หลักการและเหตุผล 

           การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ทว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ปรากฎขึ้นในปัจจุบัน เน้นการให้ความสำคัญกับการเมืองเชิงสถาบัน (political institutions) ในการแก้ไขปัญหามากเกินไป เช่น การปฏิรูปกฎหมาย การร่างรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะหาข้อสรุปที่เป็นฉันทมติให้แก่สังคมได้ ทั้งนี้เพราะการเมืองเชิงสถาบันมีลักษณะของการบังคับใช้ซึ่งมีลักษณะเป็นฮาร์ดพาวเวอร์ (hard power) มากเกินไป กระทั่งบางครั้งบดบังบทบาทการมีส่วนร่วมของการเมืองภาคพลเมืองซึ่งเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของประชาธิปไตยให้ต้องหลับใหลและหมดพลัง ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยลงไป การปลุกประชาธิปไตยให้ตื่นขึ้นและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยการมีส่วนรวมของพลเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ


          แนวทางหนึ่งในการปลุกประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็คือ การนำพลังอำนาจ ที่สร้างสรรค์หรือ“ซอฟต์พาวเวอร์” (soft power) มาปรับใช้เพื่อดึงให้ผู้คนในสังคมได้ออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองและสนับสนุนการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust) ซึ่งจะนำมาสู่การมีค่านิยมร่วม (shared value) เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการร่วมกันบางอย่างของผู้คน ในสังคม (citizen engagement)­ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมและชุมชนด้วยตนเองตามวิถีประชาธิปไตย (democratic action)


             โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye, 1990) ได้พูดถึง “ซอฟต์พาวเวอร์” ว่า คือความสามารถในการมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ผ่านอำนาจด้านวัฒนธรรม แนวคิดทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศที่ดี โดยซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังอีกส่วนที่มีความสำคัญต่อการผลักดันให้สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศแนวหน้าทางเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เองก็เป็นผลมาจากพลังของซอฟต์พาวเวอร์เช่นกัน โดยทั้งสองประเทศเลือกนำอุตสาหกรรมบันเทิง ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน และบทเพลง มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เปิดเสรีให้กับหลายฝ่ายได้ออกมาขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน นำไปสู่การปรับกฎกติกา เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมอันเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมคุณภาพประชาธิปไตย และทำให้ทั้งสองประเทศได้รับการยอมรับในระดับโลกมากขึ้น


             “ซอฟต์พาวเวอร์” แตกต่างจาก “ฮาร์ดพาวเวอร์” (hard power) ในเรื่องของปฏิบัติการ เพราะไม่ใช่แค่การใช้อำนาจทางการทหารหรือทางเศรษฐกิจโดยการบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเท่านั้นแต่ซอฟต์พาวเวอร์มีลักษณะดึงดูดเพื่อให้เกิดการสนับสนุน (bandwagon) โดยในกลุ่มของผู้เกี่ยวข้องนั้นจะมีการรับฟัง (listening) มีการสนับสนุน (advocacy) ซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ (cultural exchange and education) ตลอดจนมีการสื่อสาร (communication) ระหว่างกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในอันที่จะแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสังคมและชุมชนได้ด้วยตนเองตามวิถีประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์พาวเวอร์จึงเอื้อในการเสริมพลังประชาธิปไตยให้กลับมามีชีวิตชีวาได้ อีกทั้งทำให้ มีความยั่งยืนมากกว่าการใช้อำนาจทางกายภาพบีบบังคับให้ต้องกระทำตาม ทั้งยังส่งเสริม วิถีประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและยั่งยืน (consolidated democracy)


               ปัจจุบันประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 41 ของโลก (Global Soft Power Index, 2023) จากการจัดอันดับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนสังคมจนประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ของ Brand Finance ในปี 2023 ขณะที่ 5 ประเทศซึ่งได้รับการจัดอันดับสูงสุดยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น ซึ่งแท้จริงแล้วประเทศไทยมีความพรั่งพร้อมด้วยประเพณี ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งหลายเรื่องเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น อาหาร วัฒนธรรม ประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงกีฬาบางประเภท อาทิ มวยไทย ซึ่งได้รับการบรรจุในการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลก ประกอบกับ ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมไทยมีการนำซอฟต์พาวเวอร์ มาขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของผู้คนมาเป็นระยะ มีการขับเคลื่อนการเกษตรแนวฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเรื่องการรวมกลุ่ม ที่ทำประโยชน์สาธารณะจนเกิดประชาสังคมที่เข้มแข็ง ช่วยในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในระดับ ฐานราก อาทิ กลุ่มเยาวชน กลุ่มพลังสตรี เป็นต้น


              การทบทวนความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของไทยบนฐานของซอฟต์พาวเวอร์ให้ โดยผสานกับพลังของสื่อสังคมออนไลน์และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางประชาธิปไตย ร่วมกับพลังของคนรุ่นใหม่และคนทุกกลุ่มที่กำลังเติบโตขึ้นในสังคมดิจิทัลจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมทุนทางสังคมให้เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังสร้างสรรค์ที่จะช่วยเสริมพลังประชาธิปไตยของไทยให้มีสีสันอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนออกมาสนทนาและมีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น ตลอดจนส่งสารต่อผู้กำหนดนโยบายว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรและให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมเรื่องใด อันอาจนำไปสู่กระบวนการพูดคุย เสวนา (long term multidimensional dialogue) เพื่อสร้างความไว้ใจและการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำมาซึ่งเป้าหมายทางนโยบายที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ในที่สุด


สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสถาบันทางวิชาการที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย สันติวิธีและธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน เล็งเห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของซอฟต์พาวเวอร์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาประชาธิปไตย จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า (KPI Congress) ครั้งที่ 25 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “เสริมพลังประชาธิปไตย: บทบาทของซอฟต์พาวเวอร์การมีส่วนร่วมของพลเมือง” (Revitalizing Democracy: Roles of Soft Power and Citizen Engagement) เพื่อเป็นเวทีเสวนาในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการประสบการณ์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ในการส่งเสริมส่งเสริมค่านิยมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและความสมานฉันท์ของสังคมโดยรวม

วัตถุประสงค์

1.   เพื่อเป็นเวทีสาธารณะในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการประสบการณ์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ในการส่งเสริมค่านิยมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

2.   เพื่อให้เห็นแนวทางหรือทิศทางการพัฒนาองค์ความรู้ในการนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้เพื่อส่งเสริมค่านิยมและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและยั่งยืน

กิจกรรมหลัก

การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก 2 ส่วน ได้แก่ 

1)  การแสดงปาฐกถา

1.1   การแสดงปาฐกถานำ

     การแสดงปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ชาวต่างประเทศหรือชาวไทยเพื่อชี้ให้เห็นภาพรวมของการส่งเสริมประชาธิปไตยและพัฒนาประเทศ ในมิติต่างๆด้วยซอฟต์พาวเวอร์

1.2   การแสดงปาฐกถาพิเศษ

     การแสดงปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ชาวไทย เพื่อชี้ให้เห็นภาพรวมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย เช่น ความเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ มิติเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และนโยบายเพื่อส่งเสริมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย

2)  การสัมมนาวิชาการ

     เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทยและต่างประเทศในการนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและพัฒนาประเทศในมิติต่างๆทั้งในเชิงนโยบายและในทางปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

        2.1) การอภิปรายมุมมองระหว่างประเทศ

        เป็นการอภิปรายระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำซอฟต์พาวเวอร์มาใช้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงนโยบายและในทางปฏิบัติ

        2.2) การอภิปรายในห้องย่อย

การอภิปรายในห้องย่อยเป็นการนำเสนอบทความ เอกสารทางวิชาการ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้เกิดการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกันในการประยุกต์ใช้ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของพลเมือง ใน 5 ประเด็น ได้แก่

ห้องย่อยที่ 1 : เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยเทคโนโลยี (The power of technology for revitalizing democracy)

          ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าบทบาทของซอฟต์พาวเวอร์ในการสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการแพร่หลายของวัฒนธรรมเกาหลีใต้หรือวัฒนธรรมทางการเมืองหรือแนวคิดด้านประชาธิปไตยของตะวันตกผ่านบทเพลง ภาพยนตร์ หรือการ์ตูน และเมื่อเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก็กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์อย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อยสองประการ คือ หนึ่ง ทำให้การเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์นั้นไร้พรมแดนเพราะประชาชนสามารถรับซอฟต์พาวเวอร์จากต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันตัวประชาชนเองก็สามารถเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ไปสู่ต่างประเทศได้ง่ายขึ้นได้เช่นกัน สอง การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลราคาถูกลงจนทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ผ่านเทคโนโลยีด้วย ซึ่งผลกระทบทั้งสองประการได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญในการช่วงชิงการเป็นผู้นำทางความคิดหรือกำหนดทิศทางความคิดของมหาชนโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ จนเกิดการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างไร้พรมแดน และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้กลุ่มคนที่ได้รับอิทธิพลจากซอฟต์พาวเวอร์แบบเดียวกันและมีแนวคิดแบบเดียวกันรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมหรือสนับสนุนการดำเนินการบางอย่างแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่เคยได้พบกัน และเหตุการณ์ใดก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยหรือแสดงออกซึ่งแนวคิดบางอย่างในต่างประเทศ ก็กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดอิทธิพลของแนวคิดนั้นต่อคนบางกลุ่มในประเทศไทยผ่านเทคโนโลยี ที่สำคัญ เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ อย่างยาหรือเทคโนโลยีชีวภาพบางอย่างที่มีการส่งไปต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ต้องการ ก็อาจทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาจส่งผลต่อแนวคิดด้านประชาธิปไตยของประเทศผู้รับได้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ยากที่จะคาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้ว ความสัมพันธ์ของซอฟพาวเวอร์และเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบเพียงใดหรือทิศทางใดต่อสังคมไทยในอนาคต และยังเป็นคำถามสำคัญด้วยว่า การเสริมสร้างประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนรูปแบบหรือทิศทางหรือไม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์

             ในการประชุมกลุ่มย่อยที่หนึ่งนี้ จึงเป็นการอภิปรายถึงสถานการณ์ในปัจจุบันในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและซอฟต์พาวเวอร์ ในมุมของผลกระทบต่อการเมืองและประชาธิปไตยในประเทศไทยว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นจะมีส่วนช่วยผลักดันประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนให้พัฒนาไปได้เพียงใดและทิศทางใด และจะนำเทคโนโลยีนั้นมาช่วยในการพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างใด

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 1

1.   ปรากฏการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีและซอฟต์พาวเวอร์

2.   อิทธิพลของเทคโนโลยีในฐานะ “เครื่องขยายเสียง” ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

3.   อิทธิพลของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและจริยธรรมตามหลักการประชาธิปไตย

4.   การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ห้องย่อยที่ 2 : เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยศิลปวัฒนธรรม (Cultural power for revitalizing democracy)

          ห้องย่อยที่ 2 เป็นเรื่องการนำพลังทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ดนตรี รวมไปถึงการกีฬา (Culture, Arts, Craft, Tradition, Religion, Media, Music and Sport power) มาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่ใช้ดึงดูดและโน้มน้าวผู้อื่นให้เห็นพ้องด้วยวิธีการอย่างสร้างสรรค์ไร้ซึ่งอำนาจบังคับ มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อลดทอนปัญหาความขัดแย้ง เพิ่มความสมานฉันท์ ตลอดจนสร้างค่านิยมร่วมกัน (Joseph Nye, 1990) เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมประกอบขึ้นจากคุณค่าทางสังคม (value) ที่สังคมนั้นยึดถือ แฝงเร้นอย่างแนบเนียนและกลมกลืนกับวิถีชีวิต (way of life) และสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ (worldview) ที่ผู้คนในสังคมมีร่วมกัน (Amos Rapoport, 2005) การแสดงออกถึงคุณค่าทางการเมืองผ่านศิลปวัฒนธรรมจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือวิธีการสื่อสารกับคนในสังคมเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ของรัฐ ค่านิยมที่พึงประสงค์ บรรทัดฐานของสังคม และการใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เช่น Bob Marley ศิลปินแนว reggae ชาวจาเมกา ได้พยายามยุติสงครามกลางเมืองภายในประเทศด้วยดนตรี รวมไปถึงด้านการกีฬา การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในยุคโบราณที่มีการรับรองความปลอดภัยและภาวะที่ปราศจากสงครามระหว่างประเทศในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนกรณีกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ทั้งในวงการกีฬาระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการต่อยอดทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันขณะรับชมการแข่งขันกีฬามวยระดับนานาชาติในนามทีมชาติไทย ก็จะมีสัญลักษณ์ของชาติปรากฎย้ำเตือนให้ผู้ชมระลึกถึงความเป็นชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติอยู่เสมอ เป็นต้น

        การเสริมพลังประชาธิปไตยด้วยศิลปวัฒนธรรมนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปชี้ให้เห็นว่า ศิลปวัฒนธรรมก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนในสังคม และการมีส่วนร่วมของคนในกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมมีส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านพฤติกรรมพลเมือง ความมีชีวิตชีวาในระบอบประชาธิปไตย และความสมานฉันท์ทางสังคม (social cohesion) (European Commission, 2023) เพราะศิลปวัฒนธรรมจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นทุนทางสังคมที่เชื่อมโยงและยึดโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เกิดเป็นสำนึกรักถิ่นและมีค่านิยมร่วม (shared value) ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในคุณค่าทางวัฒนธรรม การมีจิตสาธารณะ การเปิดรับมุมมองและความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายรอบตัว การเคารพในอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ในห้องย่อยที่ 2 จึงมีเป้าหมายสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังอำนาจ
ที่สร้างสรรค์ผ่านศิลปวัฒนธรรมในแขนงต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยของสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็งต่อไปได้

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 2

    1.  ศิลปวัฒนธรรมมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างประชาธิปไตยอย่างไร

2.  แนวทางสำหรับประเทศไทยควรเป็นอย่างไร ในการใช้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง


ห้องย่อยที่ 3 เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยพลังพลเมือง (Citizen power for revitalizing democracy)

          พลังของพลเมืองที่รวมตัวกันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม และคุณภาพประชาธิปไตยนับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) รูปแบบหนึ่ง พลเมืองทุกกลุ่มต่างเป็นกำลังสำคัญโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และกลายเป็นผู้รับผิดชอบและผู้เปลี่ยนแปลงประเทศชาติในอนาคต ซึ่งค่านิยม มุมมอง และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับบทบาทของตนที่มีต่อสังคมล้วนส่งผลต่ออนาคตของประเทศ ดังนั้นการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองตามวิถีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มตั้งแต่วัยเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันพลเมืองมีสิทธิและสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและประชาธิปไตยได้ในหลายรูปแบบ จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาพลเมืองหลายกลุ่มโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่มีพลังและมีบทบาทเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (social media) จนนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ การตื่นตัวทางการเมืองทั้งในเชิงการรับรู้ ความเข้าใจ และการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและชุมชนของตน

       ในห้องย่อยที่ 3 นี้จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนกลายเป็นพลเมืองที่จะเป็นกำลังสำคัญและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่มีพลังและยั่งยืนในการเสริมสร้างประชาธิปไตยไทยให้มั่นคง ห้องย่อยนี้จึงมุ่งอภิปรายเพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองตามวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเสริมสร้างค่านิยมร่วม การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (civic education) และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองทุกกลุ่ม นอกจากนี้ห้องย่อยนี้จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของพลเมืองกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมและชุมชน และการพัฒนาประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับฐานรากจนสู่ระดับประเทศ ตลอดจนเป็นเวทีสาธารณะที่จะได้ร่วมกันนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างพลังของพลเมืองแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลายให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่สร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและสังคมสมานฉันท์ต่อไป

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 3

1.   บทบาทการเคลื่อนไหวของพลเมืองกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนต่อการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

2.   มุมมองและประสบการณ์ของพลเมืองกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในการรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมการเมืองภาคพลเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง
  และการพัฒนา/แก้ไขปัญหาสังคมและชุมชน

3.   แนวทางการเสริมสร้างพลังของพลเมืองกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่สร้างสรรค์และยั่งยืน
  ในการพัฒนาประชาธิปไตย โดยส่งเสริมค่านิยม การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามวิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ห้องย่อยที่ 4 เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยวัฒนธรรมการเมืองไทย (Revitalizing democracy by Thai political culture)

         แม้ว่าจะมีสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ครบถ้วนแค่ไหนก็ตาม หากประเทศนั้นไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ประเทศนั้นก็จะล้มลุกคลุกคลานในการ หาทางออกเพื่อเป็นประชาธิปไตยไม่รู้จบ (Almond and Verba, 1965) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญหลายต่อหลายฉบับที่ถูกฉีกทิ้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยถูกฉีกทิ้งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองไทย อันประกอบไปด้วยโครงสร้างของเครือข่ายสถาบันทางการเมือง ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ อิทธิพล และการคานอำนาจซึ่งไม่ได้ดำเนินไปด้วยระเบียบความสัมพันธ์ทางกฎหมาย อย่างเป็นทางการ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2534)

        สำหรับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความเป็นไทย (Thainess) นั้น ต้องยอมรับว่า บางส่วนไม่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย อาทิ การยอมรับในความไม่เท่าเทียมระหว่างบุคคลและรัฐกับประชาชน วัฒนธรรมผู้ใหญ่ผู้น้อย การให้ความสำคัญกับชาติกำเนิดและบุญบารมี การนับถือตัวบุคคลมากกว่าหลักการ วัฒนธรรมการเมืองไทยบางส่วนเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย เช่น การรักอิสระ และมีจิตวิญญาณอันเสรี การมีสันติวัฒนธรรมและการประนีประนอม การมีจิตอาสา (volunteer) รู้รักสามัคคี หรือแนวทางการวิพากษ์อำนาจรัฐแบบสันติวิธี เช่นวัฒนธรรมแบบศรีธนญไชยที่มีภาษาหรือปฏิภาณเชิงภาษา ซึ่งเราพบได้เสมอในวรรณคดีตลก เพลงพื้นบ้าน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความสามารถในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของสังคมไทย ดังนั้น ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดี

ในห้องย่อยที่ 4 นี้จึงมีเป้าหมายสำคัญคือการหาคำตอบว่า จะทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ช่วยเสริมพลังประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองมีพลวัตรอยู่เสมอ เพราะวัฒนธรรมไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่ง แต่เป็นความสัมพันธ์ของผู้คนที่คุ้นชินและยอมรับ บางครั้งมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเกิดได้ทั้งช้าและเร็ว ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น โครงสร้างทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการเมืองไทยมีส่วนสำคัญที่กำหนดประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยของไทย 

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 4

1.      โครงสร้างของเครือข่ายสถาบันทางการเมือง ระบบอุปถัมภ์ อำนาจ อิทธิพล และการคานอำนาจในการเมืองไทยที่ไม่ได้ดำเนินไปด้วยระเบียบความสัมพันธ์ทางกฎหมาย
อย่างเป็นทางการ

2.   วัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่มีความสามารถในการกำหนดทิศทางทางการเมืองของสังคมไทย

3.   โครงสร้างทางกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

4.   วัฒนธรรมการเมืองไทยแบบดั้งเดิมที่สนับสนุนหรือขัดขวางประชาธิปไตย

5.   การส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่สามารถนำไปสู่การเสริมพลังประชาธิปไตย


ห้องย่อยที่ 5 เสริมพลังประชาธิปไตยด้วยสันติวัฒนธรรม (Culture of Peace for Revitalizing democracy)

        สันติวัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดความเบ่งบานได้อย่างมีคุณภาพ เกิดการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างของสมาชิกในสังคม แม้ว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในการอยู่ร่วมกัน แต่หากไม่ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดเป็นสันติวิถีและสันติวัฒนธรรมแล้ว อาจจะทำให้นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมได้ หลักการสำคัญของสันติวัฒนธรรมให้คุณค่ากับการไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ การเคารพซึ่งกันและกัน การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การอดทนอดกลั้นในความแตกต่าง การเชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ และการหาทางออกด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยอย่างสันติวิธีและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


           ในห้องย่อยที่ 5 นี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อนำหลักการของสันติวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ การให้คุณค่าความสำคัญกับความเป็นคนที่จะต้องเคารพ ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกันแล้ว สามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ อาทิ การพูดคุย การสานเสวนา การประชาเสวนา การเจรจาไกล่เกลี่ย โดยการเรียนรู้ประสบการณ์และแนวคิดสากล กับสันติวิธีและสันติวิถีในบริบทของสังคมไทยในมิติต่างๆ อาทิ สันติวัฒนธรรมในชุมชนและสังคม สันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา สันติวัฒนธรรมกับความเสมอภาคในด้านต่างๆ สันติวัฒนธรรมในเทคโนโลยีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนสันติวัฒนธรรมในการกีฬา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงคุณค่า ทัศนคติ พฤติกรรม วิถีชีวิตที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง และป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัวกลายเป็นความรุนแรง อันเป็นหัวใจหลักของสันติวัฒนธรรมที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย

ประเด็นการอภิปรายในห้องย่อยที่ 5

1.       สันติวัฒนธรรมในบริบทไทยและสากล และการป้องกันความรุนแรง เพื่อการเสริมพลังประชาธิปไตย

2.       แนวทางการทูตที่ส่งเสริมและสร้างสังคมประชาธิปไตยสันติสุข

3.       สันติวิธี สันติวิถี สู่สันติวัฒนธรรมและเป็นประชาธิปไตยในบริบทสังคมไทย


กลุ่มเป้าหมาย

สถาบันพระปกเกล้า กำหนดผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 800 คน ประกอบด้วย

วัน เวลา สถานที่จัดงาน

กำหนดการจัดงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 25 ประจำปี 2566 ผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 3 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

FacebookYouTube