🌬 ชั้นอุณหภูมิผกผัน

สิ่งคุ้นเคยที่ย้อนมาทำร้ายคนกรุง กับการรอคอยที่ไร้ค่า

วราวุธ สอาดสิน, 1 Feb 2019

#ฝุ่นควัน #ควันพิษ #PM2.5 #มลพิษ #มลภาวะ #ฟิสิกส์ #สิ่งแวดล้อม #อุตุนิยมวิทยา #อากาศ

กรุงเทพและหลายจังหวัดในภาคกลางเผชิญมลภาวะจากฝุ่นควันขนาดเล็ก (PM 2.5) มาร่วมเดือนแล้ว ฝุ่นควันพวกนี้มาจากไหน ทำไมปีนี้จึงรุนแรงกว่าทุกปี

อย่างที่เราพูดกันว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" เป็นจริงกับชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ที่เราอาศัยอยู่กัน "ในยามปกติ" แต่ในสภาพอากาศบางแบบมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น


ช่วงฤดูหนาว ในประเทศไทย ลมเย็นจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เข้าทางแถว ๆ นครพนม มุกดาหาร) ตามธรรมชาติของอากาศแล้ว อากาศเย็นจะลอยต่ำ อากาศร้อนจะยกตัวขึ้นสูง และจะไหลจากที่ที่มีมวลอากาศมากไปที่ที่มีมวลอากาศน้อย เมื่อลมเย็นปะทะเข้ากับลมอุ่นชื้นในพื้นที่ ลมเย็นจะมุดตัวช้อนลมอุ่นชื้นขึ้นไป เปิดฝนฟ้าคะนองในช่วงต้นฤดูหนาว และทุกครั้งที่มีลมหนาวระลอกใหม่พัดเข้ามาหลังจากทิ้งช่วงไปจนอากาศในพื้นที่อุ่นขึ้น เมื่อลมเย็นเติมเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อากาศในพื้นที่จะเย็นและแห้งลง


ในตอนกลางวัน พื้นดินดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ (ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคลื่นสั้น) แล้วคายความร้อน (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคลื่นยาว) ในตอนกลางคืน เมื่ออากาศเหนือพื้นดินยิ่งเย็น อัตราการคายความร้อนของพื้นดินก็มากตามไปด้วย อากาศที่ได้รับการถ่ายเทความร้อนเหนือพื้นดินก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น และลอยตัวขึ้นไป สะสมอยู่ในชั้นอากาศด้านบน


รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตามระดับความสูง (temperature profile) จะยังคง "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" เหมือนเดิม จากพื้นดินจนถึงชั้นอากาศอุ่นที่ว่านี้ มันกลับตาลปัตร เป็น "ยิ่งสูงยิ่งร้อน" เมื่อพ้นชั้นอากาศอุ่นนี้ไปก็จะเป็นชั้นอากาศเย็นกว่าขนาบอยู่ข้างบน และรูปแบบอุณหภูมิจะกลับมาเป็น "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" อีกครั้ง ชั้นอากาศอุ่นนี้จึงได้ชื่อว่า "temperature inversion layer" หรือ ชั้นอุณหภูมิผกผัน กระบวนการที่กล่าวมานี้จัดเป็นประเภทเกิดที่ผิวดิน (ground inversion) *



* temperature inversion แบ่งตามสาเหตุการเกิดได้สี่ประเภท คือ เกิดที่ผิวดิน (ground inversion), เกิดจากอากาศปั่นป่วน (turbulent inversion), เกิดจากอากาศจมตัว (subsidence inversion) และ เกิดจากแนวปะทะอากาศเย็น/อุ่น (frontal inversion)

อ้างอิง :

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :