2.3 การออกแบบงานประดิษฐ์
หลักการทำงานประดิษฐ์
ในการทำงานประดิษฐ์เพื่อให้ได้ผลงานตามจุดหมายที่กำหนดไว้ ควรยึดหลักในการทำงานประดิษฐ์ดังต่อไปนี้
1. ศึกษารายละเอียดของงานที่จะนำมาประดิษฐ์ให้เข้าใจ ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของงานและเลือกทำสิ่งประดิษฐ์ให้เหมาะสมความรู้ ความสามารถของตนเอง และเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
2. วางแผนการทำงาน กำหนดขั้นตอนการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา แรงงาน ค่าใช้จ่ายและออกแบบรายละเอียดวิธีการประดิษฐ์ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน
3. การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทำงานประดิษฐ์ไว้ให้ครบถ้วนและใช้ให้ เหมาะสมกับการที่ออกแบบไว้ โดยทั่วไปการเลือกวัสดุมาใช้ในงานประดิษฐ์ นิยมเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือวัสดุที่มีอยู่ภายในบ้านซึ่งหาง่าย มีราคาถูก
4. ลงมือปฏิบัติงานตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ ขณะที่ทำการประดิษฐ์ เมื่อเกิดปัญหาไม่ควรท้อถอย ควรปรึกษาครูหรือผู้ที่มีความสามารถ และควรพยายามตั้งใจปฏิบัติงานต่อไปจนกว่างานจะสำเร็จ
การออกแบบงานประดิษฐ์
การออกแบบ หมายถึง การแสดงความคิด การวางแผน เพื่อกำหนดรูปแบบผลงานที่ต้องการก่อนทำงานประดิษฐ์ โดยการร่างภาพเขียนด้วยดินสอและไม้บรรทัดเท่านั้น การออกแบบมีความสำคัญมากเพราะผู้ออกแบบต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์การดัดแปลง แก้ผลงาน ให้มีรูปร่างแปลกใหม่ การออกแบบที่ดีจะช่วยให้การทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้นผลงานสำเร็จตรงตามต้อง การไม่มีผิดพลาด
หลักการออกแบบ
เมื่อจะออกแบบควรนำองค์ประกอบที่สำคัญของการออกแบบมาใช้โดยยึดหลัก ดังต่อไปนี้
1. ความสมดุล เกี่ยวข้องกับความรู้สึกในการมองเห็นทั้งด้านรูปทรง น้ำหนัก สี ความสมดุลเท่ากัน และความสมดุลที่ไม่เท่ากัน
2. สัดส่วนหมายถึงการได้ส่วนกันของสิ่งที่ออกแบบ เช่น การออกแบบดอกไม้ ส่วนประกอบดอกไม้ ใบ ก้าน ควรได้สัดส่วนดอกไม่ควรใหญ่เกินก้านและใบมากนัก
3. ความกลมกลืน คือการออกแบบวัตถุให้มีรูปทรงที่ไปด้วยกันได้ สีก็ต้องกลมกลืนกันการใช้แสง และเงาที่ไปด้วยกันได้
4. ความแตกต่าง คือการใช้ส่วนประกอบของการออกแบบที่ไม่ซ้ำกัน ใช้สีที่ไม่เหมือนกัน
5. การเน้นให้เกิดจุดเด่น คือการออกแบบที่ทำให้เกิดจุดเด่นสะดุดตา ทำให้น่าสนใจ น่าดู อาจเน้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงอย่างเดียวก็ได้ เช่น สี เส้น รูปร่าง
วิธีการออกแบบงานประดิษฐ์
1. ร่างโครงร่าง กำหนดรูปแบบ บอกขั้นตอนการประดิษฐ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จ
2. กำหนดวัสดุ หรือเศษวัสดุ ที่ต้องนำมาใช้ให้ครบถ้วน
3. กำหนดรายชื่อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้
4. กำหนดราคาทุนหรือค่าใช้จ่ายในการประดิษฐ์
5. บอกประโยชน์ของผลงานว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรดีกว่าเดิมหรือไม่