จิตรกรรมไทย

การทำพื้นแบบดั้งเดิม

พื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพองดีอย่างไร

- ไม่ขึ้นรา ถ่ายเทอากาศได้ดี เหมาะกับอากาศร้อนชื้นของไทย

- สีไม่แตก เพราะสีฝุ่นเกาะเป็นเนื้อเดียวกันกับพื้นผิว

- ไม่ทำลายพื้นผิว

- สามารถเขียนทับโดยไม่ดึงสีเดิมมาผสม

- อายุยาวนานเป็นร้อยปี

ขั้นตอน

เตรียมกาว

ทาพื้นสำหรับลงสี

เคล็ดลับภูมิปัญญา

ประเภทของพื้น

ผนังปูน

กวดให้เรียบ ไม่มีเศษปูน

แผ่นไม้

ขัดผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย

ย้อมด้วยเปลือกเม็ดมะขามต้ม

ผ้าผืน

ทาน้ำกาวมะขาม รีดให้เรียบ ทาน้ำกาวมะขามดินสอพอง รีดให้เรียบ ๒ รอบกวด และทากาวอีกครั้ง

ดินสอพองลพบุรี

ใช้ดินสอพองจากทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี ที่ ขาว เนื้อแน่น ละเอียด

เม็ดมะขามต้นฤดู

ช้เม็ดมะขาวเปรี้ยว ซึ่งมีกาวในเนื้อ และควรเก็บต้นฤดูซึ่งคุณภาพเนื้อยังสดอยู่

การซึมน้ำ

เทคนิคการทากาวบนผิวยังเป็นส่วนสำคัญ ศิลปินสามารถเตรียมพื้นให้ซึมน้ำได้หลายระดับ ตามจินตนาการของภาพที่จะวาดให้มีการซ่านของสีต่างกัน

การเลือกผ้าดิบ

ผ้าชิ้น - ใช้ผ้าทอลายสอง ๒ คูณ ๒ เส้นด้ายควบเกลียว เส้นเล็ก ได้พื้นผิวละเอียดคล้ายผนังปูน

ผ้าขึ้นกรอบ - ใช้ผ้ากระสอบในงานเน้นลายผ้า สามารถดูดซับกาว และสีได้ดี หรือใช้ผ้าลายขัด ๑ คูณ ๑ ในงานพื้นเรียบ คล้ายผนังปูน เหมาะเขียนลายเส้นละเอียด

เคล็ด(ไม่)ลับ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง

ตอน "ผ้าเม็ดมะขามดินสอพองทำเองได้ที่บ้าน"


🖌🖌🖌🖌🖌

จิตรกรรมฝาผนังของไทยแต่โบราณเป็นการเขียนสีฝุ่น (Tempera technique) ลงบนฝาผนัง โดยสีฝุ่นเป็นสีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดิน หิน เปลือกหอย เปลือกไม้ ยางไม้ ใบไม้ต่างๆ นำมาบด ฝน จนได้ฝุ่นสี นำไปผสมกับกาว (กาวหนังสัตว์หรือกาวจากยางไม้) แล้วจึงนำไปเขียนบนฝาผนัง โดยผนังที่จะใช้เขียนสีนั้นต้องมีการเตรียมพื้นผิวให้เหมาะกับการลงสี 


"ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ศิลปะและคำบอกเล่าของศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ได้กล่าวถึงเทคนิคของจิตรกรรมฝาผนังไทยไว้ว่า ในการเตรียมปูนนั้น ช่างไทยโบราณใช้หินเผาแล้วเทลงน้ำ แช่ไว้นานเท่าไรยิ่งดี (โดยมากแช่เป็นแรมเดือน) แล้วนำมาผสมกับทราย บางแห่งผสมน้ำอ้อยด้วยเพื่อให้เหนียว แล้วจึงโบกไปบนอิฐที่ก่อไว้ สำหรับปูนฉาบนั้นเตรียมโดยให้เปลือกหอย แล้วนำมาแช่น้ำนานๆ แล้วผสมกับทรายนำมาฉาบผนัง

เมื่อผนังแห้งแล้วก่อนจะลงมือเขียนสี ช่างจะล้างผนังด้วยน้ำใบขี้เหล็กทุกวันเช้าเย็นจนปูนหมดความเค็ม (ความเค็มในที่นี้เป็นภาษาที่ใช้เล่าสืบกันมาซึ่งหากพิจารณาทางเคมีแล้วความเค็มนั้นนไม่ใช่เกลือแต่เป็นด่าง)

วิธีที่ทดสอบว่าผนังปูนล้างได้ที่แล้วทำโดยใช้ผงขมิ้นมาแตะดูหากยังไม่ได้ผงขมิ้นจะเป็นสีแดง ก็ต้องล้างต่อไปอีกจนกระทั่งทดสอบด้วยผงขมิ้นแล้วไม่เปลี่ยนสี

เมื่อล้างผนังได้ที่แล้วและผนังแห้ง ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมรองพื้นสำหรับเขียนสี ซึ่งรองพื้นนี้เตรียมโดยใช้ดินสอพองผสมกับกาวน้ำเม็ดมะขามแล้วทาบางๆ  ลงบนผนังที่เตรียมไว้  ดินสอพองก่อนจะนำมาผสมทำรองพื้น ช่างโบราณได้ “เกรอะดินสอพอง” ก่อน โดยเอาดินสอพองมาละลายน้ำล้างเอาฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกข้างบนทิ้งไป แล้วแช่ในน้ำปล่อยให้ดินสอพองตกตะกอนนอนก้น แล้วจึงนำดินสอพองที่นอนก้นมาผสมใช้ทารองพื้น

เมื่อรองพื้นที่ทาแห้งดีแล้วจึงลงมือเขียนสี ซึ่งสีที่ใช้จะบดละเอียดแล้วผสมกับกาว ซึ่งได้จากยางมะขวิด โดยเอากาวมาละลายน้ำแล้วผสมกับสีวาดไปบนผนังที่เตรียมไว้" (คัดลอกจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_14987)


พื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพอง เป็นภูมิปัญญาไทย มีคุณสมบัติที่ดีเหมาะกับการทำงานจิตรกรรมไทย เพราะพื้นผิวมีความเรียบ ละเอียด สามารถดูดน้ำดูดความชื้นเข้าไปได้ดี และสามารถคายน้ำออกมาหรือระเหยน้ำออกจากผิวได้ สีฝุ่นจึงไปติดอยู่บนพื้นผิวได้อย่างคงทน ความเรียบละเอียดของพื้นผิวดินสอพองทำให้สามารถวาดภาพจิตรกรรมได้อย่างประณีตงดงาม ปิดทองคำเปลวและวาดตัดเส้นได้ชัดเจน


พื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพอง สามารถนำมาทาบนผืนผ้าดิบ และกรุบนเฟรมไม้ได้ ทำเป็นเฟรมสำหรับวาดภาพได้เป็นอย่างดี มีคุณสมบัติที่ดีกว่ากระดาษวาดเขียนหรือแคนวาส เพราะสามารถรับน้ำได้หลายครั้งและระเหยน้ำออกไปได้โดยพื้นผิวไม่เสียรูป


แต่โบราณ ช่างหลวงใช้เทคนิคนี้ในการทำจิตรกรรมฝาผนัง จนถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ ได้นำความรู้จากต่างชาติในการวาดภาพแบบฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ จึงได้เริ่มมีเฟรมผ้าแคนวาสเข้ามาทดแทนการทำงานภาพเขียนไทยจนเป็นที่นิยมแพร่หลายเพราะสะดวกกว่า เป็นชิ้นผ้าสำเร็จรูป ไม่ต้องมีการเตรียมผ้าให้วุ่นวาย ทำให้ความนิยมและความรู้ในการทำกาวเม็ดมะขามดินสอพองค่อยๆ เลือนหายไป


อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ได้ศึกษาเรื่องเทคนิคการทำพื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพองนี้ โดยได้รับความรู้เพิ่มเติมจาก อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช ครูช่างหลวงไทยจากเมืองเพชรบุรี และได้มีการปรับปรุงสูตรจนเหมาะสมกับการนำมาวาดภาพสีฝุ่นในปัจจุบันเพื่อสืบทอดเทคนิคโบราณนี้แก่ลูกหลานไทยรุ่นต่อๆไป


ผ้ากาวเม็ดมะขามดินสอพองเป็นผ้าที่มีราคาต้นทุนถูกมาก แตกต่างจากผ้าแคนวาสของต่างประเทศ แต่การเตรียมนั้นมีความพิถีพิถันตามกระบวนการงานช่างไทย ตั้งแต่การคัดเลือกเม็ดมะขามเปรี้ยวต้นฤดู นำมาคั่ว กระเทาะเปลือกเพื่อให้ได้เนื้อในเม็ดมะขาม นำมาแช่น้ำก่อนการใช้งาน 12 ชั่วโมงให้เนื้อในเม็ดมะขามอิ่มน้ำให้คายกาวออกมา แล้วจึงนำมาหั่นซอยบางๆ ใส่ผสมกับกาวกระถิน นำไปต้มจนเดือด เคี่ยวให้เม็ดมะขามคายกาวออกมาจนได้กาวเม็ดมะขาม สำหรับใช้ทาผ้าชั้นที่ 1 และ 2 เพื่อให้ผืนผ้าแข็งคงรูป จากนั้นนำกาวเม็ดมะขามที่ต้มได้ที่แล้วต้มต่อใส่ดินสอพอง (ดินสอพองจากทะเลชุบศร ลพบุรี) ต้มจนมีเนื้อเป็นแป้งละเอียดข้น นำมากรอง พร้อมใช้งานสำหรับทาผ้าในชั้นที่ 3 และ 4 โดยการทาผ้าแต่ละรอบต้องรอให้ผ้าแห้งแล้วกวดผ้า (ขัดผิวหน้า) ด้วยหอยเบี้ยจนผิวเรียบเนียน เพื่อให้ผ้ามีพื้นผิวเรียบ ขัดเอาฝุ่น ดินทรายออกไป เหมาะกับการลงสีและตัดเส้น จะเห็นว่าการทำผ้าพื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพองนั้นไม่ยาก เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ของที่หาได้จากครัวเรือน แต่กระบวนการนั้นมีความพิถีพิถันให้เหมาะสมกับการทำงานจิตรกรรมตามแบบราชสำนักหรือจิตรกรรมฝาผนังเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

👇👇👇👇👇


https://www.facebook.com/events/395742657728953/?ti=as

องค์ความรู้ โดย อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง และสถาบันอาศรมศิลป์กราฟฟิคโดย ศุภชัย วงศ์นพดลเดชาเรียบเรียงและออกแบบโดย คณะศิษย์จริยศิลป