ดนตรีศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพมนุษย์

Post date: Jan 16, 2011 12:12:01 AM

“ดนตรีศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพมนุษย์”

สรุปคำบรรยายในชั้นเรียนปริญญาเอก ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร

-----------------------------------

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้ค้นพบว่า ดนตรีมีผลต่อการพัฒนาสมองของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก ซึ่งเป็นการตอบคำถามที่ว่า การเรียนดนตรีมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งนักวิชาการดนตรีหลายคนได้เคยพยายามอธิบายในเชิงนามธรรม แต่นักวิทยาศาสตร์รวมถึงนายแพทย์ต่าง ๆ พยายามอธิบายประโยชน์ของดนตรีในด้านที่เป็นรูปธรรมมากกว่า

จากผลการวิจัยของอาจารย์ดนตรีชาวไต้หวันที่มีชื่อว่า Chen – Giam Sui ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาดนตรีโดยอ้างอิงถึงทฤษฎี เซลล์กระจกเงา ในชื่องานว่า Music & Mirror Neuron System ซึ่งท่านกำลังพัฒนาเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงของการทำงานของสมองมนุษย์ และการรับรู้ทางดนตรี

เคยมีคำถามว่า ทำไมมนุษย์จึงจำเป็นต้องเรียนดนตรี ? วิชาดนตรีมีความสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งค่านิยมในการเรียนดนตรีอาจมีไว้เพื่อเป็นการเสริมสร้างรสนิยม ให้เด็กได้ทำกิจกรรมทางดนตรี สร้างอุปนิสัยที่ดี ตลอดจนการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นั่นคือสิ่งที่สังคมไทยเข้าใจในการเรียนดนตรี ดังนั้นจึงไม่มีการเรียนดนตรีที่จริงจัง ซึ่งแนวคิดของการเห็นคุณค่าของดนตรีอย่างจริงจังก็มีปรากฏอยู่บ้างในงานคีตกวีสุนทรภู่ ที่กล่าวว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิน แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา” ซึ่งแสดงถึงความสำคัญอันเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง ส่วนแนวคิดของชาวตะวันตกที่เห็นถึงคุณค่าของการดนตรีนั่นมีมากมาย ดังข้อความของนักคิดและนักดนตรีต่อไปนี้

Don Hodger กล่าาว่า ดนตรีทำให้มนุษย์เข้าถึงความรู้สึก ความงาม และความดี ช่วยในการพรรณาสิ่งที่ภาษาไม่สามารถอธิบายได้ ช่วยให้เกิดรูปแบบวิธีการคิด ความมีมิติสัมพันธ์ การเข้าใจในตนเอง ทำให้เกิดความรู้สึกรักชาติ ความเป็นเผ่าพันธุ์ ช่วยเยียวยาอาการความเจ็บป่วยทางจิตได้

Ludwig Van Beethoven กล่าว่า "Music is a higher revelation than all wisdom and philosophy. Music is the electrical soil, in which the spirit lives, thinks, and invents."

จากข้อความข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความคิดที่เห็นถึงคุณค่าของการดนตรีอย่างสูง ซึ่งดนตรีสามารถช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ หากสังคมไทยเห็นถึงคุณค่าของการศึกษาดนตรีอย่างจริงจัง และรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์ของดนตรี ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในภาวะของปัญหาหลาย ๆ อย่าง ครอบครัวไทยขาดความเข้มแข็ง ขาดการเรียนรู้ พ่อแแม่ผู้ปกครองขาดการทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ผู้ใหญ่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กได้ ปัญหาสื่อเป็นพิษ ข่าวร้ายได้ลงหนังสือพิมพ์ฟรี ในขณะที่ข่าวดีต้องจ้างให้ลง เพลงต่าง ๆ ไม่สร้างสรรค์ เน้นความลามก วิดีโอเกมส์รุนแรง เด็กจึงประสบปัญหาความรุนแรง ปัญหาทางเพศ ปัญหาการเรียนรู้ ขาดสุนทรียภาพและจินตนาการ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ชอบคำตอบมากกว่าวิธีการคิด

เป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ คือ ความเก่ง ความฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ครอบครัว สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งความรู้ความเข้าใจทางด้านประโยชน์ของดนตรีสามารถช่วยในการพัฒนามนุษย์ได้

มีการศึกษาเรื่อง IQ กับความสำเร็จของมนุษย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยของ Stanford Binei ได้ศึกษาเด็กที่มี IQ ระหว่าง 120 -200 ซึ่งจัดว่ามีความฉลาดมาก ติดตามผลตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างโดดเด่น แต่ปรากฏว่ามีเด็ก 2 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้เพราะ IQ ไม่ถึงแต่มีความประสบความสำเร็จในชีวิตโดยได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 คน จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ไม่สามารถวัดด้วยแบบทดสอบในเชิง IQ ได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ หลายอย่างด้วยกันที่มาเกี่ยวข้อง

วิชาการหลาย ๆ แขนงได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้ศึกษา แต่การสอนเรื่องคุณธรรมไม่สามารถสอนในรายวิชาได้ จำเป็นต้องสอนด้วยการกระทำ และวิชาดนตรีเองสามารถที่จะช่วยในการสอนได้ ทั้งในเรื่อง การเรียนรู้ (Learning) การสร้างสุนทรียภาพ (Aesthetic) การสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (Creative Intelligence) และการอบรมบ่มนิสัย (Socialization) ซึ่งในการศึกษาว่าดนตรีจะช่วยการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้อย่างไรนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการทำความเข้าใจเรื่องสมองของมนุษย์เสียก่อนว่ามีลักษณะการทำงานอย่างไร เพราะสมองนั้นมีหน้าที่หลักที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ ความรู้สึก อารมณ์ จิตใจ และความฉลาดอันหลากหลาย

สมองของมนุษย์เป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก จากการศึกษาเรื่องสมองนั้น เซลล์สมองจะถูกพัฒนาโดยการเรียนรู้ เพื่อให้เซลล์ถูกกระตุ้น ให้เกิดเส้นใย เชื่อมเครือข่ายมากมาย ซึ่งในเด็กการเชื่อมต่อจะมากขึ้น แต่เมื่อวัยรุ่นเซลล์จะบางลง เนื่องจากบางเซลไม่ถูกใช้หรือใช้งานน้อยก็จะตายไป และในช่วงนี้วัยรุ่นจะเกิดการเรียนรู้ใหม่ได้อีก การเชื่อมต่อเป็นวงจรของวัยรุ่นนั้นจะทำให้สามารถเชื่อมต่อเป็นวงจรได้ เช่นเมื่อเด็กเห็นภาพสิ่งของแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เมื่อมีผู้สอนว่าเป็นอะไร และเห็นทุกวัน เด็กก็จะสามารถเชื่อมโยงระหว่างเสียงพูดกับภาพได้ และต่อมาก็สามารถเขียนได้ นี่คือการเกิดภาษาอ่าน พูด เขียน อันนี้คือเกิดความรู้ของสมองซึ่งเป็นวงจร

การพัฒนาสมองนั้นจะเริ่มจากระบบการดำรงชีวิต เช่นเรื่องการหายใจ ต่อมาเป็นเรื่องของอารมณ์ จิตใจ และสุดท้ายคือสมองส่วนใช้เหตุผล ซึ่งในวัยรุ่นนั้นระบบสมองเรื่องการใช้เหตุผลไม่เติบโตเต็มที่

สมองส่วนอารมณ์จะควบคุมในเรื่องอารมณ์ต่างๆ ซึ่งทำงานแบบแข็งแรงมาก ดังนั้นเขาต้องการให้คนอื่นยอมรับ แต่ยังไม่เข้าใจว่าคนอื่นก็ต้องการให้เขายอมรับเหมือนกัน เพราะสมองส่วนใช้เหตุผลยังไม่แข็งแรงมาก ยังไม่เติบโตมาก (คือสมองส่วนหน้า) ซึ่งทำหน้าที่การควบคุมการหุนหันพลันแล่น ดังนั้นเขาจะเป็นคนหุนหันพันแล่น การใช้เหตุผล วิจารณญาณ และการตัดสินใจ ดังนั้นการสอนวัยรุ่นด้วยการเข้าใจจริยธรรม คุณธรรม การใช้เหตุผลจึงยังเป็นไปไม่ได้นัก

ในการตัดสินใจต่างๆ นั้นวัยรุ่นก็จะใช้สมองส่วนหน้าอย่างมากโดยไม่มีสมองส่วนอื่นมาช่วย ในขณะที่ส่วนอื่นยังไม่ได้ทำงาน ดังนั้นในการเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ สมองส่วนหน้าของเขาจะทำงานหนักมาก ทำให้เขาตัดสินใจได้ยังไม่เต็มที่นัก บางครั้งเขาอาจจะตัดสินใจได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่เพราะสมองเขาไม่พร้อม เขาจึงยังไม่สามารถตัดสินใจโดยการใช้การวิเคราะห์แยกแยะได้มากนัก

มีทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องทักษะ การสอนคุณธรรมจะต้องใช้วิธีการให้ฝึกทักษะ ดังนั้นขั้นของการพัฒนาคือจะต้องเริ่มตั้งแต่เล่าเรื่องให้ฟัง หลังจากนั้นเริ่มมีความชำนาญ ก็เริ่มเข้าใจ และสามารถเชี่ยวชาญได้ในที่สุด เช่นเรื่องขับรถ ซึ่งในทางปฏิบัติการให้เด็กได้มาสัมผัส ได้มาซึมซับ จะเริ่มเข้าใจ และสามารถเข้าใจหัวใจของคนอื่น ซึ่งเป็นหัวใจที่จะทำให้เด็กไม่เกิดการทำร้ายคนอื่น ซึ่งในที่สุดเขาจะกลายเป็นคนมีคุณธรรม ฉะนั้นคุณธรรมจึงเป็นเรื่องของการต้องฝึกปฏิบัติ ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี Classical Conditioning ได้ ดังนั้นคุณธรรมจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติบ่อยๆ ฝึกบ่อย และเมื่อถูกกระตุ้นมากๆจะทำให้เซลเครือข่ายนี้แข็งแรง

Joseph Lepoux นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเรียนรู้ของสมองกล่าวว่า บุคลิกภาพ ความสามารถ คุณธรรม ถูกควบคุมการทำงานโดยผ่านสมอง ที่เกิดจากการเชื่อมโยงของเซลล์ (Synapse) อันเป็นผลมาจากการกระตุ้นของสิ่งแวดล้อม การเชื่อมต่อกันของเซลล์เมื่อได้รับการกระตุ้นให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็จะมีความแข็งแรงขึ้น และสามารถส่งผลต่อความสามารถทางด้านนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับนักดนตรีที่ใช้กล้ามเนื้อบังคับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้บรรเลงเครื่องดนตรีได้

ในเรื่องของรอยเชื่อมต่อของเซลล์ (Synapse) นี้มีความสำคัญมาก โดยในตัวเซลล์ (Cell Body) เมื่อได้รับการกระตุ้นจะส่งสัญญาณไปทาง Axon และผ่านไปทางเซลล์ตัวอื่น ๆ (Terminal) ณ จุดนี้เมื่อเซลล์ได้เกิดการเชื่อมต่อกับเซลล์ตัวอื่น ๆ ก็จะเป็นรอยเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นผลของการเรียนรู้ เป็นความจำ ความคิด และการกระทำ การที่เรามีความเป็นตัวของเราเองนี้ เพราะเราได้เรียนรู้และจดจำผ่านกระบวนการสมองของเซลล์นั่นเอง

อีริค อาร์ แคนเคล นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ค้นพบว่า การเชื่อมต่อของเซลล์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 7 ปี หลังจากนั้นประสิทธิภาพจะลดลงเรื่อย ๆ ทักษะบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่เด็กจะเกิด เช่น ทักษะทางการได้ยินจะมีขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานสนับสนุนการเรียนดนตรี เพราะทักษะทางการเล่นดนตรีสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ปี ซึ่งรวมถึงทักษะทางด้านอื่น ๆ ด้วย การที่เราเริ่มให้การศึกษาแก่เด็กช้าไป ย่อมทำให้เกิดความสูญเสียทางความสามารถทางสมองอย่างยิ่ง การศึกษาในระดับปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้การศึกษาแก่เด็ก และการทำความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทำไมวัยรุ่นจึงเลียนแบบโดยไม่ยั้งคิด เพราะวัยรุ่นยังคงใช้การทำงานของสมองส่วน limbic เป็นส่วนมาก โดยเซลล์กระจกเงาทำงานอย่างเต็มที่ โดยการมองเห็น และส่งผ่านข้อมูลมายังเซลกระจกเงา และส่งข้อมูลผ่านมายังสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดการเลียนแบบโดยไม่มีการไตร่ตรองอะไร ดังนั้นการจะปรับคุณธรรมของเด็กก็ให้ใส่ภาพ positive ลงไป และใส่ emotion ลงไป จะยิ่งทำให้เขาซึมซับได้อย่างมากยิ่งขึ้น

ทำไมวัยรุ่นจึงมีปัญหาเรื่องเพศเพราะฮอร์โมน เป็นตัวกระตุ้น เพราะเซลกระจกเงาโยงกับแบบอย่างในสังคม โดยเฉพาะในละคร ซึ่งมีมากในสังคม และเซลกระจกเงาจะซึมซับเรื่องนี้ตลอดเวลา เพราะเซลกระจกเงาจะไม่ใช้ภาษา แต่อ่านเจตนา ซึ่งเป็นการเลียนแบบในสมอง และจะทำให้เข้าใจความรู้สึก มีความซาบซึ้งกับเรื่องที่เขาเห็นมากกว่า และหากมีเรื่องใดที่เขาประทับใจมันก็จะประทับไปในตัวเขาเลย ทางออกเราจะต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของวัยรุ่นให้มาก พร้อมที่จะเข้าใจ

ในขณะที่เมื่อก่อนเราจะได้ซึมซับบทบาทต่างๆจากครอบครัว มีพ่อแม่เป็นตัวอย่าง และเลี้ยงดูให้มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ แต่ในปัจจุบันกลับไม่มีบทบาทเช่นนี้แล้ว เพราะเราให้เด็กเรียนรู้ผ่านตำรามากกว่า

ในการอบรม บ่มนิสัยให้เด็กเป็นคนดี คือการให้เด็กมีแบบฝึกหัดในการทำให้เด็กได้ทำซ้ำจนเป็นนิสัยให้ได้ วิธีการสอนโดยใช้เหตุผลอาจจะไม่ได้ผลมากนักกับวัยรุ่น ในขณะที่สิ่งแวดล้อมของวัยรุ่นมันใกล้ตัวกับวัยรุ่นอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นอย่างมากด้วย ดังนั้นพ่อแม่จะต้องใกล้ชิด เป็นตัวแบบ และสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กตั้งแต่เล็ก และฝึกฝนบ่อยๆ

Shaw , Silverman , Pearson (ปี ค.ศ. 1985) ได้เผยแพร่ผลงานของพวกเขาว่า ความสามารถทางสมองที่จำเป็นต้องสร้างให้มีขึ้นในเด็ก ได้แก่ Spatial Recognition คือ การคิดแบบมีพื้นที่ มี Space ที่สามารถคาดคะเนได้ ทั้งทางด้านความกว้าง ความยาว แนวตั้ง แนวนอน ความลึก ปริมาตร Spatial Temporal คือ ความคิดเรื่องมิติของเวลา มิติสัมพันธ์ ความสามารถทางด้านการคิด การมองเห็น ความคิดอย่างลึกซึ้งนั้นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถฝึกได้โดยการใช้ เกมส์ เช่น หมากรุก การต่อจิ๊กซอล ตัวต่อรูปร่างต่าง ๆ

Bardeen , Cooper & Schrieffer ได้ร่วมกันนิยามทฤษฎี Cooperative Phenomenon ขึ้น จากทฤษฎีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบความสัมพันธ์ระหว่างการส่งสัญญาณในสมอง มีความสอดประสานทำงานร่วมกันได้ มี Symmetry ที่ลงตัว ถ้าหากมีการส่งสัญญาณที่มีความเท่ากัน

ในงานวิจัยของกอร์ดอน ชอล พบว่ามี Symmetry ของดนตรีในดนตรีของ Mozart คีตกวีเอกของโลก ซึ่งมีความเชื่อกันมานานแล้วว่าดนตรีของโมซาร์ทมีอิทธิพลต่อความฉลาดของเด็ก งานวิจัยได้ผลสรุปว่า มีบทหนึ่งที่มี Symmetry of Music อย่างมีระเบียบมากที่สุด คือ Dual Piano Sonata in D Major ที่เมื่อไปทดลองเปิดในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กฟังแล้วทำให้คะแนนในกลุ่มมิติสัมพันธ์ของการทดลองเพิ่มขึ้นได้

งานวิจัยขึ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย ซึ่งถูกเผยแพร่ทาง www.star project. Mindinstitute .org พบว่า การใช้ดนตรีและเกมส์ทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ มีผลทำให้เด็กนักเรียนประถมศึกษามีผลการเรียนคณิตศาสตร์ดีขึ้น ซึ่งการที่เด็กเข้าใจเรื่องจังหวะดนตรีนั้นส่งผลให้การพัฒนาทางมิติสัมพันธ์ดีขึ้น

Donald Hebb ได้กล่าวว่า เซลล์สมองที่กระตุ้นพร้อม ๆ กันจะเกิดการเชื่อมต่อกันเป็นวงจรและทำงานร่วมกัน และวงจรเหล่านั้นจะทำหน้าที่บันทึกความจำ เมื่อเกิดการกระตุ้นที่เหมาะสมก็เกิดเป็นความสามารถทางการทำงานที่สอดประสานกัน

Albert Einstein เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ชอบคิดจินตนาการสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เขาสามารถคิดค้นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างมาก ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าสมองของไอสไตน์ในส่วน Parietal Lobe มีความโตกว่าสมองของมนุษย์โดยทั่วไปถึง 15 % ซึ่งสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ในทางความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ (Visuo – Spatial Intelligence) ซึ่งในทางดนตรีนั้นองค์ประกอบทางด้านมิติสัมพันธ์ประกอบด้วยระดับเสียง (Pitch) จังหวะ (Rhythm) เสียงประสาน (Harmony) และรูปทรงดนตรี (Texture)

Schlaug ในนายแพทย์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย Haword มีความสนใจในการทำงานวิจัยดนตรี เขาค้นพบว่าการฝึกจดจำระดับเสียงของโน้ตดนตรี มีผลต่อการพัฒนาความสามรถของเซลล์กระจกเงา การที่ได้ยินเสียงดนตรีโดยผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานมาก่อนทำให้เกิดความเข้าใจได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาดนตรี การเรียนรู้ดนตรีในเด็กจะซึมซับอย่างเป็นธรรมชาติ และพัฒนาความสามารถให้สูงขึ้นได้

ดนตรี เป็น Complex Sound คือ สามารถมีองค์ประกอบทั้ง Symmetry และ Emotional เสียงสูง เสียงต่ำ ทำนองเพลง เสียงประสาน และรูปทรงดนตรี สีสันต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ดนตรีที่มีจังหวะต่าง ๆ ก็ส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจด้วย และส่งผลต่อคลื่นต่าง ๆ ในสมอง เช่น Beta Alpha Theta และ Delta ด้วย

กรณีที่เด็กได้รับการฝึกฝนทางดนตรีนั้น Corpus Callosum ซึ่งมีหน้าที่เชื่อมสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความเชื่อมโยงความรู้ที่สมดุล เป็นเด็กที่เหตุผลและทักษะทางอารมณ์ที่ดี ดนตรียังช่วยให้เกิดความผ่อนคลายความเครียดซึ่งเป็นไปตามรูปแบบของเพลงที่ฟัง ซึ่งทางการแพทย์ได้ใช้ประโยชน์ในแง่ของดนตรีบำบัด ช่วยให้คนไข้รู้สึกดีขึ้น และอัตราการเต้นของหัวใจเป็นไปตามปรกติ ช่วยให้เกิดทักษะทางจังหวะในการช่วยทางกายภาพบำบัดได้

ดังนั้น เราจึงสนับสนุนการเรียนดนตรีในโรงเรียนระดับปฐมวัย โดยให้นักเรียนได้มีกิจกรรมทางดนตรีที่หลากหลาย เพื่อให้คุณค่าทางดนตรีได้ถูกปลูกฝังในชีวิตของเด็ก ดนตรีที่ดีจะช่วยในการฝึกสมาธิ ฝึกความสามารถทางการได้ยิน ช่วยให้การพัฒนาทางร่างกายเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เกิดสุนทรียภาพและจินตนาการ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของตนผ่านดนตรี การอธิบายถึงคุณค่าดนตรีด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือารแพทย์นั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำคัญด้วยภาษาที่จริงจังน่าเชื่อถือ และมุ่งมั่นให้เด็กได้รับการศึกษาดนตรีที่ดี และใช้ดนตรีนั้นพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเด็กมีความรัก ความถนัด และยึดมั่นจะเป็นนักดนตรีก็เป็นเพียงผลพลอยได้ แต่จุดประสงค์หลักของดนตรี คือ การพัฒนาของเด็กทุกคนตามศักยภาพ และการเรียนรู้ที่จะร่วมกันในสังคมด้วยความเข้าใจ


Credit : สรุปคำบรรยาย โดย ประพันธ์ศักดิ์ พุ่มอินทร์