หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 สิ่งแวดล้อมและการประยุกต์ใช้

ความหมาย “กัญชง” หรือเรียกอีกอย่างว่า “เฮมพ์​ (Hemp)” เป็นพืชในวงศ์ CANNABACEAE วงศ์เดียวกับ “กัญชา” หรือ Marijuana ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังสามารถแยกแยะได้จากลักษณะลำต้นและใบ ซึ่งกัญชงจะมีลักษณะต้นสูงกว่าและใบที่เรียวยาวและสีอ่อนกว่า และนอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว กัญชงยังมีลักษณะทางเคมีที่แตกต่างกับกัญชาอีกด้วย โดยกัญชงมีปริมาณของสารทีเอชซี ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างต่ำ ในขณะที่มีสารซีบีดีที่ช่วยในการรักษาโรคบางชนิดในปริมาณที่สูงกว่ากัญชา

ประวัติกัญชงกัญชง

กัญชงควรค่ากับสมญานามคำว่าพืชมหัศจรรย์ได้แน่หรือกัญชง คือพืชพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาภาคเหนือมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง (Hmong) ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับกัญชงตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวม้งจึงรู้จักปลูกกัญชง สั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ

ในภาษาม้ง เรียกกัญชงว่า "หมั้ง'' หรือ "ม่าง'' ชาวม้งเชื่อว่าเทพเจ้าหรือเย่อโซ๊ะ เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ และได้ประทานพันธุ์พืชให้มนุษย์ได้ใช้ ซึ่งก็คือ "หมั้ง หรือ กัญชง'' นั่นเอง ชาวม้งใช้ใบกัญชงแทนใบชา ใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคและเป็นยาบํารุงเลือด โดยเคี้ยวเมล็ดสดๆ เพื่อเป็นยาสลายนิ่ว ใช้เปลือกมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้สอยในชีวิตประจําวัน

ในคติความเชื่อชาวม้ง "กัญชง'' เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์ โลกของเทพเจ้า และโลกของบรรพบุรุษ ถือเป็นของมงคล ชาวม้งจึงลอกเส้นใยจากเปลือกกัญชง นำมาทำเป็นสายสิญจน์ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ผูกมือให้กับเด็กที่เกิดใหม่ ใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง นำมาทอเป็นเสื้อผ้าใส่ในงานมงคลและวันปีใหม่ แม้แต่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมถึงรองเท้าของชาวม้งที่เสียชีวิต ล้วนทําจากใยกัญชงทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อว่า จะสามารถเดินทางไปสู่สวรรค์ และสื่อสารกับวิญญาณบรรพชนได้ หากไม่ใส่เสื้อผ้าที่ทอจากใยกัญชงแล้ว วิญญาณของผู้นั้นจะต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ดังนั้น กัญชงจึงเป็นพืชดั้งเดิมที่ใช้ประโยชน์ตามประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าม้งมานานแล้ว

ด้วยกัญชงมีลักษณะใกล้เคียงกับกัญชา จนคนทั่วไปแทบจะแยกไม่ออก รัฐจึงมีนโนบายห้ามปลูกกัญชงในประเทศไทย ทำให้ชาวม้งเสียอาชีพไป อีกทั้งชาวม้งในประเทศไทยยังต้องสั่งซื้อผ้าใยกัญชงเพื่อใช้ในพิธีกรรมจากม้งประเทศลาว เมื่อผ้าใยกัญชงกลายเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ ผลผลิตจากประเทศลาวไม่เพียงพอ ม้งลาวจึงต้องไปรับซื้อผ้าจากม้งแถบจีนยูนนานแม่ค้าชาวม้งจึงต้องเดินทางไปแลกเปลี่ยนซื้อขายใยกัญชง จนกลายเป็นเครือข่ายเชื่อมการค้าขายระหว่างลาว จีน และไทย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงผลักดันให้มีการศึกษา และส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรม มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ศึกษาวิจัยสายพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดต่ำ จนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์และทดลองปลูกกัญชงในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก และเพชรบรูณ์

เมื่อศูนย์ศิลปาชีพได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมที่ถักทอผ้าจากใยกัญชง จนเรียกว่าทําเท่าไหร่ ก็ไม่พอขาย ในปี 2557 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้ส่งเสริมการปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ ที่บ้านใหม่คีรีราษฎร์และบ้านใหม่ยอดคีรี ตําบลคีรีราษฎร์ อําเภอพบพระ จังหวัดตาก ในพื้นที่ 97 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายไปถึง 150 ไร่ โดยจัดสรรงบประมาณรวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าใยกัญชง พัฒนาเครื่องมือในการลอกเปลือกกัญชงออกจากลำต้น เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลาการผลิต และพัฒนาผืนผ้าทอให้มีลวดลายที่เก๋ไก๋หลากหลายกว่าเดิม

จากนั้นเป็นต้นมา ผ้าทอใยกัญชงในบ้านเราก็เข้าสู่ยุคพัฒนา มีการทอผสมกับฝ้าย ทอผสมกับไหม หรือแม้แต่ทอผสมกับเส้นใยผ้ายีนส์ จึงได้ลักษณะของเนื้อผ้าที่แตกต่างกันออกไป เมื่อปรับปรุงดีไซน์ให้ทันสมัย จนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักงานหัตถกรรม

เส้นใยกัญชงของไทย จัดว่าเป็นวัสดุชั้นดี ระดับพรีเมี่ยม เพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี เมื่อปลูกจนลำต้นสูงได้ที่ประมาณ 2 เมตร จึงตัดต้น รีดกิ่งและยอดออก แล้วนำไปตากแดด 1 สัปดาห์ พอแห้งแล้ว จึงนำมาลอกเปลือกออก ต่อกันให้เป็นเส้นยาว ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้า เพื่อฟอกให้นุ่มและเหนียว ก่อนย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยผู้แก่ผู้เฒ่าในหมู่บ้านจะช่วยกันม้วนเส้นใยกัญชงเป็นก้อน เป็นไจ เช่นเดียวกับไหมพรม เพื่อง่ายต่อกระบวนการผลิต จากนั้นกระจายไปให้สมาชิกในหมู่บ้าน ถักออกมาเป็นผลงานหลากหลายชนิด อาทิ เสื้อ กระโปรง กระเป๋า หมวก ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน เป็นต้น

ในต่างประเทศนั้น มีการใช้เครื่องที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ สามารถดึงเอาลิกนิน (สารใยความแข็งแกร่ง) ที่ผูกเส้นใยกัญชงออก ทำให้ได้เส้นใยที่อ่อนนุ่มเท่ากับเส้นใยของผ้าฝ้ายและผ้าขนสัตว์ สามารถนำมาทอย้อมได้เนื้อผ้าละเอียดนุ่มทนทาน

ด้วยประโยชน์จากเส้นใยกัญชงที่เหนียวนุ่ม แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนล่อน ป้องกันรังสียูวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมเนื้อผ้ายังมีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กัญชงจึงถูกนำมาแปรรูป ทําเป็นเครื่องนุ่งห่มมาเนิ่นนาน ยิ่งในประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้ว ชาวญี่ปุ่นถือว่าใยกัญชงเป็นเส้นใยมงคล เฉกเช่นเดียวกับชาวม้ง ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมนำมาตัดกิโมโน (ราคาหลักแสนบาทไทย) เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี ทุกวันนี้ผ้าใยกัญชงกลายเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Hermes Prada Converse Vans เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงของไทยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ส่งออกไปญี่ปุ่น ที่เหลือส่งไปยุโรป เช่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

อะไรคือกัญชง และแตกต่างจากกัญชาอย่างไร

"กัญชง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ "กัญชา” (Marijuana) แต่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือ สารเสพติด (Tetrahydrocannabinol: THC) น้อยมาก ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ 1-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในกัญชงมีค่า THC ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ถึงกระนั้นในประเทศไทย กัญชงก็ยังถูกจัดเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงปลูกอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในพื้นที่ควบคุมเท่านั้น

ชาวม้งเองก็ไม่ใช้ต้นกัญชงมาสูบ เพราะจะทำให้ปวดศีรษะ ดังนั้นในหลายๆ ประเทศจึงถือว่ากัญชงไม่ใช่ยาเสพติด และอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยควบคุมให้มีสาร THC ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งส่วนมากจะต่ำกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นในประเทศออสเตรเลีย ที่มีค่า THC 0.5-1.0 เปอร์เซ็นต์

กัญชง เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ที่สำคัญปลูกเพียง 3-4 เดือน
ก็สามารถใช้การได้ ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยหรือกำจัดวัชพืช กัญชงคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่อากาศ หนาวเย็นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 600 เมตร ดังนั้นจึงส่งเสริมให้ปลูกแต่ในภาคเหนือเท่านั้น ประเทศไทยโชคดีที่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่เหมาะสมกับพืชกัญชง จึงสามารถปลูกได้ 2-3 ครั้งต่อปี

ประโยชน์มหาศาลของกัญชง

กัญชง ถือว่าเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งต้น ใบ เมล็ด เปลือก สามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 25,000 ชนิด ตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นําเส้นใยมาทําเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อีกทั้งทำเสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทำเยื่อกระดาษ (โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์ธนบัตร) วัสดุหีบห่อ ฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก ทำอิฐ (Hempcrete) หรือคอนกรีต สำหรับงานก่อสร้าง ทำส่วนประกอบรถยนต์ ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น พรม เก้าอี้ เป็นต้น

นอกจากนั้นน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ยังใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน วิตามินอี และโอเมก้าสูงมาก โดยนำไปทำเป็นอาหาร เช่น เส้นพาสต้า คุกกี้ ขนมปัง เบียร์ ไวน์ ซอส น้ำมันพืช เนยเทียม ชีส นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยรักษาไมเกรน โรคเกาต์ โรคบิด โรคลมชัก อีกทั้งนำไปทำน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ แชมพู โลชั่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว รักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อช่วยดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วยจากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดถือได้ว่า กัญชงเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้จริง

"กัญชง” พืชเศรษฐกิจความหวังใหม่ของประเทศไทยนอนาคต

ปลายปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ควบคุมให้ปลูกได้ใน 6 จังหวัด 15 อำเภอของภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ (อ.แม่วาง อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.แม่แจ่ม) เชียงราย (อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สาย) น่าน (อ.นาหมื่น อ.สันติสุข อ.สองแคว) ตาก (อ.พบพระ) เพชรบูรณ์ (อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ อ.เมือง) แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง) โดยสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้ต้องมีนั้นจะต้องมีสาร THC ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงและอุตสาหกรรมอาหารจากกัญชงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ ในทวีปยุโรป เช่น ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน นิวซีแลนด์ มีองค์กรระดับชาติที่ส่งเสริมการปลูกกัญชงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสหรัฐอเมริกามียอดขายผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการผลิตกัญชงมากที่สุด และส่งออกกัญชงไปสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง สร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกรชาวจีน อีกทั้งจีนยังได้จดสิทธิบัตรไว้จำนวนมาก ซึ่งกัญชงยังถูกจัดเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน

ในอนาคต เส้นใยกัญชงจะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมีทั้งหมด เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับประเทศไทย โลกของเส้นใยไหมกัญชง (Hemp Silk) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ดีที่สุดและกำลังมีอนาคตที่สดใสในอุตสาหกรรมผ้าทอกัญชง หากประเทศไทยสามารถขยายฐานการปลูกกัญชงได้แล้วละก้อ กัญชงจะเป็นพืชสำคัญที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวม้ง ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ภาคการเกษตรเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีพของประชากรเป็นส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดวิถีชีวิต ประเพณี รวมถึงค่านิยมและความเชื่อต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมาหลายรุ่นอายุคนจนเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อการทำเกษตรกรรม โดยมีการประกอบอาชีพทางการเกษตรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่ว เช่น วัฒนธรรมข้าวที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่อง “แม่โพสพ” เป็นวัฒนธรรมความเชื่อด้านการเห็นคุณค่า และประโยชน์ของข้าวที่นำมารับประทาน และใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีประเพณีการนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรกับความเชื่อเรื่องของ “พระแม่คงคา” การใช้ดินในการเพาะปลูกกับความเชื่อเรื่องของ “พระแม่ธรณี” เป็นต้น ซึ่งล้วนสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องของการดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงธรรมชาติรอบตัว หรือที่เรียกว่า “นิเวศวัฒนธรรม” ประกอบไปด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบในการตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิตในการดำรงชีพเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในเขตที่สูง อย่างเช่น พื้นที่ภูเขาหรือดอย ในเขตที่ราบหรือที่ราบสูง อย่างเช่น พื้นที่แทบภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียง เหนือ หรือแม้แต่เขตชายฝั่งทะเลทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ โดยในแต่ละพื้นที่ล้วนมีวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่แตกต่างกัน มีการเพาะปลูกพืชการเกษตรแตกต่างกันตามความเหมาะสมของพื้นที่ และสภาพอากาศ รวมถึงความแตกต่างทางวิถีชีวิต และความเชื่อ ซึ่งรวมแล้วเรียกว่า “รากเหง้าทางวัฒนธรรม” เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับการปลูกกัญชง จัดว่าเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาที่ชัดเจนในเรื่องการศึกษาวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่ผสมผสานอยู่ในรากเหง้าวัฒนธรรมที่มีการสืบต่อกันมาจากรุ่นบรรพบุรุษ และยังคงมีการดำเนินอยู่ในปัจจุบัน พืชทางการเกษตรที่เรียกว่า “กัญชง” หรือ “เฮมพ์” ดังกล่าวนี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับต้น “กัญชา” โดยเฮมพ์หรือกัญชงนั้นมีบทบาทต่อวิถีการดำรงชีพของชาวม้งเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการเร่งพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็วก็ตาม แต่ยังคงมีชาวม้งที่อาศัยตามชุมชนบนพื้นที่ราบสูงตามดอยยังคงมีการทอผ้าจากเส้นใยเฮมพ์ตามวิถีชีวิต และความเชื่อดั้งเดิม เพื่อการดำรงชีพทั้งทอเพื่อสวมใส่เองในครัวเรือน และเพื่อจำหน่ายสู่ตลาด นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากเส้นใยเฮมพ์ที่ได้จากลำต้นเรียกว่า Long bast fiber ซึ่งเป็นเส้นใยที่เหนียวที่สุดในโลก โดยมีกระบวนการทำเพื่อให้ได้เส้นใย และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเหนือ, 2544) แม้ว่า “เฮมพ์” จะมีบทบาทต่อวิถีชีวิตชาวม้งมานานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเชื่อ ความศรัทธา ที่มีมาตั้งแต่อดีต แต่เนื่องจาก เฮมพ์ ถูกจัดว่าเป็นพืชผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ. 2562 จึงถือว่าการปลูกโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เนื่องด้วยบริบททางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีการสืบทอดมายาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงพบว่าชาวม้งยังมีการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทำสิ่งทอต่าง ๆ อีกทั้งการปลูกเฮมพ์เพื่อนำมาทอผ้าเป็นวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวม้ง จึงทำให้กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเพราะขัดกับสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตชาวม้งอย่างมาก หากแต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมการผลิตได้ตามอำนาจและหน้าที่หรือด้วยข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้นในสภาวะการณ์ปัจจุบัน เราจึงยังสามารถพบเห็นการปลูกเฮมพ์ของชาวม้งบนพื้นที่ราบสูงได้ในหลายพื้นที่ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อรัฐบาลไทยได้รับกระแสพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้มีพระราชดำรัสรับสั่งให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยได้ปลูกเฮมพ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลพบพระ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษที่ทางรัฐบาลมีการประกาศให้มีการส่งเสริม และสนับสนุนการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และในเชิงอุตสาหกรรม เฮมพ์จึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวม้งที่บ้านใหม่ยอดคีรี ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สืบต่อมาในปัจจุบัน ชาวม้งมีความเชื่อว่า เมล็ดกัญชงหรือเฮมพ์ที่ปลูกนั้น เป็นเมล็ดที่ได้รับการประทานมาจากพระเจ้า และยังเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้มนุษย์อีกด้วย นอกจากจะมีการปลูกเฮมพ์เพื่อนำเส้นใยมาทอผ้า เพื่อใช้นุ่งห่มในการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีการใช้เฮมพ์ในการประกอบพิธีกรรม และความเชื่อต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การสานเส้นใยเฮมพ์ให้เป็นรองเท้า เพื่อใช้สำหรับคนตายใส่เดินทางไปสวรรค์ การต่อเส้นใยเฮมพ์ให้มีความยาว เพื่อใช้เป็นสายสิญจน์ หรือแม้กระทั่งการนำเฮมพ์มาใช้ในพิธีที่สำคัญ คือ “พิธีอัวเน้ง” หรือ “พิธีเข้าทรง” ซึ่งเป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวม้งมาตั้งแต่สมัยโบราณนอกจากนี้ตามวัฒนธรรมของชาวม้งนั้น ผู้หญิงหรือภรรยาของทุกบ้านจะมีหน้าที่ภายในบ้าน คือ การทอผ้า โดยผู้หญิงทุกคนจะต้องทอผ้าเป็น เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเสื้อผ้าขาย ทำให้ต้องมีการทอผ้า เพื่อใช้ในครัวเรือนกันเอง โดยการทอผ้านั้นจะต้องทอให้ทันงานวันขึ้นปีใหม่ เพื่อที่จะได้สวมใส่ผ้าใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองต้อนรับวันปีใหม่ด้วย แต่ละครัวเรือนจะมีการเริ่มปลูกเฮมพ์ตั้งแต่เดือนเมษายน และจะเริ่มทอผ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน จากนั้นจึงนำผ้าทอมาย้อมคราม หากผู้หญิงบ้านไหนไม่ขยัน ก็จะทำให้ทอผ้าเสร็จไม่ทันใช้ใส่วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคนทอผ้าบ้านนั้นเป็นคนขี้เกียจ ดังนั้นผู้หญิงทุกครัวเรือนจึงต้องทอผ้าเป็น หากทอผ้าไม่เป็น ผู้หญิงคนนั้นจะหาสามีไม่ได้ เพราะมีความเชื่อกันว่า ผู้หญิงคนนั้นทำอะไรไม่เป็น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ยังคงสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จากที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการทอผ้าจากใยกัญชงหรือเฮมพ์ที่พบได้ในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธา จารีต และประเพณี ตลอดจนกระบวนการ และวิธีการทอ วิธีลอกเส้นใยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งกลายเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่ประกอบไปด้วย ความรู้ ความสามารถ รวมกับค่านิยม และความเชื่อเรื่องระหว่างคนกับธรรมชาติ ตลอดจนคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการทางจารีตประเพณี วิถีชีวิต การทำมาหากิน และพิธีกรรมต่าง ๆ ดังเช่น กลุ่มชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่มีการปลูกเฮมพ์ และมีการลอกเส้นใยจากลำต้น และนำมาทอผ้า ที่ได้มีการสืบทอดต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ภูมิปัญญาท้องถิ่น…จากคุณค่าสู่มูลค่า การพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้น สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เพิ่มมากขึ้นกว่าภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว โดยเป็นการพัฒนาจากทุนทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1) จับต้องได้ (Tangible) และ 2) จับต้องไม่ได้ (Intangible) โดยการใส่เรื่องราว (Story) และเนื้อหา (Content) ของวัฒนธรรมนั้นลงไปในผลิตภัณฑ์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, 2561) เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นส่งผลให้เกิดมูลค่าที่สูงขึ้นได้ เช่นเดียวกันกับ กรณีบ้านใหม่ยอดคีรี อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่มีการรวมกลุ่มทอผ้าจากใยกัญชงหรือเฮมพ์ โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ทั้งวิธีการปลูก การลอกเส้ยใยจากลำต้น รวมทั้งวิธีการทอ การย้อมเส้นใยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย ตลอดจนมีการออกแบบป้ายผลิตภัณฑ์สินค้า และถุงบรรจุภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ และมีความทันสมัยมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้ และเกิดการสร้างงานในชุมชนขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ และในเกือบทุกปีเกษตรกรมีการปลูกพริก ปลูกข้าวโพด และพืชไร่ต่าง ๆ แต่ผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกนั้นขายไม่ได้ราคาหรือราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรชาวม้งประสบปัญหาการขาดทุน ดังนั้นการรวมกลุ่มทอผ้าจากใยกัญชงหรือเฮมพ์ ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถสร้างรายได้ชดเชย และทำให้คุณภาพชีวิตของชาวม้งดีขึ้น
นอกจากนี้ จากการเล่าเรื่องของผู้นำชุมชน พบว่า ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงหรือเฮมพ์นั้น เริ่มจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเสร็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมหมู่บ้านชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และชาวม้งได้ทำการถวายผ้าที่ทอจากใยกัญชงหรือเฮมพ์สำหรับพระองค์ ท่านทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า
“ชอบ สวยจัง แม่ชอบผ้าใยกัญชง ทอเป็นไหม สอนให้ลูกหลานทอเป็นเยอะๆ และให้ชาวม้งทอส่งให้แม่ได้ไหม”
หลังจากนั้น ชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จึงร่วมกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าใยกัญชง โดยทอผ้ามาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน และมีการทอผ้าส่งในวัง และศูนย์ศิลปาชีพฯ เรื่อยมา ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP และจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้า มีการพัฒนาผ้าทอใยกัญชงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น หรือมีการพัฒนานำผ้าทอมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ทำเป็นผ้าพันคอ เสื้อสูท และกระเป๋า เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากกัญชงหรือเฮมพ์ยังคงอยู่ในรูปแบบของการทอ โดยนอกเหนือจากการทอส่งในวัง และศูนย์ศิลปาชีพฯ แล้ว ยังมีการจำหน่ายสินค้าในช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งขายภายในพื้นที่ชุมชนเอง เนื่องจากมีคนจากภายนอกมาดูงานแทบทุกวัน และการออกบูทงาน OTOP ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐได้เชิญไปออกงาน ทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น แม้ว่ารายได้ที่รับเพียงพอต่อการดำรงชีวิต หรือพอมี พอกิน พอใช้เลี้ยงครอบครัวอยู่รอดแบบปีต่อปีหรือเดือนต่อเดือนเท่านั้น หากแต่ยังไม่ถึงระดับที่จะมีเงินเก็บออม แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีในชุมชนมีงานทำ ไม่ต้องไปรับจ้างที่อื่น ทั้งนี้ทุกคนมีความภาคภูมิใจในงานหรือสิ่งที่ทำเพราะนอกเหนือจากจะสามารถหารายได้ด้วยตนเองได้แล้ว ยังเป็นการรักษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวม้งไว้ได้ด้วยเช่นกัน โดยตอนหนึ่งของการลงพื้นที่สำรวจตามโครงการวิจัย ผู้นำชุมชนกล่าวกับทีมวิจัยว่า แม้ว่าชาวม้งที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จะเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก แต่กลับแสดงจุดยืนที่สำคัญ และหนักแน่นของผู้นำชุมชนได้อย่างชัดเจน ทำให้ยังคงมีการทอผ้า และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด แม้ว่าในปัจจุบันอาจต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ได้แก่ เรื่องการผลิตที่ติดขัดกับข้อบังคับทางกฎหมาย ปัญหาในเรื่องของการขออนุญาตปลูก ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังไม่มีการกระจายหรือส่งขายมากนัก รวมทั้งไม่มีความต่อเนื่องทางการตลาด นอกจากนี้ ทางกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าใยกัญชงหรือเฮมพ์นี้ ยังขาดความรู้ในเรื่องของการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมและให้การสนับสนุนในเรื่องดังที่กล่าวมานี้ ชุมชนยังคงต้องการความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือภาคเอกชนที่สนใจให้ความร่วมมือสนับสนุน เพื่อการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และชาวม้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เฮมพ์” กับการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสร้างสรรค์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ หากมีการผลักดันไปสู่การส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้สำเร็จ ด้วยประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ที่สามารถสร้างออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อยู่มากมายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่งดงาม อาทิ การทอผ้าไหม การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องเงิน การทำเครื่องทอง หรือแม้แต่งานจักรสานจากย่านลิเภา เส้นกก ใยตาล และผักตบชวา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาจากวัสดุทางธรรมชาติที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สามารถทำให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนับว่าเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่จากรากเหง้าวิถีชีวิตดั้งเดิมมาสานต่อ และพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม