ชั่วโมงที่ 17-18

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโครงงาน

ถ้าจะทำโครงงาน จะทำได้อย่างไร ?

โครงงาน จัดเป็นงานวิจัยในระดับนักเรียน ซึ่งหมายถึง การศึกษาเรื่องราวต่างๆที่สนใจ โดยนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาและแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการวางแผนการดำเนินการการศึกษาเป็นการทำโครงงาน ลงมือศึกษา สำรวจ ดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาประมวลผลจนได้ข้อสรุปออกมาเป็นผลงานที่สมบูรณ์ โดยมีครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา และกำกับดูแลตั้งแต่การเลือกหัวข้อที่จะศึกษาค้นคว้า ดำเนินการวางแผนแบบประดิษฐ์ สำรวจทดลอง เก็บรวบรวมข้อมูลรวมทั้งการแปลผล สรุปผล และการนำเสนองาน

องค์ประกอบของโครงงาน

ถ้าเราพิจารณาโครงสร้างของร่างกายมนุษย์เราก็จะพบว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญคือ ศรีษะ ไหล่ลำตัว แขน ขา มือและเท้า นอกจากนี้ร่างกายของมนุษย์ยังมีอวัยวะอื่น ๆ อีกมากมายที่ประกอบกันทำให้เป็นร่างกายของมนุษย์สมบูรณ์ เช่น หู ตา ปาก นิ้วมือ อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม โครงงาน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ หมายถึงระบบโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดของกิจการ หรือชิ้นงานต่าง ๆ ที่เราจะต้องดำเนินการ หรือผลิตให้สำเร็จลุล่วงไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ ส่วนประกอบที่สำคัญของโครงงาน

10 ขั้นตอนการทำโครงงานอย่างง่าย

1. กำหนดแนวทางการทำโครงงานจากการสังเกตจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว

2. ระบุจุดมุ่งหมายของโครงงานในรูปของปัญหา การระบุปัญหาคือ การศึกษาสถานการณ์ ข้อเท็จจริง อาจอยู่ในรูปของข้อความ เพลง ตาราง กราฟ รูปภาพ ตามที่กำหนดให้ หรือตามความสนใจ

3. ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อโครงงาน จากหนังสือ ตำรา เอกสาร บทความ อินเทอร์เน็ต วารสารต่างๆ หรือค้นหาจากงานวิจัยที่ผู้วิจัยไว้แล้ว

4. ตั้งสมมติฐาน คือ การคาดคะเนคำตอบล่วงหน้า ก่อนทำการทดลอง โดยการสังเกต ความรู้ หรือประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐาน

5. ออกแบบวิธีดำเนินการทำโครงงานอย่างละเอียด ได้แก่ แนวทางการศึกษาค้นคว้า วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ วิธีการสำรวจ รวบรวมข้อมูลวิธีการปรดิษฐ์ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนปฏิบัติงาน เช่น กำหนดระยะเวลาในการทำการทำงานแต่ละขั้นตอน เป็นต้น

6. ดำเนินการทำโครงงานเพื่อรวบรวมข้อมูล ขั้นนี้เป็นการลงมือสร้าง ทดลองหรือศึกษาเรื่องที่สนใจ

7. บันทึกผลการปฏิบัติโครงงาน

8. สรุปผลจากข้อมูล เพื่อตอบว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ถูกต้องหรือไม่ ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ การสรุปผลเป็นการสรุปที่ให้ได้ใจความสั้นๆหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการย่อความผลการทดลองนั่นเอง

9. เมื่อนักเรียนดำเนินการทำโครงงานจนครบทุกขั้นตอนที่ต้องทำ คือ การเขียนรายงาน ขั้นตอนทั้งหมดของโครงงาน การเขียนรายงานโครงงานเป็นการนำเสนอผลงานการดำเนินการเป็นเอกสาร ซึ่งการเขียนรายงานโครงงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เป็นวิธีสื่อความหมายที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งเพื่อให้คนอื่นๆ ได้เข้าใจแนวความคิด วิธีดำเนินงานการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ผลที่ได้ ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับโครงงานนั้น

10. เผยแพร่และนำเสนอผลงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าสำเร็จแล้ว ให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ อาจทำได้ในแบบต่างๆกัน เช่นการนำแสดงในรูปแบบนิทรรศการ ซึ่งมีทั้งการจัดการแดงและการอธิบายด้วยคำพูด หรือในรูปแบบของการรายงานปากเปล่า ไม่ว่าการนำเสนอผลงงานจะอยู่ในรูปแบบใด ควรครอบคลุมประเด็นสำคัญคือ มีความชัดเจน เข้าใจง่ายและมีความถูกต้องในเนื้อหา


ส่วนประกอบและวิธีการเขียนโครงงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

ส่วนประกอบและวิธีเขียนโครงงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีรายะเอียด ดังต่อไปนี้

1. ชื่อโครงงาน 8. สมมติฐาน (ถ้ามี)

2. ชื่อผู้ทำโครงงาน 9. ขอบเขตของการทำโครงงาน

3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน 10. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหรือผลที่คาดว่าจะได้รับ

4. บทคัดย่อ 11. วิธีดำเนินงาน

5. กิตติกรรมประกาศ 12. ผลการศึกษาค้นคว้า

6. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน 13. สรุปผลและข้อเสนอแนะปัญหาอุปสรรค

7. วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน 14. เอกสารอ้างอิง ชื่อเอกสาร ข้อมูล ที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ


ขั้นตอนการทำโครงงานอย่างง่าย – โครงงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนที่ 1 การคิดเลือกหัวเรื่องและตั้งชื่อโครงงาน

ชื่อโครงงานเป็นสิ่งสำคัญประการแรก เป็นขั้นตอนสำคัญและยากที่สุด เพราะชื่อโครงงานจะช่วยเชื่อมโยงความคิดไปถึงวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน และควรกำหนดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก ควรมีความเฉพาะเจาะจงและชัดเจนและควรเป็นเรื่องแปลกใหม่ ซึ่งแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และประโยชน์ของเรื่องที่จะศึกษาด้วย หัวเรื่องควรได้มาจากความสนใจ คำถาม ปัญหา ความสงสัยหรืออยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

ข้ออควรคำนึงเกี่ยวกับการคัดเลือกเรื่องที่จะทำโครงงาน

1. เหมาะสมกับระดับความรู้

2. เหมาะสมกับระดับความสามารถ

3. วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้

4. งบประมาณเพียงพอ

5. ระยะเวลาที่ใช้ทำโครงงาน

6. มีครูหรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา

7. มีความปลอดภัย

8. มีแหล่งเรียนรู้หรือมีเอกสารเพียงพอที่จะค้นคว้า

ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อโครงงาน จากหนังสือ ตำรา เอกสาร บทความ อินเทอร์เน็ต วารสารต่างๆ หรือค้นหาจากงานวิจัยที่ผู้วิจัยไว้แล้ว รวมไปถึงการขอคำปรึกษา ขอแนะนำหรือข้อมูลต่าง ๆ จากผู้คุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนที่ 3 ออกแบบวิธีดำเนินโครงงานและการเขียนรายงาน

โดยทั่วไปเค้าโครงของโครงงานจะมีหัวข้อดังต่อไปนี้

1. ชื่อโครงงาน

ควรตั้งชื่อโครงงานการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ให้สื่อความหมายได้ชัดเจน ครอบคลุมความหมายของกิจกรรมที่ทำให้ชัดเจนว่าทำอะไร ต้องเป็นชื่อที่เหมาะสม ชัดเจน ดึงดูดความสนใจ และเฉพาะเจาะจงว่าจะทำอะไร ไม่ควรตั้งชื่อโครงงานที่มีความหมายกว้างเกินไปตัวอย่างเช่น โครงงานจิตใจใสสะอาด กวาดลานวัด , โครงงานรักใสๆห่วงใยใส่ถุง , โครงงานรู้ทันน้ำ รู้ทันสึนามิ

2. ชื่อผู้ทำโครงงาน

เป็นชื่อผู้รับผิดชอบโครงงาน ในกรณีงานกลุ่มต้องระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนให้ชัดเจน พิจารณาความเหมาะสมในด้านความสามารถ โอกาสในการทำงาน กำลังทุนทรัพย์สินของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบว่า โครงงานอยู่ในความรับผิดชอบของใครและสามารถติดตามได้ที่ใด หรือโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของใคร เมื่อมีปัญหาจะได้ติดต่อประสานงานได้อย่างง่าย

3. ชื่อที่ปรึกษาโครงงาน

การเขียนชื่อครูทีปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ควรใหเกียรติยกย่องเผยแพร่ รวมทั้งขอบคุณที่ได้แนะนำการทำโครงงานจนบรรลุเป้าหมาย

4. บทคัดย่อ

เป็นการอธิบายสรุปถึงที่มา และความสำคัญของโครงงานอย่างครอบคลุมประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ โครงงานนี้มุ่งทำอะไร (วัตถุประสงค์) ดำเนินการทำอย่างไร (วิธีดำเนินการ) และผลที่ได้เป็นอย่างไร (ผลการศึกษาทดลอง)

5. กิตติกรรมประกาศ

ส่วนใหญ่การทำโครงงานเป็นกิจกรรมที่มักจะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ จึงควรกล่าวขอบคุณบุคลากร หน่วยงานต่างๆที่มีส่วนช่วยให้โครงงานนี้สำเร็จ

6. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน

ในการเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงาน ผู้จัดทำโครงงานต้องศึกษาหลักการ ทฤษฏีกี่ยวกับเรื่องที่สนใจจะศึกษา หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆว่า เรื่องที่สนใจจะศึกษานั้นต้องมีทฤษฏี แนวคิดมาสนับสนุน เพราะ ความรู้เหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญในเรื่องต่อไปนี้

- แนวทางการตั้งสมมติฐานของเรื่องที่จะศึกษา

- แนวทางในการออกแบบการทดลองหรือการรวบรวมข้อมูล

- ใช้ประกอบการอภิปรายผลการศึกษา ตลอดจนเสนอแนะเพื่อนำความรู้และสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบไปใช้ประโยชน์ต่อไป

การเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงาน คือ การอธิบายให้กระจ่างชัดว่า ทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร หากไม่ทำจะเกิดลเสียอย่างไร ซึ่งมีหลักการเขียนคล้ายเรียงความทั่วไป คือมี ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา และส่วนสรุป

7. วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน

คือ การกำหนดวัตุประสงค์ปลายทางที่ต้องการจากการทำโครงงาน ในการเขียนวัตถุประสงค์ ต้องเขียนให้ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย สอดคล้องกับชื่อโครงงาน หากมีวัตุประสงค์หลายประเด็นให้ระบุเป็นข้อๆ การเขียนวัตถุประสงค์มีความสำคัญต่อแนวทางการศึกษา ตลอดจนความรู้ที่ค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบนั้นจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วน คือ ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุกๆข้อ

8. สมมติฐาน (ถ้ามี) ** ส่วนใหญ่ใช้กับโครงงานประเภทการทดลอง

สมมติฐานของการศึกษา เป็นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้จัดทำโครงงาน ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะทำให้เป็นการกำหนดแนวทางในการออกแบบการศึกษาให้ชัดเจนและรอบคอบ ซึ่งสมมติฐาน คือการคาดคะเนคำตอบของปัญหาอย่างมีหลักการและเหตุผล ตามหลักการ ทฤษฏี รวมถึงผลการศึกษาของโรงงานที่ได้ทำมาแล้ว

9. ขอบเขตของการทำโครงงาน

ผู้จัดทำโครงงาน ต้องให้ความสำคัญต่อการกำหนดขอบเขตของการทำโครงงาน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตลอดจนตัวแปรที่ศึกษา

9.1) การกำหนดประชากร คือ สมาชิกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัย

9.2) การกำหนดกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา คือ สมาชิกส่วนหนึ่งของประชากร และกลุ่มตัวอย่างที่ดีนั้นจะต้องเป็นตัวแทนของประชากร โดยความจำเป็นของการใช้กลุ่มตัวอย่างคือมีความเป็นไปได้ในการเก็บข้อมูล มีความประหยัดและมีประสิทธิภาพ

9.3) ระยะเวลาดำเนินการ เป็นการกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานทั้งโครงงาน

9.4) เนื้อหา เป็นการเขียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการศึกษา ค้นคว้า ถ้ามีหลายเรื่องให้เขียนเป็นข้อย่อยๆ

9.5) งบประมาณ การจัดทำโครงงานทุกครั้งต้องมีการ ประมาณค่าใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า จัดทำรายละเอียดรายจ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงงาน เป็นการระบุถึงจำนวนเงิน จำนวนบุคคล จำนวนวัสดุ-อุปกรณ์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน เพราะงบประมาณเป็นตัวช่วยให้งานสำเร็จลงได้ถ้าขาดงบประมาณแล้วทุกอย่างก็อาจล้มเหลวได้

การจัดทำงบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินงานโครงงาน ผู้วางแผนโครงงานควรต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 4 ประการในการจัดทำโครงงาน โดยจะต้องจัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอและจะต้องใช้อย่างประหยัด ดังนี้

1. ความประหยัด (Economy)

2. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

3. ความมีประสิทธิผล (Effectiveness)

4. ความยุติธรรม (Equity)

9.6) นิยามศัพท์เฉพาะ เป็นการอธิบายควาหมายของตัวแปรที่ศึกษา และบอกวิธีการทดลองของตัวแปรเหล่านั้น เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบการทดลอง ตลอดจนมีผลต่อการเขียนรายงานการทำโครงงานที่ถูกต้อง สื่อความหมายให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจตรงกัน

10. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับหรือผลที่คาดว่าจะได้รับ

ให้ระบุผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงงาน เป็นผลที่ได้รับโดยตรงและผลพลอยได้หรือผลกระทบจากโครงงานเป็นผลในด้านดีที่ คาดว่าจะได้รับจะต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์และเป้าหมาย

11. วิธีดำเนินการ

คือ วิธีการช่วยให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการทำโครงงานตั้งแต่เริ่มเสนอโครงงานกระทั่งสิ้นสุดโครงงาน ประกอบด้วย

11.1) การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา คือ การบอกสมาชิกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัย

11.2) วิธีการดำเนินการ คือ การบอกวิธีการสร้างโครงงานที่ศึกษา ค้นคว้ามา เป็นลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากการบอก วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ แล้วบอกวิธีการสร้างโครงงานนั้นๆ เช่น นักเรียนทำโครงงานเรื่องการศึกษาลายผ้าบาติกแบบโมเดิร์น ก็ให้บอกวิธีการสร้างลายผ้าบาติกแบบโมเดิร์นเป็นลำดับขั้นตอน เพื่อให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจวิธีการตรงกันและสามารถทำตามได้

11.3) การสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบวัดความพึงพอใจ แบบทดสอบ เป็นต้น

11.4) การเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การนำโครงงานที่ศึกษา ค้นคว้า นำมาให้กลุ่มตัวอย่างได้ศึกษา ทดลองใช้ หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ผู้จัดทำสร้าง เช่น แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบวัดความพึงพอใจ แบบทดสอบ เป็นต้น

11.5) การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำผลที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูล มาวิเคราะห์ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ สถิติ เพื่อที่จะนำไปสรุปผลออกมาเป็นข้อความ กราฟ แผนผัง ฯลฯ ต่อไป

ในการเขียนวิธีดำเนินการให้ระบุกิจกรรมที่จะทำให้ชัดเจน ว่าจะทำอะไรบ้าง เรียงลำดับกิจกรรมก่อน-หลัง ให้ชัดเจน เพื่อสามารถนำโครงงานไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้อง

12. ผลการศึกษาค้นคว้า

คือ การนำเสนอข้อมูล หรือผลการศึกษาต่างๆที่สังเกตรวบรวมได้ รวมทั้งเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ได้ด้วย

13. สรุปผลและข้อเสนอแนะปัญหาอุปสรรค

สรุปผลที่ได้จากข้อมูลการศึกษา ถ้ามีการตั้งสมมติฐาน ควรระบุด้วยว่า ข้อมูลที่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านกับสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือยังสรุปไม่ได้ นอกจากนี้ควรกล่าวถึงการนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ การดำเนินงานตามโครงการนี้ มีปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง ทั้งในด้านตัวบุคคลที่ร่วมงาน ขั้นตอนการปฏิบัติ ภัยธรรมชาติ พร้อมชี้แจงสาเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย รวมทั้งแนวทางแก้ไข ปัญหาและอุปสรรคที่ไม่เป็นไปตามแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ระยะเวลา วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดด้วย รวมทั้งข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไข หากมีผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องทำนองนี้ต่อไปในอนาคต

14. เอกสารอ้างอิง ชื่อเอกสาร ข้อมูล ที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ

ให้บอกชื่อผู้แต่งหนังสือครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์ หรือแหล่งข้อมูลที่นักเรียนใช้ค้นคว้า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนโครงงาน (ถ้ามีแหล่งค้นคว้ามากกว่า 5 แหล่ง ใช้คำว่า บรรณานุกรม) ควรเขียนตามหลักการนิยม

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติโครงงาน

เป็นการดำเนินงานตามแผนที่ได้กำหนดไว้ในเค้าโครงของโครงงาน และต้องมีการจดบันทึกข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด จัดทำอย่างเป็นระบบ เป็นระเบียบ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นข้อมูลต่อไป

การติดตามและการประเมินผล

เป็นวิธีการหรือเทคนิคในการดูแลและควบคุมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ต้องบอกให้ชัดเจนว่าก่อนเริ่มทำโครงงาน ระหว่างทำโครงงานและหลังการทำโครงงาน จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างไร เป็นการระบุว่ามีการติดตาม การควบคุม การกำกับ และการประเมินผลโครงงานอย่างไร จะประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานโครงงานได้อย่างไรใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยระบุวิธีหรือเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินด้วย ทั้งนี้หัวข้อของการประเมินจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามโครงงานด้วย

ดังนั้น เพื่อให้การติดตามและประเมินผลโครงการสอดคล้องระหว่างการวางแผนกับการปฏิบัติงาน ควรพิจารณาดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ

1. ประเมินผลก่อนการทำโครงการ หรือก่อนการปฏิบัติงาน

2. ประเมินผลระหว่างที่มีการทำโครงงาน

3. ประเมินผลภายหลังการทำโครงงาน (เมื่อเสร็จสิ้นโครงงาน)

ขั้นตอนที่ 5 การเขียนรายงาน

ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ ชัดเจน และครอบคลุมประเด็นสำคัญของโครงงาน โดยสามารถเขียนให้อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสรุป รายงานผล ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อต่าง ๆ เช่น บทคัดบ่อ บทนำ เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 6 การแสดงผลโครงงาน

การแสดงผลโครงงาน เป็นการนำเสนอผลงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าให้ผู้อื่น ได้รับรู้และเข้าใจอาจจะทาในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดนิทรรศการ การรายงานปากเปล่า การรายงานประกอบสไลด์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น การแสดงผลงานโครงงานทำได้หลายระดับ เช่น

1. การจัดแสดงผลงานภายในชั้นเรียน

2. การจัดนิทรรศการภายในโรงเรียนเป็นการภายใน

3. การจัดนิทรรศการในงานประจำปีของโรงเรียน

4. การส่งผลงานเข้าร่วมในการแสดงหรือประกวดภายนอกโรงเรียน

5. การจัดนิทรรศการ

การแสดงผลงานเป็นงานขั้นสุดท้ายและการนาเสนอโครงงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญ อีกประการหนึ่งของการทำโครงงาน เพราะสะท้อนการทำงานของนักเรียน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ทำ การตอบข้อซักถาม บุคลิกท่าทาง ท่วงท่า วาจา ไหวพริบปฏิภาณ นักเรียนควรได้รับการฝึกบุคลิกภาพในการนำเสนอให้สง่าผ่าเผย พร้อมทั้งฝึกให้มีมารยาทในการฟังด้วย การเสนอผลงานโครงงานมีหลายลักษณะคือ

6.1 บรรยายประกอบแผ่นใส / สไลด์คอมพิวเตอร์

6.2 บรรยายประกอบแผงโครงงาน

6.3 การจัดนิทรรศการ

6.3.1 นิทรรศการ คือ การนำวัสดุหรือสื่อแสดงหลายๆอย่าง เช่น ของจริง หุ่นจำลอง ภาพวาด ภาพถ่าย ป้ายนิเทศ ภาพโฆษณา ฯลฯ มาจัดแสดงเพื่อให้ผู้ดูได้เห็นและเกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางหลายแง่มุม ซึ่งโดยทั่วไปมักแบ่งนิทรรศการออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. นิทรรศการถาวร เป็นการรวบรวมวัสดุหรือสื่อแสดงอื่นๆมาจัดแสดงไว้ในสถานที่หนึ่งเป็นการถาวร ส่วนใหญ่สื่อที่จัดในนิทรรศการถาวรนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก การจัดนิทรรศการถาวร ได้แก่ การจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

2. นิทรรศการชั่วคราว เป็นการแสดงหรือรวบรวมวัสดุต่างๆ มา จัดเป็นเรื่องราวเฉพาะเรื่องบางโอกาส เช่น การจัดนิทรรศการเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือวาระโอกาสพิเศษ การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

3. นิทรรศการเคลื่อนที่ เป็นการเก็บรวบรวมวัสดุหรือสื่อแสดงต่าง ๆมาจัดแสดงเป็นเรื่องราวเฉพาะเรื่องเช่นเดียวกับการจัดนิทรรสการชั่วคราวแต่วัสดุสิ่งของต่างๆที่จัดไว้ จะจัดในลักษณะที่เตรียมไว้ให้สะดวกต่อการเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงไปยังสถานที่ต่าง ๆได้ด้วย

6.3.2 หลักในการจัดนิทรรศการ

การจัดนิทรรศการในโรงเรียนหรือในชั้นเรียนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นการจัดนิทรรศการแบบชั่วคราว โดยมีนักเรียนเป็นผู้มีส่วนในการจัดหาอุปกรณ์หรือจัดวางอุปกรณ์ แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมความสามารถสังเคราะห์ความรู้ไว้กับนักเรียน

1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการจัดนิทรรศการว่าต้องการจัดเพื่อ อะไร และต้องการให้ใครดูบ้าง การจัดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อาจจัดในห้องเรียนเป็นครั้งคราวเพื่อให้นักเรียนในห้องดู

2. เลือกเรื่องที่ต้องการจัด และกำหนดเนื้อสาระของเรื่องว่าต้องการในเนื้อสาระอะไรบ้าง และมีขอบเขตมากน้อยเพียงใด

3. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ที่จะจัดวางวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆรวมทั้งทิศทางการเข้าชมนิทรรศการของผู้ดูด้วย

4. ถ้าเป็นการจัดนิทรรศการเพื่อให้นักเรียนเข้าชมพร้อมกัน หลายๆห้องควรมีการวางแผนในการประชาสัมพันธ์ด้วย

ขนาดผังโครงงานแบบพื้นฐาน

ใบงานที่ 11.pdf

ห้นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปของโครงงานเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบ ถูกต้องครอบคลุมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยทำใบงานที่ 11 เรื่องการสืบค้นข้อมูลความรู้ทั่วไปของโครงงาน โดยการพิมพ์ส่งเป็น ไฟล์ PDF