บทที่ 1 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา

ความเจริญในด้านต่างๆ เป็นผลมาจากการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และประยุกต์มาใช้ในการพัฒนางานทางด้านต่างๆ ที่เรียกว่า “เทคโนโลยี” (Technology)

ความหมายของเทคโนโลยีและเทคโนโลยีการศึกษา

เทคโนโลยี (Technology) มาจากภาษาลาตินว่า Texere แปลว่า การสาน (To weave) หรืออีกนัยหนึ่งมาจากคำว่า “Technologia” ซึ่งมาจากภาษากรีก หมายถึง การทำอย่างมีระบบ ซึ่งได้มีผู้ให้นิยามต่างๆ ไว้ดังนี้

คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good, 1973) ให้ความหมายไว้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงระบบนั้นๆ

เจมส์ ดี ฟินส์ (Jemes D.Finn, 1972) กล่าวว่า เทคโนโลยีมีความหมายลึกซึ้ง ไปกว่าประดิษฐ์กรรม เครื่องมือ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ แต่หมายถึง กระบวนการ แนวความคิด แนวทาง หรือวิธีการในการคิด ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เอดการ์ เดล (Edgar Dale, 1969) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เทคโนโลยี มิใช่เครื่องมือ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ แต่เป็นแผนงาน วิธีการทำงานอย่างมีระบบ ที่ทำให้งานนั้นบรรลุตามแผนงานที่วางไว้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมาย “เทคโนโลยี” ไว้ว่าเป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม

จากแนวคิดต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า “เทคโนโลยี” หมายถึง การนำแนวคิด หลักการ เทคนิค วิธีการ กระบวนการ ตลอดจนผลิตผลทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในระบบงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงระบบงานนั้นๆ ให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันในวงการต่างๆ เช่น เกษตร แพทย์ อุตสาหกรรม ธุรกิจ ทหาร ต่างก็นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาชีพของตนอย่างเต็มที่อันจะเอื้ออำนวยในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านประสิทธิภาพ (Efficiency) เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานนั้นสามารถบรรลุผล ตามเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

2. ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) เทคโนโลยีจะช่วยให้การงานนั้นได้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มที่

3. ประหยัด (Economy) จะช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นผลทำให้ราคาของผลิตนั้นราคาถูกลง

4. ปลอดภัย (Safety) เป็นระบบการทำงานที่อำนวยให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ในปัจจุบัน ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ในหลายวงการ จากประโยชน์นานัปการที่ได้รับจากเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ทางด้านการศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เรียกว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นให้การดำเนินการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2526) ได้ให้นิยามไว้ว่า “เทคโนโลยีการศึกษา”เป็นระบบการประยุกต์ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วัสดุและผลิตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ อุปกรณ์โดยยึดหลักการทางพฤติกรรมศาสตร์ ได้แก่ วิธีการ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา ทั้งด้านการบริหาร หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีการศึกษา เป็นระบบการนำวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษา ให้สูงขึ้น

สันทัด และ พิมพ์ใจ (2525) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาความรู้ แนวความคิด กระบวนการ ตลอดจนวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good, 1973) ได้กล่าวว่า “เทคโนโลยีการศึกษา” หมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน มากกว่าที่จะยึดเนื้อหาวิชา มีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง

กิดานันท์ มลิทอง (2543) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา

คณะกรรมการกำหนดศัพท์และความหมายของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา (AECT, 1979) อธิบายว่า “เทคโนโลยีการศึกษา” (Educational Technology) เป็นกระบวนการที่มีการบูรณาการอย่างซับซ้อน เกี่ยวกับบุคคล กรรมวิธี แนวคิด เครื่องมือและองค์กร เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา การสร้าง การประยุกต์ใช้ การประเมินผลและจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกลักษณะ หรืออาจได้ว่า “เทคโนโลยีการศึกษา”และขั้นตอนการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงแหล่งการเรียนรู้ที่ได้มีการออกแบบ เลือกและนำมาใช้เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายคือ การเรียนรู้ นั่นเอง

จากความหมายของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ข้างต้น ได้มีการขยายแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากพื้นฐานทางทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) มาสู่พุทธิปัญญานิยม (Cognitivism) และรังสรรคนิยม (Constructivism) ประกอบทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมพิวเตอร์ ได้มีการปรับเปลี่ยนความหมายให้เหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลง


เทคโนโลยีการศึกษา หรือเทคโนโลยีการสอน (Instructional Technology)

หมายถึง ทฤษฎีและการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา การใช้ การจัดการและการประเมินผลของกระบวนการและแหล่งการเรียนสำหรับการเรียนรู้ (Seels, 1994)

จากความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แหล่งการเรียนอาจจำแนกได้เป็นสาร (Message) คน (People) วัสดุ (Materials) เครื่องมือ (Devices) เทคนิควิธีการ (Techniques and Setting) กระบวนการในการวิเคราะห์ปัญหา การสร้างหรือการผลิต การนำไปใช้ (Implementing) ตลอดจนการประเมินการแก้ปัญหานั้น จะกล่าวไว้ในส่วนของการพัฒนาการวิจัยเชิงทฤษฎีการออกแบบ การผลิต การประเมินผล การเลือก (Evaluation Section) ตรรกศาสตร์(Logistics) การใช้และการเผยแพร่ ส่วนในเรื่องของกระบวนการของการอำนวยการหรือการจัดการ ส่วนหนึ่งจะกล่าวไว้ในเรื่องของการบริหารจัดการองค์กร บุคคล ซึ่งความสัมพันธ์ของส่วนประกอบดังกล่าว แสดงไว้ในโมเดลขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาที่จะกล่าวต่อไป

จากแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการศึกษา” อาจสรุปได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสาขา ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับบุคคล กรรมวิธี แนวคิด เครื่องมือ อุปกรณและองค์กรอย่างซับซ้อน โดยการวิเคราะห์ปัญหา การผลิต การนำไปใช้และประเมินผลเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์

นวัตกรรมทางการศึกษา

นวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การทำสิ่งใหม่ๆ หรือการทำสิ่งใหม่ขึ้นมา มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Innovate และมาจากคำว่า Innovare ซึ่งหมายถึง to renew, to modify อาจแปลความหมายได้ว่า ทำใหม่หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ เข้ามา นอกจากนี้ ยังมีนักการศึกษาให้คำนิยามต่างๆ ไว้ดังนี้

มอร์ตัน (J.A. Morton, 1973) กล่าวว่า “นวัตกรรม” หมายถึง การปรับปรุงของเก่าให้ใหม่ขึ้นและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้น นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุง เสริมแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ

ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2526) ได้ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ไว้ว่า หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมา หรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสม และ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ได้รับการทดลองพัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดี ในทางปฏิบัติ ทำให้ระบบ ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บุญเกื้อ ครวญหาเวช (2543) กล่าวว่า นวัตกรรมการศึกษา หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ๆ อาจอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์เข้ามาในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิม ให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากความหมายของนวัตกรรมที่กล่าวมา ดังนั้น “นวัตกรรมการศึกษา” คือ การนำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดหรือการกระทำ หรือสิ่งประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยหลักการ ทฤษฎีที่ได้ผ่านการทดลองวิจัย จนเชื่อถือได้ เข้ามาใช้ในการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการเรียนการสอน

e-Book

CAI

e-Learning

ลักษณะเด่นที่จัดว่าเป็นนวัตกรรมการศึกษา

1. ต้องเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมด หรือบางส่วนอาจใช้เป็นของเก่าที่ใช้ในอดีตแล้วนำมาปรับปรุงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

2. มีการ ศึกษา ทดลอง โดยอาศัยหลักการ ทฤษฎี มาใช้อย่างเป็นระบบ

3. มีการพิสูจน์ด้วยการทดลองหรือวิจัย

4. ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน หากว่าสิ่งใหม่นั้นได้มีการเผยแพร่ จนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แล้วจะกลายเป็นเทคโนโลยี

ความเป็นมาและพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการศึกษา

รากฐานของเทคโนโลยีการศึกษามีประวัติมายาวนาน โดยเริ่มจากสมัยกรีก คำว่า Technologia หมายถึง การกระทำอย่างเป็นระบบ หรืองานฝีมือ (Craft) ชาวกรีก ได้เป็นผู้ที่เริ่มใช้วัสดุในการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง โดยการแสดงละคร ใช้ดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของชาวกรีกและโรมันโบราณ ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษานอกสถานที่ ส่วนการสอนศิลปะได้มีการนำรูปปั้น รวมทั้งการแกะสลักเข้ามาช่วยในการสอน ดังนั้น ในสมัยนั้นเห็นถึงความสำคัญของทัศนวัสดุที่ช่วยในการเรียนการสอน

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา

กลุ่มที่มีชื่อเสียงกลุ่มหนึ่งได้แก่ กลุ่มโซฟิสต์ (Sophist) เป็นกลุ่มครูผู้สอน ชาวกรีก ได้ออกทำการสอนความรู้ต่างๆ ให้กับชนรุ่นเยาว์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มี ความฉลาดปราดเปรื่องในการอภิปรายโต้แย้ง ถกปัญหา จนได้รับการขนานนามว่าเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษากลุ่มแรก และกลุ่มโซฟิสต์ที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา ได้แก่ โสเครติส (Socretes) พลาโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การวางรากฐานของปรัชญาตะวันตก

บุคคลที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ โจฮัน อะมอส คอมินิอุส (Johannes Amos Comenius คศ. 1592-1670) เป็นผู้ที่ใช้วัสดุสิ่งของที่เป็นของจริงและรูปภาพ เข้ามาช่วยในการสอนอย่างจริงจัง รวมทั้งแนวคิดในเรื่องวิธีการสอนใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้วัสดุของจริงมาใช้ในการสอน ตลอดจนการรวบรวมหลักการสอน จากประสบการณ์ที่ทำการสอน มา 40 ปี นอกจากนี้ ได้แต่งหนังสือที่สำคัญอีกมากมายและที่สำคัญคือ Obis Sensualium Pictus หรือที่เรียกว่า “โลกในรูปภาพ” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบบทเรียนต่างๆ ผลงานของ คอมินิอุส ได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาตลอดมา จนได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งโสตทัศนศึกษา

พัฒนาการของคอมพิวเตอร์เพื่อการสอน (Instructional Computer Roots)

คอมพิวเตอร์มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับนวัตกรรมการศึกษา (Innovations) ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ยุคแรกจะนำอิเลคทรอนิกส์ดิจิตอลมาใช้ในการสร้างประวัติศาสตร์ของการพัฒนาคอมพิวเตอร์อาจแบ่งเป็น 5 ช่วง คือ

ยุคที่ 1 อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2501 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลอดสุญญากาศซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าสูง จึงมีปัญหาเรื่องความร้อนและไส้หลอดขาดบ่อย ถึงแม้จะมีระบบระบายความร้อนที่ดีมาก การสั่งงานใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสตัวเลขที่ยุ่งยากซับซ้อน เครื่องคอมพิวเตอร์ของยุคนี้มีขนาดใหญ่โต เช่น มาร์ค วัน (MARK I), อีนิแอค (ENIAC), ยูนิแวค (UNIVAC)

ยุคที่ 2 อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2506 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทรานซิสเตอร์ โดยมีแกนเฟอร์ไรท์เป็นหน่วยความจำ มีอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำรองในรูปของสื่อบันทึกแม่เหล็ก เช่น จานแม่เหล็ก ส่วนทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาดีขึ้น โดยสามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นประโยคที่คนสามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาฟอร์แทน ภาษาโคบอล เป็นต้น ภาษาระดับสูงนี้ได้มีการพัฒนาและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคที่ 3 อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวม (Integrated Circuit : IC) โดยวงจรรวมแต่ละตัวจะมีทรานซิสเตอร์บรรจุอยู่ภายในมากมายทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์จะออกแบบซับซ้อนมากขึ้นและสามารถสร้างเป็นโปรแกรมย่อยๆ ในการกำหนดชุดคำสั่งต่างๆ ทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีระบบควบคุมที่มีความสามารถสูงทั้งในรูประบบแบ่งเวลาการทำงานให้กับงานหลายๆ อย่าง

ยุคที่ 4 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวมความจุ สูงมาก (Very Large Scale Integration : VLSI) เช่น ไมโครโพรเซสเซอร์ที่บรรจุทรานซิสเตอร์นับหมื่นนับแสนตัว ทำให้ขนาดเครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงสามารถตั้งบนโต๊ะในสำนักงานหรือพกพาเหมือนกระเป๋าหิ้วไปในที่ต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันระบบซอฟต์แวร์ก็ได้พัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้นมาก มีโปรแกรมสำเร็จให้เลือกใช้กันมากทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานอย่างกว้างขวาง

ยุคที่ 5 เป็นคอมพิวเตอร์ที่มนุษย์พยายามนำมาเพื่อช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการเก็บความรอบรู้ต่าง ๆ เข้าไว้ในเครื่อง สามารถเรียกค้นและดึงความรู้ที่สะสมไว้มาใช้งานให้เป็นประโยชน์ คอมพิวเตอร์ยุคนี้เป็นผลจากวิชาการด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรปกำลังสนใจค้นคว้าและพัฒนาทางด้านนี้กันอย่างจริงจัง

ขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาและเทคโนโลยีการสอน

1. การออกแบบ (Design) แสดงให้เห็นถึงการสร้างหรือก่อให้เกิดทฤษฏีที่กว้างขวางที่สุดของเทคโนโลยีการสอน ในศาสตร์ทางการศึกษา

2. การพัฒนา (Development) ได้มีการเจริญก้าวหน้า และแสดงให้เห็นแนวทาง ในการปฏิบัติ

3. การใช้ (Utilization) ทางด้านนี้ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า ดังเช่น ด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้มีการดำเนินการกันมากเกี่ยวกับการใช้ สื่อการสอนกันมากมาย แต่ยังมีด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้สื่อการสอนที่มิได้รับการใส่ใจ

4. การจัดการ (Management) เป็นด้านที่เป็นหลักสำคัญของสาขานี้ เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับแหล่งการเรียนรู้ ที่จะต้องสนับสนุนในทุกๆองค์ประกอบ ซึ่งจะต้องมีการจัดระเบียบและแนะนำ หรือการจัดการ

5. การประเมิน (Evaluation) ด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับการประเมินเพื่อปรับปรุง (Formative Evaluation)