การบริหารงานโดยยึดวัตถุประสงค์

(Management By Objective) : MBO

การบริหารโดยวัตถุประสงค์ (MBO)

ผู้บริหารทุกคนย่อมต้องการทำงานให้สำเร็จ และมีความคิดหลายอย่างที่จะหาวิธีให้ภาระงาน บรรลุตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ ความคิดของผู้บริหารอาจเลื่อนลอยไม่ชัดเจนอาจเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ความคิดของผู้บริหารเป็นความจริงก็คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการบริหารงาน หากขาดการวางแผนหนทางที่จะบรรลุผลก็เป็นไปได้ยาก ในแง่ของการบริหารงานการวางแผนเป็นหน้าที่แรกสุดแล้วก็ตามด้วยหน้าที่การจัดองค์การ การจูงใจ หรือการนำและการควบคุมการวางแผน ดังนั้นการวางแผนเชิงกลยุทธ์มีความสำคัญมากที่จะบอกได้ว่าองค์กรจะประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับองค์กรอื่นหรือไม่ แผนเป็นสิ่งที่แสดงให้เป็นว่าองค์กรพยายามที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่กำลังกระทำอยู่และพยายามทำให้ดีกว่าคนอื่น การวางแผนเชิงกลยุทธ์เป็นการตัดสินใจล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริง

การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์หรือเรียกย่อๆ ว่า MBO เป็นกระบวนการร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์และการควบคุมระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการเชื่อมหน้าที่ทางการบริหารระหว่างการวางแผน และการควบคุมเข้าด้วยกัน

MBO ย่อมาจาก Management by Objectives เป็นแนวคิดทางการบริหารที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ความเป็นมาและแนวความคิดเกี่ยวกับการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

ความเป็นมาการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)นั้น เป็นเทคนิคการบริหารงานแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยนักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Peter F. Drucker ซึ่ง ได้เสนอแนวความคิดเรื่องนี้เป็นคนแรกที่อเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1954 ในหนังสือของเขาชื่อ The Practice of Management Drucker ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทุกองค์การต้องมีเป้าหมาย เพื่อนำทางบุคคลที่บริหารงานองค์การ ประสานเป้าหมายของพวกเขาเข้ากับเป้าหมายขององค์การและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อนำองค์การไปสู่ต้องการ

การบริหารแบบนี้มีเรียกกันหลายชื่อ เช่น Management by Results (MBR) หรือ Management by Objectives and Results (MOR) ในส่วนภาษาไทยที่เรียกชื่อการบริหารในลักษณะนี้ที่คล้าย ๆ กัน เช่น การบริหารงานโดยมีวัตถุประสงค์ การบริหารงานโดยกำหนดวัตถุประสงค์ หรือ การบริหารงานตามวัตถุประสงค์

ในการบริหารงานอีกแบบหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับ MBO เหมือน ฟ้ากับดิน คือ Management by Activities and Results (MAR) ซึ่งมุ่งที่ผลที่จะเกิดขึ้นหรือจะได้รับเท่านั้น โดยไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์เลย เช่น ต้องการขายสินค้าให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีการกำหนดเป้าหมายและวางแผนที่แน่นอนว่าจะขายให้ได้เท่าไร โดยวิธีใด แล้วก็ทำการโหมโฆษณา หรือตีปีป อย่างเต็มที่เพื่อให้ขายให้ได้มากที่สุดก็แล้วกัน ซึ่งเป็นการบริหารแบบโบราณที่ผิดหลักวิชา ในปัจจุบันก็มีนักบริหารใช้วิธีการนี้เช่นกัน เช่น เชิญสื่อมวลชน มาทำข่าวให้ดัง โดยไม่คำนึงว่า จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ มีเพียงวัตถุประสงค์ที่แน่นอนคือให้ดังก็พอแล้ว

แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

แนวความคิดของ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) มีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เน้นสิ่งที่ต้องกระทำแทนที่จะเป็นกระทำอย่างไร บุคคลมีความสำคัญกว่าวิธีการ และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ดีกว่าการควบคุม บุคคลถูกคาดหวังให้ควบคุมตนเอง พวกเขาถูกสนับสนุนให้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในทิศทางขององค์การ และตามทัศนะของเสนาะ ติเยาว์. (2543) การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์หรือเรียกย่อๆ ว่า MBO เป็นกระบวนการร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์และการควบคุมระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการเชื่อมหน้าที่ทางการบริหารระหว่างการวางแผน และการควบคุมเข้าด้วยกันซึ่งมีแนวคิดสำคัญ 4 อย่าง คือ

    1. ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาตกลงร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนว่าจะทำงานให้ได้ผลตามเป้าหมายเท่าไรภายในระยะเวลาที่กำหนด
    2. ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาตกลงร่วมกันวางแผนงานโดยผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำงานให้สำเร็จได้ด้วยวิธีการของแต่ละคน
    3. ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาตกลงร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานที่ใช้วัดผลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
    4. ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาตกลงร่วมกันในการวัดผลงานที่เกิดขึ้นจริงทบทวนแก้ไขผลการปฏิบัติงานและกระบวนการ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ใหม่

ในแง่ขอกระบวนการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ผู้บังคับบัญชาร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาในการวางแผนและการควบคุม ส่วนในการดำเนินงานผู้ใต้บังคับบัญชามีอิสระที่จะเลือกวิธีทำงานของตัวเอง ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาการทำงานที่อาจเกิดขึ้น

ความหมายของการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

    • ปีเตอร์ ดรักเกอร์. (Peter F. Drucker) ได้ให้คำจำกัดความการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) คือ หลักของการบริหารที่จะจัดให้แต่ละบุคคลได้ทำงานและมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ มีทิศทางในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนและแน่นอน มีการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะทำให้การประสานระหว่างเป้าหมายของบุคคล และเป้าหมายขององค์การเป็นไปอย่างดีและเรียบร้อย
    • วิลเลี่ยม เรดดิน. (William J. Reddin) กล่าวว่าการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) คือ การสร้างขอบเขตและมาตรฐานของงานที่มีประสิทธิผล สำหรับตำแหน่งที่ทำหน้าที่ทางด้านบริหารระดับต่าง ๆ ซึ่งสัมพันธ์กันทั้งในระดับเดียวกันและในระดับสูง โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์เป็นระยะ ๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ซึ่งสามารถวัดผลได้
    • จอร์จ เอส. ออดิออร์น. (George S. Odiorne) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การบริหารตามวัตถุประสงค์ เป็นระบบบริหารที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงและรองของหน่วยงานร่วมกันกำหนดเป้าหมายการทำงาน และขอบเขตความรับผิดชอบของงานและคนในแง่ของผลสำเร็จที่คาดว่าจะได้ โดยใช้ผลสำเร็จดังกล่าวนี้เป็นแนวทางของการทำงานในหน่วยงานและให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของสมาชิกแต่ละคนในหน่วยงานด้วย
    • จอห์น ดับบลิว ฮัมเบิล. (John W. Humble) ได้ให้ความหมายของการบริหารตามวัตถุประสงค์ ว่าเป็น ระบบที่มีลักษณะเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ซึ่งผสมผสานความต้องการต่าง ๆ ขององค์การ เพื่อให้องค์การบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ (คือมีกำไรและขยายกิจการใหญ่โตขึ้น) พร้อมกับความจำเป็นของหัวหน้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวและขณะเดียวกันก็พัฒนาตนเองด้วย
    • สุรพันธ์ ยันต์ทอง. ได้กล่าว การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) เป็นระบบการบริหารรูปหนึ่งที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมทั้งระบบองค์การ โดยมีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องดำเนินการด้วยความร่วมมือและความเต็มใจของผู้บริหารทุกระดับในองค์การในอันที่จะร่วมมือกันบริหารงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีกลไกควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หรืออาจกล่าวอย่างสั้นๆ ได้ว่า เป็นระบบบริหารที่จัดให้ทุกคนในองค์การที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปฎิบัติงานโดยมีวัตถุประสงค์เป็นหลักและใช้วัตถุประสงค์นี้เป็นเครื่องมือประเมินผลการปฏิบัติงาน
    • ธงชัย สันติวงค์. ได้ให้ความหมายของ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ หรือ การบริหารตามเป้าหมาย หมายถึงวิธีการจัดการงานที่มุ่งเน้นจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยและหวังผลจากการมีวิธีการวางแผนที่มีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

จากความหมายดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การบริหารตามวัตถุประสงค์ (MBO) จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายของงานไว้ล่วงหน้า โดยความร่วมมือของผู้บริหารทุกระดับในองค์กร มีการมอบหมายงานให้บุคลากรปฏิบัติ มุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์และผลงานที่จะทำให้สำเร็จซึ่งมีกลไกควบคุมการตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นการบริหารแบบนี้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ให้ทุกคนร่วมมือกันทำงานด้วยความเต็มใจจึงจะได้ผลผลิตออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปได้ว่า การบริหารตามวัตถุประสงค์ (MBO) เป็นระบบบริหารงานโดยผู้บริหารกับผู้ร่วมงานกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้ดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ร่วมกัน มีทิศทางการทำงานที่แน่นอน ทำให้บุคคลในองค์การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

การบริหารตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ในองค์การนั้น อาจทำได้ สองลักษณะคือ ทำเป็นโครงการกึ่งเต็มรูป โดยนำ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) มาใช้เฉพาะการบริหารส่วนใดส่วนหนึ่งขององค์การก่อน และโครงการเต็มรูป เป็นการนำ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) มาใช้ปรับปรุงองค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี จึงจะสมบูรณ์แบบ กระบวนการหรือขั้นตอนในการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) งานมี 4 ขั้นตอนที่สำคัญดังนี้

    1. การกำหนดวัตถุประสงค์และและการวางแผน เป็นหลักการที่สำคัญอันดับแรก คือการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การ โดยผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชากำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน นักวิชาการบริหารบางท่านวิจัยแล้วพบว่า การบริหารที่มีประสิทธิภาพนั้น การกำหนดวัตถุประสงค์จะต้องไม่กำหนดจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง หรือจากเบื้องล่างขึ้นไปสู่เบื้องบน แต่จะต้องร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์แล้วจึงวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะทำ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ กำหนดงบประมาณ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน
    2. การมอบหมายงานและหน้าที่รับผิดชอบแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา งานขั้นนี้เป็นการแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับรู้ถึงขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่และสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำงานด้วยตัวเอง โดยมอบความไว้วางใจและความเป็นอิสระในการทำงานให้ ทั้งนี้จะต้องชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทราบถึงงานหลักและมาตรฐานงานที่ต้องการ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายรวมขององค์การ โยผู้บังคับบัญชาพร้อมที่จะให้คำปรึกษาหารือเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการ
    3. ตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างมีระบบ งานในขั้นนี้เป็นการตรวจสอบว่า การดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงแก้ไขให้บรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้
    4. การประเมินผลงาน เป็นการประเมินผลงานที่เน้นวัตถุประสงค์และผลงาน เป็นสำคัญ โดยมีหลักและวิธีการประเมินผลงานที่สำคัญดังนี้ คือ 4.1 ผู้ประเมินและผู้ได้รับการประเมินผลงาน จะต้องตั้งวัตถุประสงค์และปัจจัยในการประเมินผลงานร่วมกันตั้งแต่ตอนต้นหรือการกำหนดแผนการดำเนินงาน

4.2 การประเมินผลงานตามหลักการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาบุคคลและเพิ่มประสิทธิภาพงานมากกว่าที่จะใช้การประเมินผลเพื่อพิจารณาความดีความชอบหรือการลงโทษ

4.3 เน้นการวัดผลการปฏิบัติงานที่ผลงานขั้นสุดท้าย นอกจากนั้นยังเน้นความสำเร็จของผลงานและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าความประพฤติของผู้ปฏิบัติงาน

4.4 ใช้วัตถุประสงค์และผลงาน เป็นตัวประเมินมากกว่าการให้คะแนน หรือเครื่องหมาย

4.5 การประเมินผลงานกระทำเมื่อผลงานขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้นลง โดยผู้ประเมินและผู้ได้รับการประเมินได้มีโอกาสปรึกษาหารือร่วมกัน ทั้งในระยะกำหนดวัตถุระสงค์และระยะประเมินผลงาน

สรุปโดยทั่วไปการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

    1. การให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอวัตถุประสงค์ที่เป็นเป้าหมายของผลงานขึ้นมา
    2. การพิจารณากำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา
    3. การติดตามและทบทวนเป้าหมายเป็นครั้งคราว
    4. การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา

องค์ประกอบที่สำคัญบางประการของการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

การนำแนวความคิดเกี่ยวกับ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ไปใช้ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญบางประการดังนี้

      1. การกำหนดวัตถุประสงค์กับการวางแผน เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์นั้น จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป นอกจากนั้นวัตถุประสงค์ของแต่ละฝ่ายในองค์การจะต้องสอดคล้องกันด้วย
      2. ความรู้ความสามารถของผู้บริหาร ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ควรมีทัศนคติและความรู้ความสามารถด้านการบริหารอย่างกว้างขวางเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ วางแผนและกำหนดเป้าหมายในการทำงาน อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การนำการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ไปใช้ในองค์การได้บรรลุผล หากผู้บริหารในระดับใดขาดความรู้ทางด้านการบริหารอย่างไร ก็ควรจัดการฝึกอบรมเพื่อช่วยให้ผู้บริหารได้พัฒนาตนเองและสามารถขจัดปัญหาในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
      3. การจัดให้สมาชิกของกลุ่มปฏิบัติงานในองค์การ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน โดยเน้นการทำงานเป็นทีม การให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานหรือการบริหารงานมีความสำคัญดังนี้คือ

3.1 กลุ่มทำงานที่ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารด้วย จะทำงานมีประสิทธิภาพสูงกว่ากลุ่มที่ทำงานตามคำสั่ง

3.2 การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือการบริหาร จะมีส่วนสัมพันธ์กับผลผลิตที่ได้รับ

3.3 การมีส่วนร่วมทำให้ผู้ปฏิบัติงานยอมรับการวินิจฉัยสั่งการ อันจะมีผลต่อการทำงานร่วมกัน

3.4 การที่ผู้ปฏิบัติงานมีความพอใจในการทำงาน จะผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น

4. การจัดให้มีระบบข้อมูลย้อนกลับ เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน หรือเปิดโอกาสให้รู้ถึงผลงานที่กระทำไปแล้วเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ คือ

4.1 เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารที่จะตรวจสอบว่า ผลงานนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่

4.2 เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารที่จะแก้ไขอุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

การใช้ระบบข้อมูลย้อนกลับในทางปฏิบัติจำแนกออกได้เป็น สอง ประเภท คือ

1. ระบบข้อมูลย้อนกลับเพื่อแสดงให้ทราบถึงผลงานแบบวันต่อวัน

2. ระบบข้อมูลย้อนกลับเพื่อแสดงให้ทราบถึง ผลงานที่ได้ปฏิบัติไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติมักจะใช้เพื่อวัดหรือประเมนผลการปฏิบัติงาน

ระบบข้อมูลย้อนกลับที่ดีควรมีลักษณะสำคัญดังนี้

1. สามารถวัดผลสิ่งที่ต้องการวัดได้อย่างเฉพาะเจาะจงและถูกต้อง

2. สามารถชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคหรือข้อบกพร่องในรูปแบบที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน

3. สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจ และควบคุมให้การปฎิบัติงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์

องค์ประกอบที่สำคัญบางประการของ การบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO) ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ดับบลิว เจ เรดดิน ได้กำหนดเงื่อนไขซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพิ่มเติมไว้ดังนี้

1. มีการละลายพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ

2. เน้นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

3. ยอมรับความสำคัญด้านปัจจัยการบริหารที่เกี่ยวกับคน

4. มีข่าวสารและข้อมูลมากพอ

5. เน้นประสิทธิผลของงาน

6. เน้นความสำคัญของกลุ่ม

7. เน้นความสำคัญของสถานการณ์

8. เลือกใช้วิธีการเริ่มต้นที่ถูกต้อง

9. กำหนดอัตราความเร็วของการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม

10. ใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้มากที่สุด

ประโยชน์ของการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ (MBO)

จากการสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้บริหารในเรื่องการบริหารโดยยึดวัตถุประสงค์ พบว่ามีจุดเด่นหรือประโยชน์ที่สำคัญ ดังนี้

1. ช่วยให้มีการกำหนดวิธีการวัดที่แน่นอนว่า บุคลากรในองค์การได้สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับองค์การได้มากน้อยเพียงใด

2. ก่อให้เกิดการประสานงานในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากมีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการในการวัดผลงานร่วมกัน

3. เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญในหน่วยงาน เกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มและองค์การ