ประชานิยม

ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ

สฤณี อาชวานันทกุล, กรุงเทพธุรกิจ

#การเมือง #นโยบาย

[1]

ในห้วงยามที่ “ประชารัฐ” กำลังถูกโหมประโคมจากรัฐบาลว่า ดีกว่า “ประชานิยม” ของพรรคการเมืองที่ถูกโค่นลง

จากอำนาจหลายขุม ผู้เขียนคิดว่าน่าจะได้เวลาทบทวนที่มา ความหมาย และบทบาทของคำว่า “ประชานิยม” กันใหม่

เพราะดูเหมือนวันนี้ “ประชานิยม” ได้กลายเป็น “คำด่าอัตโนมัติ” ของใครก็ตามที่ไม่ชอบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และกลายเป็น “คำชมอัตโนมัติ” ของใครก็ตามที่ชื่นชอบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย

ประชานิยมคืออะไร? ผู้เขียนคิดว่าเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เก็บความได้ค่อนข้างดี จึงจะคัดลอกบางส่วนมาแลกเปลี่ยนกันดังนี้

“ในหนังสือ “ทักษิณา-ประชานิยม” ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้จำแนก “ประชานิยม” ออกเป็น 5 ความหมายด้วยกัน ได้แก่

1) ประชานิยมในรัสเซียและอเมริกา เป็นประชานิยมในความหมายดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในรัสเซียและอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีนัยว่าหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เห็นว่าประชาชนสำคัญที่สุด โดยทั้งในรัสเซียและสหรัฐอเมริกานั้นขบวนการประชานิยมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น คือชาวนา ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม

2) ประชานิยมในละตินอเมริกา เป็นขบวนการประชานิยมที่เริ่มต้นขึ้นในอาร์เจนตินาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 โดยเป็นขบวนการที่มีผู้นำสูงสุดคือฮวนเปรองที่มีความโดดเด่น มีเสน่ห์ มีบารมีเป็นที่จับตาจับใจประชาชน และมีนโยบายสงเคราะห์คนยากจนเพื่อใช้เป็นฐานเสียงและฐานนโยบายทางการเมือง มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้นำกับประชาชน

3) ประชานิยมในประเทศตะวันตก คือการเมืองที่มีพรรคการเมืองบางพรรคได้รับความสนับสนุนจากสามัญชนจากนโยบายที่เป็นที่ชื่นชอบ หรือมีอุดมการณ์ตรงกัน

4) ประชานิยมในฐานะแนวทางการพัฒนา ใช้เรียกแนวคิดการพัฒนาที่เน้นภาคชนบท เน้นภาคเกษตร เน้นการพัฒนาไร่นาขนาดเล็ก ขนาดกลางของเกษตรกรอิสระหรือสหกรณ์ที่ชาวไร่ชาวนามารวมกัน เป็นทางเลือกของการพัฒนาที่ไม่เน้นการพัฒนาให้เป็นเมืองแบบตะวันตกนั่นเอง

5) ประชานิยมคือ การให้ความสำคัญหรือให้คุณค่าแก่ประชาชน คือการเมืองที่ให้คุณค่าแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปหรือชนชั้นล่าง การเมืองที่เห็นความสำคัญของประชาชนทั่วไปจึงเป็นประชานิยมเสมอ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การดำเนินนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลทักษิณนั้นไม่อาจจัดเป็นประชานิยมในความหมายใดได้เคร่งครัดนัก จึงต้องพิจารณาจากหลายความหมายประกอบกัน แล้วแต่เงื่อนไขหรือลักษณะเน้นหนักของนโยบายแต่ละด้าน ...การให้ความสำคัญกับประชาชนทั่วไปของนโยบายน่าจะเป็นลักษณะสำคัญที่ถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม

...[ในทัศนะของนักวิชาการบางคน] นโยบายประชานิยมมิใช่นโยบายที่ดี แต่เป็นนโยบายที่ทำลายกลไกปกติของตลาด ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่านโยบายประชานิยมเป็นการสร้างมูลค่าในทางเศรษฐกิจขึ้น จากการหมุนเงินเข้าใช้จ่ายในตลาดหลายรอบ จึงเหมาะแก่การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพื่อให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น”

จากประวัติศาสตร์ของคำว่า populism ดังสรุปข้างต้น จะเห็นว่าคำว่า “นโยบายประชานิยม” ไม่ได้มีความหมายด้านบวกหรือลบในตัวมันเองแต่อย่างใด มีเพียงความหมายกลางๆ ว่า เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็หมายถึงคนจนและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศกำลังพัฒนา

การตัดสินว่านโยบายประชานิยมนโยบายใด “ดี” หรือ “ไม่ดี” จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น นโยบายนี้พุ่งเป้าไปที่คนจนจริงหรือไม่ ประโยชน์ตกถึงมือกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่เพียงใด บิดเบือนกลไกตลาดอย่างรุนแรงจนส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวหรือไม่ รัฐใช้เงินมือเติบจนส่งผลเสียต่อสถานะการคลังอย่างรุนแรงหรือไม่

รูปแบบและความสำเร็จของนโยบายประชานิยม มักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตั้งแต่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ผู้นำยึดถือ (เสรีประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม) ลัทธิความเชื่อทางเศรษฐกิจที่ผู้ดำเนินนโยบายสมาทาน (ชื่นชมลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือต่อต้านเสรีนิยมใหม่) ระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างเชิงสถาบัน (รัฐเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ มีคอร์รัปชันระหว่างทางมากน้อยเพียงใด มีช่องส่งประโยชน์ถึงมือกลุ่มเป้าหมายหรือไม่) และระดับทรัพยากร เช่น ประเทศที่มีรายได้จากการขายน้ำมันในช่วงที่ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ (เวเนซุเอลา โบลิเวีย และเอกวาดอร์) ย่อมสามารถใช้เงินดำเนินนโยบายประชานิยมได้อย่างยั่งยืนกว่าประเทศที่ไม่มีบ่อน้ำมัน

อุดมการณ์หรือจุดยืนของนักเศรษฐศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญต่อการมองนโยบายประชานิยมเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ขวา” บนไม้บรรทัดอุดมการณ์เท่าไร ยิ่งมีแนวโน้มจะตีขลุมเหมารวมนโยบายประชานิยมว่า “เลว” ถ้าถึงขั้น “ขวาตกขอบ” ก็จะก่นด่าแม้แต่นโยบายสวัสดิการว่า เป็นประชานิยม (ในความหมายแง่ลบ คือ ไม่คุ้มค่า บ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว)

เพราะนักเศรษฐศาสตร์ขวาตกขอบบูชากลไกตลาดว่าศักดิ์สิทธิ์และทำงานได้ดีกว่ารัฐในทุกกรณี เชื่อมั่นว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะ “ไหลริน” มาสู่คนส่วนใหญ่โดยอัตโนมัติ นโยบายอะไรก็ตามที่ส่งเสริมให้รัฐแทรกแซงกลไกตลาดจึงต้อง “แย่” แน่ๆ

ในทางตรงกันข้าม นักเศรษฐศาสตร์ยิ่ง “ซ้าย” ยิ่งมีแนวโน้มจะชอบนโยบายประชานิยม ถ้าถึงขั้น “ซ้ายตกขอบ” ก็จะชื่นชมเชิดชูนโยบายประชานิยมว่า “ดี” ไร้ที่ติ โดยไม่ใส่ใจว่ามันตรงจุดหรือไม่ ก่อผลข้างเคียงหรือผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ค่ายไหน นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่พวก “ตกขอบ” เห็นตรงกันได้ไม่ยากว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐควรทำ คือ นโยบายที่มุ่งสถาปนา “สวัสดิการระยะยาว” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่า“นโยบายเรียกคะแนนนิยมระยะสั้น”

ตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จจนเป็นกรณีศึกษาไปทั่วโลก คือ Bolsa Família (Family Allowance) โครงการสวัสดิการสังคมของรัฐบาลบราซิล เริ่มต้นปี 2003

โครงการนี้มอบเงินอุดหนุนโดยตรงให้กับครอบครัวยากจน (มีรายได้ต่ากว่าเดือนละ 140 เรียล) เดือนละ 22 เรียล (ประมาณ 200 บาท) ต่อบุตรที่ไปโรงเรียนและฉีดวัคซีนแล้ว สูงสุดไม่เกินสามคน ครอบครัวที่ “ยากจนมาก” (มีรายได้ไม่ถึง 70 เรียลต่อเดือน) จะได้เงินอุดหนุนเพิ่มอีกเดือนละ 68 เรียล (ประมาณ 615 บาท) อย่างไม่มีเงื่อนไข

โครงการนี้เป็นนโยบายหลักในชุดนโยบายสังคมของประธานาธิบดี Luiz Inácio Lula da Silva (“ลูลา”) และส่งผลสำคัญต่อชัยชนะสมัยที่สองของเขา ในการเลือกตั้งปี 2006

ปัจจุบันมีชาวบราซิลได้รับเงินจากโครงการนี้ 14 ล้านครัวเรือน หรือ 50 ล้านคน มากกว่าหนึ่งในสี่ของประเทศ เป็นโครงการลักษณะนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิบปีระหว่าง 2003 ถึง 2013 โครงการนี้ช่วยลดสัดส่วนชาวบราซิลที่ “ยากจนมาก” ลงครึ่งหนึ่ง จากร้อยละ 9.7 เหลือร้อยละ 4.3 ของประชากร ระดับความเหลื่อมล้ำ วัดโดยค่าสัมประสิทธิ์จินี่ ลดลงกว่าร้อยละ 15

ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยการใช้เงินเพียงร้อยละ 0.6 ของจีดีพีบราซิล และราวร้อยละ 2.5 ของงบประมาณภาครัฐเท่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า เราพูดไม่ได้ว่านโยบายไหน “ไม่ดี” หรือ “ดี” ทันทีที่เราตัดสินว่ามันเข้าข่าย “ประชานิยม” (พุ่งเป้าไปที่คนส่วนใหญ่) แต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ก่อให้เกิดคำถามต่อไปว่า วันนี้สังคมไทยมีบทเรียนร่วมกันแล้วหรือยัง ถีงลักษณะของประชานิยมที่ “ดี” และ“ไม่ดี”

“ประชารัฐ” ของรัฐบาลปัจจุบันน่าจะมีแนวโน้มเป็นเช่นไร แตกต่างจาก “ประชานิยม” จริงหรือไม่


[2]

ตอนที่แล้วผู้เขียนสรุป “นโยบายประชานิยม” ในประสบการณ์สากลว่า “ไม่ได้มีความหมายด้านบวกหรือลบในตัวมันเอง

...มีเพียงความหมายกลางๆ ว่า เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็หมายถึงคนจนและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศกำลังพัฒนา”

ในยุคแบ่งขั้วแยกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างปัจจุบัน อคติเกี่ยวกับประชานิยมเลยเถิดไปเป็นเส้นแบ่งระหว่างค่ายด้วย คนจำนวนมากที่ชื่นชอบพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย เจ้าตำรับนโยบายประชานิยมในไทย ยืนกระต่ายขาเดียวเหมือนพวก “ซ้ายตกขอบ” ว่า ขึ้นชื่อ “ประชานิยม” แล้วย่อม “ดี” ทั้งนั้น ส่วนใครก็ตามที่เกลียดพรรคนี้ (รวมถึงหลายคนที่พานเกลียดนักการเมืองทุกพรรค หันมาเชียร์เผด็จการทหารแทน) ก็จะก่นด่าเหมือนพวก “ขวาตกขอบ” ว่า ขึ้นชื่อว่าประชานิยมแล้วย่อม “ไม่ดี” ทั้งนั้น

เพียงแต่ให้เหตุผลต่างไปว่า ที่เลวไม่ใช่เพราะบิดเบือนกลไกตลาด แต่เพราะเป็น “นโยบายหาเสียง” ลดแลกแจกแถมระยะสั้นที่ทำให้ประชาชนเสียนิสัย เสพติดเงิน มักง่าย

ในเมื่อประชานิยมเป็นนโยบายที่ต้องใช้เงินงบประมาณ ลองมาดูความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ไทยกันบ้าง เพราะพวก “ขวาตกขอบ” กับ “ซ้ายตกขอบ” (ผู้เขียนหวังว่า) น่าจะเป็นส่วนน้อยอยู่

ในปี 2555 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศ 70 คน 29 องค์กร เรื่องนโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 (รายละเอียด http://bangkokpoll.bu.ac.th/poll/result/poll593.php) ได้ข้อสรุปดังนี้

มีโครงการประชานิยมที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่บอกว่า “ไม่ดี” จำนวน 7 โครงการ โดยโครงการที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (ร้อยละ 65.7) โครงการแจกแท็บเลต พีซี (ร้อยละ 65.7) และโครงการรถยนต์คันแรก (ร้อยละ 58.6)

มีโครงการประชานิยมที่ “ดีแต่ใช้วิธีดำเนินโครงการที่ไม่ถูกต้อง” จำนวน 5 โครงการ โดยโครงการที่นักเศรษฐศาสตร์ระบุมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ โครงการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน (ร้อยละ 50.0) โครงการจบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท (ร้อยละ 45.7) และโครงการพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย (ร้อยละ 40.0)

มีโครงการประชานิยมที่ “ดี” จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเบี้ยยังชีพคนชราแบบขั้นบันได (ร้อยละ 80.0) โครงการอินเทอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะ (ร้อยละ 78.6) โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้จริง (ร้อยละ 71.4) และโครงการบ้านหลังแรก (ร้อยละ 47.1)

บางโครงการผลออกมาก้ำกึ่ง เช่น โครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 40 มองว่า “ไม่ดี” อีกร้อยละ 40 มองว่า “ดีแต่วิธีไม่ถูกต้อง”

ผลสำรวจความคิดเห็นข้างต้นชี้ชัดว่า นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้เห็นตรงกันทุกคน และไม่มีโครงการใดที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 100 เห็นว่า “ดี” หรือร้อยละ 100 เห็นว่า “ไม่ดี” และนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แย่ทุกมิติ หรือดีทุกมิติ บางนโยบายหลักการอาจดี แต่วิธีการไม่ดี บางนโยบายใช้เงินมหาศาลแต่รัฐไม่หาเงินเพิ่ม พอกหนี้สาธารณะจนอาจถึงจุดอันตรายในอนาคต

(ควรหมายเหตุว่า ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ในวันนี้ หลายคนอาจเปลี่ยนความคิดเพราะมีข้อมูลมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะข้อมูลด้านผลกระทบจากโครงการต่างๆ)

มิติหลักๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์มองในการประเมินนโยบายประชานิยมได้แก่

1.เป้าหมาย/หลักการ : นโยบายประชานิยม

ควรเน้นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส คนจน หรือประชาชนส่วนใหญ่ เน้นสวัสดิการพื้นฐานเพื่อสร้าง “โอกาส” ไม่ใช่เอาใจชนชั้นกลางหรือบริษัทใหญ่ด้วยการลดแลกแจกแถมในสิ่งที่คนมีกำลังซื้อ และตลาดทำงานได้ดีพอควร

มองในแง่นี้ นโยบายรถยนต์คันแรกจึงมีปัญหาตั้งแต่ชั้นหลักการ เพราะยากที่จะอธิบายว่ารถยนต์คือสวัสดิการพื้นฐานอย่างไร ยังไม่ต้องไปพูดถึงว่าตลาดรถยนต์มีปัญหาตรงไหน

ต่างจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งถูกต้องทั้งหลักการและกลุ่มเป้าหมาย-ให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งสังคมสมัยใหม่มองว่าเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

บางโครงการอย่างเช่น จำนำข้าวรอบหลังๆ น่ากังขาในหลักการ ถึงแม้จะจับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องคือเกษตรกร เพราะการรับจำนำ “ทุกเมล็ด” ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อข้าวแต่เพียงผู้เดียวโดยปริยาย นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากจึงเตือนตั้งแต่ต้นว่า นอกจากจะต้องใช้เงินมหาศาลแล้ว รัฐบาลยังจะขาดทุนมโหฬารอย่างแน่นอน เพราะกำหนดราคาขายในตลาดโลกไม่ได้ (ไทยไม่ได้ขายข้าวอยู่เจ้าเดียว และข้าวเก็บไว้นานไม่ได้ ไม่เหมือนกับน้ำมัน) ยังไม่นับว่าสร้างแรงจูงใจผิดๆ ให้เกษตรกรไม่สนใจคุณภาพข้าว

2.วิธีการ : ถ้าเป้าหมายผ่าน หลักการผ่าน ก็ต้องมาดู “วิธี” ดำเนินโครงการว่า ผู้ได้รับประโยชน์คือกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เปิดช่องให้เกิดการรั่วไหลหรือทุจริตเพียงใด

ยกตัวอย่างเช่น นโยบายพักชำระหนี้ 3 ปี ฟังเผินๆ อาจดูดี เพราะมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ถ้าหากธนาคารเพียงแต่ “เลื่อน” กำหนดการชำระหนี้ ไม่ “หยุด” คิดดอกเบี้ยระหว่างนั้น ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ สุดท้ายเกษตรกรก็จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากขึ้นมากเมื่อโครงการหมดอายุลง ยิ่งถ้าความสามารถในการหารายได้(มาชำระหนี้) ไม่เพิ่ม สุดท้ายรัฐก็ต้องออกนโยบายพักชำระหนี้รอบใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

3.ผลลัพธ์/ผลกระทบ : ประเด็นนี้สำคัญ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ประเมินได้ง่าย เพราะนโยบายทุกนโยบายล้วนแต่มีความไม่แน่นอน และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย นักเศรษฐศาสตร์อาจใช้สมมุติฐานคนละชุด แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป นักเศรษฐศาสตร์ก็ย่อมได้ข้อมูลมากขึ้นจากโลกจริง

4.แหล่งทุน : ถ้ารัฐบาลไม่เก็บภาษีเพิ่ม หนี้สาธารณะก็ต้องเพิ่ม นักเศรษฐศาสตร์จึงกังวลกับนโยบายประชานิยมที่ต้องใช้เงินระดับหลายแสนล้านติดต่อกันทุกปีโดยที่รัฐไม่สนใจจะหาเงิน

“ความเสียหาย” จากนโยบายประชานิยมก็มีหลายแบบ:

1.ความเสียหายที่เกิดจากการ “ทุจริต” แบบนี้เห็นตรงกันได้ว่าคนทำควรติดคุก (หมายถึงคนที่มีหลักฐานมัดว่าทุจริต ไม่ใช่ทุกคนในรัฐบาล)

2.ความเสียหายที่เกิดจากการ “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” กล่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากออกมาเตือนแล้วว่า นโยบายนี้เสียหายมหาศาลแน่ๆ แต่รัฐบาลไม่ฟัง - แบบนี้อาจเห็นตรงกันได้ว่าเราควรวางกลไกป้องกัน และรัฐบาลเองก็ควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้าเสียหายในระดับมโหฬารเป็นแสนๆ ล้าน เช่น ปลดรัฐมนตรีเจ้าของนโยบาย ส่วนพรรคคู่แข่งก็มีสิทธิไปหาเสียงเรียกคะแนนจากประชาชน

3.ความเสียหายที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ความเสียหาย เป็นเพียงเงินงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินโครงการ และผลขาดทุนหรือขาดดุลที่ “โชคร้าย” คือเกิดจากปัจจัยภายนอกที่รัฐควบคุมไม่ได้ เช่น เกิดเหตุก่อการร้าย - แบบนี้รัฐบาลไม่ผิด แต่ต้องรับความเสี่ยงทางการเมืองไป พวกขวาตกขอบและเกลียดนักการเมืองส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ศาลควรลงโทษรัฐบาลสำหรับความเสียหายแบบที่ 2 และ 3 ด้วย

คำถามคือ เราจะวางกลไกป้องกันความเสียหายแบบที่ 2 ได้อย่างไร ในทางที่ไม่จำกัดหรือริบสิทธิเสรีภาพของพรรคการเมืองในการออกแบบ และดำเนินนโยบายประชานิยม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายนโยบายสะท้อนความต้องการของประชาชนจำนวนมาก?

โปรดติดตาม


"นโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา" ปรับปรุงจากสไลด์ประกอบรายงาน "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือก" ดาวน์โหลดรายงานได้จาก ที่นี่