคปัจจุบัน

"การลอกลายศิลปะไทย ทำให้รับรู้รสและคุณค่าของสิ่งที่คนโบราณสร้างสรรค์ไว้ โค้งให้ได้วง ตรงให้ได้เส้น ที่ว่ากันคืออะไร ผมถ่ายทอดวิชาให้คนรุ่นใหม่ในวิชาจริยศิลป์ ถือเป็นมงคลชีวิต ต้นธารศิลป์คือครูบาอาจารย์ ศิลป์และธรรมแยกจากกันไม่ได้" อ.ผ่องกล่าว

จิตรกรชั้นครูฝากในท้ายว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เรียนแต่หนังสือไม่ได้แล้ว ต้องเรียนผ่านการปฏิบัติ แล้วมาสังเคราะห์ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่เพื่อสร้างการศึกษาในอนาคต ศิลปะเป็นวิชาแห่งความรู้ตัว ลากเส้นไป ใจรู้สึก ตาเคลื่อนไปให้มือเคลื่อนตาม เป็นการฝึกให้รู้ตัว นั่นหมายถึง การมีสติตามด้วยปัญญารู้คิด ไม่ฟุ้งอยู่กับอนาคตและจมอยู่กับอดีต วิชาที่ตนสอนคือ การปฏิบัติธรรมนอกรูปแบบกระแสหลัก เคยฝึกอบรมให้พระ ผู้อำนวยการโรงเรียนจนถึงเด็ก โดยเฉพาะเด็กๆ เน้นวาดเส้นลงสีด้วยวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น กลับมาหาภูมิปัญญาดั้งเดิมจะเห็นคุณค่าและหวงแหนทรัพยากร เช่นเดียวกับที่ตนอนุรักษ์สีฝุ่นบนพื้นกาวเมล็ดมะขามดินสอพอง เป็นสีฝุ่นไทยสมัยสุโขทัยสืบทอดจนปัจจุบัน อยากชมงานเทคนิคนี้ไปเรียนรู้ได้ที่สถาบันอาศรมศิลป์

จาก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พุธที่ 18 มกราคม 2560