หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 การเขียนรายงานโครงงานคอมพิวเตอร์

รูปแบบของรายงานโครงงานคอมพิวเตอร์ กำหนดไว้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง

1. ส่วนนำ

ประกอบด้วย

1.1 ปกนอก

1.2 ใบรองปก

1.3 ปกใน

1.4 บทคัดย่อ

1.5 กิตติกรรมประกาศ

1.6 สารบัญ

1.7 คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อ (ถ้ามี)

1.1 ปกนอก

ปกนอกเป็นส่วนที่ควรเน้นความเรียบร้อยสวยงามเป็นพิเศษ โดยทั่วไปนิยมใช้กระดาษขนาด 120 แกรม พิมพ์ตัวอักษรด้วยสีสุภาพ หรือใช้กระดาษสี ข้อความบนปกนอกประกอบด้วยข้อความเรียงตามลำดับ ดังนี้

1. ตราโรงเรียน

2. ชื่อเรื่องโครงงานคอมพิวเตอร์

3. ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานทุกคน โดยระบุคำนำหน้าชื่อ ชื่อตัวและชื่อสกุล และใส่คำว่า โดย” ก่อนพิมพ์ชื่อผู้ทำโครงงาน

4.ข้อความที่บอกให้ทราบถึงโอกาสในการทำโครงงาน คือ “รายงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา....................................................................ตามหลักสูตร.....................................................................โรงเรียน.....................................................................ภาคเรียนที่............ชั้นมัธยมศึกษาปีที่....................ปีการศึกษา..................”

ข้อความทั้งหมดบนปกนอกควรจัดเรียงให้กระจายอยู่บนปก ได้ระยะที่สวยงาม ใช้ขนาดตัวอักษรที่พอเหมาะ ดึงดูดความสนใจ และเว้นระยะห่างให้สมดุล

1.2 ใบรองปก

เป็นกระดาษ A4 สีขาว ขนาด 80 แกรม ไม่พิมพ์ข้อความใดๆ จำนวน 1 แผ่น ใส่ไว้ถัดจากปกนอก ถ้าเป็นปกอ่อนและรายงานมีความหนาสันปกไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร อาจไม่ต้องใส่ใบรองปก

1.3 ปกใน

ข้อความทั้งหมดบนปกในควรจัดเรียงให้กระจายอยู่บนปก ได้ระยะที่สวยงาม ใช้ขนาดตัวอักษร ที่พอเหมาะ ดึงดูดความสนใจ และเว้นระยะห่างให้สมดุล ข้อความที่เพิ่มเติมจากปกนอก คือ ครูที่ปรึกษา ในกรณีที่มีที่ปรึกษาจากหน่วยงานนอกโรงเรียน หรือที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งอาจมาจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงาน หรือเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการอิสระอื่นๆ ก็อาจเขียนหัวข้อที่ปรึกษาพิเศษ หรือเขียนให้สอดคล้องกับสถานะของที่ปรึกษานั้นๆ อย่างไรก็ดีนักเรียนควรมีครูที่ปรึกษาจากโรงเรียนของนักเรียนอยู่ด้วย

1.4 บทคัดย่อ (abstract)

บทคัดย่อ เป็นข้อความโดยสรุปของรายงานโครงงานคอมพิวเตอร์ที่สั้นได้ใจความชัดเจน อธิบายถึงที่มาและความสำคัญของโครงงาน วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ และผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปต่างๆ อย่างย่อ (ประมาณ 250-400 คำ)

1.5 กิตติกรรมประกาศ

กิตติกรรมประกาศเป็นส่วนที่ผู้ทำโครงงานเขียนแสดงความขอบคุณบุคคล สถาบัน หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือทั้งในการค้นคว้าความรู้ การดำเนินงาน ให้ข้อคิดเห็นและให้ข้อมูล การเขียนกิตติกรรมประกาศเป็นการแสดงถึงจรรยาบรรณทางวิชาการที่ผู้ทำโครงงานควรถือปฏิบัติ ข้อความที่เขียนควรเป็นภาษาทางวิชาการ ไม่ใช้ภาษาพูดและคำสแลง การระบุชื่อบุคคลให้ระบุทั้งชื่อ นามสกุล และคำนำหน้า ถ้าเป็นบุคคลที่มียศ/ ตำแหน่งหน้าที่การงานให้ระบุไว้ด้วย หากต้องการแสดงความขอบคุณบุคคลในครอบครัวให้จัดไว้ในลำดับสุดท้าย

1.6 สารบัญ

สารบัญเป็นส่วนที่แสดงลำดับหน้าของรายงานทั้งฉบับ ซึ่งประกอบด้วยส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และ ส่วนอ้างอิง ในส่วนนำให้ใช้เป็นตัวอักษร โดยเริ่มบทคัดย่อเป็นหน้า ก ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิงให้ใช้เป็นตัวเลข ในส่วนของรายงานโครงงานที่มีการแสดงผลเป็นตารางและภาพ (รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ กราฟ ฯลฯ) ในหัวข้อสารบัญต้องมีหัวข้อสารบัญตาราง และสารบัญภาพเป็นหัวข้อย่อย แม้จะมี จำนวนเพียง 1 ตาราง / ภาพ ก็ตาม)

สารบัญตาราง (ถ้ามี)

สารบัญรูปภาพ (ถ้ามี)

1.7 คำอธิบายสัญลักษณ์และคำย่อ

เป็นส่วนที่อธิบายถึงสัญลักษณ์และคำย่อต่างๆ ที่ใช้ในการทำโครงงาน เพื่อชี้แจงให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เช่น

สัญลักษณ์ คำอธิบาย

BK กรุงเทพมหานคร

CO แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์

+ พบแบคทีเรียจำนวน 1-5 โคโลนี

++ พบแบคทีเรียจำนวน 6-10 โคโลนี

+ เส้นผ่านศูนย์กลางของ inhibition zone 6.1-9 mm

ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับมาก

ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับปานกลาง

ความคิดเห็น แสดงความพึงพอใจระดับน้อย

2. ส่วนเนื้อเรื่อง

ส่วนนี้กำหนดให้ทำแบบเป็นบท จำนวน 5 บท ประกอบด้วย

2.1 บทที่ 1 บทนำ

2.2 บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง

2.3 บทที่ 3 อุปกรณ์และวิธีดำเนินการ

2.4 บทที่ 4 ผลการดำเนินงาน

2.5 บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บทที่ 1 บทนำ

1.1 ที่มา และความสำคัญของโครงงาน

กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาหรือสิ่งที่สนใจศึกษา หรือสิ่งที่ต้องการ ปรับปรุง โดยอธิบายในภาพกว้างก่อนจากนั้นจึงเชื่อมโยงเข้าสู่หัวข้อโครงงาน ธิบายถึงความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องปัญหาที่สนใจจะศึกษาว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีอะไรเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้เรียนสนใจเป็นพิเศษ และเหตุใดจึงได้เลือกทำโครงงานนี้ โครงงานนี้มีความสำคัญอย่างไร

มีหลักการ หรือทฤษฏีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่คิดขึ้นใหม่ หรือเป็นที่ศึกษาต่อยอดจากโครงงานเดิมที่เคยทำมาแล้ว หรืออาจเป็นการทำซ้ำเพื่อตรวจสอบผลอีกครั้งก็ได้

1.2 วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ เป็นการระบุถึงสิ่งที่ต้องการพัฒนาขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ไม่ใช่นำเอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงงานมาเขียนเป็นวัตถุประสงค์ การเขียนวัตถุประสงค์อาจเขียนเป็นข้อๆ ได้ โดยต้องสอดคล้องกับสิ่งที่จะศึกษาหรือทดลองมีการเขียนที่ชัดเจน และกระชับ เช่น เพื่อศึกษา.........................เพื่อพัฒนา......................เพื่ออออกแบบ..................... เพื่อสร้าง...............................

1.3 สมมติฐาน (ถ้ามี)

สมมติฐานคือ การคาดคะเนคำตอบของปัญหาหรือสิ่งที่เราสนใจศึกษาอย่างมีเหตุผล ตามหลักการ ทฤษฎี รวมทั้งผลการศึกษาของโครงงานที่ได้ทำมาแล้ว การเขียนสมมติฐานควรชี้แนะ การออกแบบการทดลอง การสำรวจไว้ด้วย และการทดสอบประสิทธิภาพของสิ่งประดิษฐ์

1.4 ตัวแปร (ถ้ามี)

1.5 นิยามศัพท์เฉพาะ (ถ้ามี)

เป็นการให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของคำศัพท์ที่ผู้ทำโครงงานใช้ในการทำโครงงาน ซึ่งเป็นความหมายเฉพาะงานที่ทำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันทั้งผู้ทำโครงงานและผู้อ่าน เช่น การเจริญเติบโตของต้นคะน้า หมายถึง ต้นคะน้ามีความสูง ความยาวรอบลำต้น และมีจำนวนใบเพิ่มขึ้น

1.6 นิยามเชิงปฏิบัติการ (ถ้ามี)

เป็นการกำหนดความหมายและขอบเขตของตัวแปรที่อยู่ในสมมติฐานที่ต้องการทดสอบให้ เข้าใจตรงกัน และสามารถสังเกตหรือวัดได้ โดยใช้หน่วยที่เชื่อถือได้เป็นระบบสากล

ตัวอย่าง สมมติฐาน การใส่มูลไก่ในปริมาณที่แตกต่างกัน ทำให้ผักคะน้าเจริญเติบโตแตกต่างกัน

ตัวแปรต้น มูลไก่ที่ใส่ให้ต้นคะน้า

ตัวแปรตาม การเจริญเติบโตของต้นคะน้า

นิยามเชิงปฏิบัติการ

มูลไก่ หมายถึง มูลแห้งของไก่เนื้อ พันธุ์โร๊ดไอแลนด์ อายุ 3-6 สัปดาห์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จจาก CP

การเจริญเติบโตของต้นคะน้า หมายถึง การวัดความสูง ความยาวรอบลำต้น และนับจำนวน ใบของต้นคะน้าแต่ละต้นทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 25 วัน แล้วหาค่าเฉลี่ย

ต้นคะน้า หมายถึง ต้นคะน้าที่มีอายุตั้งแต่งอกจากเมล็ดและปลูกมาเป็นเวลา 20 วัน

1.7 ขอบเขตของการดำเนินงาน

เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ นักเรียนต้องกำหนดขอบเขตการทำโครงงานซึ่งได้แก่การกำหนดประชากรว่าเป็นสิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิต ระบุชื่อ กลุ่ม ประเภท แหล่งที่อยู่/ผลิต และช่วงเวลาที่ทำการทดลอง เช่น เดือน ปี รวมทั้งกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเหมาะสมเป็นตัวแทนของประชากรที่สนใจ ศึกษา และกำหนดตัวแปรที่ศึกษา ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรตาม และ ตัวแปรใดบ้างเป็นตัวแปรควบคุมเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบการทดลอง ตลอดจนมีผลต่อการเขียนรายงาน การทำโครงงานฯ ที่ถูกต้อง สื่อความหมายให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจตรงกัน

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ประกอบด้วยเนื้อหา หรือทฤษฎี จากเอกสารงานวิจัย โครงงานคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงงานของนักเรียนซึ่งมีผู้ศึกษาทดลองมาก่อน และอ้างอิงแหล่งที่มา

นักเรียนควรค้นคว้ารวบรวมผลงานจากงานวิจัย หนังสืออ้างอิง รวมทั้งโครงงานย้อนหลังให้ได้มาก ที่สุด และควรเป็นข้อมูลที่ทันสมัย สำหรับโครงงานในระดับมัธยมศึกษานั้นไม่จำเป็น ต้องสืบค้นงานวิจัย และ เอกสารอ้างอิงจนครบถ้วน แต่ให้พยายามค้นหาเท่าที่จะทำได้ โครงงานบางเรื่องอาจไม่สามารถค้นหา เอกสาร และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องได้ นักเรียนอาจกล่าวอ้างถึงผู้รู้

ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคล หรือหน่วยงาน อ้างอิงแหล่งที่มา และเพื่อความสะดวกในการเขียนรายงาน เมื่อสำรวจค้นคว้ารวบรวมผลงาน จากหนังสือ ตำรา วารสาร หนังสือพิมพ์ เอกสารเผยแพร่ หรือเว็บไซต์แล้ว นักเรียนควรรวบรวมรายชื่อเอกสารเหล่านั้นในรูปแบบที่จะนำไปเขียนในหัวข้อเอกสารอ้างอิง

บทที่ 3 อุปกรณ์และวิธีดำเนินการ

การเขียนวิธีการดำเนินงาน จำเป็นต้องเขียนเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า รูปแบบการ วิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล และ การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ยืนยันผลการศึกษา การวิเคราะห์ และการอภิปรายผล และมีรายละเอียดเพียงพอ ที่ผู้สนใจสามารถทำซ้ำได้ โดยมีหัวข้อย่อยดังนี้

3.1 วัสดุ /อุปกรณ์ และเครื่องมือพิเศษ (ถ้ามี)

วัสดุ คือ สิ่งของที่มีสภาพการใช้สิ้นเปลืองหรือเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งานโดยมีอายุการใช้งานน้อยกว่า 1 ปี อุปกรณ์ คือ สิ่งของที่มีอายุการใช้งานนาน คงทน โดยอาจรวมเครื่องมือพิเศษ ที่หาไม่ได้ทั่วไปในโรงเรียน และหากเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่รู้จักแพร่หลายควรระบุชื่อบริษัทที่ผลิต รุ่น (model) ถ้าเป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นเองต้องอธิบายหลักการ แบบ และการทำงาน

3.2 ขั้นตอนการดำเนินงาน

ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน นักเรียนต้องเขียนรายงานเรียงลำดับตามวัตถุประสงค์และสมมติฐานให้สอดคล้องและครบถ้วน ในการกล่าวถึงสิ่งเดียวกันต้องใช้คำหรือข้อความเดียวกันเสมอ นอกจากนี้ ควรกล่าวถึงการออกแบบการสำรวจ ประดิษฐ์ ทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรอย่างถูกต้องเหมาะสม อธิบายวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจ ประดิษฐ์ ทดลอง และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลไว้อย่างชัดเจน

บทที่ 4 ผลการดำเนินงาน

เป็นการรายงานผลการศึกษา การสำรวจ ประดิษฐ์ ทดลอง ที่นักเรียนได้ค้นพบด้วยตนเอง รวมทั้ง รายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูล ในการรายงานผลการดำเนินงานนี้ต้องเขียนรายงานตามลำดับหัวข้อให้ สอดคล้องกับจุดประสงค์และวิธีการดำเนินงาน ควรใช้ข้อความที่กะทัดรัดใช้คำที่ตรงกับความต้องการที่จะสื่อ ให้ผู้อ่านเข้าใจ อาจมีการจัดกระทำข้อมูลและนำเสนอในรูปของตาราง กราฟ ภาพประกอบให้เหมาะสมกับ ธรรมชาติของข้อมูลและความนิยมของแต่ละสาขาวิชาโดยก่อนจะนำเสนอด้วยตาราง ภาพ นักเรียนต้อง อธิบายผลการดำเนินงานที่ได้ให้ครบถ้วน แล้วอ้างถึงตาราง หรือภาพ โดยเขียนเป็น “ดังตารางที่...” หรือ “ภาพที่...” อาจเรียงลำดับเป็นรายบท หรือเรียงลำดับให้ต่อเนื่องตลอดทั้งส่วนเนื้อเรื่อง

บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

ในบทนี้ ต้องเขียนหัวข้อเรียงลำดับ ดังนี้

5.1 สรุปผล

การเขียนสรุปผลที่ได้จากการทำโครงงาน ถ้ามีการตั้งสมมติฐานควรระบุว่าผลที่ได้สนับสนุน หรือคัดค้านกับสมมติฐาน แล้วสรุปผล เรียงลำดับตามจุดประสงค์และผลการดำเนินงานที่ได้

5.2 การอภิปรายผล

การอภิปรายผลการดำเนินงาน เป็นการอธิบายเหตุผลที่ทำให้ได้ผลการพิสูจน์ สำรวจ ประดิษฐ์ ทดลอง อาจค้นพบองค์ความรู้ใหม่ การอภิปรายผลการดำเนินงานจัดเป็นส่วนที่แสดงถึงความรู้และความเอาใจใส่ในเรื่องที่ศึกษาค้นคว้า นักเรียนควรสืบค้นความรู้ต่างๆ มาอ้างอิง เพื่อสนับสนุนผลการดำเนินงานว่ามีคุณค่า และเชื่อถือได้ ควรอภิปรายผลการดำเนินงานเรียงลำดับตามประเด็นที่รายงานผลการดำเนินงานไปแล้วในบทที่ 4

5.3 ข้อเสนอแนะ

ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น ให้เสนอข้อควรปรับปรุงแก้ไข ปัญหา และอุปสรรค เพื่อพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ได้ หากมีผู้ต้องการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต และเนื้อหาทั้งหมดนี้จะต้อง เป็นเนื้อหาสาระที่ได้จากการทำโครงงาน รวมถึงประโยชน์ที่ได้จากการทำโครงงาน

การเขียนอ้างอิงในส่วนเนื้อเรื่อง

ในบทที่ 1 บทที่ 2 หรือบทที่ 5 ที่กล่าวมาแล้วอาจมีการอ้างอิงข้อมูลความรู้ จากเอกสาร หนังสือ ตำรา งานวิจัย หรือแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งการอ้างอิงดังกล่าว เรียกว่า การอ้างอิงในส่วนเนื้อเรื่อง ข้อมูลที่ควร อ้างอิง เช่น คำกล่าว ของบุคคลสำคัญ ตัวเลขที่แสดงจำนวนประชากรที่กล่าวถึง สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นปัญหา ผลงานการค้นคว้าวิจัยของบุคคลหรือหน่วยงาน โดยในการอ้างอิงนั้นให้นักเรียนเลือกใช้ระบบการอ้างอิงระบบใดระบบหนึ่งเพียงระบบเดียวตลอดการพิมพ์รายงานโครงงาน

ระบบการอ้างอิงในส่วนเนื้อหา ที่พบบ่อย มี 3 ระบบ คือ

1. ระบบการอ้างอิงแบบนาม-ปี เป็นการอ้างถึงแหล่งที่มาของข้อมูลโดยการแทรกเนื้อหาของเอกสารไว้ในเนื้อหา และระบุชื่อผู้เขียนกับปีที่พิมพ์ไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นตอนต้นหรือตอนท้ายของเนื้อหา

2. ระบบการอ้างอิงแบบตัวเลข เป็นการระบุหมายเลขเอกสารหรือแหล่งที่มาของข้อมูลตามลำดับที่อ้างอิง

3. ระบบการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ เป็นการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลโดยเขียนไว้ที่ส่วนล่างของหน้ารายงานเหมือนกับการทำรายการอ้างอิงไว้ท้ายเล่ม

หมายเหตุ

สำหรับนักเรียนให้เลือกใช้เพียง 2 ระบบ คือ แบบนามปี และแบบตัวเลข

3. ส่วนอ้างอิง

เป็นส่วนท้ายของรายงานโครงงาน ประกอบด้วย รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม และภาคผนวก

รายการอ้างอิงหรือบรรณานุกรม

รายการอ้างอิง เป็นรายการแสดงรายชื่อหนังสือ สิ่งพิมพ์อื่นๆ โสตทัศนวัสดุ การสัมภาษณ์ ฯลฯ ที่นำมาใช้ประกอบการทำโครงงาน การลงรายการอ้างอิง ให้พิมพ์เฉพาะเอกสารทุกรายการที่มีการอ้างถึงใน เนื้อหาของโครงงานในบทที่ 1 บทนำ หรือบทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรือบทที่ 5 สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ เท่านั้น โดยให้ใช้คำว่า เอกสารอ้างอิง (references) ถ้ามีเอกสารอื่นหรือข้อมูล อื่นที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ได้นำมาใช้อ้างในการทำโครงงาน แต่ประสงค์จะนำมารวบรวมไว้ด้วย ให้พิมพ์ต่อจาก รายการอ้างอิง โดยขึ้นหน้าใหม่และใช้คำว่า บรรณานุกรม (bibliography) ทั้งนี้การเขียนรายการอ้างอิงมีหลายระบบ นักเรียนสามารถเลือกใช้ระบบใดระบบหนึ่ง แต่ต้องเป็นระบบเดียวกันตลอดการเขียนรายงานเล่มนั้นๆ

การพิมพ์รายการอ้างอิงในขั้นสุดท้าย ไม่ว่าจะใช้การอ้างอิงแบบนาม-ปี หรือแบบตัวเลข ให้ใช้รูปแบบการพิมพ์รายการอ้างอิงเหมือนกัน โดยเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่ง จาก 2 แบบ นี้

แบบที่ 1 ปีที่พิมพ์อยู่ท้ายรายการ

แบบที่ 2 ปีที่พิมพ์อยู่หลังชื่อผู้แต่ง (ใส่วงเล็บหรือไม่ใส่ก็ได้)

ในที่นี้ได้ให้ตัวอย่างรูปแบบการพิมพ์รายการอ้างอิงและตัวอย่างการพิมพ์รายการอ้างอิงเฉพาะ แบบที่ 1 ส่วนผู้ที่ประสงค์จะใช้ แบบที่ 2 ก็ให้ใช้แบบเดียวกัน เพียงแต่ย้ายปีที่พิมพ์ มาไว้หลังชื่อผู้แต่งเท่านั้น โดยตัวอย่างรูปแบบและตัวอย่างการพิมพ์รายการอ้างอิงดังกล่าวได้คัดลอกมาจากคู่มือการพิมพ์วิทยานิพนธ์ 2548 ของบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดดังตัวอย่างรูปแบบและตัวอย่างการพิมพ์ในส่วนที่ 2

ภาคผนวก

ภาคผนวกเป็นส่วนท้ายของรายงานเชิงวิชาการ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นเนื้อหาอย่างแท้จริง เป็นเพียงส่วนประกอบที่จะสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยของผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ในกรณีของการเขียนรายงานโครงงานของนักเรียน ข้อมูลส่วนที่นำมาลงไว้ในภาคผนวก เช่น

- ข้อมูลการสำรวจ ประดิษฐ์ ทดลองที่ยังไม่จัดกระทำ

- ตาราง รูปภาพ กราฟ และแผนภาพที่ละเอียดมากๆ ซึ่งถ้าใส่ไว้ในส่วนเนื้อเรื่องจะทำให้เนื้อเรื่องยาวไม่กระชับ

- ข้อมูลของผลการทดลองเบื้องต้น

- ข้อความซึ่งเป็นรายละเอียดของเทคนิควิธีต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้สนใจได้ศึกษา

- ฯลฯ

Category: โครงงานคอมพิวเตอร์ ม.6