Reflection: บทบาทของครูแพทย์และการประยุกต์ใช้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์

พ.ท.หญิง ผศ. จิตรวีณา มหาคีตะ email: chitrawina@pcm.ac.th

ในการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 นั้น Reflection หรือ การสะท้อนตนเอง เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งวิชาการและมิติรอบด้านของชีวิต ซึ่ง reflection มีความสำคัญต่อการเรียนรู้แพทยศาสตรศึกษา ทั้งด้านความรู้ ความรู้สึก และการปฏิบัติ เปรียบได้กับการพัฒนา head (ฐานสมอง ความคิด) heart (ฐานใจ ความรู้สึก) และ hand (ฐานกาย การลงมือปฏิบัติ) ควบคู่กันเพื่อช่วยหล่อหลอมนักเรียนแพทย์ทั้งความรู้ ความสามารถ และหัวใจความเป็นมนุษย์

Reflection คืออะไร ทำมิติใดได้บ้าง?

Reflection เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีเวลากลับมาทบทวนภายในตนเอง และสะท้อนสิ่งที่พบภายในตนเองออกมา เป็นไปได้ทั้งการสะท้อนด้านความรู้ ความรู้สึก และทักษะการปฏิบัติ เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับประสบการณ์ใดๆ และหากประสบการณ์นั้นแตกต่างจากประสบการณ์เดิมที่เคยเรียนรู้มา จะยิ่งช่วยให้เกิดความสงสัยในประสบการณ์ที่แตกต่าง จนเกิดการตกผลึกหรือผสมผสานสิ่งที่ได้เรียนรู้จนเกิดมุมมองใหม่ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์เดิมด้วยการตอบสนองแบบใหม่ได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น นักเรียนแพทย์ฝึกผลัดกันทำ nasopharyngeal swab หลังการทำหัตถการเป็นโอกาสสำคัญที่นักเรียจะได้ฝึกทบทวนและสะท้อนตนเองว่า ประสบการณ์นี้ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างไร หากต้องทำครั้งหน้า อะไรที่ทำได้ดีแล้ว และอะไรที่พัฒนาได้อีก และสิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงการเรียนรู้ครั้งนี้ไปยังผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจในความรู้สึกและมุมมองของผู้ป่วยได้ โดยครูแพทย์มีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่ให้เกิด reflection ตั้งคำถามที่ดีเพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีเวลากลับมาตั้งใจทบทวนและสะท้อนตนเองโดยไม่กดดัน คาดคั้น เมื่อผู้เรียนเกิดการตกผลึกการเรียนรู้ของตนเองได้ จะเป็นการเรียนรู้ในระดับลึก (deep learning) เนื่องจากเป็นประสบการณ์จริงที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และยอมรับจากภายในตนเอง โดยไม่ได้อ่านหรือบอกให้เชื่อ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้

Reflection ทำเมื่อไรได้บ้าง?

  1. ระหว่างได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ (reflection in action) มีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ที่เป็นขั้นตอนต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสู่ขั้นตอนต่อไปได้ดีขึ้น

ตัวอย่างเช่น ขณะทำปฏิบัติการสรีรวิทยาผ่าตัดแยกหัวใจกบ มีนักเรียนแพทย์รายหนึ่งเงียบไป ดูเศร้า สอบถามว่า เป็นอะไรหรือเปล่าคะ ตอบว่า เสียใจที่เห็นกบต้องจากไป (เพื่อนในกลุ่มเริ่มเงียบไปด้วย) เบื้องต้นผู้เขียนจึงสะท้อนคุณสมบัติดีๆ ของผู้เรียนก่อนโดยไม่ห้ามความรู้สึกว่าได้เห็นความเมตตาและอ่อนโยน แล้วชวนตั้งคำถามว่าหากกบเปรียบเหมือนครูอีกท่านของเราในการเป็นแพทย์ จะแปรเปลี่ยนความรู้สึกครั้งนี้เป็นบทเรียนให้ครูกบได้อย่างไร สักครู่นักเรียนแพทย์ยิ้มและบอกว่า วันข้างหน้าที่รักษาคนไข้ เราอาจเจอความรู้สึกเศร้าแบบนี้อีก แต่เราต้องรู้หน้าที่ว่ากำลังทำอะไร จะกลับมาตั้งใจทำต่อให้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นจะรักษาคนไข้ไม่ได้ จากนั้นพบว่าบรรยากาศในกลุ่มเปลี่ยน และทุกคนตั้งใจมากกว่าเดิม (โดยผู้เรียนแต่ละคนก็อาจสะท้อนมุมสำคัญแตกต่างกันได้ และสะท้อนได้เร็ว ช้า ต่างกันไป โดยการกลับมาทบทวนเพื่อสะท้อนตนเองจะค่อยๆ ช่วยให้ออกมาจาก การจมเข้าไปในความรู้สึก)

  1. ภายหลังจบประสบการณ์การเรียนรู้ (reflection on action หรือ after action review) มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้สรุปรวบยอด โดยควรทำขณะที่ประสบการณ์นั้นยังเด่นชัด ไม่ปล่อยให้ผ่านไปนานจนลืม เช่น หลังจาก ward round เสร็จแล้ว ครูแพทย์สามารถแบ่งเวลา 10-15 นาที ให้นักเรียนแพทย์แต่ละคนได้กลับมาทบทวนและสะท้อนตนเองทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความรู้สึกที่เชื่อมโยงไปยังผู้ป่วยและญาติ โดย group reflection นี้ จะยิ่งช่วยต่อยอดการเรียนรู้ของแต่ละคนร่วมกัน

Reflection ทำรูปแบบใดได้บ้าง และการประยุกต์ใช้กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์

Reflection มีรูปแบบที่หลากหลาย โดยผู้เขียนขอสรุปตาม learning style (VARK: Visual, Auditory, Reading และ Kinesiology learner) เพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่ถนัดการเรียนรู้แบบต่างๆ ได้ โดยผู้เขียนพบว่ารูปแบบที่หลากหลายจะช่วยให้ผู้เรียนสะท้อนเบื้องต้นได้ไวขึ้น นำไปสู่การสะท้อนที่ลึกขึ้นได้ดี เช่น บางคนถนัดวาดภาพหรือวาด diagram ออกมาก่อน แล้วจะสามารถพูดสะท้อนอธิบายได้ จนเขียนสะท้อนได้ดีขึ้น

  1. การสะท้อนด้วยรูปภาพ เช่น การวาดภาพ การเลือกภาพที่สะท้อนตนเอง เพื่อเป็นสื่อช่วยอธิบาย มีจุดเด่นในการเข้าถึงผู้เรียนกลุ่ม visual learner แต่อาจตีความได้แตกต่างกัน สามารถพูดอธิบายเพิ่มเติมได้

  1. การสะท้อนด้วยเสียง เช่น การพูด จะใช้เวลาน้อย ช่วยสะท้อนระหว่างได้รับประสบการณ์เรียนรู้ได้รวดเร็ว มีประโยชน์ต่อ small group reflection ในการเรียนรู้ร่วมกันได้รวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สร้างทักษะ deep listening โดยขณะเพื่อนพูดสะท้อนขอให้ตั้งใจฟังทั้งคำพูด สีหน้า แววตา และท่าทางของเพื่อน โดยไม่แซว หรือพูดแทรก เคารพมุมมองที่แตกต่างกัน ละวางการตัดสิน เพื่อช่วยให้กล้าสะท้อนตามจริงได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ผู้สอนมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมาก มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็น facilitator ว่าจะนำพาให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้แบบใด เพราะผู้เรียนมักจะปรับตัวไปตามที่ผู้สอนต้องการเพื่อให้ตนได้รับการยอมรับ

  1. การสะท้อนด้วยตัวอักษร เช่น การเขียน การพิมพ์ จุดเด่น คือ สามารถทำได้พร้อมกันสำหรับชั้นเรียนขนาดใหญ่ในเวลารวดเร็ว และสามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่าย เช่น content analyses แต่จะลดโอกาสในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ดังนั้นผู้สอนอาจจัดให้มีการสะท้อนด้วยวาจาอีกครั้งภายหลังจากการสะท้อนด้วยการเขียน

  1. การสะท้อนด้วยการเคลื่อนไหว การลงมือทำ เช่น การสะท้อนผ่านภาษากาย ท่าทาง หรือบทบาทสมมุติ แต่จะยากขึ้นในการตีความหมาย อาจให้มีการพูดหรือเขียนสะท้อนเพื่ออธิบายเพิ่มเติมได้

ครูแพทย์สามารถออกแบบผสมผสานได้ทุกรูปแบบ ไม่มีข้อกำหนด และในช่วงที่ต้องจัดการเรียนการสอนทางไกลนี้ สามารถใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น

  • การพิมพ์สะท้อนส่งใน Google Form, email, Post ใน Facebook group (ทำเป็นกลุ่มปิดจะช่วยให้เกิดความสบายใจในการแบ่งปันมากกว่า), LINE, Moodle, Google classroom หรือเขียนใส่กระดาษและถ่ายภาพส่ง

  • การอัดคลิปวีดีโอพูดสะท้อน หรือจัดเวลาให้จับคู่พูดสะท้อนภายหลังจบการเรียนการสอนผ่าน Zoom หรือ Google Meet

  • การวาดภาพ หรือการแสดงท่าทางประกอบลงในคลิปวีดีโอ แล้วส่งมาในช่องทางที่กำหนด เช่น Google drive, email, Dropbox

ระดับของ reflection มีความสำคัญต่อการพัฒนานักเรียนแพทย์สู่การเรียนรู้ระดับลึก

Reflection มี 3 ระดับ โดยมุ่งหวังไปสู่ระดับที่ 2 และ 3

  1. Descriptive (superficial) reflection เป็นการสะท้อนแบบบรรยาย หรือสรุปข้อมูลว่าเรียนเรื่อง

อะไรบ้าง ตามลำดับ แต่ยังไม่ได้กลับมาเชื่อมโยงกับตนเองทั้งความรู้สึก ความรู้เดิม หรือการกระทำ เช่น การเขียนรายงานสรุปเหตุการณ์

  1. Practical (medium) reflection เป็นการสะท้อนที่เชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่กับประสบการณ์

เดิมว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ผู้เรียนรู้สึกอย่างไร มีความคิดหรือมุมมองอย่างไร โดยครูแพทย์สามารถตั้งคำถามต่อยอดเชื่อมโยงให้นักเรียนแพทย์ทบทวนและสะท้อนภายในตนเองมากขึ้น เช่น การฝึกปฏิบัติครั้งนี้ สังเกตเห็นความรู้สึกหรือท่าทางของผู้ป่วยเป็นอย่างไรบ้าง นักเรียนแพทย์เกิดความรู้สึกอย่างไร มีสิ่งใดที่ประทับใจ มีมุมมองอย่างไร เชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเรียนรู้อะไรบ้าง หรือในการฝึกปฏิบัติครั้งนี้สิ่งใดที่ทำได้ดี สิ่งใดที่สามารถพัฒนาได้อีก เป็นต้น

  1. Critical (deep) reflection เป็นการสะท้อนระดับลึก คือ เมื่อได้เรียนรู้แล้วผู้เรียนเกิดการ

เปลี่ยนแปลงมุมมอง ความเชื่อ จากแบบเดิมไปสู่แบบใหม่ เมื่อได้พบสถานการณ์เช่นเดิมอีกครั้งในอนาคตจะเกิดการประยุกต์การเรียนรู้ใหม่นี้ไปตอบสนองในรูปแบบใหม่ ซึ่ง reflection ระดับนี้จะตรงกับความหมายของการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้ที่ว่า การเรียนรู้ หมายถึง การได้รับประสบการณ์บางอย่างในชีวิตแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองหรือพฤติกรรม ดังนั้น reflection จึงมีความลึกซึ้งมากกว่าการแสดงความคิดเห็น ตัวอย่างคำถามของ reflection ระดับนี้ เช่น จากการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ เกิดมุมมองหรือความรู้ใดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเรียนรู้นี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อในอนาคตได้อย่างไร

โดยการทำ reflection จะมุ่งหวังให้มาถึงระดับที่ 2 และ 3 เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนเกิด critical thinking และการเรียนรู้ระดับลึก การฝึกต่อเนื่องจะหล่อหลอมให้เกิด reflective skills ต่อไปทั้งในวิชาการและวิชาชีวิต


สรุปเคล็ดลับและขั้นตอนส่งเสริมการทำ reflection ให้กับผู้เรียน

  1. สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี แตกต่างหรือต่อยอดจากประสบการณ์เดิม

  2. Reflection ในเวลาที่ผู้เรียนยังนึกถึงประสบการณ์ต่อกิจกรรมนั้น ๆ ได้ชัดเจน

  3. ทบทวนกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่ผู้เรียนได้รับก่อน เช่น อาจพูดถึงหัวข้อที่เรียน ขั้นตอนกิจกรรมที่ทำคร่าวๆ เพื่อให้ผู้เรียนระลึกถึงการเรียนรู้ที่สำคัญ หรือที่ประทับใจได้ง่ายขึ้น

  1. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ปลอดภัย ไม่กดดัน จะทำให้การเรียนรู้ระดับลึกปรากฎขึ้นได้ง่ายโดยเฉพาะการสะท้อนความรู้สึกซึ่งสำคัญต่อการเกิด empathy กับผู้ป่วย ครูแพทย์อาจสร้างกติกาการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี เช่น ฝึกทักษะ deep listening

  1. ตั้งคำถามที่ดี ให้ผู้เรียนเกิดการสะท้อนหลากหลายมิติ ทั้ง head heart และ hand และส่งเสริมระดับของ reflection ไปสู่การกลับมาเชื่อมโยงภายในตนเอง และต่อยอดไปใช้ในอนาคต

  1. การ reflection ร่วมกันเป็นกลุ่ม สามารถช่วยผู้เรียนที่ยังสะท้อนตนเองไม่ค่อยได้ ให้เห็นเพื่อนสะท้อนจนเกิดการเห็นตนเองและสะท้อนออกมาได้

  1. หากผู้สอนเริ่มด้วย reflection ของตนเองก่อน ผู้เรียนจะกล้าสะท้อน มีแบบอย่าง และเห็นความสำคัญมากขึ้น

  1. ออกแบบผสมผสานได้หลายรูปแบบ และหลากหลายสื่ออิเล็กทรอนิกส์

References

  1. Hatton N and Smith D. Reflection in teacher education: Towards definition and implementation. Teaching and Teacher Education. 1995, 11(1): 33-49.

  2. Sandars J. The use of reflection in medical education: AMEE Guide No. 44. Med Teach. 2009;31(8):685-95.

  3. McLeod GA, Barr J, Welch A. Best Practice for Teaching and Learning Strategies to Facilitate Student Reflection in Pre-Registration Health Professional Education: An Integrative Review. Creative Education. 2015;Vol.06No.04:15