การประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักพอประมาณมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนพื้นฐานจิตใจที่มีคุณธรรม และใช้ความรู้อย่างรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวังเพื่อให้ชีวิตสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่ทุกคนทุกองค์กรทุกชุมชน ทุกประเทศ สามารถนำไปใช้ในทุกกิจกรรม ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืนและมีความเหมาะสม คือมีความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้ม กันในตัวที่ดี พอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ได้ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในการขับเคลื่อนและน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา เพื่อให้สามารถจัดกระบวนการเรียน และพัฒนาเป็นไปอย่างมีคุณภาพด้วยความยั่งยืน จึงมีการพัฒนา “สถานศึกษาพอเพียง” ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา” ซึ่งในการขับเคลื่อนนั้น ” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องมุ่งพัฒนาที่ตัวครูก่อนเป็นอันดับแรก เพราะครูถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ดังนั้นจึงควรส่งเสริมครูให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ก่อน เพราะเมื่อครูเข้าใจ ครูก็จะได้เป็นแบบอย่างทีดีให้แก่เด็กได้ ครูจะสอนให้เด็กรู้จักพอ ครูจะต้องรู้จักพอก่อน โดยอยู่อย่างพอเพียงและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีสติในการเลือกรับข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้ามา รู้จักเลือกรับและรู้จักต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ หมั่นศึกษา เพิ่มพูนความรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ก้าวกระโดด ในการเลือกรับข้อมูลนั้น ต้องรู้จักพิจารณารับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รู้จักแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประเมินความรู้และสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบุคลากร ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ซึ่งประกอบด้วย อาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงแหล่งเรียนรู้ ฐานเรียนรู้ และ/หรือ กิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัย อยู่อย่างพอเพียง นอกจากนั้น โรงเรียนยังมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก ในการขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีกด้วย