ห้องย่อยที่ 4 เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยวัฒนธรรมการเมืองไทย (Revitalizing democracy by Thai political culture)

         แม้ว่าจะมีสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ครบถ้วนแค่ไหนก็ตาม หากประเทศนั้นไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ประเทศนั้นก็จะล้มลุกคลุกคลานในการ หาทางออกเพื่อเป็นประชาธิปไตยไม่รู้จบ (Almond and Verba, 1965) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับที่ถูกฉีกทิ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยถูกฉีกทิ้งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองไทย อันประกอบไปด้วยโครงสร้างของเครือข่ายสถาบันทางการเมือง ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ อิทธิพล และการคานอำนาจซึ่งไม่ได้ดำเนินไปด้วยระเบียบความสัมพันธ์ทางกฎหมาย อย่างเป็นทางการ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2534)

        สำหรับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความเป็นไทย (Thainess) นั้น ต้องยอมรับว่า บางส่วนไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย อาทิ การยอมรับในความไม่เท่าเทียมระหว่างบุคคลและรัฐกับประชาชน วัฒนธรรมผู้ใหญ่ผู้น้อย การให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดและบุญบารมี การนับถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการ วัฒนธรรมการเมืองไทยบางส่วนเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย เช่น การรักอิสระ และมีจิตวิญญาณอันเสรี การมีสันติวัฒนธรรมและการประนีประนอม การมีจิตอาสา (volunteer) รู้รักสามัคคี หรือแนวทางการวิพากษ์อำนาจรัฐแบบสันติวิธี เช่นวัฒนธรรมแบบศรีธนญไชยที่มีภาษาหรือปฏิภาณเชิงภาษา ซึ่งเราพบได้เสมอในวรรณคดีตลก เพลงพื้นบ้าน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความสามารถในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของสังคมไทย ดังนั้น ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดี

ในห้องย่อยที่ 4 นี้จึงมีเป้าหมายสำคัญคือการหาคำตอบว่า จะทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ช่วยเสริมพลังประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองมีพลวัตรอยู่เสมอ เพราะวัฒนธรรมไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่ง แต่เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนที่คุ้นชินและยอมรับ บางครั้งมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเกิดได้ทั้งช้าและเร็ว ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น โครงสร้างทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเมืองไทยมีส่วนสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยของไทย 

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 4

1.      โครงสร้างของเครือข่ายสถาบันทางการเมือง ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ อิทธิพล และการคานอำนาจในการเมืองไทยที่ไม่ได้ดำเนินไปด้วยระเบียบความสัมพันธ์ทางกฎหมาย
อย่างเป็นทางการ

2.   วัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่มีความสามารถในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของสังคมไทย

3.   โครงสร้างทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

4.   วัฒนธรรมการเมืองไทยแบบดั้งเดิมที่สนับสนุนหรือขัดขวางประชาธิปไตย

5.   การส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่สามารถนำไปสู่การเสริมพลังประชาธิปไตย

FacebookYouTube