เอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานระบบประกันคุณภาพ

เอกสารงานที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

คู่มือแนวทางการดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. (ใหม่)


#การจัดส่งรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ประจำปีการศึกษา 2563 ผ่านระบบ e-SAR  (#หนังสือ สพฐ.ที่ ศธ.04004/ ว 625 ลงวันที่ 14 พ.ค.64)

           #การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self - Assessment Report : SAR)เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่เป็นการนำข้อมูลผลการประเมินตามมาตรฐานของสถานศึกษาจากการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล มาจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเอง เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมาภายใต้บริบทของสถานศึกษา ตลอดจนนำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเตรียมการรับการประเมินคุณภาพภายนอกต่อไป

            #เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 และ สทศ.สพฐ. มีฐานข้อมูลการรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การดำเนินงานของสถานศึกษา และสามารถนำผลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

              #ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการดังนี้

              1. ส่งผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา โดยระบุระดับคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาทั้งภาพรวมและรายมาตรฐาน โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มทาง QR code หรือ ทาง shorturl.asia/w4WcK และแจ้งข้อมูลมายัง สทศ. สพฐ. ทาง e-mail : qa.obec@gmail.com ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

              2. ส่งรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ประจำปีการศึกษา 2563 ของสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัด มายัง สทศ.สพฐ.โดยผ่านระบบจัดเก็บรายงานการประเมินตนเอง (e-SAR) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) เพื่อเข้าใช้งานในระบบจัดเก็บรายงานการประเมินตนเอง (e-SAR) ที่ได้แจ้งไปแล้ว

————————————————

#แนวทางการจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self-Assessment Report: SAR) ประจำปีการศึกษา 2563

1.สถานศึกษาสามารถกำหนดรูปแบบรายงานผลประเมินตนเองของสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสมและตามบริบทของสถานศึกษา โดยนำเสนอข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การนำเสนอข้อมูลไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ควรมีความกระชับ จับประเด็นสำคัญ ๆ มานำเสนอ และมีที่มาของหลักฐาน ข้อมูล ร่องรอยที่สะท้อนคุณภาพอย่างชัดเจน การจัดทำต้องไม่ยุ่งยากและไม่เป็นภาระให้กับสถานศึกษา เนื้อหาที่นำเสนอมุ่งตอบคำถาม 3 ข้อ ดังนี้

       1.1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด

       1.2 ข้อมูล หลักฐาน ร่องรอยและเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง

       1.3 แผนงาน โครงการ แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพอย่างไร

2.โครงสร้างของรายงานผลการประเมินตนเองประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1) บทสรุปสำหรับผู้บริหาร และ 2) เนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง ที่ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ (1) ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา และ (2) ผลการประเมินตนเอง

3.เนื้อหาที่นำเสนอในรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ทั้งบทสรุปผู้บริหาร และเนื้อหาสาระของการประเมินตนเอง มีแนวทางการนำเสนอข้อมูล ดังนี้

        3.1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร เป็นการสรุปสาระสำคัญที่ได้มาจากสาระที่นำเสนอในส่วนที่เป็นเนื้อหาการประเมินตนเอง มีการสะท้อนข้อมูลคำถาม 3 ข้อข้างต้น ควรนำเสนอไม่เกิน 2 หน้า โดยบทสรุปการประเมินตนเองจะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อ 1) กระชับ รวบรัด จับประเด็นสำคัญ และมีที่มาของหลักฐานที่ชัดเจน  2) เป็นการประเมินไม่ใช่แค่บรรยาย ระบุคุณภาพผลการประเมินที่ได้ 3) สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบของสิ่งโรงเรียนที่ได้ลงมือทำเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ (เช่น ด้านผู้เรียน ด้านผู้สอน ด้านบริหาร ด้านปัจจัยพื้นฐาน เป็นต้น)

        3.2 ผลการประเมินตนเอง มีเนื้อหาดังนี้

              3.2.1 ข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ให้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษาตามความเหมาะสมตามบริบทของสถานศึกษา ประมาณ 3-5 หน้า ใช้ภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย การนำเสนออาจเป็นความเรียง ตาราง แผนภูมิ รูปภาพ หรือกราฟ เช่น ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลผู้บริหาร ข้อมูลนักเรียน  ข้อมูลครูและบุคลากร ข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลสภาพชุมชนโดยรวม เป็นต้น

             3.2.2 การตอบคำถามข้อ 1 มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษามีระดับคุณภาพใด ให้ระบุระดับคุณภาพของสถานศึกษา นำเสนอทั้งรายด้าน จำนวน 3 มาตรฐาน และภาพรวมของสถานศึกษา ซึ่งระดับคุณภาพจะประกอบไปด้วย 5 ระดับ คือ ระดับกำลังพัฒนา ระดับปานกลาง ระดับดี ระดับดีเลิศ และระดับยอดเยี่ยม

            3.2.3 การตอบคำถามข้อ 2 ข้อมูล หลักฐาน ร่องรอยและเอกสารเชิงประจักษ์สนับสนุนมีอะไรบ้าง ให้เน้นนำเสนอข้อมูล หลักฐานการประเมินเชิงประจักษ์ที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามสภาพจริงของสถานศึกษา โดยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและสะท้อนคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจน ข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบผลการประเมินได้ตามสภาพบริบทของสถานศึกษานั้นๆ โดยข้อมูลที่นำเสนอในการตอบคำถามข้อ 2 นี้ ต้องครอบคลุมมาตรฐานของสถานศึกษาแต่ละด้านที่ได้กำหนดไว้อาจจำแนกเป็นรายด้าน เช่น

           (1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน สะท้อนถึงคุณภาพและการผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET, NT) ผลการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ความสามารถของผู้เรียนในการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศ จำนวนหรือร้อยละของผู้เรียนที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรในระดับดีขึ้นไป จำนวนและร้อยละของผู้เรียนมีสุขภาพที่ดี (สะท้อนคุณภาพและความสามารถของผู้เรียนที่เกิดจากกระบวนการบริหารจัดการและจัดการเรียนการสอน) เป็นต้น

           (2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เช่น ผลการประเมินสมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา ข้อมูลการบริหารจัดการของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลจำนวนผู้ปกครองนักเรียนที่รับทราบข่าวสารจากสถานศึกษา ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานของสถานศึกษา ข้อมูลการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของชุมชนและสังคม เป็นต้น

             (3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ข้อมูลที่นำเสนอทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพควบคู่กัน เช่น จำนวนและร้อยละของผู้สอนมีการประเมินสมรรถนะในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลจำนวนผู้สอนที่สอนตรงตามวุฒิการศึกษาและมีภาระงานที่เหมาะสม ข้อมูลผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลผู้สอนที่มีความสามารถและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการจัดการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป ข้อมูลความสามารถของครูในการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ข้อมูลผู้สอนที่ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย คุณภาพของสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ทำให้ผู้เรียนค้นพบความถนัด รู้จักอาชีพ และแนวทางการศึกษาต่อ เป็นต้น

             3.2.4 การตอบคำถามข้อ 3 แผนงาน โครงการ แนวทางพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม (อย่างน้อย 1 ระดับ) หรือคงสภาพ อย่างไร โดยสถานศึกษานำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพ เพื่อยกระดับให้สูงขึ้น สถานศึกษาอาจนำเสนอแผนงาน/โครงการที่จะพัฒนาออกเป็นด้านต่าง ๆ ตามความสามารถที่จะดำเนินการได้ เช่น แผนงาน/โครงการพัฒนาด้านคุณภาพผู้เรียน ด้านการพัฒนาคุณภาพครูในเรื่องต่าง ๆ  ด้านการพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการของสถานศึกษา เป็นต้น

             เนื้อหาการประเมินตนเองในส่วนที่สองนี้ควรมีความยาวไม่เกิน 30 หน้า ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถนำเสนอข้อมูลอื่น ๆ มาเสนอในภาคผนวกได้เช่นกัน แต่ข้อมูลที่นำเสนอในภาคผนวกจะต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่ให้การจัดทำเอกสารมีจำนวนมากและเป็นภาระในการดำเนินการ (ไม่ควรนำเสนอข้อมูลเหล่านี้มาไว้ในภาคผนวก เช่น ภาพถ่ายกิจกรรม การแสดง ภาพนิทรรศการ ภาพโล่รางวัล เกียรติบัตร เพราะมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ในรูปแบบของสารสนเทศอื่นๆ อยู่แล้ว)

4.สถานศึกษาควรจัดส่งรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2563 ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดก่อนวันเปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 เพื่อหน่วยงานต้นสังกัดจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผน พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และใช้เป็นข้อมูลสำหรับรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

————————————————

https://bet.obec.go.th/New2020/


งานประกันคุณภาพการศึกษา สพม 42


เริ่มมีคำถาม ว่า sar ปีนี้. เป็นอย่างไร  Admin ขอเสนอแนวคิด ในการเขียนรายงาน SAR  ดังนี้ค่ะ

ในช่วงปลายปีการศึกษา  2563 ภารกิจหลักของสถานศึกษา เกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 คือ การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self – Assessment Report : SAR )  ซึ่งสถานศึกษาต้องดำเนินการหลังจากจัดการศึกษาผ่านไปแต่ละปีการศึกษา เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ภายใต้บริบทของสถานศึกษาโดยสารสนเทศในรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษานั้นเป็นผลของการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา ครูและบุคลากรทุกคน ในสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการประเมินและให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของตนเอง

สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา เป็นอย่างมาก ทำให้ต้องปิดสถานศึกษาด้วยเหตุพิเศษ ในหลายพื้นที่ แทบจะทั่วประเทศไทย ปฏิทินของการเปิด-ปิดภาคเรียน ก็ต้องเลื่อน อีกทั้งมีการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบพิเศษ โดยใช้เทคโนโลยีการจัดการศึกษาทางไกลในรูปแบบ ทั้ง ระบบ On Air, Online, On site , On demand, และ On hand  นอกจากนี้ยังส่งผลต่อรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ปีงบประมาณ 2564 ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสมศ. ได้กำหนดแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แบ่งการประเมินเป็น 2 ระยะ

          #การประเมินระยะแรก เป็นการประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษา ซึ่งส่งผ่านต้นสังกัด การประเมินจะพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏใน SAR และเอกสารประกอบที่แนบมากับ SAR เท่านั้น (ไม่ขอเอกสารเพิ่มเติมจากสถานศึกษาเพื่อลดภาระของสถานศึกษา) การสรุปผลการประเมิน SAR ออกเป็น 3 ระดับตามรายมาตรฐาน คือ ดี พอใช้ และปรับปรุง

           #การประเมินระยะที่สอง เป็นการประเมินจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site visit) โดยมีกำหนดเวลาน้อยสุด ไม่มีการประชุมสรุปผลการประเมินด้วยวาจาที่สถานศึกษา เพื่อลดการสัมผัสและยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยผลการประเมินจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site visit) มี 5 ระดับแยกตามรายมาตรฐาน คือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง

เมื่อการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษา ดังนั้นรายงาน SAR ของปีการศึกษา 2563 นอกจากแนวทางการจัดทำรายงานผลการประเมินการประเมินตนเอง ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สำนักทดสอบทางการศึกษา ได้กำหนดไว้ สถานศึกษาควรต้องศึกษาเกณฑ์การประเมินรายงาน SAR ของ สมศ เพื่อที่จะต้องเขียนรายงาน ให้ครอบคลุมของเกณฑ์ในการประเมินรายงานการประเมินตนเอง ของ สมศ อีกด้วย ซึ่ง ตัวชี้วัดการประเมิน SAR ที่ สมศ. กำหนด มาจากระบบคุณภาพ หรือวงจรคุณภาพ  (Plan Do Check Act) หรือ P D C A ตัวชี้วัด มี 5 ตัวชี้วัด

1 .มีการเขียน P-Plan การวางแผน กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานแต่ละมาตรฐานใน SAR

2. มีการเขียน D-Do ระบุ วิธีการ โครงการ กิจกรรมที่ดำเนินการใน SAR

3. มีการเขียน C-Check มีการระบุการกำกับติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการตามแผน และการประเมินอย่างเป็นระบบ มีเครื่องมือ วิธีการ ผู้ที่ร่วมประเมินใน SAR

4. มีการเขียน A-Act  มีการระบุการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไข ใน SAR

5. มีการระบุ แจ้ง A  คือ รายงานผลการประเมินให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ และ นำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาต่อ

 ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมิน SAR การศึกษาขั้นพื้นฐาน  ประเมิน SAR รายมาตรฐาน โดยตรวจหาคำในรายงานที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัดดังนี้

มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน พิจารณา 5 ตัวชี้วัด

1. มีการระบุเป้าหมายคุณภาพของผู้เรียน

2. มีการระบุวิธีพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเป็นระบบตามเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน

3. มีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน

4. มีการนำผลประเมินคุณภาพของผู้เรียนไปพัฒนาผู้เรียนด้านผลสัมฤทธิ์ให้สูงขึ้น

5. มีการนำเสนอผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

มาตรฐานที่ 2  กระบวนบริหารและการจัดการ พิจารณา 5 ตัวชี้วัด

1. มีการวางแผนการดำเนินการในแต่ละปีการศึกษา

2. มีการนำแผนการดำเนินการไปใช้ดำเนินการ

3. มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผน

4. มีการนำผลการประเมินฯ ไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขในปีการศึกษาต่อไป

5. มีการนำเสนอผลการบริหารจัดการของสถานศึกษาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ

มาตรฐาน ที่ 3 การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พิจารณา 5 ตัวชี้วัด

1. ครูมีการวางแผนการสอนครบทุกรายวิชา ทุกชั้นปี

2. ครูทุกคนมีการนำแผนการสอนไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้

3. มีการตรวจสอบและประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ

4. มีการนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียน

5. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน

เกณฑ์ตัดสิน พิจารณาจากมีชื่อหลักฐานหรือข้อมูลปรากฏใน SAR ตามจำนวนตัวชี้วัด

มี 0 - 3 ข้อ  ระดับคุณภาพปรับปรุง

มี 4 ข้อ  ระดับคุณภาพ พอใช้

มี 5 ข้อ  ระดับคุณภาพ ดี

เมื่อ เกณฑ์การประเมิน SAR การศึกษาขั้นพื้นฐาน  ที่ประเมิน SAR เป็น รายมาตรฐาน โดยใช้วิธีตรวจหาคำที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัด  การเขียนรายงาน SAR ควรดำเนินการให้ครอบคลุม กระบวนการ PDCA รวมไปถึงการรายงานต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง หน่วยงานต้นสังกัด และสาธารณชน  รับทราบว่าสถานศึกษาได้บริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมายที่สถานศึกษาได้วางไว้และเป็นไปตามที่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สถานศึกษากำหนดมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาตนเองของสถานศึกษา ในจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของตนเองในอนาคต

 กล่าวโดย สรุป การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา  SAR เป็นภารกิจตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่สถานศึกษาต้องดำเนินการหลังจากจัดการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ภายใต้บริบทของสถานศึกษา โดยสารสนเทศในรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา นั้นเป็นผลของการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา ซึ่ง ครูและบุคลากรทุกคน ในสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการประเมิน และให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของตนเอง ซึ่งจะต้องมีการประเมินเป็นระยะ อย่างสม่ำเสมอ และใช้ผลการประเมินระหว่างปี ปรับปรุงการทำงานตลอดเวลา ในการประเมินผลการดำเนินงานแต่ละระยะ ให้บันทึกข้อมูลพร้อมจัดทำและเก็บรวบรวมสารสนเทศ และเอกสารร่องรอยหลักฐานอย่างเป็นระบบไว้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป เมื่อดำเนินการประเมินคุณภาพภายในเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษา ต้องจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาให้บุคลากรในสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียนผู้ปกครองและสาธารณชนรับทราบว่าสถานศึกษาได้บริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ได้บรลุเป้าหมายที่สถานศึกษาได้วางไว้และเป็นไปตามที่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สถานศึกษากำหนดมากน้อยเพียงใดพร้อมทั้งเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาตนเองของสถานศึกษาในจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของตนเองในอนาคต อีกทั้งหน่วยงานต้นสังกัด สามารถใช้ผลการประเมินจากรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของสถานศึกษาในสังกัดต่อไป

#ทำงานที่เรารักกันค่ะ

Admin เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก งานประกันคุณภาพการศึกษา สพม 42