บทที่ 3 รูปแบบภาวะผู้นำ

บทที่ 3 รูปแบบภาวะผู้นำ

รูปแบบภาวะผู้นำ คือแนวทางที่ทำให้มีทิศทางในการนำแผนไปใช้และจูงใจคน เพื่อทำให้การทำงานในฐานะผู้นำสามารถเลือกนำไปใช้กับคนที่มีลักษณะแตกต่างกันไปได้ สำหรับรูปแบบภาวะผู้นำนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกและนำไปใช้ ซึ่งรูปแบบภาวะผู้นำแบ่งได้ดังนี้

รูปแบบภาวะผู้นำจากพื้นฐานการใช้อำนาจหน้าที่

1.ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) หมายถึงผู้นำที่เน้นถึงการบังคับบัญชาและการออกคำสั่ง (commanding and order giving) เป็นสำคัญ ผู้นำชนิดนี้มักจะทำการตัดสินใจด้วยตนเองเป็นส่วนมาก และจะไม่ค่อยมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามากนัก สถานภาพของผู้นำชนิดนี้จะเป็นไปในลักษณะที่ว่าเป็นเจ้านาย (boss) อย่างเด่นชัด ในการบังคับบัญชาหรือควบคุมงานของผู้นำชนิดนี้ ผู้นำดังกล่าวจะกระทำโดยมีการใช้อำนาจเป็นอย่างมากและจะสร้างบรรยากาศของความเกรงกลัวต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเสมอ ทั้งนี้เพราะผู้นำนิยมใช้การให้รางวัลและลงโทษ

สรุปได้ว่าผู้นำแบบเผด็จการจะมีอำนาจสูงสุดที่ตัวผู้นำ ผู้นำจะสั่งการและตัดสินใจโดยยึดถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ นิยมการให้รางวัลและลงโทษ

2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic Leader) ผู้นำชนิดนี้จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับผู้นำชนิดแรก ผู้นำแบบประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามากกว่า และจะไม่เน้นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ หรือก่อให้เกิดความเกรงกลัวในตัวผู้บังคับบัญชา หากแต่จะเปิดโอกาสให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีโอกาสแสดงความคิดเห็นและพูดคุยด้วย ในการปฏิบัติงานบริหารของผู้นำชนิดนี้มักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงมักให้โอกาสทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพิจารณา ซึ่งอาจจะกระทำโดยมีการประชุมหรือจัดตั้งคณะกรรมการ เป็นต้น ผู้นำชนิดนี้จะพยายามส่งเสริมให้คนงานออกความคิดเห็นได้ และมีโอกาสร่วมตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย

สรุปว่า ผู้นำแบบประชาธิปไตยเป็นผู้นำที่ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือกับผู้ใต้บังคับบัญชา การตัดสินใจอยู่บนฐานของการปรึกษาหารือกัน

3. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-faire or Free-rein Leader) ผู้นำชนิดนี้จะแตกต่างจากผู้นำแบบประชาธิปไตยที่ว่าจะมีการปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอิสรเสรีเต็มที่ หรือปล่อยให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามใจชอบได้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้จะถูกมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจอย่างเต็มที่ ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจจะได้รับสิทธิในการจัดทำแผนงานต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ

การเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้นำทั้ง 3 แบบ

รูปแบบของภาวะผู้นำแบบคลาสสิก

1.ลำดับความต่อเนื่องของภาวะผู้นำ : รูปแบบของภาวะผู้นำแบบคลาสสิกเป็นการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างพฤติกรรมของผู้นำ 2 รูปแบบ คือ

1.1 ภาวะผู้นำที่มุ่งที่หัวหน้าเป็นศูนย์กลาง เปรียบเทียบกับผู้นำที่มุ่งพนักงานเป็นศูนย์กลาง

1.2 ลำดับความต่อเนื่องของภาวะผู้นำแบบเผด็จการ, แบบมีส่วนร่วมและแบบให้เสรีภาพ

2. ตารางการเป็นผู้นำ หรือตารางการบริหาร เป็นตารางการบริหารซึ่งใช้เป็นกรอบงานที่เกี่ยวข้องกับมุมมองของผู้นำที่มีต่องานและต่อพนักงาน และยังเป็นระบบที่ทำให้เกิดความเข้าใจสำหรับการฝึกอบรมผู้นำและการพัฒนาองค์การ กรอบงานจะเกี่ยวข้องกับมุมมองของผู้นำ ดังนี้

2.1 การมุ่งงาน (Concern for results หรือ Task orientation) เป็นภาวะผู้นำที่มุ่งที่การเพิ่มผลผลิต

2.2 การมุ่งที่พนักงาน (Concern for people) เป็นภาวะผู้นำที่มุ่งที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน

3. รูปแบบของภาวะผู้นำแบบผู้ประกอบการมีลักษณะดังนี้

1. มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จสูง และเผชิญความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล

2. การมีความกระตือรือร้น และการสร้างสรรค์สูง

3. มีแนวโน้มที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วเมื่อมีโอกาส

4. เร่งรีบเป็นประจำ

5. มองเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างมีวิสัยทัศน์

6. ไม่ชอบงานที่มีลำดับขั้นตอนและระบบราชการ

7. ชอบที่จะพบกับลูกค้า

รูปแบบผู้นำเชิงบวกเชิงลบ

รูปแบบนี้มีแนวทางที่ต่างกันที่ผู้นำจะใช้เพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมของพนักงาน ที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

ผู้นำเชิงบวก คือ การที่ผู้นำใช้รางวัล มาเป็นผลตอบแทนแก่พนักงาน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจและทัศนคติที่ดีที่พนักงานจะมีต่อตัวของผู้นำ เช่น การให้การศึกษา ความเป็นอิสระ การให้คะแนนวัดพฤติกรรมการทำงานที่มากขึ้น รวมถึงการขึ้นเงินเดือน และโบนัสประจำปี ซึ่งผู้นำจะให้วิธีนี้กับพนักงานที่มีความสามารถกระตือรือร้น ในการทำงาน มีความขยันและรับผิดชอบในงาน เมื่องานประสบผลสำเร็จ จึงทำให้พนักงานตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ

ผู้นำเชิงลบ คือ การใช้วิธีที่เข้มงวดเน้นการลงโทษ ถึงแม้ว่าการลงโทษจะเป็นเครื่องมือของผู้นำก็ตาม ผู้นำจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมักจะมีผลต่อจิตใจของมนุษย์เป็นอย่างมาก ผู้นำเชิงลบจะแสดงออกด้วยการครอบงำและทำตัวเหนือคนผู้อื่น ซึ่งผู้นำมักเชื่อว่า เป็นวิธีที่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยการลงโทษ การให้พนักงานออกจากงาน วันลาที่ไม่จ่ายค่าจ้าง การตำหนิต่อหน้าต่อตาคนอื่น ฯลฯ ซึ่งวิธีนี้ผู้นำเชื่อว่าอำนาจของเขาจะเพิ่มขึ้น โดยการทำให้ทุกคน กลัวแล้ว ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น

รูปแบบผู้นำที่เน้นคนกับเน้นงาน

การเน้นรูปแบบทั้งสองนี้ขั้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กร ว่าต้องการให้วัตถุประสงค์การทำงานเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ จะแตกต่างกันที่วิธีปฏิบัติ แต่แท้จริงแล้ว ผลท้ายที่สุด ต่างก็มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพงานที่ต้องการเพิ่มผลผลิตทั้งสิ้น

ผู้นำแบบเน้นคน (Consideration) ผู้นำที่มีการคำนึงในความต้องการของมนุษย์ในตัวพนักงาน โดยการที่ผู้นำเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการให้ความสนับสนุนทางด้านจิตวิทยา ที่อาจจะเรียกได้กว่าการรู้จักใช้คนให้เป็นนั่นเอง การทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำและพนักงานในแบบนี้ จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างผู้นำกับพนักงานลดลง จึงทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจ เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อผิดพลาด ก็สามารถร่วมกันปรึกษาหารือให้ปัญหาต่างๆ ผ่านไปได้ จึงทำให้ผลที่เกิดขึ้นงานออกมามีประสิทธิภาพทั้งยังได้ เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้นำแบบเน้นงาน (Structure) ผู้นำเชื่อว่าจะได้ผลลัพธ์โดยการให้พนักงานยุ่งอยู่เสมอ และสามารถกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้มากๆ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้นำและพนักงานห่างกัน เพราะผู้นำจะมุ่งเน้นไปที่จำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของผลผลิต แต่ตัวพนักงานจะไม่รู้สึกมีความสุข เพราะจะทำให้เกิด แรงกดดันหากไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายที่ผู้นำกำหนดไว้