จิตรกรรมไทย

สีในงานจิตรกรรมไทยแบบดั่งเดิม

เทคนิคจิตรกรรมไทยแบบดั้งเดิม

สีฝุ่นจากธรรมชาติ

- ได้จากวัสดุธรรมชาติมาทำให้เป็นผง

- ละลายน้ำ

- ยึดกับพื้นผิวด้วยกาวกระถินหรือยางต้นมะขวิด

- เมื่อแห้งแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยสีไม่เพื้ยน 

ขั้นตอนการวาด

๑. ลอกลาย

นำภาพต้นแบบเส้นลายครู มาเป็นต้นฉบับเพื่อการฝึก คัดลอกลายโดยนำกระดาษไขวางทาบทับให้พอดีกับต้นแบบ เขียนลาย ด้วยดินสอ

๒. ปรุลาย

นำกระดาษไขที่ลอกลายแล้วมาวางบนแผ่นโฟม รองปรุ ใช้เข็มปรุลาย ปรุบนกระดาษไข เดินฝีเข็มไปตามเส้นลาย โดยมี ระยะห่างหนึ่งฝีเข็ม  

๓. โรยลาย

นำกระดาษไขที่ผ่านการลอกลายและปรุลาย มาวางทาบ กับเฟรมผ้าหรือกระดาษ นำลูกประคบบรรจุผงถ่านที่บดละเอียด มาฝนบน กระดาษไข ผงถ่านจะลอดรูเข็มที่ปรุบนกระดาษไขไปปรากฏ เป็นภาพที่ เฟรมผ้าหรือกระดาษขึ้นเป็นภาพเด่นชัด

๔. วาดเส้น

ตามรอยผงถ่านด้วยหมึกจีน โดยใช้พู่กันตัดเส้น ซึ่งจะได้ โครงร่างของภาพที่ติดทน แล้วลบรอยผงถ่านออกด้วยยางลบดินน้ำมัน

๕. ลงสี

ด้วยสีฝุ่นตามต้นแบบ หรือตามจินตนาการของผู้วาด


องค์ความรู้ โดย อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง และสถาบันอาศรมศิลป์กราฟฟิคโดย ศุภชัย วงศ์นพดลเดชาเรียบเรียงและออกแบบโดย คณะศิษย์จริยศิลป

เคล็ด(ไม่)ลับ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง

ตอน "เสน่ห์สีฝุ่นในงานจิตรกรรมไทย"


สีฝุ่น (Tempera colour) เป็น pigment powder ที่ได้จากวัสดุธรรมชาติต่างๆ ดิน หิน แร่ธาตุ พืช สัตว์ นำมาทำให้ละเอียดเป็นผง ผสมกาวเมื่อจะนำมาใช้ 

สีฝุ่นมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ ใช้กาวเป็นตัวช่วยประสานให้สีติดยึดกับผนัง/พื้นผิว อยู่ได้คงทนเป็นร้อยปีหากไม่โดนน้ำ สีฝุ่นเป็นสีที่มีลักษณะทึบแสง มีเนื้อสีหนา เขียนทับกันได้ มักใช้ในงานภาพเขียนฝาผนัง

สีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น

สีดำ จาก เขม่า

สีแดง จาก ชาด เสน ชาดก้อน

สีเหลือง จาก รง 

สีเขียว จาก สนิมทองแดง

สีน้ำเงิน จาก คราม ห้อม

สีน้ำตาล จาก ดิน หิน

สีขาว จาก เปลือกหอย (อายุ 30 ปีขึ้นไป)


สีฝุ่นในปัจจุบันมีการผลิตแบบสมัยใหม่เป็นสีผงอัดก้อน เมื่อจะใช้งานนำมาผสมน้ำได้เลยไม่ต้องผสมกาว


อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมไทย หัวเรี่ยวหัวแรงกลุ่มจิตรกรไทย กล่าวไว้ว่า เทคนิคการเขียนภาพด้วยสีฝุ่นแบบโบราณมีหลักฐานปรากฏที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อายุไม่ต่ำกว่า ๗oo ปี จากนั้นมาปรากฏชัด พบงานจิตรกรรมสีฝุ่นจีนและไทยอยู่ล้อมรอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่กรุวัดราชบูรณะ จ.อยุธยา แล้วยังมีงานจิตรกรรมภายในอุโบสถ วัดไชโย จ.อ่างทอง ที่สามารถศึกษาเป็นแบบอย่างได้ ทุกวันนี้ตัวเองได้พาจิตรกรไทยรุ่นใหม่ ๆ ไปเยี่ยมชม ไปรับแรงบันดาลใจ ปัจจุบันศิลปินให้ความสำคัญจิตรกรรมแนวนี้น้อยลง รวมถึงขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน มีจำนวนนับนิ้วได้เลย รวมถึงมีขั้นตอนซับซ้อนและยุ่งยาก เนื่องจากต้องใช้วัสดุจากธรรมชาติล้วน ๆ ต่างจากสีวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้ ตัวเองร่วมแสดงงาน ๖ ชิ้น เป็นเทคนิคสีฝุ่นบนพื้นดินสอพอง กาวเมล็ดมะขาม นอกจากสอนศิลปะไทย ตนทุ่มเทเผยแพร่องค์ความรู้จิตรกรรมไทยโบราณเทคนิคนี้ อีกบทบาทเป็นหัวหน้าชุมชนบ้านช่าง สถาบันอาศรมศิลป์ด้วย


"เสน่ห์ของสีฝุ่นเป็นภาพที่ดูแล้วสบายตา นิ่มนวล ดูได้นาน ไม่มีเบื่อ กลับไปดูผลงานอีกครั้งก็ให้ความรู้สึกตื่นเต้น กลุ่มจิตรกรไทยพยายามรักษาเทคนิคโบราณนี้ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงห่วงใยศิลปวัฒนธรรมไทย ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรภาพจิตรกรรมสีฝุ่นที่ จ.สมุทรสงคราม ทรงทดลองเขียนเทคนิคนี้ ถ้าท่านได้เห็นสิ่งที่ศิลปินจิตรกรไทยทำในวันนี้น่าจะทรงปลื้มพระทัยที่มีคนช่วยรักษาไม่ให้สูญหาย และฟื้นฟูศิลปะไทยไว้ได้" อาจารย์ผ่องกล่าวไว้ในงานนิทรรศการ "จริยศิลป์ วิศิษฏศิลปิน สยามบรมราชกุมารี" ปี ๒๕๕๙ ซึ่งรวบรวมผลงานจิตรกรรมเกือบ ๑oo ชิ้นจากกลุ่มจิตรกรไทย ที่ร้อยเรียงเรื่องราวแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเผยแพร่พระเกียรติคุณของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "วิศิษฏศิลปิน" ด้วยทรงเป็นเลิศทางศิลปะและมีคุณูปการต่องานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติยิ่งนัก